Honda F1 1964-2019 บนเส้นทางแห่งความสำเร็จ (2)
หลังจากที่หายไปจาก F1 นานถึง 15 ปี Honda ก็กลับมาสู่สังเวียนในการแข่งขัน F1 อีกครั้งพร้อมกับบทบาทใหม่ คือ การเป็นผู้ให้การสนับสนุนเครื่องยนต์ หรือ Engine Supplier ให้กับทีมแข่ง และในยุคนี้ถือว่าเป็นยุคของของพวกเขา โดยเฉพาะในช่วงที่ให้การสนับสนุนทีมอย่าง McLaren ในช่วงปี 1988-1992
การเข้าร่วม F1 ในยุคที่ 2 (1983-1992)
หลังจากเปิดตัวและสร้างชื่อของตัวเองให้ก้าวขึ้นมาเทียบชั้นกับบรรดาผู้ผลิตรถยนต์ในระดับชั้นแนวหน้าของโลก ในตอนนี้ฮอนด้าได้เดินหน้าเติมฝันของตัวเองตามสัญญาที่ให้ไว้ในปี 1968 ด้วยการ กลับเข้าร่วมการแข่งขัน F1 อีกครั้งในปี 1983
อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่หายหน้าไปนานถึง 15 ปี โลกการแข่งขัน F1 มีการเปลี่ยนแปลงไป ชนิดที่เกินคาดคิด เพราะในยุคของการกลับมาเข้าร่วมการแข่งขันเป็นช่วงเวลาอันรุ่งเรืองของเครื่องยนต์เทอร์โบ ซึ่งเข้ามาแทนที่เครื่องยนต์แบบหายใจเอง หรือ NA แบบ 3 ลิตรที่ทางฮอนด้า และผู้ผลิตรายอื่นร่วมกันบุกเบิกขึ้นมาในปี 1966
ในช่วงแรกของโปรแกรมการพัฒนารถแข่ง F1 คันแรกของตัวเอง ทางฮอนด้าต้องรับภาระในด้านค่าใช้จ่ายและปัญหาทางเทคนิคเอาไว้ทั้งคู่เพราะต้องรับหน้าที่ผลิตทั้งเครื่องยนต์และแซสซีส์ด้วยตัวเอง ซึ่งในช่วงเวลานั้นบริษัทได้ประเมินถึงการกลับเข้าร่วมการแข่งขัน F1 เมื่อต้นทศวรรษที่ 1980 ว่า ทางเลือกที่น่าสนใจมาก คือ การมองหาพันธมิตรที่เป็นทีมรถแข่งสัญชาติอังกฤษ เพื่อรับหน้าที่ในการ ผลิตแชสซีส์ให้กับเครื่องยนต์ของฮอนด้า
เครื่องยนต์ F1 พลังเทอร์โบต้นแบบบล็อกแรกของฮอนด้ามากับรหัส RA163E และได้รับการติดตั้งอยู่ในรถแข่ง F2 ของทีม Spirit และรถแข่งลูกผสมคันนี้ออกวิ่งเป็นครั้งแรกที่สนามซิล เวอร์สโตนเมื่อเดือนพฤศจิกายน 1982 พร้อมกับเป็นการประกาศให้ทราบถึงการกลับสู่สังเวียน F1 ของฮอนด้า
หลังจากทุ่มเทการทำงานในด้านการพัฒนาให้มากขึ้นกว่าเดิม ทีม Spirit-Honda ก็เปิดตัวครั้งแรกในการลงแข่งขัน F1 ที่สนามแบรนด์ฮัทช์เมื่อเดือนเมษายน 1983 โดยลงแข่งในฐานะที่ไม่เก็บคะแนนสะสมเพื่อชิงแชมป์โลก และเริ่มต้นการแข่งขันกรังด์ปรีซ์แบบเต็มตัวเป็นครั้งแรกในรายการบริติช กรังด์ปรีซ์ในเดือนกรกฎาคม ภายใต้การขับของ Stefan Johansson รถแข่งคันนี้เข้าร่วมการแข่งขันกรังด์ปรีซ์อีก 5 รายการ และจนการแข่งขันอันดับที่ 7 ในรายการที่ฮอนแลนด์ ซึ่งเท่านี้ก็เพียงพอแล้ว ที่จะแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของเครื่องยนต์จากฮอนด้าที่จะผูกมัดใจทีมแข่งให้เข้าร่วมมาเป็นพันธมิตร และในเวลาต่อมาฮอนด้าก็ทำหน้าที่สนับสนุนเครื่องยนต์แข่งให้กับทีมระดับชั้นแนวหน้าอย่าง Williams ภายใต้ชื่อทีม Williams-Honda
การพัฒนาเริ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และคู่หูระหว่างเครื่องยนต์ของฮอนด้า กับตัวแข่งรุ่น FW09 ของทีม Williams ก็พร้อมลงสนามในการแข่งขันสนามสุดท้ายของปีที่แอฟริกาใต้ โดยที่ Keke Rosberg ไม่ต้องเสียเวลาพิสูจน์ถึงศักยภาพที่มีอยู่ในรถแข่งซึ่งก่อกำเนิดขึ้นภายใต้พันธมิตรคู่ใหม่ นักแข่งชาวฟินแลนด์จบการแข่งขันในอันดับที่ 5 และทำสถิติให้กับฮอนด้าอย่างรวดเร็วในการคว้าคะแนนแรกจากการแข่งกรังด์ปรีซ์ในยุคที่ 2 ของการกลับสู่ F1
ในปี 1984 ช่างเทคนิคของฮอนด้าเผชิญหน้ากับความท้าทายครั้งใหม่ เมื่อเจ้าหน้าที่ของ F1 ประกาศกฎใหม่ด้วยการกำหนดความจุของถังน้ำมันเชื้อเพลิงซึ่งจะต้องอยู่ที่ 220 ลิตร พร้อมกับยกเลิกการ เติมน้ำมันในระหว่างการแข่งขัน กฎใหม่ที่มีความเข้มงวดเช่นนี้มีเป้าหมายอยู่ที่การรีดเค้นแรงม้าสูงสุด พร้อมกับบังคับให้บรรดาวิศวกรทั้งหลายจะต้องจับความมีประสิทธิภาพให้เข้าคู่กับความแข็งแกรงให้ได้
กับคำสั่งในเรื่องของการเพิ่มโอกาสในการแข่งขัน จึงเป็นเรื่องจำเป็นมากสำหรับผู้สร้างเครื่อง ยนต์ของฮอนด้าที่จะต้องลดน้ำหนักของชิ้นส่วนซึ่งเคลื่อนที่อยู่ภายใน เพื่อลดความฝืดอันเนื่องมาจาก การเสียดสีให้เหลือน้อยที่สุด และเพิ่มความประหยัดน้ำมันด้วยการควบคุมผ่านทางระบบควบคุมอิเล็กทรอนิกส์ที่มีความแม่นยำมากขึ้น
การจับมือเป็นพันธมิตรกับ Williams เพื่อร่วมลงแข่งแบบเต็มฤดูกาลเป็นครั้งแรกนั้น ฮอนด้าผลิตเครื่องยนต์ RA164E ออกมา ซึ่งเป็นบล็อกที่ได้รับการปรับปรุงอย่างมากจากรหัส RA163E ถึงแม้ว่าในช่วงแรกของการแข่งขันจะประสบปัญหาในการรับมือกับเรื่องความร้อนสูงอันเนื่องมาจากท่อ ดูดอากาศ แต่ Rosberg ก็สามารถพาฮอนด้าสัมผัสกับแชมป์กรังด์ปรีซ์รายการแรกนับจากปี 1967 ได้สำเร็จ กับชัยชนะบนสังเวียนการแข่งขันที่ถนนในเมืองดัลลัส ประเทศสหรัฐอเมริกา
สำหรับเครื่องยนต์ใหม่รหัส RA165E ถูกเปิดตัวออกมาหลังจากการแข่งขันผ่านมาได้ครึ่ง ฤดูกาล และได้รับเสียงชื่นชมอย่างทันทีจาก Rosberg และเพื่อนร่วมทีมของเขาอย่าง Nigel Mansell โดยทั้งคู่สามารถจบการแข่งขันโดยติดอยู่ใน 6 อันดับแรกในกรังด์ปรีซ์ที่แคนาดา ซึ่งเป็นรายการแรกที่ใช้เครื่องยนต์บล็อกนี้ และ Rosberg ก็สามารถพารถเข้าเส้นชัยคว้าแชมป์กรังด์ปรีซ์ในสนามต่อมา ที่ดีทรอยต์ ช่วยเพิ่มสถิติคว้าแชมป์กรังด์ปรีซ์มาได้ถึง 2 รายการให้กับเครื่องยนต์วี6 เทอร์โบของ ฮอนด้า นอกจากนั้น Mansell และ Rosberg ยังร่วมกันคว้าแชมป์ใน 3 สนามสุดท้ายของปี และสร้างชื่อให้กับ Williams-Honda เป็นอย่างมาก ก่อนที่ Nelson Piquet จะเข้ามาแทนที่ Rosberg ในปี 1986
สำหรับการแข่งขันในปี 1986 เครื่องยนต์ใหม่ในรหัส RA166E เปิดตัวออกมาพร้อมกับการ เปลี่ยนแปลงอีกครั้ง เมื่อกฎการแข่งขันลดระดับความจุของถังน้ำมันจาก 220 ลิตรลงมาที่ 195 ลิตร ตัวแข่งรุ่นใหม่ Williams-Honda FW11 ผูกขาดความสำเร็จในสังเวียนการแข่งขันด้วยฝีมือของ Mansell และ Piquet ซึ่งคว้าแชมป์กรังด์ปรีซ์รวมกันถึง 9 สนาม และช่วยพาทีม Williams-Honda คว้าแชมป์โลกประเภททีมผู้ผลิตของปีนั้นมาครองได้โดยที่ยังเหลือการแข่งขันอีก 1 สนาม อย่างไรก็ตาม ในส่วนของแชมป์โลกประเภทนักแข่ง ถือเป็นเรื่องที่เจ็บปวดสำหรับ Mansell และฮอนด้า เพราะเขาโชคร้าย มาประสบอุบัติเหตุเพราะรถยางหลังแตกในการแข่งขันสนามสุดท้าย ก็เลยพลาดโอกาส คว้าแชมป์ไป
กับยุคใหม่ของความแรงด้วยเครื่องยนต์เทอร์โบซึ่งสามารถผลิตกำลังออกมาได้มากกว่า 1,000 แรงม้า (จากเครื่องยนต์ที่มีความจุเพียง 1.5 ลิตร) ทำให้ผู้ควบคุมการแข่งขันเริ่มมองหาทางออก ในการสร้างข้อจำกัดให้กับผู้ผลิตเครื่องยนต์แข่ง F1 ด้วยการจำกัดบูสต์ของเทอร์โบเอาไว้ไม่เกิน 4 บาร์ในการแข่งขันปี 1987
และก็เป็นอีกครั้งที่ความปราดเปรื่องของทีมวิศวกรของฮอนด้าที่สามารถหาทางออก ให้กับข้อจำกัดนี้ โดยเครื่องยนต์แข่งที่สนับสนุนให้กับทั้งทีม Lotus และ Williams ด้วยสมรรถนะที่เทียบเคียงกันนั้น ทำให้รถแข่งที่ใช้เครื่องยนต์ของฮอนด้าสามารถคว้าแชมป์กรังด์ปรีซ์มาครองได้ถึง 11 จาก 16 สนามในปีนนั้น โดยคะแนนรวมสูงสุดที่ทำได้ต่อสนามมาจากการแข่งขันในรายการบริติช กรังด์ปรีซ์ ที่ซิลเวอร์สโตน เมื่อรถแข่งที่ใช้เครื่องยนต์ของฮอนด้าพาเหรดกันเข้าเส้นชัย 4 อันดับแรกจากฝีมือของ Mansell, Piquet, Ayrton Senna และ Satoru Nakajima
ในปีนั้นแชมป์โลกประเภทนักแข่งตกเป็นของ Piquet ที่ต้องตัดสินกันถึงรอบตัดสินที่สนาม ซึซึกะ ซึ่งเป็นครั้งแรกในรอบทศวรรษที่รายการเจแปนีส กรังด์ปรีซ์ถูกบรรจุอยู่ในปฏิทินการแข่งขัน F1 โดยชัยชนะของนักแข่งชาวบราซิลถือเป็นแชมป์โลกครั้งแรกสำหรับนักแข่งที่ใช้รถแข่งซึ่งวางเครื่องยนต์ ของฮอนด้า และในขณะเดียวกัน ฮอนด้าก็บรรลุผลความหวังที่ตั้งเอาไว้อย่างยาวนานในการคว้า แชมป์โลก F1 ทั้งในประเภทนักแข่ง และทีมผู้ผลิต
การเข้มงวดต่อเครื่องยนต์เทอร์โบยังดำเนินต่อไป และเริ่มมีข้อจำกัดมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งในการ แข่งขันปี 1988 มีการปรับลดบูสต์เทอร์โบจาก 4 มาเป็น 2.5 บาร์ และลดความจุสูงสุดของถังน้ำมันจาก 195 ลงมาอยู่ที่ 150 ลิตร จากนั้นยุคของเทอร์โบก็ถึงวาระสิ้นสุด เมื่อมีการประกาศนำเครื่องยนต์แบบ หายใจเอง หรือ NA ที่มีความจุ 3.5 ลิตรมาใช้ในปี 1989 ฮอนด้าจัดการก่อตั้งทีมงานแยกออกมาต่าง หากเพื่อรับผิดชอบ ในการสร้างสรรค์เครื่องยนต์ใหม่บล็อกนี้ อย่างไรก็ตาม ในปี 1988 วิศวกรของ ฮอนด้าตัดสินใจที่ยุติยุคของเครื่องยนต์เทอร์โบด้วยผลงานที่ยอดเยี่ยมของขุมพลังรุ่นใหม่ RA168E ซึ่งถูกออกแบบมาเพื่อเอาชนะข้อจำกัดในเรื่องของความสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิง
การสิ้นสุดสายสัมพันธ์กับทีม Williams เมื่อจบการแข่งขันในปี 1987 ทำให้ฮอนด้าหันมาจับมือกับพันธมิตรใหม่อย่าง McLaren และยังคงให้การสนับสนุนเครื่องยนต์กับทีม Lotus ต่อไปในปี 1988 รถแข่งรหัส MP4/4 ซึ่งถือเป็นรถแข่งคันแรกที่มาจากการจับคู่ภายใต้ชื่อ McLaren-Honda ถือเป็นสุดยอดของรถแข่ง F1 ที่ผสมผสานนวัตกรรมทางด้านเทคโนโลยีอันล้ำสมัย และเกือบที่จะสร้าง สถิติอันสมบูรณ์แบบในประวัติศาสตร์ของวงการ F1 ได้แล้วกับการคว้าแชมป์กรังด์ปรีซ์เกือบทุก สนามของปีนั้นมาครอง
จากฝีมือของ 2 นักแข่ง คือ Alain Prost และ Ayrton Senna ทีม McLaren-Honda คว้าแขมป์มาครองถึง 15 จาก 16 สนาม ก่อนที่ชัยชนะขั้นสูงสุดคือตำแหน่งแชมป์โลกประเภทนักแข่ง จะตกเป็นของยอดนักแข่งชาวบราซิล ซึ่งถือเป็นแชมป์โลกสมัยแรกของ Senna เองด้วย โดยตลอดการ แข่งขันทั้งฤดู เขาต้องขับเคี่ยวกับเพื่อนร่วมทีมชาวฝรั่งเศสกันอย่างดุเดือด ทีม McLaren-Honda ทำลายสถิติหลายรายการในช่วงซีซั่นสุดท้ายของยุคเครื่องยนต์เทอร์โบ รวมถึงการทำคะแนนสะสมประเภททีมผู้ผลิตได้มากถึง 199 คะแนน และรถแข่งทั้ง 2 คันจบการแข่งขันในอันดับที่ 1 และ 12 ไม่ต่ำกว่า 10 ครั้ง
ในปี 1989 ทาง FIA ไม่อนุญาตให้ใช้เทอร์โบในการแข่งขัน แต่ด้วยบุคลิก ‘ที่เน้นความพิถีพิถันในการวางแผน’ ของฮอนด้า ซึ่งได้เริ่มมาตั้งแต่ช่วงต้นปี 1986 ทำให้แชมป์โลกทั้งประเภทนักแข่ง และทีมผู้ผลิตไม่หลุดมือไปไหน และคราวนี้แชมป์โลกตกเป็นของ Alain Prost และก็ไม่ใช่เรื่องแปลกใจอีกเช่นเคยเมื่อปี 1990 สามารถทำดับเบิลแชมป์โลกได้อีกครั้งจากฝีมือของ Ayrton Senna ซึ่งได้แสดงให้เห็นถึงฝีมือในการเป็นหมายเลข 1 ของโลกออกมาอย่างชัดเจน
ในช่วงปี 1990 กับยุคของกฎการแข่งขันที่ห้ามใช้เทอร์โบกับเครื่องยนต์ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนเมื่อสิ่งที่ตัดสินและมีผลต่อความเร็วของรถในสนามแข่งกลับกลายเป็นการออกแบบแชสซีส์ของรถแข่ง และนั่นก็ทำให้ฮอนด้าตัดสินใจที่จะยุติบทบาทของตัวเองในการแข่งขัน F1 หลังจากที่ผูกขาดความสำเร็จในสนามแข่งมานานหลายปี และกับการแข่งขันในซีซั่นสุดท้ายแห่งเกียรติยศ ฮอนด้าสามารถรักษาตำแหน่งแชมป์โลกประเภททีมผู้ผลิตเอาไว้ได้ ก่อนที่จะยุติบทบาทของการเข้าร่วม F1 ในยุคที่ 2 อย่างยิ่งใหญ่เมื่อสิ้นสุดการแข่งขันฤดูกาลต่อมา
ในปี 1992 ถือเป็นช่วงเวลาแห่งความยากลำบาก โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีใหม่อย่างระบบช่วงล่างแบบปรับระดับได้มาใช้ แต่ Senna ก็สามารถสร้างผลงานที่ยากจะลืมเลือนเอาไว้ให้กับฮอนด้า เมื่อเขาสามารถคว้าชัยชนะและทำสถิติอย่างยิ่งใหญ่ในการแข่งขันที่มอนซ่า และทิ้งห่าง Mansell และ Patrese 2 นักแข่งของทีม Williams-Renault อย่างชัดเจน
เรื่อง : กองบรรณาธิการ
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานต์ยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th