Honda CR-V 2.4 EL 4WD VS Mazda CX-5 2.0SP อารมณ์ ความชอบ และเหตุผล ไม่ว่าจะเลือกคันไหนก็ไม่ผิดหวัง
ค่ายรถยนต์ที่ผูกขาดการจำหน่ายรถ SUV ในตลาดเมืองไทยมายาวนาน น่าจะเป็น Honda ที่นำ CR-V เข้ามาจำหน่ายในบ้านเราเมื่อปี 1996 ซึ่งเป็นเจเนอเรชันแรก ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันนี้ แล้วยังเสริมทัพด้วย HR-V ในแบบคอมแพคเอสยูวี เช่นเดียวกับค่ายโตโยต้าที่นำเข้า RAV-4 เจเนอเรชันแรกที่เริ่มผลิตในปี 1994 เข้ามาจำหน่าย แต่ด้วยราคาที่แพงกว่า จึงไม่ได้รับความนิยมและหยุดการนำเข้ามาไทยในปี 2006 ค่ายรถญี่ปุ่นอย่างนิสสัน ก็นำเข้ารถ SUV จากอินโดนีเซีย ด้วยรุ่นเอ็กซ์เทรล ในปี 2005 ซึ่งเป็นช่วงที่น้ำมันเชื้อเพลิงมีการปรับราคาสูงขึ้น ทำให้รถแนว Off-Road และ SUV ยอดขายลดลง แล้วยังมีค่ายรถอเมริกานำ เชฟโรเลต แคปติวา รถ SUV ขนาดกลาง แบบ 7 ที่นั่ง มาประกอบในบ้านเราเมื่อปี 2007 รถ SUV กลับมาคึกคักอีกครั้งในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา หลายๆ ค่ายก็นำรถแนว SUV เข้ามามากขึ้น โดยเฉพาะค่าย Mazda ที่นำ CX-3 และ CX-5 เข้ามาชนกับทางฮอนด้า ในแบบรุ่นและขนาดเดียวกัน นอกจากนี้แล้ว ยังมี MG อีก 2 รุ่น ทั้ง GS และ ZS ล่าสุดค่ายโตโยต้าก็ต้องเอา C-HR เข้ามาทำตลาดบ้าง
ความจริงรถ SUV ขนาดกลางมีหลากหลายให้เลือกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น Nissan X-Trail, Honda CR-V, Mazda CX-5, Subaru Forester เป็นต้น แต่คู่ที่จะนำมาเปรียบเทียบในครั้งนี้ คือ Honda CR-V กับ Mazda CX-5 ที่ดูจะได้รับความนิยมค่อนข้างมาก Honda CR-V ในฐานะเจ้าตลาดรถ SUV ในไทย ปูทางมาจนประสบความสำเร็จก็ใช้เวลาร่วม 22 ปี สำหรับโฉมล่าสุด เจเนอเรชันที่ 5 เข้ามาจำหน่ายได้ปีกว่าแล้ว ในขณะที่มาสด้าโฉมใหม่ล่าสุด เป็นเจเนอเรชันที่ 2 เอง แต่ด้วยวิวัฒนาการของเทคโนโลยีและทิศทางการออกแบบที่ล้ำสมัย ทำให้เจ้า CX-5 เป็นที่ฮือฮาอยู่ในกระแสช่วงนี้
ทั้ง 2 ยี่ห้อนี้ ต่างก็มีทั้งแบบเครื่องยนต์เบนซินและเครื่องยนต์ดีเซล ให้เลือกใช้ตามความต้องการ สำหรับการเปรียบเทียบของกรังด์ปรีซ์ในฉบับนี้ จะมุ่งไปที่เครื่องยนต์เบนซิน ซึ่งเป็นคู่ชกที่สมเหตุสมผลในทุกด้าน แม้กระทั่งราคาจำหน่ายก็อยู่ในระดับเดียวกัน Honda CR-V 2.4EL 4WD จำหน่ายคันละ 1,549,000 บาท ส่วน Mazda CX-5 2.0 SP แต่ขับเคลื่อน 2 ล้อ จำหน่ายคันละ 1,530,000 บาท
รูปลักษณ์ภายนอกและภายใน
ในแต่ละเจเนอเรชันของฮอนด้า มีการพัฒนาความโดดเด่นอยู่ตลอด เปลี่ยนโมเดลแต่ละครั้งมีสิ่งใหม่ๆ มานำเสนอ แม้ว่ารูปทรงองค์เอวของฮอนด้าดูจะชินตา โดยเฉพาะกระจังหน้าแบบโครเมียมแนวนอน พร้อมโลโกตัวอักษร H ที่ยังคงรักษาเอกลักษณ์ แต่การออกแบบจะมีการเพิ่มรายละเอียด เส้นเหลี่ยมที่คมชัดขึ้น เติมบุคลิกให้ดูแกร่งขึ้น แฝงด้วยความหรูหรา ชุดไฟหน้า ไฟเลี้ยวแบบ LED พร้อมทั้งไฟ Daytime Running Light แบบ LED บริเวณชายล่างของกันชนมีไฟตัดหมอกทรงรูปไข่ แต่งด้วยกรอบโครเมียม แนวด้านข้างเสริมแต่งด้วยแนวเส้นโครเมียมบริเวณชายล่างของประตูหน้าถึงประตูหลัง แลดูเด่นขึ้นมา ส่วนท้าย ต่างจากเดิม ที่ไฟท้ายที่เป็นแนวตั้งยึดขยายปลายล่างออกไปทั้งแนวด้านข้างรถและแนวฝากระโปรง ฝากระโปรงท้าย เปิด-ปิด อัตโนมัติ แบบแฮนด์ฟรี แค่ยื่นปลายเท้าไปบริเวณใต้ป้ายทะเบียนรถเท่านั้น ฝาท้ายจะเปิดออกทันที ภาพลักษณ์โดยรวมดูมาดสุขุม ตามการออกแบบแนว Modern Functional Dynamic เมื่อมาเทียบกับการออกแบบในสไตล์ KODO Design ของมาสด้า CX-5 เห็นได้ชัดว่าไปคนละฟีล กระจังหน้าที่โดดเด่น ไฟหน้ามาทั้งแบบโปรเจ็กเตอร์และแบบ LED ปรับระดับสูง-ต่ำ อัตโนมัติ ให้เหมาะกับสภาพถนน และรถคันหน้า เพิ่มทัศนวิสัยและช่วยให้การทำงานของไฟสูงไม่ไปรบกวนรถคันอื่น เอกลักษณ์แห่งการดีไซน์ยังคงไว้ซึ่งความสุนทรียศาสตร์ ที่มีเส้นสายเรียบง่ายแต่แฝงด้วยความโฉบเฉี่ยว ทรงพลัง จนไม่อาจจะปฏิเสธถึงความหรูหรา ความประณีต ทุกมุมมองลงตัวได้อย่างสมบูรณ์ อันเป็นจุดขายแรกที่เด่นชัดมากของรถรุ่นนี้
ขนาดสัดส่วนของรถเองก็อยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกันอย่างมาก โดยรถฮอนด้าได้เปรียบในเรื่องขนาดความยาวและความกว้างที่มีมากกว่ามาสด้า ขณะเดียวกัน มาสด้าก็ได้เปรียบในเรื่องความสูงและความยาวของฐานล้อ
มิติของรถ Honda CR-V Mazda CX-5
ความยาว 4,571 4,550 ฮอนด้าจะยาวกว่า 21 มม.
ความกว้าง 1,855 1,840 ฮอนด้ากว้างกว่า 15 มม.
ความสูง 1,667 1,680 ฮอนด้าเตี้ยกว่า 13 มม.
ฐานล้อ 2,660 2,700 ฮอนด้าสั้นกว่า 40 มม.
- ภายในของ Honda CR-V
การตกแต่งภายในของรถ 2 คันนี้ให้ความรู้สึกที่ต่างกัน ห้องโดยสารของ CR-V โดยรวมมีพื้นที่ใช้สอยมากกว่า เป็นได้ทั้ง 5 ที่นั่งและ 7 ที่นั่ง แม้ว่าที่นั่งแถว 3 จะแคบไปสักหน่อยสำหรับผู้ใหญ่ก็ตาม แต่ก็สามารถปรับการใช้งานได้ตามความต้องการ ภายในเล่นโทนสีดำตกแต่งด้วยลายไม้ Piano Black แผงหน้าปัดขนาดหนา ใหญ่ ให้ความหรูหรามากเป็นพิเศษ อุปกรณ์ภายในต่างๆ ของ Honda CR-V เรือนมาตรวัดรอบและความเร็ว เล่นสีสันแจ่มชัดแบบดิจิทัล ตัวเลขที่ดูง่าย ดูชัด จอติดตั้งกลางแผงหน้าปัด ขนาด 7 นิ้ว แบบทัชสกรีน รองรับ Apple CarPlay พร้อมระบบนำทางเนวิเกเตอร์ ถัดลงมาระบบปรับอากาศอัตโนมัติ แบบปรับอุณหภูมิแยกอิสระ ซ้าย/ขวา ตามมาด้วยคอนโซลเกียร์ที่ดูคล้ายกับรถ MPV เบาะนั่งด้านคนขับปรับไฟฟ้า 8 ทิศทาง พร้อมปุ่มปรับดันหลัง 4 ทิศทาง เบาะนั่งผู้โดยสารด้านหน้าปรับไฟฟ้า 4 ทิศทาง
- ภายในของ Mazda CX-5
ทางด้าน มาสด้า CX-5 ภายในห้องโดยสารจะเป็น 5 ที่นั่งเท่านั้น การใช้งานอเนกประสงค์ ในการขนคนจะสู้ฮอนด้าไม่ได้ แต่การตกแต่งภายในของมาสด้าออกแนวสปอร์ต จึงเน้นวัสดุอุปกรณ์ที่มาประกอบดูดี มาตรวัดใช้ระบบแอนะล็อกแบบเข็ม ซึ่งดูคลาสสิกกว่าแบบแอนะล็อก มี Windshield Active Driving Display แสดงข้อมูลการขับขี่ เช่น ความเร็วของรถ และระบบข้อมูลเป็นสี สะท้อนบนกระจกหน้า ทำให้ผู้ขับขี่ไม่ต้องละสายตาจากถนน นอกจากนี้ยังติดตั้งจอแสดงข้อมูล Center Display แบบสัมผัสขนาด 7 นิ้ว พร้อมปุ่มควบคุมอัจฉริยะ Center Commander เพื่อเลือกโหมดต่างๆ ได้อย่างสะดวกและง่าย เบาะนั่งคนขับปรับไฟฟ้า 8 ทิศทาง พร้อมระบบปรับเบาะดันหลังไฟฟ้า, เบาะนั่งผู้โดยสารด้านหน้าปรับไฟฟ้า 6 ทิศทาง
ระบบปรับอากาศอัตโนมัติแบบ Dual Zone สำหรับเครื่องเสียงใช้ของ BOSE รอบทิศทาง พร้อมลำโพง 10 ตำแหน่ง แค่รายละเอียดที่เห็น บอกได้ว่าไม่มีใครเหนือกว่า เพียงแต่สไตล์เท่านั้นที่ต่างกัน
ด้านเครื่องยนต์
Honda พัฒนาเครื่องยนต์มาจนปัจจุบันภายใต้เทคโนโลยี Earth Dream ซึ่งกล่าวกันว่า ให้ทั้งพลังและความเป็นมิตรกับสภาพแวดล้อม เครื่องเบนซินมาในแบบ 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว พร้อม i-VTEC อันโด่งดัง ด้วยปริมาตรความจุ 2,356 ซี.ซี. ที่ให้พละกำลังออกมา 173 แรงม้า ที่ 6,200 รอบต่อนาที และมีแรงบิดสูงสุด 224 นิวตันเมตร หรือ 22.8 กก.-ม. ที่ 4,000 รอบต่อนาที อัตราส่วนกำลังอัด 10.1:1 พ่วงด้วยระบบส่งกำลังแบบเกียร์อัตโนมัติที่ใช้ระบบ CVT พร้อมระบบ Shifting Control และมีระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ อัตโนมัติ หรือ Real Time AWD
ในขณะที่มาสด้ามาเต็มๆ เช่นกัน กับเทคโนโลยีใหม่ของค่ายที่คุยว่าทันสมัยสุดในยุคนี้ นั่นคือ SKYACTIV ด้วยเครื่องยนต์เบนซิน สกายแอคทีฟ ที่มีความจุ 1,998 ซี.ซี จากเครื่องแถวเรียง 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว พร้อมระบบวาล์วแปรผันคู่อัจฉริยะ Dual S-VT ผลิตกำลังออกมา 165 แรงม้า ที่ 6,000 รอบต่อนาที แรงบิด 210 นิวตันเมตร หรือ 21.43 กก.-ม. ที่ 4,00 รอบต่อนาที อัตราส่วนกำลังอัด 14.0:1 น้ำหนัก พร้อมระบบส่งกำลัง SKYACTIV + DRIVE เกียร์อัตโนมัติ 6 สปีด พร้อมแมนวลโหมด
ซึ่งดูแค่ตัวเลขก็พอจะสรุปได้ว่า เครื่อง CR-V มีขนาดใหญ่ แรงม้ามากกว่า แถมยังมีระบบขับ 4 มาให้เพิ่มสมรรถนะในการขับเคลื่อน ซึ่งในหัวข้อนี้ฮอนด้าจะเหนือกว่า แต่ถ้าเทียบอัตราส่วนแรงม้าต่อน้ำหนักแล้ว บอกได้ว่าไม่แตกต่างเลย ฮอนด้าหนัก 1,670 กก. มีกำลัง 173 แรงม้า คำนวณออกมาจะได้ 1 แรงม้าต่อน้ำหนัก 9.7 กก. ในขณะที่มาสด้าหนัก 1,569 กก. แต่มีกำลังแค่ 165 แรงม้า เทียบแล้ว 1 แรงม้าต่อน้ำหนัก 9.5 กก. เมื่อเทียบกันอย่างนี้แล้ว มาสด้าไม่ได้เสียเปรียบในเรื่องกำลังเลย บอกได้เลยว่าความแรงไม่ได้ต่างกันเลยนะจ๊ะ
มาดูในส่วนของอุปกรณ์ความปลอดภัยที่ผู้ใช้รถสมัยนี้เรียกหา ถ้ามาแจงกันอย่างละเอียดคงเปลืองหน้ากระดาษพอควร เอาเป็นว่าใครมีอะไรที่อีกค่ายไม่มีจะดูง่ายกว่า อย่างมาสด้าจะใช้ระบบเตือนเมื่อมีรถในจุดอับสายตาขณะเปลี่ยนเลน แบบ Blind Spot ในขณะที่ฮอนด้าจะเป็นระบบ Lane Watch เฉพาะด้านซ้าย โดยใช้กล้องจับภาพ และแสดงผลผ่านจอขนาด 7 นิ้ว กลางแผงหน้าป้ด เพื่อการมองมุมอับที่ชัดเจนขึ้น การทำงานที่ต่างกันแต่มีเหมือนกัน บางคนบอกว่า Lane Watch ใช้แทนกระจกด้านซ้ายได้ดี แต่บางคนบอกใช้ไม่เวิร์ก ส่วนออปชันความปลอดภัยพื้นๆ มีอยู่ครบทั้ง 2 ยี่ห้อนี้ ไม่ว่าจะเป็นถุงลมนิรภัย 6 ลูกเท่ากัน ระบบล็อกรถอัตโนมัติ เมื่อกุญแจรีโมตอยู่ห่างจากตัวรถ ระบบเบรกมือไฟฟ้าพร้อม Auto Hold หน่วงเบรกไว้โดยไม่ต้องเหยียบเบรกค้างไว้ ระบบช่วยออกตัวบนทางลาดชัน รวมไปถึงระบบควบคุมการทรงตัวก็มีเหมือนๆ กัน ระบบสัญญาณไฟฉุกเฉินเตือนอัตโนมัติ เมื่อเบรกกะทันหัน ส่วนอุปกรณ์ความปลอดภัยที่ไม่เหมือนกันนั้น มาสด้า CX-5 ติดตั้งมาให้มากกว่า เช่น ระบบช่วยควบคุมรถให้อยู่ในเลน LAS (Lane-Keep Assist System) ระบบช่วยหยุดรถอัตโนมัติขณะถอยหลัง (อันนี้เจอมาแล้ว ช่วยได้เยอะเลย) ระบบเตือนการชนด้านหน้า และช่วยเบรกอัตโนมัติ และอีกอุปกรณ์แม้ว่าจะมี Cruise Control เหมือนกัน แต่มาสด้าดีกว่า ด้วยระบบ Adaptive ที่ควบคุมให้รถใช้ความเร็วตามคันหน้าได้อย่างปลอดภัย จะเห็นได้ว่ามาสด้าบรรจุเทคโนโลยีความปลอดภัย i-ACTIVSENSE มาให้อย่างจุใจ ในขณะที่ฮอนด้าก็มีระบบความปลอดภัย Safety Technology มากมายเหมือนกัน แต่ติดตั้งมาให้เท่าที่จำเป็นมาให้ เลยทำให้หัวข้อนี้ มาสด้า ได้คะแนนมากกว่า
เลือกอย่างที่ชอบ
มาถึงจุดสุดท้ายที่จะต้องตัดสินว่าจะเลือกรุ่นใด เป็นรถคู่ใจในการใช้งาน ระหว่าง CR-V 2.4EL กับ CX-5 2.0 SP ซึ่งจุดแรกที่พิจารณากัน คือ รูปลักษณ์ ความงามทั้งภายนอกภายใน ซึ่งรถ 2 รุ่นนี้ให้อารมณ์กับคนละฟีล CR-V เน้นไปแนวผู้ใหญ่ สุขุม เรียบร้อย แฝงความหรูหรา ในขณะที่ CX-5 มีความหรูหราในแนวสปอร์ตดุดันตามกลุ่มเป้าหมาย ที่มีอายุอยู่ในวัยทำงาน กำลังสร้างครอบครัว
เรื่องพื้นที่ใช้สอย แน่นอนว่า CR-V ได้เปรียบ เป็นได้ทั้ง 5 ที่นั่ง และ 7 ที่นั่ง สามารถเอาใจครอบครัวใหญ่ๆ ได้ดีในการโดยสารเดินทาง แม้ว่าเบาะนั่งแถวที่ 3 จะเหมาะกับเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ก็ตาม ความกว้างขวางภายในห้องโดยสารสามารถปรับพื้นที่เพื่อขนสัมภาระได้มากกว่า นั่งสบายกว่า ขณะที่มาสด้า CX-5 ภายในรุ่นนี้มีการปรับให้กว้างขึ้น นั่งสบายขึ้น แต่เมื่อเทียบขนาดและอรรถประโยชน์การใช้งาน ย่อมสู้ CR-V ไม่ได้
ในเรื่องของการควบคุมขับขี่ รถ 2 คันนี้มีบุคลิกที่แตกต่างอย่างเห็นได้ชัด โดย CR-V เป็นรถที่เน้นขับสบาย ขับง่าย พวงมาลัยเบา มีความนุ่มนวลกว่า โดยรวมๆ เหมาะกับผู้หญิง และผู้ใหญ่ใช้งานเสียส่วนใหญ่ การเก็บเสียงของช่วงล่างที่ผ่านถนน ทุกรุ่นที่ผ่านมามีเสียงก้องๆ เหมือนการบุเก็บเสียงไม่ซึมซาบ ในขณะที่ CX-5 ให้การขับขี่ในแนวสปอร์ตที่ชัดเจน ขับสนุก เกาะถนน เข้าโค้งดี อัตราเร่งดี เป็นบุคลิกที่เหมาะกับคนที่ชอบขับรถเร็ว ต้องการสมรรถนะในการตอบสนองที่ดี
แม้ว่าเครื่องฮอนด้าจะโตกว่า และมีแรงม้ามากกว่า 8 ตัว แต่เมื่อมาเทียบอัตราส่วนแรงม้าต่อน้ำหนักแล้ว ต่างกันแค่ 0.2 กก. จึงทำให้รถ 2 คันนี้มีอัตราเร่งแซงที่ใกล้เคียงกันมาก แต่ความรู้สึก CX-5 จะเร่งแซงสนุกกว่า ด้วยระบบส่งกำลังของเกียร์ 6 สปีด แบบทอร์คคอนเวอร์เตอร์ ที่ใช้เฟืองในการปรับเปลี่ยนอัตราทด ส่วนฮอนด้าเกียร์อัตโนมัติแบบ CVT ที่ขับเคลื่อนด้วยสายพาน แต่ CR-V มีระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ มาให้ใช้มากขึ้น
และเมื่อลองจับตัวเลขอัตราความสิ้นเปลืองด้วยการขับคู่กันไปด้วยอัตราความเร็วที่เท่ากัน สภาพการจราจร และเส้นทางเดียวกัน CX-5 ระยะทางบนหน้าปัด 228.6 กม. ในขณะที่ CR-V ระยะทางบนหน้าปัด 228.8 กม. (มาตรวัดใกล้เคียงกันมาก) วัดผลออกมาก CX-5 ประหยัดกว่าครับ บริโภคน้ำมัน 13.91 กม./ลิตร ในขณะที่ CR-V บริโภค 11.78 กม./ลิตร
ระบบความปลอดภัยที่ติดตั้งมาให้ แม้ว่าในชีวิตจริงก็ไม่อยากจะใช้ เพราะเกิดอุบัติเหตุแต่ละครั้ง หมายถึงทรัพย์สิน และชีวิต ดังนั้นใครให้มากกว่าย่อมดีกว่าอย่างแน่นอน นอกจากนี้ในช่วงทดสอบได้พิสูจน์ระบบการทำงานของระบบช่วยหยุดรถอัตโนมัติขณะถอยหลัง มีคนตัดเดินอยู่ท้ายรถพอดีเจ้า CX-5 หยุดกึกทันที รอดจากการขับชนคนได้อย่างหวุดหวิด จึงช่วยให้การขับขี่เวลาเผลอๆ อุ่นใจกว่า ช่วยลดอุบัติเหตุได้ดี เชื่อว่าข้อมูลที่เทียบพอจะช่วยในการตัดสินใจเลือกรถคู่ใจได้ง่ายขึ้น ราคาไม่ใช่อุปสรรคเพราะต่างกันแค่ 19,000 บาทเท่านั้น แต่ CX-5 จะคุ้มค่ามากกว่า ในเรื่องระบบความปลอดภัยมาแบบเต็มๆ แต่ CR-V ได้ภาพลักษณ์ของแบรนด์ที่เข้าถึงกลุ่มผู้ใช้มากกว่า ศูนย์บริการมากกว่าและอะไหล่ที่หาได้ง่ายกว่า แถมราคาขายต่อดีกว่า ซึ่งทุกอย่างขึ้นอยู่กับเหตุผลของแต่ละคน!!
เรื่อง: ภิญโญ ศิลปศาสตร์ดำรง ภาพ พิศวัศ GiGi
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th