HONDA F1 1964-2019 บนเส้นทางแห่งความสำเร็จ (3)
หลังจากจบการแข่งขันในปี 2008 เกิดปรากฏการณ์ที่แบรนด์รถยนต์ญี่ปุ่นที่เกี่ยวข้องกับมอเตอร์สปอร์ตถอนตัวออกจากรายการต่างๆ และหนึ่งในนั้นคือ Honda และนั่นทำให้ประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งของแบรนด์ในการแข่งขัน F1 ต้องหายไปช่วงหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม ด้วยการที่ Honda มีความเร็วและมอเตอร์สปอร์ตอยู่ใน DNA ของแบรนด์ ในปี 2015 หรือเพียง 7 ปีที่หายหน้าไปจากวงการ F1 พวกเขา และคราวนี้ Honda เลือกที่จะเป็นเพียง Engine Supplier เหมือนกับในยุคที่ 2 โดยพันธมิตรที่เลือกเข้ามานั้น คือ McLaren ที่กำลังหมดสัญญากับการใช้เครื่องยนต์ของ Mercedes และถือเป็นการจับมือที่ไม่ธรรมดา เพราะนี่คือ การกลับมาของคู่หูในฝันที่เคยสร้างชื่อเสียงและกวาดชัยชนะมานับครั้งไม่ถ้วนในช่วงปลายทศวรรษที่ 1980 ต่อต้นทศวรรษ 1990
Honda กลับมาพร้อมกับความเปลี่ยนแปลงของกฎการแข่งขันในด้านเครื่องยนต์ ซึ่งขุมพลัง RA165H ที่เป็นบล็อกวี6 ที่มีความจุ 1,600 ซีซี เทอร์โบพร้อมระบบ Direct Injection ของพวกเขาต้องพบกับความท้าทายครั้งใหม่ เพราะว่าในช่วงนั้นถือเป็นจุดที่ McLaren ได้หล่นจากความเป็น Big Four ของวงการ F1 มานาน จนกลายเป็นทีมระดับกลางๆ เช่นเดียวกับ Williams ดังนั้น การจับคู่กันในครั้งนี้จึงเปรียบเสมือนกับความหวังครั้งสำคัญในการพลิกฟื้นสถานการณ์ให้กับทีม และทั้งคู่มีเวลา 2 ปีในการพิสูจน์ให้เห็นว่าการจับมือครั้งนี้สามารถสร้างสรรค์ผลงานได้อย่างที่ควรจะเป็น
จะว่าไปแล้ว จากจุดที่ทีม McLaren ประสบปัญหานับจากการแยกทางกับ Lewis Hamilton นั้นถือว่าค่อนข้างสาหัส และการที่พวกเขาแยกทางกับเครื่องยนต์ของ Mercedes หลังจากการแข่งขันในปี 2014 โดยที่มีเวลาเพียงน้อยนิดในการพัฒนาและประสานทุกอย่างให้ลงตัวถือว่าเป็นสิ่งที่ดูฉุกละหุกอย่างมาก โดยที่ Honda เองเพิ่งกลับมาในยุคที่ F1 มีความเปลี่ยนแปลงในเรื่องของวิศวกรรมในด้านตัวรถแข่งและเครื่องยนต์ค่อนข้างมากจากจุดที่พวกเขาเคยอยู่
แม้ว่าจะมี Fernando Alonso และ Jenson Button ที่มีดีกรีเป็นแชมป์โลกประเภทนักแข่งมาก่อน แต่ดูเหมือนว่าทั้งคู่อยู่ในช่วงปลายของการเป็นนักแข่ง F1 แล้ว และรถแข่งที่พวกเขามีอยู่ยังไม่สามารถแสดงพลังได้เต็มที่ในสนามแข่งเมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่งอย่าง Mercedes-AMG Ferrari และ Redbull Racing ซึ่งเพียงแค่ 5 สนามแรกของปี 2016 จากผลงานที่เกิดขึ้นก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้มีความเปลี่ยนแปลงในส่วนทีมผู้บริหารของ Honda เพราะว่าผลงานที่เกิดขึ้นกับ 2 นักแข่งของ McLaren ไม่ได้อยู่ในระดับที่น่าพอใจ และดูเหมือนว่าการเข้ากันระหว่างเครื่องยนต์ RA165H กับแชสซีส์ MP4-31 จะไม่สามารถแสดงพลังออกมาได้อย่างเต็มที่ ผลงานที่ดีที่สุดที่ทำได้คือ การเข้าอันดับ 6 ในการแข่งขัน Monaco GP ของ Button และในสนามที่ Hungaroring ซึ่งเป็นการลงแข่งกรังด์ปรีซ์รายการที่ 350 ของ Honda นับตั้งแต่ลงแข่ง F1 ในปี 1964 รถแข่งทั้ง 2 คันสามารถจบในอันดับที่ทำคะแนนได้พร้อมกัน
ซีซั่นแรกในการคัมแบ็คของ Honda ถือว่าไม่น่าประทับใจสักเท่าไร โย McLaren-Honda ทำคะแนนได้เพียง 27 คะแนน ไม่สามารถคว้าแชมป์กรังด์ปรีซ์ได้สักสนาม สิ่งที่ดีที่สุดคือ การทำ Fastest Lap ได้เพียงครั้งเดียว และที่น่าตกใจคือ ความทนทานของเครื่องยนต์ดูจะมีปัญหาเพราะจากรถแข่งทั้ง 2 คันที่ต้องออกจากการแข่งขันมากถึง 8 ครั้งเลยทีเดียว
ความทนทานของเครื่องยนต์ และการสร้างพลังขับเคลื่อนให้กับตัวรถ คือ 2 โจทย์สำคัญที่ต้องจำกัดให้ได้สำหรับการแข่งขันในปี 2017 แต่ดูเหมือนว่าจะไม่เป็นไปตามที่คิดและ ทีม McLaren-Honda ต้องพบกับปัญหาเดิมๆ ที่ดูแล้วจะหนักกว่าเดิมด้วยซ้ำเมื่อพิจารณาจากตัวเลขของการออกจากการแข่งขันที่เกิดขึ้น จนนำไปสู่การยุติความร่วมมือในที่สุด
McLaren หันไปหา Renulat ในการซัพพอร์ตเครื่องยนต์แข่งด้วยสัญญา 3 ปี ขณะที่ Honda เองก็ได้พันธมิตรใหม่คือ STR หรือ Scuderia Toro Rosso ทีมน้องของ Redbull Racing และดูเหมือนว่าปัญหาในเรื่องของความทนทาน และสมารรถนะของเครื่องยนต์ที่เคยเกิดขึ้นกับ McLaren นั้นได้รับการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพและแทบจะหมดไป และในสนามที่ Bahrain พวกเขาสามารถทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยมกับการจบการแข่งขันในอันดับที่ 4 เลยทีเดียว ซึ่งถือเป็นอันดับที่ดีที่สุดเท่าที่ Honda เคยทำได้ในยุคที่กลับมาเข้าร่วมแข่งขันในยุคที่ 4
สิ่งหนึ่งที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จในการแข่งขันปี 2018 คือ การสนับสนุนในด้านเงินทุนจากบริษัทแม่ที่มีให้กับโครงการ F1 เพื่อนำมาปรับปรุงในเรื่องระบบที่มีความเกี่ยวข้องในการทำงาน เช่นเดียวกับการปรับโครงสร้างการบริหารของทีมที่เอื้อประโยชน์ในเรื่องการทำงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าเดิม อีกทั้งการได้ร่วมมือกับทีม STR นั้นต้องบอกว่าเป็นการจับคู่ที่ช่วยเอื้อกันพัฒนาอย่างมาก เพราะว่าข้อจำกัดไม่มากเท่ากับ McLaren เรียกว่า STR เป็นทีมที่เปิดกว้างและพร้อมทดลองอะไรทุกอย่างเพื่อรู้และสร้างผลงานที่ดีขึ้นกว่าเดิม
นอกจากนั้น จากการที่ทีมพี่ทีมน้อง นั่นคือ Redbull (ซึ่งใช้เครื่องยนต์ Renault) และ STR มีข้อมูลในการเปรียบเทียบกับผลงานของพวกเขาในสนามแข่งตลอดการแข่งขันในปี 2018 นั้น ทำให้สามารถเปรียบเทียบกับสิ่งที่เกิดขึ้นและการพัฒนาผลงานของทีม STR จนในที่สุดในปี 2019 พวกเขาก็ย้ายมาเซ็นสัญญากับ Honda และนั่นทำให้เป็นครั้งแรกนับจากทศวรรษที่ 1980 ที่ Honda สนับสนุนเครื่องยนต์ให้กับ 2 ทีมแข่งในซีซั่นเดียวกัน และเป็นการยุติความสัมพันธ์ที่ยาวนานถึง 12 ปีระหว่าง Redbull Racing กับ Renault
ผลงานที่เกิดขึ้นกับ Red Bull Racing นั้นดูเหมือนว่า Honda ได้เจอกับพันธมิตรที่ลงตัวสำหรับพวกเขาแล้ว นั่นคือ มีศักยภาพในการเป็นผู้ชนะในสนาม เพราะแม้ว่าผลงานในปี 2019 จะไม่ได้โดดเด่นเหมือนกับยุคแรกๆ ของ Red Bull Racing แต่ Honda ก็มีส่วนกับชัยชนะ 2 สนามของ Max Verstappen ในรายการ Austrain GP และ German GP รวมถึงการคว้า Pole Position และการทำ Fastest Lap ได้อีกอย่างละ 1 ครั้ง
นอกจากนั้นในช่วงครึ่งหลังของปี ทาง Red Bull Racing ได้ดัน Alex Albon นักแข่งคนไทย ขึ้นมาเป็นนักแข่งในทีมแทนที่ Pierre Gasly ซึ่งในรายการที่ Belgium และ Italian นั้น Albon สามารถสร้างผลงานที่โดดเด่นได้อย่างมาก กับการเข้าอันดับที่ 5 และ 6 ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่ธรรมดาเลยสำหรับนักแข่ง Rookies ที่เพิ่งเข้าร่วมการแข่งขัน F1 เป็นซีซั่นแรก
เรื่อง : กองบรรณาธิการ
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานต์ยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th