Honda F1 1964-2019 บนเส้นทางแห่งความสำเร็จ (1)
ฮอนด้าถือเป็นผู้ผลิตรถยนต์จากญี่ปุ่นรายแรก และรายเดียว ณ ตอนนี้ที่ยังคงให้ความสนใจ และเข้าร่วมการแข่งขันมอเตอร์สปอร์ตที่ถือว่าเป็นรายการสุดยอดการแข่งขันอย่าง F1 และถ้านับจากการเข้าร่วมการแข่งขันครั้งแรกเมื่อปี 1964 จนถึงปัจจุบัน ต้องบอกว่าเหมือนกับอาการรักๆ เลิกๆ เพราะ ฮอนด้าเข้าร่วมและถอนตัวออกจากการแข่งขัน F1 หลายต่อหลายครั้ง และรวมแล้วพวกเขามียุค หรือ Era ที่เกี่ยวข้องกับ F1 รวมแล้วถึง 4 ช่วงด้วยกันทั้งในฐานะที่เป็นทีมผู้ผลิตและผู้ให้การสนับสนุนเครื่องยนต์กับทีมแข่ง
วันนี้เรามาทำความรู้จักกับความยิ่งใหญ่ของฮอนด้าบนเส้นทางของสุดยอดมอเตอร์สปอร์ตอย่าง F1 ตั้งแต่ยุคเริ่มแรกจนถึงปัจจุบันที่พวกเขาเป็นผู้สนับสนุนเครื่องยนต์ให้กับทีมแข่งอย่าง Red Bull Racing และ Scuderia Toro Rosso กัน ซึ่งในปัจจุบัน Alex Albond นักแข่งไทยได้สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ด้วยการเป็นนักแข่งในทีม Red Bull Racing อยู่ในตอนนี้
ยุคแรกในการเข้าร่วม F1 (1964-1968)
ชื่อเสียงและสิ่งที่เป็นตำนานอันยิ่งใหญ่ของฮอนด้าในการแข่งขันฟอร์มูลา วัน เวิลด์ แชมเปี้ยนชิพได้มีจุดเริ่มต้นขึ้นเมื่อ 55 ปีที่แล้ว แม้ว่าในช่วงแรกของความสนใจเข้าร่วมแข่งขันในโลกแห่งความเร็ว ฮอนด้าจะให้ความสนใจกับการแข่งแบบ 2 ล้อมากกว่า 4 ล้อก็ตาม
หลังจากสร้างชื่อให้เป็นที่รู้จักด้วยความสำเร็จในฐานะที่เป็นผู้ผลิตรถยนต์มอเตอร์ไซค์ระดับชั้นนำของโลกด้วยการคว้าชัยในการแข่งขันรายการ Isle of Man TT ด้วยผลงานอันโดดเด่น รวมถึงรายการอื่นๆ อีกมากมาย ทางฮอนด้าได้มีความคิดที่จะเริ่มโครงการพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับรถยนต์นั่งโดยอาศัยช่องทางของการแข่งขันมอเตอร์สปอร์ต พร้อมกันนั้นก็เตรียมตัวสำหรับเข้าร่วมการแข่งขันฟอร์มูลา วันเป็นครั้งแรกในช่วงต้นทศวรรษที่ 1960 อีกด้วย
โครงการอันน่าสนใจได้เริ่มขึ้นและเป็นรูปเป็นร่างในปี 1963 โดยในช่วงปลายปีเดียวกันนี้ ทางฮอนด้าได้นำเครื่องยนต์ที่เป็นรุ่นทดลองในรหัส RA270E มีความจุ 1.5 ลิตรวางลงบนรถแข่งของตัวเองที่ออกแบบเอง และผลิตจากการขึ้นรูปในแบบสเปซเฟรมด้วยท่อเหล็ก ซึ่งแชสซีส์ของรถแข่งถูกผลิตขึ้นมาเพื่อใช้ในการทดสอบเท่านั้น เพราะว่าในตอนนั้นทางโลตัสได้ยืนยันอย่างมั่นเหมาะกับฮอนด้าแล้วในการขอรับการสนับสนุนทางด้านเครื่องยนต์สำหรับการแข่งขันในฤดูกาลถัดไป
อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงเดือนกุมภาพันธ์ 1964 ทีมแข่งของอังกฤษกลับยกเลิกสัญญากับฮอนด้า เท่ากับเป็นการบังคับให้ฮอนด้าต้องเลือกเอาว่าจะเลื่อนการเข้าร่วมการแข่งขัน F1 ออกไปอีก หรือว่าตัดสินใจลงแข่งด้วยการฟอร์มทีมของตัวเองขึ้นมา โดยใช้รถแข่งและเครื่องยนต์ของตัวเองเลย จากแรงสนับสนุนจากผลงานที่ก้าวหน้าอย่างมากในช่วงแรกของการทำงานและความปรารถนาอันแรงกล้าในการที่จะท้าทายกับประสบการณ์ครั้งใหม่ที่ยิ่งใหญ่ ฮอนด้าจึงตัดสินใจเดินหน้าโครงการนี้ด้วยตัวเอง
เครื่องยนต์รุ่นใหม่ในรหัส RA271E ที่ถูกเตรียมเอาไว้สำหรับใช้ในการแข่งขันถูกวางลงบนตัวถังของรถแข่งที่ขึ้นรูปในแบบโมโนค็อก และใช้อะลูมิเนียมในการผลิตชิ้นส่วนตัวถังภายนอก กับตัวอย่างแบบแรกๆ ที่ถูกพัฒนาขึ้นมาด้วยความเฉลียวฉลาดทางด้านเทคโนโลยีก็ได้ถูกพัฒนาจนกลายมาเป็นเครื่องหมายอันโดดเด่นที่แสดงให้เห็นถึงความพยายามในเชิงวิศวกรรมของฮอนด้าที่มีต่อการแข่งขัน F1 และเครื่องยนต์วี12 บล็อกนี้ก็ได้ถูกวางตามขวางลงบนแชสซีส์ของรถแข่งคันแรกของฮอนด้า
รถแข่ง F1 ของฮอนด้าปรากฏตัวในรายการกรังด์ปรีซ์ครั้งแรกในการแข่งขันระยะทาง 22 กิโลเมตรที่สนาม Nurburgring เมื่อช่วงต้นเดือนสิงหาคม โดยที่มี Ronnie Bucknum เป็นนักขับคนแรก ซึ่งนักแข่งรุ่นหนุ่มชาวอเมริกันผู้นี้สามารถขยับอันดับของตัวเองขึ้นมาอยู่ในท็อปเทนได้สำเร็จ ก่อนที่จะต้องออกจากการแข่งขันไป เพราะว่าระบบช่วงล่างได้รับความเสียหาย
จากนั้นอีก 1 เดือนต่อมา Bucknum ได้แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพของเครื่องยนต์ RA271 ด้วยการไต่จนขึ้นมาอยู่อันดับที่ 5 ในการแข่งขันที่สนามมอนซ่า ซึ่งได้รับการยอมรับว่าเป็นสนามแข่งที่ใช้ความเร็วสูง ก่อนที่จะออกจากการแข่งขันอีกครั้งเพราะปัญหาในเรื่องความร้อนขึ้นสูง และระบบเบรกมีปัญหา จากนั้นในการแข่งขันรายการต่อมา คือ อเมริกัน กรังด์ปรีซ์ เขาก็ไม่สามารถแล่นจนจบการแข่งขัน
การเรียนรู้จากประสบการณ์จริงในสนามแข่งกับกรังด์ปรีซ์ 3 รายการแรกของฮอนด้าในปี 1964 ทำให้วิศวกรของฮอนด้าอุทิศตนในการทำงานที่หนักขึ้นตลอดปิดฤดูกาลเพื่อหยุดพักแข่งขัน โดยมีเป้าหมายเพื่อเอาชนะการขาดประสบการณ์ในการแข่งขันยานยนต์แบบ 4 ล้อที่ตัวเองไม่มีให้จงได้ ทีมได้ทุ่มงบประมาณในการพัฒนาจนกระทั่งเครื่องยนต์อันทันสมัยรุ่นใหม่ RA271 ได้เปิดตัวออกมาพร้อมกับกำลังสูงสุดที่ขยับขึ้นมาเป็น 230 แรงม้า หรือมากกว่าที่เครื่องยนต์ของทีมแข่งอื่นๆ ทำได้ถึง 10%
เพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสในการก้าวขึ้นสู่ความสำเร็จ จึงได้มีการเซ็นสัญญาดึงตัวนักแข่งที่มีประสบการณ์อย่าง Richie Ginther มาร่วมแข่งขันกับ Bucknum โดยฮอนด้าส่งรถแข่งเข้าร่วมถึง 2 คัน และนักแข่งจากแคลิฟอร์เนียก็ไม่ทำให้ผิดหวังเมื่อสามารถทำคะแนนแรกให้กับฮอนด้าในการแข่งขันฟอร์มูลา วันชิงแชมป์โลกจากผลงานที่โดดเด่นในการแข่งขันในสนาม Spa-Francorchamps ประเทศเบลเยี่ยมเมื่อเดือนมิถุนายน และจากนั้นก็ทำได้อีก 2 สนามในรายการบริติช และดัตช์ กรังด์ปรีซ์
ในการแข่งขันสนามสุดท้ายของปี และเป็นการแข่งครั้งสุดท้ายภายใต้กฎของเครื่องยนต์ 1.5 ลิตรถูกจัดขึ้นที่ประเทศเม็กซิโก สนามนี้ได้กลายเป็นตำนานบทใหม่และเหตุการณ์ที่มีความสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ทางด้านมอเตอร์สปอร์ตของฮอนด้า เมื่อ Ginther สามารถขยับขึ้นมาเป็นผู้นำในการแข่งขันตั้งแต่เริ่มต้นการแข่งขัน และสามารถคงอันดับนี้เอาไว้ได้จนกระทั่งเข้าเส้นชัย และทำให้ฮอนด้าสามารถสัมผัสแชมป์กรังด์ปรีซ์รายการแรกในการเข้าร่วม F1 ได้สำเร็จทั้งที่เพิ่งเข้าร่วมการแข่งขัน F1 มาได้เพียง 11 รายการเท่านั้น ส่วน Bucknum ทำผลงานได้ดีไม่แพ้กันกับอันดับที่ 5
การพัฒนาเครื่องยนต์และแชสซีส์รถแบบใหม่แกะกล่องสำหรับใช้ในการแข่งขันปี 1966 เริ่มต้นขึ้นทันทีหลังจากการชื่นชมและเฉลิมฉลองต่อชัยชนะครั้งแรกของฮอนด้าในสนามที่เม็กซิโก ตัวเลือกของรูปแบบเครื่องยนต์ใหม่ยังเป็นการลังเลอยู่ระหว่างบล็อกวี12 หรือว่าวี16 ซึ่งจะต้องมีการเพิ่มความจุกระบอกสูบขึ้นไปเป็น 3 ลิตรตามกฎการแข่งขันใหม่ และสุดท้ายทีมวิศวกรของฮอนด้าก็ตัดสินใจเลือกบล็อกวี12 ในการพัฒนา
อีกครั้งที่เครื่องยนต์ใหม่ของฮอนด้ามีความเหนือชั้นกว่าคู่แข่งเพราะสามารถผลิตกำลังขับเคลื่อนได้สูงกว่า แต่ทว่าเครื่องยนต์ใหม่ที่แรงกว่าก็ต้องเสียเปรียบในเรื่องของน้ำหนักที่เพิ่มขึ้น และในรายการแรกที่อิตาลี แม้ว่า Ginther จะขยับขึ้นมาอยู่ในอันดับที่ 2 ของการแข่งขัน แต่สุดท้ายก็ต้องออกจากการแข่งขันเพราะยางระเบิด และท่าทาว่าจะไปได้ดีในการแข่งขันที่อเมริกาเพราะอยู่ในอันดับที่ 3 แต่สุดท้ายก็ต้องออกจากการแข่งขันอีกเช่นกันเพราะว่าเกียร์พัง เป็นการปิดฉากการแข่งขันที่นักแข่งของฮอนด้าไม่สามารถยืนรับรางวัลบนโพเดี้ยมได้เลย
ในปี 1967 ฮอนด้าให้ความสนใจกับการเข้ามาร่วมทีมของนักแข่งชาวอังกฤษอย่าง John Surtees ซึ่งเป็นนักแข่งเพียงไม่กี่คนในโลกที่สามารถคว้าแชมป์โลกทั้งในการแข่งขันประเภท 2 ล้อและ 4 ล้อ ซึ่งในการแข่งขัน 6 สนามแรกของปี Surtees ช่วยฮอนด้าทำมาได้ถึง 6 คะแนน ก่อนที่ฮอนด้าจะเปิดตัวเครื่องยนต์บล็อกใหม่เอี่ยม RA300 ในการแข่งขันที่มอนซ่าช่วงเดือนกันยายน
หลังจากการขับเคี่ยวอย่างดุเดือดตลอดการแข่งขันจนกลายเป็นตำนานกับ Jim Clark (Lotus-Cosworth) และ Jack Brabham (Brabham-Repco) ในที่สุด Surtees ก็สามารถสร้างสถิติอันเลื่องชื่อด้วยการเฉือนเข้าเส้นชัยไปก่อนนักแข่งทั้ง 2 ด้วยเวลาที่ดีกว่า 2/10 ของวินาที และหลังจากชัยชนะอันยิ่งใหญ่ในครั้งนั้น ฮอนด้ายังคงใช้เครื่องยนต์ RA300 ในทุกสนามที่เหลือของฤดูการแข่งขันปี 1967
บริษัทได้พิสูจน์ตัวเองท่ามกลางทีมระดับชั้นแแนวหน้าของวงการ F1 ด้วยการทำคะแนนสะสมอยู่ในอันดับที่ 4 ของตาราง F1 ชิงแชมป์โลกในประเภททีมผู้ผลิต เช่นเดียวกับ Surtees ก็มีคะแนนสะสมอยู่ในอันดับที่ 4 ในประเภทนักแข่ง และจากผลงานที่ยอดเยี่ยมและมีแนวโน้มไปในทางที่ดีขึ้นกว่าที่ผ่านมา จึงทำให้เป้าหมายในการเข้าร่วมการแข่งขัน F1 ในฤดูกาลที่ 5 ของฮอนด้า สูงขึ้นตามไปด้วย
และเพื่อให้ทีมสามารถบินขึ้นสูงตามที่ตั้งเป้าหมายเอาไว้ ฮอนด้าได้พัฒนาตัวแข่งรุ่นใหม่ขึ้นมา ในรหัส RA301 ซึ่งตัวรถมีจุดเด่นอยู่ที่โครงสร้างตัวถังโมโนค็อกที่มีความยาวเต็มคัน และมีความแข็ง แกร่งขึ้นกว่าเดิม โดยที่มีน้ำหนักลดลง ซึ่งเป็นผลมาจากการใช้แม็กนีเซียมในการผลิตมากขึ้นกว่า ที่ผ่านมา ตัวแข่ง RA301 วางเครื่องยนต์วี12 ระบายความร้อนด้วยน้ำ ซึ่งได้รับการปรับปรุงใหม่และตอบสนองการขับเคลื่อนด้วยกำลังที่เพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าในระหว่างการแข่งขัน ตัวแข่งรุ่นนี้จะสามารถแข่งขันกับคู่ปรับชั้นนำใน สนามได้อย่างสูสีหลายต่อหลายครั้ง แต่ทว่า RA301 กลับไม่มีโชคในชัยชนะ ปัญหาในเรื่องความบก พร่องทางเทคนิคทำให้พลาดโอกาสที่จะจบการแข่งขันใน 3 อันดับแรกของการแข่งขันที่สเปน และโมนาโก ก่อนที่จะมาประสบปัญหาในเรื่องระบบช่วงล่างซึ่งทำให้ Surtees พลาดโอกาสที่จะคว้าชัยในการแข่งขันที่เบลเยี่ยม
ทมีงานต้องรอจนกระทั้งถึงการแข่งขันในฝรั่งเศสจึงสามารถทำคะแนนแรกของปีได้ เมื่อ Surtees จบการแข่งขันในอันดับที่ 2 โดยนักแข่งชาวอังกฤษผู้นี้ควอลิฟายในตำแหน่งหัวแถว หรือ โพล โพซิชั่น (ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของฮอนด้าที่มีรถออกสตาร์ทในอันดับนี้) และเป็นผู้นำตลอดการแข่งขันที่มอนซ่า ก่อนที่จะต้องออกจากการแข่งขันเพราะอุบัติเหตุเมื่อเขาหักหลบรถที่กำลังหมุนอยู่ และอีกครั้งในสนามสุดท้ายของปีที่เม็กซิโกซึ่งเขาเป็นผู้นำในการแข่งขัน แต่ก็ต้องออกจากสมาม เพราะมีปัญหาเรื่องยาง
ปัญหามากมายที่เกิดขึ้นในปี 1968 เป็นผลมาจากความกล้าในการตัดสินใจของฮอนด้าที่จะพัฒนารถแข่งที่มีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงพร้อมๆ กันถึง 2 คัน และเพื่อเป็นการช่วยประชาสัมพันธ์ และการทำตลาดให้กับรถยนต์ในสายการผลิตรุ่นใหม่ที่จะใช้เครื่องยนต์ซึ่งระบายความร้อนด้วยอากาศ ทางฮอนด้าได้มอบหมายงานการออกแบบเครื่องยนต์ F1 ที่ระบายความร้อนด้วยอากาศให้กับทีมวิศวกร และเครื่องยนต์ที่มีรูปทรงวี8 ได้ถูกเลือกใช้ในการพัฒนา และวางอยู่ในแชสซีส์ RA302 ที่มีน้ำหนักเบา พร้อมกับถูกออกแบบมาเป็นพิเศษเพื่อรองรับกับความต้องการของระบบระบายความร้อนด้วยอากาศ แบบใหม่
วิศวกรของฮอนด้ามีความกะตือรือล้นที่จะขจัดความไม่พอใจในผลงานที่เกิดขึ้นในปี 1968 และจัดการชดเชยสิ่งเหล่านี้ให้เกิดความสมดุลในการแข่งขันปี 1969 ดังนั้นเมื่อเข้าสู่เดือนสิงหาคม การทำงานเพื่อพัฒนารถแข่งรุ่นใหม่จึงเริ่มขึ้น และคราวนี้มีการติดตั้งเครื่องยนต์วี12 ที่มีขนาดกะทัดรัดและน้ำหนักเบาเป็นขุมพลัง
อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้นในอีก 1 สัปดาห์ ฮอนด้าก็ประกาศถอนตัวออกจากการแข่งขันกรังด์ปรีซ์ชั่วคราว ซึ่งกิจกรรมในสนามแข่งของทางบริษัทถูกยุติบทบาทนานถึง 15 ปี เพราะทางฮอนด้าเบนความสนใจและทุ่มเทความพยายามรวมถึงทรัพยากรของตัวเองไปที่ความท้าทายรูปแบบ ใหม่แทน
ในช่วง 6 ปีของการผจญภัยอยู่ในการแข่งขัน F1 บริษัทได้เติบโตขึ้นอย่างไม่คาดคิดในฐานะของการเป็นบริษัทผู้ผลิตรถยนต์นั่ง และในตอนนี้ ก็เตรียมตัววางแผนในการเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ระดับคอมแพ็กต์ หลากหลายทักษะและความชำนาญได้ถูกซึมซับมาจากโปรแกรมการเข้าร่วมการแข่งขัน F1 และได้พิสูจน์ให้เห็นถึงประโยชน์มหาศาลที่ทางฮอนด้าได้รับเพื่อนำมาใช้ในการพัฒนารถยนต์นั่งในสายการผลิตของตัวเองที่เปิดตัวออกสู่ตลาดตลอดช่วงหลายปีนับจากนั้น
เรื่อง : กองบรรณาธิการ
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานต์ยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th