เปิดประวัติ Honda Civic Type R 5 เจนเนอเรชั่นความแรงจากสนามแข่ง
สำหรับสาวกตัว H อย่าง Honda ตัวแรงในรหัส Type R ถือเป็นที่สุดแห่งความแรง เพราะนี่คือ ยานยนต์ที่รวบรวมเทคโนโลยีจากสนามแข่งที่ Honda สั่งสมมาจากมอเตอร์สปอร์ตรายการต่างๆ ทั่วโลก ทั้ง F1 BTCC และ Super GT ก่อนที่จะนำมาประยุกต์และตกผลึกเป็นองค์ความรู้ในการนำไปสู่การพัฒนาเพื่อการใช้งานบนถนนสำหรับ Road Car รุ่นต่างๆ ที่จำหน่ายอยู่ในตลาด
จุดเริ่มต้นแห่งความเร้าใจจากสนามแข่ง
ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่า ปรัชญาในเชิงนโยบายด้านเทคโนโลยียานยนต์ของ Honda นั้นมีส่วนผลักดันให้ทีมงานของพวกเขาเดินหน้าต่อไปเรื่อยๆ และสนามแข่งมอเตอร์สปอร์ตรายการต่างๆ คือ พื้นที่และสนามทดลององค์ความรู้ของพวกเขาก่อนที่จะนำมาใช้งานกับรถยนต์บนท้องถนน
Honda เข้าร่วมการแข่งขัน F1 มาโดยตลอด ซึ่งนับจากทศวรรษที่ 1960 ซึ่งถือเป็น 1st Era ของแบรนด์ จนกระทั่งปัจจุบัน สนามแข่ง F1 ถือเป็นห้องทดลองที่บรรดาวิศวกรของ Honda จะต้องพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์ โดยเฉพาะเครื่องยนต์ออกมาเพื่อแข่งขันกับวิศวกรจากค่ายอื่นๆ และความสำเร็จกับการเป็นผู้สนับสนุนเครื่องยนต์ให้กัลทีมแข่งอย่าง McLaren ในช่วงรอยต่อระหว่างทศวรรษที่ 1980 และ 1990
ตรงนี้แหละถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการนำองค์ความรู้จากสนามแข่งมาถ่ายทอดลงในรถยนต์บ้าน และนำไปสู่การพัฒนาตัวแรงที่เรียกว่า Type R หรือ Type Racing ออกมาสู่ตลาด ผ่านทางรถยนต์รุ่นต่างๆ ทั้ง NSX Integra แต่ที่โด่งดังสุดๆ คือ การทำให้รถยนต์บ้านๆ อย่าง Civic มีที่ยืนอยู่ในตลาดความแรง
รุ่นที่ 1 : Honda Civic Type R EK9
เปิดตัวในช่วงปี 1997 และถือเป็นการเปิดศักราชให้กับ Type R ให้กับรถยนต์คอมแพ็กต์รุ่นดังของพวกเขาอย่าง Civic โดย Honda เลือกหยิบเอา Civic ตัวถังแฮทช์แบ็กแบบ 3 ประตูมาปรับปรุงใหม่ด้วยเอกลักษณ์ที่ถือว่าเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับ Type R นั่นคือ ตัวถังที่มากับสีขาวโทน Championship White (แต่ในรุ่นนี้มีสีเหลืองเป็นอีกทางเลือก) ล้อแม็กสีขาว ภายในสีแดงพร้อมเบาะ Recaro และเครื่องยนต์ที่ถูกรีดแรงม้าในรอบสูงเหมือนกับรถแข่งจับคู่กับเกียร์ธรรมดา
Civic Type R รุ่นแรกถือเป็น JDM อย่างแท้จริง เพราะมีขายเฉพาะในตลาดญี่ปุ่นเท่านั้น ที่เหลือคือการนำเข้าผ่านตัวแทนจำหน่ายทั้งแบบถูกต้องและผ่านทางผู้นำเข้ารายย่อย โดยเครื่องยนต์ที่นำมาติดตั้งในรุ่นนี้ต้องบอกว่าเกิดมาเพื่อ Civic Type R เพราะขุมพลัง B16B มีเฉพาะในรถยนรต์รุ่นนี้ และเป็นเครื่องยนต์ 1,600 ซีซีที่รีดกำลังออกมาในช่วงรอบสูงมาก โดยมีตัวเลข 185 แรงม้าที่ 8,200 รอบ/นาที โดยที่แถบ Redline ของเครื่องยนต์เริ่มต้นที่ 8,500 รอบ/นาที และจับคู่กับเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ
รุ่นที่ 2 : Honda Civic Type R EP3
อยากอยู่รอดต้องรู้จักปรับตัว แน่นอนว่า Honda มองไกลกว่าในตลาดญีปุ่น เพราะในยุโรปยังมีตลาดกลุ่มหนึ่งที่ถือว่ามียอดขายสูง และได้รับความนิยมจากคนที่นั่น ซึ่งก็คือตลาด Hot Hatch หรือพวกรถยนต์แฮทช์แบ็กที่มีพลังแรงอย่าง Volkswagen GTI หรือ Opel OPC นั่นทำให้จุดเริ่มต้นในการพัฒนา Civic Type R รุ่นที่ 2 ต้องเกิดมาเพื่อรองรับกับลูกค้าทั้งในญี่ปุ่น และยุโรป โดยใช้จุดศูนย์กลางในการพัฒนาอยู่ที่ Honda UK ที่เมืองสวินดอน ประเทศอังกฤษ และใช้พื้นฐานของ Civic 3 ประตู
ในรุ่นนี้เปิดตัวเมื่อปี 2001 และยังคงคอนเซ็ปต์ในเรื่องการถ่ายทอดความแรงจากสนามแข่งสู่รถยนต์ใช้งานบนถนน แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปอย่างชัดเจนคือ การเพิ่มกำลังด้วยการใช้เครื่องยนต์ซีซีสูง แทนที่จะรีดรอบเครื่องยนต์จากเครื่องยนต์บล็อกเล็กเหมือนกับรุ่นแรกเพื่อสร้างสัมผัสจากสนามแข่งโดยเฉพาะการลากรอบเครื่องยนต์สูงๆ เหมือนกับรถแข่ง
ดังนั้นในแง่ของเครื่องยนต์จึงถูกเปลียนจากรหัส B มาเป็น K20A ที่มีความจุ 2,000 ซีซี พร้อมกับขยับกำลังของเครื่องยนต์เป็น 200-215 แรงม้าสำหรับใช้ในการแข่งขันกับคู่ปรับในตลาดยุโรปอย่าง Volkswagen Golf GTi, Opel Astra OPC, Peugeot 307GTI โดยตัวถังยังใช้แบบแฮทช์แบ็ก 3 ประตูเหมือนเดิม
รุ่นที่ 3 : Honda Civic Type R FD2 / FN2
ถือเป็นครั้งแรกใน 2 เรื่อง คือ เป็นครั้งแรกที่ Civic Type R ใช้ตัวถังซีดาน ซึ่งเป็นเพราะในตลาดญี่ปุ่น Honda มีความเปลี่ยนแปลงในเชิงนโยบายการจำหน่ายรถยนต์ที่หันมาเจาะตลาดใหญ่ขึ้น แม้ Civic ยังมี 3 เวอร์ชันเหมือนเดิม คือ สำหรับตลาดญี่ปุ่น อเมริกา และยุโรป แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปคือ เวอร์ชันญี่ปุ่นและอเมริกามีการใช้พื้นฐานเดียวกัน แต่ปรับเปลี่ยนแค่หน้าตาเล็กน้อยคือ ไฟหน้าและไฟท้าย (ซึ่งในรุ่นนี้เวอร์ชันญี่ปุ่น และไทยใช้ร่วมกัน) โดยในญี่ปุ่นไม่มีตัวถังแฮทช์แบ็กทำตลาดอีกต่อไป และนั่นทำให้ Civic Type R จึงต้องใช้พื้นฐานของตัวถังซีดาน จึงเป็นที่มาของ FD2 ซึ่งเป็นรหัสตัวถังด้านท้ายซ้ำกับรุ่น 2,000 ซีซีของ Civic รุ่นธรรมดา แต่รหัสด้านหน้าจะแตกต่างกัน
ตัวรถเปิดตัวในปี 2007 และถือเป็นครั้งแรกเช่นกันที่ Honda ส่ง Civic Type R ที่เป็นเวอร์ชัน JDM ออกขายนอกญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการ โดยในรุ่นนี้มีจำหน่ายที่ประเทศมาเลเซีย ส่วนเครื่องยนต์ที่ทำตลาดเป็นรหัส K20A แบบ 4 สูบ 2,000 ซีซีแต่ปรับกำลังขับเคลื่อนเป็น 225 แรงม้า และจับคู่กับเกียร์ธรรมดา 6 จังหวะ
สำหรับเรื่องที่ 2 คือ เป็นครั้งแรกที่ Civic Type R มี 2 เวอร์ชัน โดยนอกจากเวอร์ชัน JDM ที่มีวางขายประเทศอื่นๆ อย่างที่บอกข้างต้นด้วยนั้น ยังมี Civic Type R เวอร์ชันยุโรปด้วย โดยจะใช้รหัส FN2 ซึ่ง Civic Type R รุ่นนี้ใช้พื้นฐานของ Civic แฮทช์แบ็กแบบ 3 ประตูซึ่งจะเป็นคนละแพล็ตฟอร์มกับ Civic FD ที่มีขายอยู่ในบ้านเรา ซึ่งในรุ่นนี้ Honda ยังคงเดินหน้าในการเจาะตลาด Hot Hatch ของยุโรปเช่นเคย และใช้เครื่องยนต์ K20Z4 แบบ 4 สูบ 2,000 ซีซี ที่มีกำลัง 201 แรงม้า ที่ 7,800 รอบ/นาที โดยในเวอร์ชันนี้ยังมีส่งกลับเข้ามาขายในญี่ปุ่นด้วย และใช้ชื่อว่า Honda Civic Type R Euro โดยมีการนำเข้าไปทำตลาด 2 ล็อตรวม 3,500 คัน
รุ่นที่ 4 : Honda Civic Type R FK2
เปิดตัวในปี 2015 โดยใช้พื้นฐานของ Honda Civic เจนเนอเรชั่นที่ 9 พร้อมความเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง นั่นคือ Honda มี Civic มีวางจำหน่ายโดยใช้ตัวถังแฮทช์แบ็ก 5 ประตูที่อ้างอิงจากพื้นฐานของ Civic ที่ขายในยุโรป พร้อมกับปรับปรุงในเรื่องของสมรรถนะที่อัพเกรดและยกระดับเพื่อทัดเทียมกับคู่ปรับในตลาดซึ่งในกลุ่ม Hot Hatch นั้นขยับขึ้นเป็นมีกำลังอยู่ที่ 300 แรงม้า
Honda เปิดตัว Civic Type R รุ่นนี้ในงานเจนีวา มอเตอร์โชว์ 2015 พร้อมเครื่องยนต์ใหม่ที่เป็นรหัส K20C1 หันมาใช้การจ่ายน้ำมันบบ Direct Injection เข้าสู่ห้องเผาไหม้โดยตรง พร้อมเทอร์โบ และเทคโนโลยี Earth Dreams ซึ่งทำให้ช่วยลดมลพิษ และประหยัดน้ำมันมากขึ้น ตัวรถรีดกำลังออกมาได้ 310 แรงม้า ที่ 6,500 รอบต่อนาที พร้อมเกียร์ธรรดา 6 จังหวะ ใช้เวลาเพียง 5.7 วินาทีในการทำอัตราเร่ง 0-100 กิโลเมตร/ชั่วโมง
รุ่นนี้ผลิตที่โรงงานในสวินดอน ประเทศอังกฤษ และในปี 2015 มีการส่งออกไปยังตลาดญี่ปุ่นด้วยเช่นกัน และมียอดขายอยู่ที่ 750 คันเท่านั้น
รุ่นที่ 5 : Honda Civic Type R FK8
รุ่นที่ 4 ของ Civic Type R มีการทำตลาดในช่วงสั้นๆ และในปี 2017 Honda ได้ส่ง Civic Type R ใหม่ลงสู่ตลาดบนตัวถังแฮทช์แบ็ก 5 ประตูที่อยู่บนพื้นฐานของ Civic FK รุ่นที่ 10 พร้อมเครื่องยนต์ 4 สูบ 2,000 ซีซี เทอร์โบ ซึ่งจะมีกำลังอยู่ในระหว่าง 310-320 แรงม้า พร้อมเกียร์ธรรมดาแบบอัตราทดชิด 6 จังหวะ
เพื่อความพิเศษ Honda ได้ส่ง Civic Type R รุ่นนี้ลงทดสอบในสนามนูร์บูร์กริง ที่ประเทศเยอรมนี และสามารถทำเวลาได้อย่างยอดเยี่ยม โดยระยะทาง 1 รอบสนามซึ่งอยู่ที่ 20 กิโลเมตรใช้เวลาอยู่ที่ 7 นาที 43.80 วินาที
เรื่อง: กองบรรณาธิการ
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th