Honda ปิดโรงงานผลิตหลัก ‘ซายามะ’–เตรียมพร้อมเข้าสู่ยุครถยนต์ไฟฟ้า
ตามแผนการปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ที่จะนำไปสู่การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าอย่างเต็มรูปแบบ ทำให้ Honda Motor ผู้ผลิตรถยนต์ยักษ์ใหญ่แดนซามูไร ตัดสินใจปิดโรงงานในเมืองซายามะ ฐานการผลิตเก่าแก่ที่มีอายุกว่าครึ่งศตวรรษเพื่อให้เหมาะสมกับการประเมินยอดผลิตรถยนต์ภายในประเทศของพวกเขาที่คาดว่าจะอยู่ในราว 800,000 คันต่อปีหรือลดลง 40 เปอร์เซ็นต์จากกำลังการผลิตสูงสุดที่เคยทำได้เมื่อปี 2002
ตัวเลขการผลิตรถยนต์ในประเทศญี่ปุ่นที่ลดลงของ Honda ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการตัดสินใจปิดโรงงานซายามะ พร้อมประกาศตัดงบประมาณในส่วนอื่นๆ ทั้งขั้นตอนพัฒนารถยนต์ใหม่ และการถอนตัวจากศึกฟอร์มูล่า วัน โดยพวกเขาต้องปรับกระบวนการผลิตเพื่อให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของบริษัทในอนาคตที่ประกาศว่าไลน์อัพรถยนต์ทั้งหมดจะใช้ระบบขับเคลื่อนพลังงานไฟฟ้าภายในปี 2040
พิธีอำลา–โรงงานซายามะ จัดขึ้นเมื่อวันที่ 27 ธันวาคมที่ผ่านมา เพื่อเป็นการปิดฉากที่น่าจดจำ “ผมก็ไม่แตกต่างจากพวกคุณทุกคน ผมคงคิดถึงที่แห่งนี้เป็นอย่างมาก” Toshihiro Mibe ประธานใหญ่ Honda Motor เปิดเผยความรู้สึกระหว่างเข้าร่วมงาน
ในพิธีอำลามีผู้บริหารระดับสูงของ Honda เดินทางมาร่วมงานได้เพียงไม่กี่คน ด้วยข้อกำหนดเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยมีการไลฟ์สตรีมมิ่งเพื่อให้พนักงานทุกคนที่ซายามะได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่ง Mibu เลือกใส่ชุดพนักงาน Honda ยุคเก่าระหว่างขึ้นถ่ายทอดเรื่องราวที่เขาได้รับการสั่งสอนจากพนักงานอาวุโสในช่วงเวลาที่ประจำอยู่โรงงานแห่งนี้ในฐานะวิศวกรหนุ่มที่รับผิดชอบการพัฒนาเครื่องยนต์ หลังจากเริ่มงานกับบริษัทในปี 1987 “เราจะเดินหน้าเพื่อสร้างยานยนต์ที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคทั้งในบ้านเกิด และต่างประเทศต่อไป”
โรงงานซายามะตั้งอยู่ในจังหวัดไซตามะ ทางตะวันตกเฉียงเหนือของกรุงโตเกียว เปิดทำการครั้งแรกในปี 1964 โดยดูแลการผลิตหลายโมเดลที่สร้างชื่อให้ Honda รวมถึง Civic พร้อมเครื่องยนต์ที่ล้ำสมัยที่ปล่อยไอเสียต่ำ และ Accord แฟล็กชิพซีดานของพวกเขาจนถึงทุกวันนี้
อย่างไรก็ตามตอนนี้โรงงานซายามะยังคงเปิดดำเนินการในส่วนของการผลิตชิ้นส่วน ก่อนจะปิดแบบถาวรในอีก 2-3 ปีข้างหน้า โดยงานของที่นี่จะย้ายไปสู่โรงงาน Honda ในเมืองโยริอิ ซึ่งตั้งอยู่ในจังหวัดไซตามะเช่นกัน เพื่อปรับลดต้นทุน และเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน ขณะที่พนักงานบางส่วนจะถูกย้ายมาที่โยริอิ รวมทั้งโรงงานอื่นๆ ของบริษัท แต่พวกเขายังไม่ตัดสินใจอย่างเป็นทางการว่าจะนำพื้นที่ของโรงงานซายามะไปใช้ทำอะไรหลังจากยุติการผลิตทั้งหมด
ครั้งหนึ่งโรงงานซายามะ เคยมีกำลังการผลิตรถยนต์สูงถึง 250,000 คันต่อปี จนกระทั่งสิ้นปี 2021 Honda มีสถิติการผลิตรถยนต์ในประเทศญี่ปุ่นราว 1 ล้านคันต่อปีจาก 3 โรงงานในเมืองซายามะ, โยริอิ และอีกหนึ่งแห่งที่ซูซูกะ ในจังหวัดมิเอะ ทางตอนกลางของประเทศ ก่อนที่กำลังการผลิตจะเริ่มลดลงจนมาเหลือเพียง 800,000 คันต่อปีจากการผลิตที่โยริอิ, ซูซูกะ และ Honda Auto Body ในเมืองยกไกชิ จังหวัดมิเอะ
ในช่วงต้นยุค 2000 Honda สามารถดันกำลังการผลิตในญี่ปุ่นขึ้นไปสูงกว่า 1.3 ล้านคันต่อปี แต่ตกมาเหลือ 840,000 คันในปี 2019 ก่อนที่ไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาดสู่ทั่วโลก และเป็นตัวเลขที่สูงกว่าปีล่าสุดเพียงเล็กน้อย ถึงพวกเขาเปิดเผยว่าหากจำเป็นสามารถเร่งกำลังการผลิตให้ขึ้นมาอยู่ในระดับ 900,000 คัน โดยตอนนี้ Honda ตั้งเป้าหมายที่จะปรับปรุงคุณภาพการผลิตด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานของทุกโรงงานให้สูงสุดเท่าที่จะเป็นไปได้
ตรงกันข้ามกับ Toyota คู่ปรับสำคัญของพวกเขาที่ยังไม่มีแผนเร่งด่วนในการลดกำลังการผลิตในประเทศญี่ปุ่น พร้อมยึดตามนโยบายที่กำหนดไว้เพื่อรักษาระดับการผลิตที่สูงกว่า 3 ล้านคันต่อปีเอาไว้ เช่นเดียวกับ Nissan ที่ประคองตัวเลขการผลิตไว้ที่ 1.34 ล้านคัน ตามข้อมูลของ Fourin บริษัทวิจัยข้อมูลที่มีความเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมยานยนต์ และเป็นการคอนเฟิร์มว่ากำลังการผลิตของ Honda จะถูก 2 คู่แข่งสำคัญทิ้งห่างออกไปไกลขึ้น
1 ในองค์ประกอบที่อยู่เบื้องหลังการปรับลดขนาดโรงงานผลิตในญี่ปุ่นของ Honda เกิดจากส่วนแบ่งตลาดในประเทศของพวกเขาน้อยกว่ายอดขายรวมทั่วโลกหากเทียบกับคู่แข่งทั้ง 2 ราย ในปีงบประมาณ 2018 Honda มียอดขาย 740,000 คันในญี่ปุ่นหรือ 14 เปอร์เซ็นต์ของยอดขายทั่วโลก ขณะที่ Toyota มียอดขาย 2.29 ล้านคัน คิดเป็น 22 เปอร์เซ็นต์ของยอดขายทั่วโลก
ในขณะเดียวกัน Honda ทำยอดขายสูงถึง 1.6 ล้านคันในตลาดสหรัฐฯ หรือ 30 เปอร์เซ็นต์ของยอดขายรวม, 1.46 ล้านคันในจีน (28 เปอร์เซ็นต์) ด้วยสัดส่วนยอดขายที่สูงในต่างประเทศ ทำให้ระบบการผลิตรถยนต์ของ Honda กระจายไปสู่ทั่วโลก และหมายความว่ารถยนต์ของพวกเขาที่ขายในญี่ปุ่นอาจไม่ได้ผลิตในประเทศอย่างเช่น Accord ที่ผลิตในประเทศไทย
“การปิดโรงงานซายามะอาจส่งผลให้ตัวเลขการผลิตภายในประเทศของ Honda ลดลงจากเดิมจนเหลือเพียงการประกอบรถยนต์นั่งขนาดกลางหรือรถสไตล์ครอบครัวอย่าง Accord และ Odyssey ที่เคยผลิตในโรงงานแห่งนี้มาก่อน” Seiji Sugiura นักวิเคราะห์อาวุโสของสถาบัน Tokai Tokyo Research Institute ให้ความเห็น
ความสำคัญของตลาดสหรัฐฯ และจีนที่มีต่อยอดขายทั่วโลกของ Honda ช่วยเร่งให้พวกเขาประกาศเลิกการผลิตเครื่องยนต์น้ำมัน (ICE) ภายในปี 2040 หลังจากผู้ผลิตรถยนต์ชั้นนำแดนซามูไรตอบสนองอย่างเชื่องช้ากับการเข้าสู่ยุคพลังงานไฟฟ้าจากการที่เครือข่ายสถานีชาร์จไฟไม่ได้ถูกขยายเพื่อรองรับการใช้งานมากพอ และชาวญี่ปุ่นยังมีอัตราการใช้พลังงานหมุนเวียนที่ไม่สูงมากนัก
ผู้บริโภคยังคงไม่เปิดใจต้อนรับรถยนต์ไฟฟ้าตราบใดที่สถานีชาร์จไฟไม่ครอบคลุมมากพอ การเปลี่ยนผ่านสู่เทคโนโลยีพลังงานไฟฟ้าเพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอาจจะไม่สมเหตุสมผลเท่าไรนักหากการผลิตกระแสไฟฟ้ายังคงมาจากเชื้อเพลิงฟอสซิส (หรือก็คือน้ำมันนั่นเอง)
ขณะเดียวกันในสหรัฐฯ ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่มีศักยภาพในการแข่งขันเริ่มเกิดขึ้นไล่ตั้งแต่ Telsa ที่ครองตลาดมายาวนานก่อนที่ Rivian Automotive จะเริ่มมีกระแสขึ้นมาหลังจาก Amazon เว็บไซต์ขายสินค้าออนไลน์อันดับ 1 ของโลกเข้ามาสนับสนุน รวมทั้งจุดยืนที่ชัดเจนของ Joe Biden ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในการเร่งพัฒนารถยนต์ไฟฟ้า
ซึ่งเป็นบทบาทที่คล้ายกันของรัฐบาลจีนที่ออกมาตรการสนับสนุนมากมายให้ผู้ผลิตรถยนต์ที่พยายามยกระดับสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า–ส่งผลให้ประชาชนแดนมังกรสามารถซื้อรถยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็กที่มีราคาราว 4,300 เหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 1.42 แสนบาท) เท่านั้น ด้วยกระแสที่กำลังมาทั้งในตลาดสหรัฐฯ และจีน ทำให้ Honda อยู่ในตำแหน่งที่ดีกว่าผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นรายอื่นที่กำลังเปลี่ยนเข้าสู่เทคโนโลยีพลังงานไฟฟ้า
ในอดีตโรงงานซายามะถูกวางให้เป็น ‘โรงงานแม่’ ของ Honda เป็นจุดเริ่มต้นการนำเสนอเทคโนโลยีล่าสุดของพวกเขา และบรรดาวิศวกรจากที่นี่จะถูกส่งไปทั่วโลกเพื่อช่วยเหลือการตั้งไลน์ผลิตใหม่ของรถยนต์ Honda พร้อมทั้งควบคุมมาตรฐานการผลิต
แต่นับจากนี้โรงงานที่โยริอิ ซึ่งเปิดดำเนินงานเมื่อปี 2013 จะเข้ามารับช่วงแทน ในฐานะของโรงงานที่เป็นตัวแทนความทะเยอทะยานของบริษัทในการแข่งขันพัฒนารถยนต์ไฟฟ้า หลังจากถูกใช้เป็นฐานการผลิต Honda e รถยนต์ไฟฟ้ารุ่นแรกของพวกเขาที่ผลิตขายในวงกว้าง
เหตุการณ์สำคัญของ Honda ในปี 2021 เป็นการแสดงความมุ่งมั่นต่ออนาคตรถยนต์ไฟฟ้า แต่พวกเขาได้ร่วมผลักดันการปฏิรูปธุรกิจรถยนต์ครั้งใหญ่เช่นกัน หลังจากเปิดเผยตัวเลขกำไรที่ลดลง โดยอัตรากำไรจากการดำเนินงาน (Operating Profit Margin) เหลือเพียง 1 เปอร์เซ็นต์ในปีงบประมาณที่สิ้นสุดเมื่อเดือนมีนาคม 2021 กลายเป็นความน่าผิดหวังที่ส่งผลให้ Honda ต้องปรับโครงสร้างการดำเนินงานทั่วโลกรวมถึงที่ซายามะ
ในขณะที่กำลังการผลิตรวมทั่วโลกของ Honda ถูกคาดการณ์ว่าจะตกลงมาเหลือ 5.14 ล้านคันในปีงบประมาณที่จะสิ้นสุดในเดือนมีนาคมนี้จากที่เคยมียอดการผลิต 5.59 ล้านคันในปีก่อนหน้า โดยส่วนหนึ่งมาจากการปิดโรงงานที่สหราชอาณาจักร และตุรกี
การปิดโรงงานซายามะ นับเป็นหนึ่งในการตัดสินใจครั้งสำคัญของ Honda ในการปรับโครงสร้างธุรกิจรถยนต์ และความเปลี่ยนแปลงของเครือข่ายโรงงานทั่วโลกเข้าสู่ระยะที่ 2 อย่างราบรื่น: เพื่อทำให้ Honda กลายเป็นผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่มีศักยภาพ และความสามารถในการแข่งขันที่สูง โดยทั้งหมดไม่มีอะไรสำคัญเท่ากับการที่พวกเขายังสามารถลดต้นทุน และสร้างกำไรที่สูงได้ต่อไป
เรื่อง: พูนทวี สุวัตถิกุล
ขอบคุณข้อมูล: asia.nikkei.com
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th