ทางหลวงในประเทศไทยมีกี่ประเภท
สิ่งที่คนใช้รถใช้ถนนในเมืองไทยรับรู้กันโดยทั่วไปเกี่ยวกับระบบถนนเมื่อเดินทางระหว่างจังหวัดคือ ในแต่ละภาคของไทยจะมีทางหลวงสายหลักอย่างทางหลวงหมายเลข 1 อยู่ในภาคภาคเหนือ ทางหลวงหมายเลข 2 อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ทางหลวงหมายเลข 3 อยู่ในพื้นที่ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก รวมทั้งบางส่วนของภาคใต้ และทางหลวงหมายเลข 4 อยู่ในภาคใต้ โดยถนนในแต่ละพื้นที่ที่มีหลายเลขหลายตัวไม่ว่าจะ 2, 3, หรือ 4 ตัวก็จะมีเลขตัวแรกตามหมายเลขข้างต้นขึ้นอยู่ว่าอยู่ในภาคใด
อย่างไรก็ตามเมื่อเดินทางระหว่างจังหวัดในบางพื้นที่ บางครั้งอาจพบว่าเมื่อใช้ระบบนำทางแล้วจะมีถนนบางหมายเลขที่ควรอยู่ในบางภาคปรากฏอยู่ในภาคอื่น เช่นถนนหมายเลข 4xxx อยู่ในพื้นที่จังหวัดภาคอีสาน ทั้งที่บริเวณใกล้เคียงกันก็มีถนนที่ขึ้นต้นเลข 2 อยู่ ที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากว่าทางหลวงในเมืองไทยมีหลายประเภท และอยู่ภายใต้การรับผิดชอบของหน่วยงานที่แตกต่างกัน จึงทำให้มีหมายเลขถนนบางหมายเลขที่เหมือนจะควรอยู่ในบางพื้นที่กลับไปปรากฏในบางพื้นที่ ลองมาดูว่ามีทางหลวงประเภทใดบ้าง ขึ้นอยู่กับหน่วยงานใด เผื่อว่าจะต้องมีเรื่องร้องเรียนจะได้ส่งไปถูกที่
ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง
ทางหลวงพิเศษหรือทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง เป็นทางหลวงที่จัดทำโดยระบุว่าเพื่อให้มีการจราจรที่ผ่านได้รวดเร็วเป็นพิเศษ ตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดและได้ลงทะเบียนไว้เป็นทางหลวงพิเศษ โดยมีกรมทางหลวงเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง ขยาย บูรณะ และบำรุงรักษา รวมทั้งควบคุมให้มีทางเข้าออกเฉพาะโดยทางหลวงที่เป็นส่วนหนึ่งของทางหลวงพิเศษ โดยทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองที่คนทั่วไปคุ้นเคยและรู้จักกันดีก็คือมอเตอร์เวย์จากกรุงเทพไปชลบุรีซึ่งมีหมายเลขทางคือหลวงหมายเลข 7
ทางหลวงแผ่นดิน
นี่คือทางหลวงที่คนทั่วไปคุ้นเคยและรู้จักกันมากที่สุด เพราะเป็นเส้นทางสาธารณะสายหลักที่เป็นโครงข่ายเชื่อมระหว่างภาค จังหวัด อำเภอ รวมไปถึงสถานที่สำคัญ โดยผู้ดูแลทางหลวงแผ่นดินคือ กรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม ในอดีตเมื่อก่อสร้างทางหลวงจะนิยมใช้ชื่อบุคคลที่มีความสำคัญต่อเส้นทางสายนั้นมาตั้งชื่อถนนเช่นถนนพหลโยธิน แต่ต่อมาเมื่อมีโครงข่ายทางหลวงจำนวนมากจึงมีการนำระบบหมายเลขทางหลวงมาใช้ทั้งทางหลวงพิเศษ ทางหลวงแผ่นดิน และทางหลวงสัมปทานที่กรมทางหลวงดูแลอยู่โดยเลขมีตั้งแต่ 1 ถึง 4 ตัว และแต่ละหมายเลขจะเป็นการบอกภาคที่ตั้งเส้นทางนั้น แต่ก็อาจมีการคาบเกี่ยวกันระหว่างภาค เช่นทางหลวงที่ขึ้นต้นด้วยหมายเลข 1 แสดงว่าเส้นทางสายนั้นอยู่ในภาคเหนือรวมทั้งบางส่วนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือทางหลวงที่ขึ้นต้นเลข 2 หมายถึงเส้นทางที่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมทั้งมีบางส่วนที่อยู่ในภาคเหนือและภาคกลางด้วย
สำหรับจำนวนตัวเลขของทางหลวงซึ่งมีตั้งแต่ 1-4 หลักจะเป็นการบอกประเภทของทางหลวงแผ่นดินคือ ทางหลวงที่มีหมายเลขตัวเดียวหมายถึงทางหลวงที่เชื่อมต่อระหว่างกรุงเทพไปยังภูมิภาคหลักของประเทศไทย จะมีทั้งหมด 4 สาย ทางหลวงที่มีเลข 2 ตัวหมายถึงทางหลวงแผ่นดินสายประธานตามภาคต่างๆ มีลักษณะโครงข่ายเชื่อมกับทางหลวงหมายเขตัวเดียว ทางหลวงที่มีหมายเลข 3 ตัวหมายถึงทางหลวงแผ่นดินสายรองประธาน มีลักษณะเชื่อมต่อกับทางหลวงแผ่นดินเลขตัวเดียวหรือ 2 ตัวเข้าสู่พื้นที่สำคัญของจังหวัด สุดท้ายคือทางหลวงที่มีหมายเลข 4 ตัว หมายถึงทางหลวงแผ่นดินที่เชื่อมต่อระหว่างจังหวัดกับอำเภอหรือสถานที่สำคัญของจังหวัดนั้น
ทางหลวงชนบท
เป็นทางหลวงที่กรมทางหลวงชนบทรับผิดชอบในการสร้าง ขยาย และบำรุงรักษา และได้ขึ้นทะเบียนไว้เป็นทางหลวงชนบทหรืออธิบดีกรมทางหลวงชนบทเป็นผู้จัดให้ลงทะเบียนไว้ ณ กรมทางหลวงชนบท มีรหัสสายทางเป็นตัวบอกที่ตั้งและลำดับของสายทาง ซึ่งจะปรากฏอยู่บนป้ายของทางหลวงชนบทเส้นนั้น โดยมีตัวย่อของจังหวัด 2 ตัวและเลข 4 ตัว เช่น สข. 3015, สต. 6031 โดยสข. จะหมายถึงจังหวัดสงขลา สต. หมายถึงจังหวัดสตูล
ส่วนเลข 4 ตัวที่ตามหลัง ตัวเลขแรกจะเป็นการบอกถึงการเชื่อมโยงของถนนเส้นนั้นว่าเริ่มต้นจากที่ไหน โดยมี 6 ตัวเลขที่ใช้ ซึ่งเลข 1 หมายถึงการเริ่มต้นที่ทางหลวงแผ่นดินที่มีเลขตัวเดียว, 2 หมายถึงเริ่มต้นจากทางหลวงแผ่นดินที่มีหมายเลข 2 ตัว, เลข 3 หมายถึงเริ่มต้นจากทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3 ตัว, เลข 4 หมายถึงเริ่มต้นจากทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4 ตัว, เลข 5 หมายถึงเริ่มต้นจากทางหลวงชนบทหรือทางหลวงท้องถิ่น และหมายเลข 6 หมายถึงถนนที่เริ่มต้นจากสถานที่เช่นตำบล อำเภอ โรงเรียนหรือวัด
นอกจากนี้ทางหลวงชนบมยังมีการใช้เลข 3 ตัวตามหลังตัวย่อของจังหวัดในรหัสสายทางด้วย สำหรับสะพานและถนนเชื่อมต่อ เช่น อย. 021
ทางหลวงท้องถิ่น
เป็นทางหลวงที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้ดำเนินการสร้าง ขยาย และบำรุงรักษา และได้ลงทะเบียนไว้เป็นทางหลวงท้องถิ่น สำหรับรหัสสายทางของทางหลวงท้องถิ่นซึ่งจะปรากฏบนป้ายริมถนนจะประกอบด้วยตัวอักษร 3 ตัวแล้วตามด้วยตัวเลข 5 หลัก เช่น สข.ถ 25-100
สำหรับความหมายของตัวอักษรและตัวเลขที่ปรากฏบนป้ายระบุทางหลวงท้องถิ่นคือ ตัวอักษร 2 ตัวแรกเป็นชื่อย่อของจังหวัด ตัวอักษรตัวที่ 3 จะเป็นตัว ถ ทุกทางหลวงท้องถิ่นเพราะหมายถึงถนนทางหลวงท้องถิ่น อย่าง สข.ถ
ส่วนเลขที่ปรากฏบนป้ายระบุทางหลวงท้องถิ่นแบ่งเป็น 2 ส่วน หมายเลขส่วนแรกที่มี 1, 2 หรือ 3 ตัวเป็นลำดับองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่นภายในจังหวัด ส่วนตัวเลขส่วนหลังเป็นสำดับของสายทางหรือถนนที่ลงทะเบียนในเขตองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่นนั้น
ตัวอย่างของรหัสสายทางของทางหลวงท้องถิ่นคือ สข. ถ 25-100 จะหมายถึงทางหลวงท้องถิ่นในพื้นที่จังหวัดสงขลา มีเทศบาลตำบลนาทวีเป็นผู้รับผิดชอบ และลำดับสายทางที่ลงทะเบียนไว้คือ 100
ทางหลวงสัมปทาน
คือทางหลวงที่กรมทางหลวงให้เอกชนสัมปทานตามกฎหมายว่าด้วยทางหลวงที่ได้รับสัมปทาน และมีการขึ้นทะเบียนไว้เป็นทางหลวงสัมปทาน
ปัจจุบันกรมทางหลวงมีทางหลวงสัมปทาน 1 สายคือทางยกระดับอุตราภิมุขหรือดอนเมืองโทลล์เวย์ช่วงเฉพาะทางยกระดับตั้งแต่ดินแดงถึงดอนเมืองบนถนนวิภาวดีรังสิต โดยทางหลวงสัมปทานจะมีระบบหมายเลขทางหลวงเหมือนกับทางหลวงแผ่นดินหรือทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ซึ่งดอนเมืองโทลล์เวย์ในส่วนทางยกระดับดินแดงถึงดอนเมืองที่เป็นทางหลวงสัมปทานถูกจัดให้เป็นส่วนหนึ่งของทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 31 ขณะที่ช่วงตั้งแต่อนุสรณ์สถานถึงรังสิตเป็นส่วนหนึ่งของทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1
เรื่อง: กองบรรณาธิการ
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th