HONDA BR-V VS MITSUBISHI XPANDER ได้เวลา “แบทเทิล” ถ้าต้องเลือกคันไหนว่าเด็ด
ยุคนี้เอสยูวีขายดี ใช่…มันเป็นเซ็กเมนต์ที่มีการเติบโตสูงขึ้นอยู่ตลอดเวลา ด้วยความที่รถกลุ่มนี้สามารถตอบโจทย์ได้ดีกว่ารถซีดานทั่วไป ถามว่าเมื่อก่อนทำไมคนไทยถึงไม่นิยม เพราะมีรุ่นให้เลือกเล่นน้อย เลยมีแค่รถเก๋งกับรถกระบะเท่านั้น กลุ่มเอสยูวีที่เข้ามาทำตลาดในยุคนั้น หลายคนอยากได้มาใช้งาน แต่ติดตรงที่ราคาสูงพอตัว ขึ้นเจ็ดหลัก ถ้างั้นหันไปเล่นรถพีพีวี หรือรถกระบะจะมีประโยชน์มากกว่า นั่นคือเรื่องในอดีต จนวันหนึ่งบริษัทรถยนต์เริ่มหันมาย่อยเซ็กเมนต์รถให้เยอะขึ้น กลายเป็นการแจ้งเกิด “คอมแพคเอสยูวี” (แต่ละค่ายมีชื่อเรียกของตัวเองอีก) เวอร์ชันราคาเบาๆ เน้นความคุ้มค่าของพื้นที่การใช้งาน ระดับราคาถูกลง อย่างแพงระดับล้านบาท มันค่อยจับต้องได้ ถามอีกว่าทำไมรถที่นั่งกันถึง 7 คนได้ ใส่เครื่องเล็กๆ มันไหวเหรอ ใช่แล้ว เครื่องรุ่นใหม่มันมีกำลังเพียงพอต่อการใช้งาน แถมประหยัดพอตัว ยิ่งกฎหมายจราจรยุคนี้มันเข้มงวด จะเอาแรงไปขับที่ไหน อย่างมากวิ่ง 120 กม./ชม. แถวต่างจังหวัด ก็เสียวกล้องจับความเร็วแทบตายแล้ว
กลุ่มเป้าหมาย อย่างแรกคือรถครอบครัว ต้องการที่นั่งเยอะ ถ้าไม่นั่งก็พับเบาะ ปรับเปลี่ยนเป็นที่เก็บของได้สะดวก ยิ่งคนที่มีลูกรู้ดีว่าไปไหนที ต้องขนอุปกรณ์มากขนาดไหน กว่าจะโต ค่อยๆ ลดสัมภาระลงมาได้ มันสะดวกมากสำหรับคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ อย่างต่อมากลุ่มเพื่อนเยอะ เบื่อขับรถซีดาน อายุมากขึ้นก็อยากได้อะไรที่มันสบายขึ้น จากความสูงของตัวรถ ความนุ่มนวลของช่วงล่าง เมื่อต้องเจอสภาพถนนประเทศไทย รถทรงสูงจะสบายกว่า โดยเฉพาะเมื่อต้องผ่านเหตุการณ์น้ำท่วม ยังไงก็ได้เปรียบเห็นๆ ในราคาใกล้เคียงกับรถซีดาน ส่วนกลุ่มสุดท้าย คือ พวกขับคนเดียว ยิ่งผู้หญิงด้วยแล้ว เห็นเยอะมาก เอามาใช้เป็นรถขนของไปขายตามตลาดบ้าง หรือส่งพัสดุขายออนไลน์บ้าง เห็นไหมรถทรงนี้ให้ความคุ้มค่าได้มาก แม้หน้าตาอาจจะดูไม่เข้าตาระดับที่เห็นครั้งแรกแล้วรักเลย ต้องมองกันไปพักหนึ่ง
ประเทศไหนฮิต? หลายเสียงตอบตรงกันว่า จุดกำเนิดความนิยมมาจากอินโดนีเซีย แถบบ้านเราไม่ใกล้ไม่ไกล แถบนั้นชอบรถที่เน้นความจุ คุ้มค่าเงิน ดูแลรักษาง่าย ออปชันล้ำๆ ไม่ต้องเอามา ขอชิ้นส่วนอุปกรณ์เบสิก ใช้ยาวๆ ไม่จุกจิก ราคาไม่เว่อร์ คนไทยอาจไม่มีรสนิยมแบบนี้ แต่เชื่อเถอะว่ากระเป๋าไม่แบน ใช้แล้วสบายใจ ถ้าไม่เห็นภาพ ลองนึกถึงราคาอะไหล่ระหว่าง “แร็คไฟฟ้ากับแบบธรรมดา” ราคาต่างกันฟ้าเหว อยากได้แบบหรูๆ ไปรถแบบอื่น สำหรับคนที่มีประสบการณ์ซื้อรถคันที่สองจะเข้าใจ หรือเคยใช้รถอายุเป็น 10 ปี การบำรุงรักษามีผลต่อการตัดสินใจซื้อรถคันใหม่อย่างมากกว่าหน้าตา
คู่รักพรหมลิขิตในเดือนนี้ โจทย์ที่ได้คือเจ้า HONDA BR-V ที่เข้ามาขายเมื่อปี 59 โชว์จุดขาย เบาะนั่ง 3 แถว 7 ที่นั่ง ต่อจาก HONDA Mobilio ที่จัดอยู่ในกลุ่มเดียวกันแต่เตี้ยกว่า 12 มม. ส่วนตลาดบนเค้ามีรถเต็มไลน์เรียบร้อย เรียกว่ากินเรียบในหมู่รถยนต์นั่ง ทั้ง HONDA CR-V รองลงมาคือ HONDA HR-V เห็นได้ว่าผู้ที่เหมาะสมจะขึ้นแบทเทิลกันต้องเป็นหน้าใหม่ ไฟแรงตามกระแสจัด MITSUBISHI XPANDER เข้ามาเป็นคู่เดต ด้วยความสดใหม่ ทำการบ้านมาดีขนาดไหน ไปดูกันว่าแต่ละแบรนด์มีคาแรกเตอร์อย่างไร
เพราะฉะนั้น อย่าเพิ่งสับสนกับประเภทรถที่บริษัทผู้ผลิตพยายามจะจัดรถกลุ่มนี้เป็น SUV และ CROSS OVER ทั้งๆ ที่น่าจะเป็น MPV ซึ่งทั้ง 2 ค่าย ต่างนิยามไปในแนวทางเดียวกัน เมื่อ HONDA มีสโลแกนว่า Active Sport Crossover ส่วน MITSUBISHI ก็ใช้ Expand Your Possibilities Crossover ซึ่งเราก็รู้กันดีว่า รถสไตล์นี้น่าจะอยู่ในกลุ่มของรถ Mini MPV ทั้ง 2 ยี่ห้อนี้ต่างก็แยกย่อยเป็น 2 รุ่นคือ
HONDA BR-V | รุ่น V 5 ที่นั่ง ราคา 755,000 บาท |
รุ่น SV 7 ที่นั่ง ราคา 820,000 บาท |
MITSUBISHI XPANDER | รุ่น GLS-LTD 7 ที่นั่ง ราคา 779,000 บาท |
รุ่น GT 7 ที่นั่ง ราคา 849,000 บาท |
คู่เปรียบเทียบฉบับนี้คือ BR-V รุ่น SV กับ XPANDER รุ่น GT !!!
- รูปลักษณ์ภายนอก และภายใน
HONDA BR-V ย่อมาจาก Bold Runabout Vehicle ใช้แพลตฟอร์มของ Mobilio รถ MPV เจเนอเรชัน 2 ที่ผลิตในปี 2557 สำหรับตลาดอินโดนีเซีย 7 ที่นั่ง จากรถที่มีความสูงใต้ท้องรถ 189 มม. ยกสูงขึ้นเป็น 201 มม. BR-V เลยกลายพันธุ์เป็นรถ SUV ซึ่งรถรุ่นนี้พัฒนาขึ้นมาเพื่อภูมิภาคนี้โดยเฉพาะ จึงผลิตทั้งในไทยและอินโดนีเซีย
รูปลักษณ์ภายนอก ฮอนด้าใช้แนว Bold Design ที่เน้นเอกลักษณ์ในแบบ Solid Wing Face ให้ตัวรถมีความเป็นสปอร์ต แม้ว่าจะมีองค์รวมที่คล้ายกับรถ Mobilio แต่เส้นสายรอบคันดูบึกบึน พร้อมที่จะลุย ไฟหน้าโปรเจ็กเตอร์ใช้หลอดแบบฮาโลเจน แต่ไฟหรี่เป็นแบบ LED สำหรับคันนี้ได้ติดตั้งอุปกรณ์เสริม Modulo ซึ่งต้องเพิ่มงบอีก 30,000 กว่าบาท ก็จะได้แผงใต้กันชนหน้า กันชนหลัง บันไดข้าง สปอยเลอร์หลัง และไฟ Daytime Running Light ส่วนราวหลังคาจะเป็นอุปกรณ์มาตรฐานติดตั้งมาให้ มีสีให้เลือก 5 โทน ไฟท้ายแบบ C Shape กุญแจแบบ Smart Key พร้อมระบบสตาร์ตเครื่องยนต์แบบกดปุ่ม ล้ออัลลอยขนาด 16 นิ้ว
ภายในห้องโดยสาร เบาะนั่งเป็นแบบหนังผสมกับวัสดุหนังสังเคราะห์ เบาะนั่งคนขับปรับได้ 4 ทิศทาง ไม่สามารถปรับสูง-ต่ำ ได้ สำหรับเบาะนั่งแถวที่ 2 สามารถแยกพับได้ 60:40 และสามารถลื่อนหน้า-ถอยหลัง นอกจากนี้สามารถปรับเอนได้ 3 ระดับ แต่ไม่มีที่เท้าแขนตรงกลางมาให้ สำหรับเบาะนั่งแถวที่ 3 สามารถพับตลบไปด้านหน้าได้ 2 จังหวะ พับแยก 50:50 และปรับเอนได้ 2 ระดับ
แผงหน้าปัดออกแบบมาใหม่ ดูทันสมัยขึ้น ออกแบบมาตรวัดเป็น 3 วง โดยวงใหญ่อยู่ตรงกลางเป็นมาตรวัดความเร็ว ด้านข้างเป็นมาตรวัดรอบ และมาตรสำหรับแสดงข้อมูลระยะทางรวม Trip A, B อัตราความสิ้นเปลือง ปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิง และอุณหภูมินอกรถ ไม่มีมาตรวัดอุณหภูมิของเครื่องยนต์ โดยหันมาใช้ระบบไฟเตือนแทน ส่วนตรงกลางแผงหน้าปัดวางตำแหน่งช่องแอร์ไว้บนสุด ถัดลงมาเป็นจอสัมผัสขนาด 6.1 นิ้ว มีฟังก์ชันการใช้งานที่เน้นไปทางความบันเทิง เครื่องเสียง ระบบเชื่อมต่อการทำงานกับสมาร์ตโฟน และช่องต่อ USB เป็นต้น ระบบปรับอากาศแบบอัตโนมัติที่มีจอแสดงผลแบบดิจิทัล
พวงมาลัยทรง 3 ก้าน ที่มีปุ่มสำหรับควบคุมเครื่องเสียงมาให้เท่านั้น ภายในเล่นโทนสีดำ คอนโซลเกียร์ทรงเดิมที่เห็นๆ ในรถฮอนด้าหลายรุ่น และไม่มีที่เท้าแขนระหว่างเบาะคู่หน้ามาให้
คราวนี้มาดูทาง MITSUBISHI XPANDER ซึ่งเป็นรถโฉมใหม่ของค่ายที่เพิ่งจะกำเนิดขึ้นมาเพื่อตลาดอาเซียน โดยมีฐานการผลิตอยู่ที่อินโดนีเซีย แหล่งผลิตรถสไตล์ Mini MPV ของค่ายรถญี่ปุ่นเกือบทุกยี่ห้อ การมาใหม่ของมิตซูบิชิจึงได้เปรียบคู่แข่งอื่น เพราะสามารถนำข้อดี ข้อด้อยมาปรับเปลี่ยนให้รถรุ่นนี้เหนือกว่า แนวคิดในด้านการออกแบบจึงยึดคอนเซปต์เดียวกับรถรุ่นอื่นในค่าย ด้วย Dynamic Shield Design โดยการออกแบบด้านหน้าของรถไปในแนวทางเดียวกัน เป็นเอกลักษณ์เฉพาะที่แลดูคล้ายกับตัวอักษร X ตรงบริเวณกรอบกระจังหน้า ทำให้รถโฉมใหม่ดูโฉบเฉี่ยวมากขึ้น และหากเทียบกับรถคู่แข่งในกลุ่มเดียวกัน ย่อมได้เปรียบในความทันสมัย การจัดวางชุดไฟส่องสว่างด้านหน้า ออกแบบแถวบนเป็นไฟหรี่แบบคริสตัล LED เรียวยาว ถัดลงมาไฟทรงเหลี่ยมจะเป็นไฟหน้าเป็นแบบมัลติ-รีเฟล็กเตอร์ แต่ยังใช้หลอดฮาโลเจนเช่นเดียวกับคู่แข่ง ไฟทรงรูปสามเหลี่ยมที่ติดกับไฟหน้าเป็นไฟเลี้ยว โดยมีไฟตัดหมอกติดตั้งอยู่บนบริเวณชายล่างของกันชนด้านหน้า ซึ่งจะมีเฉพาะในรุ่น GT นี้ เส้นสายโดยรวมทั้งด้านหน้าและด้านข้างถอดแบบมาจากรุ่นปาเจโร สปอร์ต เพียงแต่ย่อส่วนลงมา ทำให้รถรุ่นนี้มีความใหม่สด ส่วนท้ายก็เช่นกัน มีการออกแบบตามแนวเดียวกับด้านหน้า มีการจัดวางเส้นโค้งเว้าคล้ายตัวอักษร X ชวนให้ดูมีเสน่ห์ ไฟท้ายแบบ LED รูปทรงตัวแอล ไฟเบรกดวงที่ 3 บนสปอยเลอร์หลังก็เป็นแบบ LED ล้ออัลลอยขนาด 16 นิ้ว แบบทูโทน
ภายในห้องโดยสารก็เช่นกัน ได้รับการออกแบบที่รับกับภายนอก และมีส่วนก๊อปมาจากรุ่นพี่อย่างปาเจโร สปอร์ต แม้ว่าจะไม่หรูเท่า แต่ก็เพียงพอที่จะเรียกความสนใจจากลูกค้ากลุ่มนี้ได้บ้าง เบาะนั่งตามสเป็กของอินโดนีเซียจะเป็นเบาะผ้า แต่สำหรับบ้านเราขอปรับเป็นเบาะหนังและวัสดุหนังสังเคราะห์ และใช้โทนสีดำตัดกับวัสดุสีเงิน และแบบเปียโนแบล็ก ทำให้ดูสว่างขึ้นหน่อย เบาะนั่งคนขับสามารถปรับสูง-ต่ำ ได้ เบาะนั่งแถวที่ 2 แยกพับ 60:40 สามารถเลื่อนขึ้นหน้าและถอยหลังได้ มีที่เท้าแขนมาให้ ปรับเอนได้แต่ไม่มาก สำหรับแถวนั่งที่ 3 สามารถแยกพับ 50:50 และพนักพิงหลังปรับเอนได้ ซึ่งก็อยู่ในรูปแบบเดียวกันกับรถคู่แข่ง
แผงหน้าปัดโดยเฉพาะมาตรวัด จัดวางรูปแบบทรงกลม 2 วง เป็นมาตรวัดรอบ และวัดความเร็ว โดยเว้นตรงกลางเพื่อติดตั้งจอแสดงผลข้อมูลอเนกประสงค์ขนาดจอ 4.2 นิ้ว แบบ TFT Color LCD With 3D Animation เพื่อแจ้งอัตราความสิ้นเปลืองของเชื้อเพลิง บอกระยะทางที่ใช้ไป ระยะทางที่ไปต่อจากน้ำมันที่มีอยู่ บอกปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิง วัดอุณหภูมิของเครื่องยนต์ เป็นต้น พวงมาลัยทรง 3 ก้าน มีปุ่มบนก้านด้านซ้ายสำหรับควบคุมเครื่องเสียง และด้านขวาจะเป็นปุ่มสำหรับควบคุมความเร็วคงที่หรือ Cruise Control ไล่มาที่กลางแผง หน้าปัดด้านบนจะติดตั้งจอภาพระบบสัมผัสขนาด 6.2 นิ้ว เป็นชุดควบคุมความบันเทิงของเครื่องเสียง เครื่องเล่น DVD/CD/MP3 พร้อมลำโพง 6 ตัว และระบบเชื่อมต่อโทรศัพท์แบบไร้สาย Bluetooth และช่องต่ออุปกรณ์ USB ถัดลงมาเป็นช่องแอร์ที่ออกแบบง่ายๆ ทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ลงมาเป็นปุ่มแบบลูกบิดปรับระบบปรับอากาศ
สัดส่วน (มิติ) HONDA BR-V MITSUBISHI XPANDER แตกต่าง
ความยาว (มม.) 4,456 4,475 19
ความกว้าง (มม.) 1,735 1,750 15
ความสูง (มม.) 1,666 1,700 34
ความยาวของฐานล้อ (มม.) 2,655 2,775 120
ความสูงใต้ท้องรถ (มม.) 201 205 4
ขนาดสัดส่วนมิตซูบิชิใหญ่กว่าฮอนด้าเล็กน้อย….
- เครื่องยนต์
ฮอนด้ายังคงใช้เครื่องยนต์ที่มีเทคโนโลยีที่เรียกว่า Earth Dreams เป็นเครื่อง 4 สูบ SOHC 16 วาล์ว i-VTEC มีปริมาตรความจุ 1,499 ซี.ซี. ให้กำลังสูงสุด 117 แรงม้า ที่ 6,000 รอบ/นาที มีแรงบิดสูงสุด 146 นิวตันเมตร ที่ 4,700 รอบ/นาที ระบบจ่ายเชื้อเพลิงแบบหัวฉีดมัลติพอยต์ หรือ PGM-FI รองรับน้ำมันเชื้อเพลิงได้ถึง E85 ในส่วนของระบบส่งกำลัง BR-V ใช้เกียร์อัตโนมัติแบบ CVT ที่มีอัตราทดเกียร์ 3.48-0.562 อัตราทดเกียร์ถอยหลัง 3.733-1.906 ใช้เฟืองท้ายขนาด 3.941 พวงมาลัย แร็ค แอนด์ พิเนียน พร้อมเพาเวอร์แผ่อนแรงแบบไฟฟ้าหรือ EPS ระบบกันสะเทือนชุดหน้า แม็คเฟอร์สันสตรัท เหล็กกันโคลง ระบบกันสะเทือนหลัง ทอร์ชันบีมแบบ H-Shape เบรกหน้าแบบดิสก์ มีช่องระบายความร้อน หลังเป็นแบบดรัมเบรก ระบบความปลอดภัยมีเท่าที่กฎหมายกำหนด ถุงลมนิรภัยคู่หน้า ระบบควบคุมการทรงตัว (VSA) ระบบช่วยการออกตัวขณะอยู่บนทางลาดชัน (HAS) ระบบเบรก ABS และระบบกระจายแรงเบรก EBD มีกล้องส่องหลัง
สำหรับมิตซูบิชิ XPANDER ก็เป็นแบบ 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว MIVEC มีปริมาตรความจุ 1,499 ซี.ซี. ให้กำลังสูงสุด 105 แรงม้า ที่ 6,000 รอบ/นาที มีแรงบิดสูงสุด 141 นิวตันเมตร ที่ 4,000 รอบ/นาที ระบบจ่ายเชื้อเพลิงด้วยหัวฉีดอิเล็กทรอนิกส์ ECI-MULTI 32 Bit รองรับน้ำมันเชื้อเพลิงแค่ E20 ระบบส่งกำลังใช้เกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะ เป็นแบบฟันเฟือง ไม่ใช่สายพานอย่าง BR-V โดยมีอัตราทดเกียร์ 1-4 คือ 2.875, 1.586, 1.000 และ 0.697 อัตราทดเกียร์ถอยหลัง 2.300 เฟืองท้ายขนาด 4.375 ทำงานร่วมกับชุดช่วงล่างที่ไม่แตกต่างจากรถค่ายอื่นๆ คือ ชุดกันสะเทือนหน้า เป็นแบบแม็คเฟอร์สันสตรัท พร้อมเหล็กกันโคลง และเหล็กค้ำหัวโช้ค กันสะเทือนหลังใช้แบบทอร์ชันบีม พวงมาลัย แร็ค แอนด์ พิเนียน ควบคุมการทำงานด้วยไฟฟ้าหรือ EPS ระบบเบรกคู่หน้าแบบดิสก์พร้อมช่องระบายความร้อน และคู่หลังเป็นแบบดรัม ในส่วนของระบบความปลอดภัย ติดตั้งมาในระดับที่ใกล้เคียงกัน มีถุงลมนิรภัยคู่หน้า มีกล้องส่องหลัง มีระบบควบคุมการทรงตัว (ASC) ระบบป้องกันการลื่นไถล (TCL) ระบบช่วยออกตัวบนทางลาดชัน (HSA) ระบบเบรกมีให้ครบกว่า มีทั้ง ABS, EBD และระบบเสริมแรงเบรก BA มาให้
- เลือกคันที่ชอบ
เมื่อได้รายละเอียดของรถทั้งคู่มาแล้ว ก็อยู่ในขั้นตอนของการตัดสินใจว่าจะเลือกคันไหนไว้เป็นรถคู่ใจ ซึ่งแน่นอนว่า เลือกไม่ยากสำหรับคนที่มีแบรนด์อยู่ในใจ แม้ว่าบางครั้งก็อยากจะเปลี่ยนไปใช้ยี่ห้ออื่นบ้าง แต่ก็ยังกังวลในเรื่องของศูนย์บริการ ราคาขายต่อที่กลุ่มลูกค้าบางคนใช้เป็นตัวตั้งในการเลือกรถ ในเรื่องของรูปลักษณ์ เห็นได้ชัดว่ารถที่มาทีหลังย่อมได้เปรียบกว่าในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะ XPANDER ที่มาใหม่ ได้ทำการบ้านมาเป็นอย่างดี จึงสามารถที่จะสร้างจุดเด่นได้ชัดกว่าในเรื่องของขนาดรถ ลักษณะของรถที่ดูสปอร์ตกว่า
ในเรื่องของอัตราเร่ง แม้ว่ารถทั้ง 2 คันนี้จะมีขนาดเครื่องยนต์ 1.5 ลิตรเท่ากัน แต่การรีดแรงม้าออกมาไม่เท่ากัน ทำให้ BR-V มีกำลังมากกว่าถึง 12 แรงม้า บวกน้ำหนักตัวรถของ BR-V ที่เบากว่าถึง 49 กก. ทั้งเรื่องของอัตราเร่ง การไต่ความเร็วในแต่ละช่วงความเร็วของรถ BR-V ได้เปรียบกว่าอย่างชัดเจน
และเมื่อมาพิจารณาในเรื่องของการควบคุมขับขี่ BR-V มีการปรับตั้งพวงมาลัยมาค่อนข้างจะเบา การขับขี่ในเมือง สะดวก คล่องตัว จอดเข้าซองง่าย แต่เมื่อใช้ความเร็วสูงขึ้น น้ำหนักพวงมาลัยที่เบา ทำให้การตอบสนองด้อยไปหน่อย ระบบกันสะเทือนของฮอนด้ายังคงสไตล์ที่ให้ความนุ่ม นั่งสบาย แต่จะมีเสียงสะท้อนเข้ามาในห้องโดยสารมาก ความมั่นใจในการขับที่ระดับความเร็วสูงก็ใช้ได้ดี ทั้งการเข้าโค้ง การยึดเกาะถนนอยู่ในระดับปานกลาง ระบบเบรกมีทั้งระบบป้องกันกันล้อล็อกหรือ ABS และระบบกระจายแรงเบรก EBD ที่ให้การตอบสนองได้ดีพอควร
ในขณะเดียวกัน ถ้าวัดกันในเรื่องการควบคุมการขับขี่ XPANDER โดยรวมให้การขับที่สนุกกว่า พวงมาลัยแม่นยำ ควบคุมได้ง่าย คล่องตัว ให้น้ำหนักที่พอดี ทั้งช่วงความเร็วต่ำและความเร็วสูง ขับแล้วไม่รู้สึกเกร็ง ขณะเดียวกัน ระบบส่งกำลังแม้ว่าชุดเกียร์ของ XPANDER จะโบราณไปหน่อย มีแค่ 4 จังหวะ แต่ก็ให้การเปลี่ยนเกียร์ที่นุ่มนวลต่อเนื่อง รวมทั้งถ้าจะเปรียบเทียบในเรื่องของช่วงล่าง และการเก็บเสียง 2 จุดนี้ XPANDER ทำได้ดีกว่า
- รอบการทำงาน
เปรียบเทียบความเร็วกับรอบทำงานของเครื่องยนต์
ความเร็ว HONDA BR-V MITSUBISHI XPANDER
80 กม./ชม. 1,600 รอบ/นาที 2,000 รอบ/นาที
90 กม./ชม. 1,800 รอบ/นาที 2,200 รอบ/นาที
100 กม./ชม. 2,000 รอบ/นาที 2,500 รอบ/นาที
สำหรับอัตราความสิ้นเปลือง ใช้วิธีการวัดด้วยการเติมน้ำมันจนเต็ม วิ่งไปด้วยกัน ด้วยความเร็วที่เท่าๆ กัน และในสภาพการจราจรที่เหมือนกัน ความเร็วรถประมาณ 80-120 กม./ชม. ระยะทางบนหน้าปัดรถทั้ง 2 คันเท่ากัน ผลที่ได้ BR-V กินน้ำมัน 15.89 กม./ลิตร ในขณะที่ XPANDER กินน้ำมัน 11.44 กม./ลิตร ซึ่งต้องยกผลประโยชน์ให้ชุดเกียร์ที่ใช้อยู่ในรถฮอนด้าแบบ CVT ให้อัตราความสิ้นเปลืองได้ดีกว่าอย่างเด่นชัด รวมทั้งรอบการทำงานของเครื่องยนต์ที่ต่ำกว่าด้วย
ทั้งหมดนี้พอจะให้เลือกคันที่ชอบได้บ้าง ถ้าต้องการความคุ้มค่าและประหยัดเชื้อเพลิง HONDA BR-V ได้เลย แต่ถ้าชอบของใหม่และการขับขี่ที่สนุกกว่า ต้องยกให้ MITSUBISHI XPANDER ครับ
SPECIFICATION
รุ่นรถ | MITSUBISHI XPANDER GT | HONDA BR-V SV |
เครื่องยนต์ แบบ | 4 สูบ MIVEC DOHC 16 วาล์ว | SOHC 4 สูบ 16 วาล์ว i-VTEC |
ปริมาตรกระบอกสูบ (ซีซี.) | 1,499 | 1,497 |
ความกว้างกระบอกสูบxระยะชัก (มม.) | 75.0×84.8 | 73 x 89.4 |
อัตราส่วนกำลังอัด | 10.0:1 | 10.3:1 |
ระบบจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิง | Electronic Direct Injection หัวฉีดมัลติพอยท์ PGM FI | Electronic Direct Injection หัวฉีดมัลติพอยท์ PGM FI |
ประเภทน้ำมันเชื้อเพลิง | เบนซิน ไร้สารตะกั๋ว E10 E20 | เบนซิน ไร้สารตะกั๋ว E10 E20 E85 |
แรงม้าสูงสุด (แรงม้า/รอบต่อนาที) | 105/6,000 | 117/6,000 |
แรงบิดสูงสุด (นิวตัน-เมตร/รอบต่อนาที) | 141/4,000 | 246/4,700 |
ความจุถังน้ำมันเชื้อเพลิง (ลิตร) | 45 | 48.5 |
ระบบส่งกำลัง
ระบบขับเคลื่อน | ขับเคลื่อน 2 ล้อ | ขับเคลื่อน 2 ล้อ |
ระบบเกียร์ | อัตโนมัติ 4 สปีด พร้อมระบบ INC | เกียร์ CVT |
อัตราทดเกียร์ เกียร์ 1 | 2.875 | 3.484~0.562 |
เกียร์ 2 | 1.568 | – |
เกียร์ 3 | 1.000 | – |
เกียร์ 4 | 0.697 | – |
เกียร์ถอยหลัง | 2.300 | 3.733~1.906 |
อัตราทดเฟืองท้าย | 4.375 | 3.941 |
รัศมีวงเลี้ยวแคบสุด (ม.) | 5.2 | 5.3 |
ระบบพวงมาลัย | แร็คแอนด์พิเนียน พร้อมพาวเวอร์ ช่วยผ่อนแรงแบบไฟฟ้า (EPS) | แร็คแอนด์พิเนียน พร้อมพาวเวอร์ ช่วยผ่อนแรงแบบไฟฟ้า (EPS) |
ระบบกันสะเทือน หน้า | อิสระแม็คเฟอร์สันสตรัท คอยสปริง พร้อมเหล็กกันโคลง | แม็คเฟอร์สัน สตรัท อิสระ พร้อมเหล็กกันโคลง |
หลัง | ทอร์ชั่นบีม | ทอร์ชั่นบีมแบบ H-shape |
ระบบเบรก หน้า | ดิสก์เบรกพร้อมครีบระบายความร้อน | ดิสก์เบรกพร้อมครีบระบายความร้อน |
หลัง | ดรัมเบรก | ดรัมเบรก |
ล้อและยาง | 205/55 R16 | 195 / 60 |
น้ำหนักรถ (กก.) | 1,290 | 1,241 |
เรื่อง: กองบรรณาธิการนิตยสารกรังด์ปรีซ์ ภาพ G.POODIT
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th