HONDA Passport Mid-size SUV รองรับทั้ง on-road และ off-road
หากเปรียบเทียบกับ SUV ร่วมค่าย HONDA รถโมเดลล่าสุดอย่าง Passport จะถูกสร้างขึ้นโดยเน้นรองรับการใช้งานในสภาพถนนอันหลากหลายมากยิ่งขึ้น เรื่องขนาดตัวถัง ต้นสังกัดวางตำแหน่งให้อยู่ตรงกลางระหว่าง CR-V กับ Pilot ซึ่งเป็น SUV ห้องโดยสาร 3 แถวแท้ๆ และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีในตลาดรถยนต์อเมริกัน Passport มาพร้อมเครื่องยนต์บล็อกใหญ่ แรงบิดมากพอสำหรับการปีนป่ายในเส้นทาง off-road และการลากรถพ่วง ทั้งพ่วงเรือ และพ่วงบ้าน เพื่อเดินทางท่องเที่ยวไปตามสถานที่ต่างๆ Passport ติดตั้งระบบขับเคลื่อน i-VTM4 เวอร์ชันล่าสุด ที่มีความฉลาดในการกระจายแรงขับเคลื่อน ไม่เป็นรองระบบขับเคลื่อนชั้นนำจากผู้ผลิตรถยนต์ฝั่งเยอรมัน ขณะที่ระบบความปลอดภัยจัดเต็ม โดยเฉพาะในส่วนของ Passive Safety การันตีด้วยมาตรฐานระดับ 5-Star จากองค์กร NHTSA
- ลูกค้าหลักของ Passport เป็นประชากรกลุ่ม adventure-seekers ดังนั้น ทุกองค์ประกอบในตัวรถ จึงต้องตอบโจทย์สายรักการผจญภัย
เมื่อลูกค้าหลักของ Passport เป็นประชากรกลุ่ม adventure-seekers ดังนั้น ทุกองค์ประกอบในตัวรถจึงต้องตอบโจทย์สายรักการผจญภัย แต่ที่วิศวกร HONDA ไม่ยอมประนีประนอมยังคงเป็นมาตรฐานความสบายในการขับขี่ และการโดยสาร ทั้งการใช้ความเร็วเดินทางบนไฮเวย์ หรือการคลานลัดเลาะท่องเที่ยวไปตามเส้นทางธรรมชาติ Passport ได้รับการจัดเต็มด้วยเทคโนโลยีล่าสุดจาก HONDA ทั้งในส่วนของเครื่องยนต์ ระบบขับเคลื่อน ช่วงล่าง หรือแม้แต่ระบบความปลอดภัยระดับก้าวหน้า รวมทั้งสารพัดเทคโนโลยีช่วยผู้ขับ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยสูงสุดในทุกสภาพการเดินทาง
Passport เจเนอเรชันที่ 3 ภายใต้การออกแบบและผลิตของ HONDA ร้อยเปอร์เซ็นต์ (Honda Manufacturing of Alabama) ไม่ได้มีการแชร์โมเดลร่วมกับ ISUZU เหมือน 2 เจนฯแรก ในอเมริกาเหนือซึ่งเป็นตลาดหลัก จะถูกแบ่ง Trims หรือระดับของฟังก์ชันและอุปกรณ์ต่างๆ ของตัวรถ ออกเป็น 4 ระดับ ไล่เรียงตามลำดับ ได้แก่ Sport (2WD/AWD), EX-L (2WD/AWD), Touring (2WD/AWD) และ Elite (AWD) โดย Passport Elite จะเป็นรุ่นที่มีอุปกรณ์จัดเต็ม ดังนั้น เนื้อหาในบทความนี้จะเป็นของ Passport Elite เป็นหลัก เพื่อให้การนำเสนอเทคโนโลยีของ HONDA Passport ครบถ้วนมากที่สุด
- Passport เป็น SUV 5 ที่นั่ง สร้างขึ้นบนพื้นฐานโครงสร้าง ‘Honda’s Global Light Truck Platform’ ร่วมกับ SUV รุ่นพี่ Pilot และปิกอัพ Ridgeline
Body Structure:
Passport เป็น SUV ขนาด 5 ที่นั่ง สร้างขึ้นบนพื้นฐานโครงสร้างสหกรณ์ นาม ‘Honda’s Global Light Truck Platform’ ร่วมกับ SUV รุ่นพี่ อย่าง Pilot และปิกอัพระดับพรีเมียมประจำค่าย ในชื่อรุ่น Ridgeline โดยโครงสร้าง Passport ยกระดับมาใช้โครงสร้างแบบลูกผสม ผลิตจากเทคโนโลยีเฉพาะของ HONDA ที่ชื่อ ‘ACE’ (Advanced Compatibility Engineering) ซึ่งเอื้อประโยชน์ต่อการ ‘เสริมความแข็งแรง’ เข้าไปตามส่วนต่างๆ ของโครงสร้าง ที่ประกอบไปด้วยเหล็กที่มีความแข็งแกร่งสูงมาก (Ultra High-strength Steel รับแรงในระดับ 1,500 MPa) มากถึง 21.3 เปอร์เซ็นต์, เหล็กที่มีความแข็งแกร่งสูง (High-strength Steel รับแรงในระดับ 340-590 MPa) 34.6 เปอร์เซ็นต์, เหล็กเหนียว (Mild Steel: เหล็กกล้าคาร์บอนต่ำ) อีก 38.5 เปอร์เซ็นต์, อะลูมิเนียมราว 3.3 เปอร์เซ็นต์, แมกนีเซียม 1.7 เปอร์เซ็นต์ และอื่นๆ อีก 0.6 เปอร์เซ็นต์ [หมายเหตุโดยผู้เขียน: MPa อ่านว่า “เมกะปาสคาล” เป็นหน่วยของ ‘ความเค้น’ ที่โลหะแต่ละประเภท ในโครงสร้างสามารถรับได้ โดยตัวเลขสูงๆ จะหมายถึง ระดับความแข็งแรงที่มากกว่านั่นเอง]
โครงสร้าง ‘ACE’ เจเนอเรชันที่ 2 ของ HONDA ลดความหนาของเสา A และเสา B ลง เพื่อลดมุมอับ เพิ่มทัศนวิสัยในการมองเห็น แม้ตัวเสาจะบางขึ้น แต่ความแข็งแรงไม่ได้ลดลงตาม เพราะถูกเสริมด้วย Ultra High-strength Steel บริเวณกรอบประตู ขณะที่โลหะที่มีความแข็งแรงรองลงมา อย่าง High-strength Steel ได้รับการวางให้อยู่ในส่วน Soft Zones อาทิ โครงสร้างหลักท่อนหลังสุด, ข้อต่อยึดเสา B กับโครงสร้างด้านล่าง และส่วนของ Floor-plan หรือโครงสร้างส่วนพื้น ก็ถูกเสริมความแข็งแรงด้วย High-strength Steel ด้วยเช่นกัน
- Passport จะถูกแบ่ง Trims หรือระดับของอุปกรณ์เป็น 4 ระดับ ไล่เรียงตามลำดับ ได้แก่ Sport (2WD/AWD), EX-L (2WD/AWD), Touring (2WD/AWD) และในภาพเป็น Passport Elite (AWD) ทุก Trims จะได้ล้ออัลลอยขนาด 20 นิ้ว, รุ่น Sport และ EX-L ใช้ยาง 245/50R20 ขณะที่รุ่น Touring และ Elite ขยับไปใช้ยางหน้ากว้างกว่าที่ 265/45R20
ทฤษฎีการลดสารพัดเสียง หรือ ‘NVH’ ถูกนำมาใช้ใน Passport ไม่แตกต่างจากรถเกรดพรีเมียมทั่วไป เพื่อยกระดับความไฮคลาสในการเดินทาง เทียบชั้นรถซาลูนระดับบนจากฝั่งยุโรป ‘NVH’ มีที่มาจาก Noise, Vibration และ Hardness
Noise เป็นเสียงประเภทที่ไม่ก่อให้เกิดความสุนทรีย์ในการขับขี่ ทั้งจากเสียงลมปะทะตัวถัง เสียงยางกลิ้งสัมผัสไปบนผิวถนน เสียงแรกแก้ด้วยระบบแอโรไดนามิก Body Line บนพื้นผิวตัวถังช่วยสร้างความลื่นไหลของกระแสลม ลงรายละเอียดถึงระดับของใบปัดน้ำฝน ที่ต้องไม่ก่อเสียงจากการปะทะกับลมขณะใช้ความเร็วสูงด้วย ส่วนเสียงจากยางถูกลดทอนลงด้วยฉนวน หรือวัสดุดูดซับเสียงรุ่นใหม่ล่าสุด ช่วยลดเสียงจากพื้นถนนและเครื่องยนต์ ที่จะเข้ามาสร้างความรำคาญให้กับผู้โดยสาร
Vibration และ Hardness เป็นเสียงที่เกิดจากแรงสั่นสะเทือนที่เกิดจากการทำงานของเครื่องยนต์ และช่วงล่าง ตามลำดับ วิศวกร HONDA ตัดเสียงกลุ่มนี้ด้วยเทคโนโลยีเฉพาะ ทั้งในส่วนของการลดแรงเสียดทานของชิ้นส่วนเคลื่อนที่ รวมทั้งลดน้ำหนักของชิ้นส่วนต่างๆ เพื่อให้โหลดจากการเคลื่อนที่ของกลไกมีน้อยที่สุด
จากนั้นเสริมความแข็งแกร่งของโครงสร้างด้วย ‘3-Bone’ ในส่วนของพื้นโครงสร้างท่อนหน้า เพื่อดูดซับแรงปะทะจากการชน (จากทางด้านหน้า) ที่จะผ่องถ่ายเข้าสู่ห้องโดยสาร ผลลัพธ์โครงสร้าง ‘ACE’ เจเนอเรชันที่ 2 ใน Passport สามารถผ่าน Crash Test ขององค์กร ‘NHTSA’ (National Highway Traffic Safety Administration) ได้ในระดับสูงสุด หรือ 5 ดาว และได้รับเรตติ้งระดับ Top Safety Pick จากสถาบันประกันภัย ‘IIHS’ (Insurance Institute for Highway Safety)
- งานออกแบบภายในดูเรียบง่าย และเน้นความภูมิฐาน ตัวถังรูปทรงกล่อง สร้างความได้เปรียบทั้งในเรื่องของ Headroom และ Legroom โดยเฉพาะในส่วนของเบาะนั่งแถวที่ 2
Interior:
ห้องโดยสารของ Passport ไม่ได้โดนเด่นแค่เรื่องความหรู แต่มีพื้นที่ใช้สอยคิดเป็นปริมาตรมากที่สุดเมื่อเทียบกับ SUV ในคลาสเดียวกัน จากตัวถังรูปทรงกล่อง สร้างความได้เปรียบทั้งในเรื่องของ Headroom และ Legroom โดยเฉพาะในส่วนของเบาะนั่งแถว 2 ที่สามารถปรับเลื่อน เดินหน้า-ถอยหลัง ได้ตามความต้องการ ห้องโดยสารออกแบบตามหลักสรีรศาสตร์ในทุกสัมผัส คอนโซลหน้าดูแน่นหนา และเน้นความภูมิฐานมากยิ่งขึ้น คอนโซลกลางเป็นที่อยู่ของปุ่มเลือกตำแหน่งเกียร์ (Shift-by-wire Gear Selector) ขณะที่ส่วนบนถูกออกแบบเป็นถาดกันลื่น เพื่อรองรับการชาร์จสมาร์ตโฟนในรูปแบบ Wireless Phone Charging
ระบบปรับอากาศ Passport ทุกระดับ Trims ทาง HONDA จัดเต็มมาด้วยแบบ Tri-zone แยกปรับอุณหภูมิซ้าย-ขวา และหลัง ในส่วนของแผงมาตรวัด MID (Multi-Information Display) ใช้แสดงข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการขับขี่ทั้งหมด อาทิ ตำแหน่งเกียร์, มาตรวัดความเร็วดิจิทัล, ระบบขับเคลื่อน, องศาของล้อขณะหักเลี้ยว, ลมยาง (TPMS), เข็มทิศ, ระดับน้ำมันเชื้อเพลิง, อุณหภูมิเครื่องยนต์ ฯลฯ
จอแสดงผลเหนือคอนโซลกลาง ใช้จอสัมผัส TFT (Thin Film Transistor) ขนาด 8 นิ้ว เป็นอุปกรณ์หลักของระบบ Infotainment (Information + Entertainment) ศูนย์รวมข้อมูล และความบันเทิงให้กับผู้ขับและผู้โดยสาร รองรับทั้ง Apple CarPlay และ Android Auto โดยในรุ่น Elite จะได้เครื่องเสียงกำลังขับ 550 วัตต์ และลำโพงพร้อมซับวูฟเฟอร์ 10 ตัว เป็นอุปกรณ์มาตรฐาน
พวงมาลัย 4 ก้าน ดีไซน์เน้นความแข็งแรงตามรูปแบบของตัวรถ รอบวงหุ้มหนังขนาดกำลังอวบ กระชับมือ พร้อมตำแหน่งพักนิ้วโป้งที่ 3 และ 9 นาฬิกา ปุ่มมัลติฟังก์ชันด้านซ้าย นอกจากเรื่องระบบสื่อสาร ยังควบคุมชุด ‘DII Control’ (Driver Information Interface) ส่วนด้านขวาเป็นสวิตช์ ‘LKAS & ACC’ (Lane Keeping Assist System & Adaptive Cruise Control) หรือระบบช่วยควบคุมให้รถวิ่งอยู่ในเลน และระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติ ซึ่งทั้ง 2 ระบบนี้เป็นส่วนหนึ่งของ Honda Sensing
- แผงมาตรวัด MID (Multi-Information Display) ใช้แสดงข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการขับขี่ทั้งหมด
Honda Sensing เป็นระบบที่ว่าด้วยเรื่องของ Active Safety หรือระบบความปลอดภัยเชิงป้องกัน ทำหน้าที่ช่วยเหลือผู้ขับ เพื่อให้การเดินทางมีความปลอดภัยสูงสุด ใน Passport ประกอบไปด้วย ‘CMBS’ (Collision Mitigation Braking System) ระบบสั่งห้ามล้อ เพื่อลดความเสียหายจากการชนด้านหน้าอัตโนมัติ ระบบนี้ใช้เรดาร์ตรวจสอบสิ่งที่เคลื่อนที่อยู่ด้านหน้ารถ (Millimeter Wave Radar Location ติดตั้งใต้โลโก HONDA บริเวณกระจังหน้ารถ), ‘FCW’ (Forward Collision Warning) ระบบจะแจ้งเตือนเมื่อ ‘อาจเกิดการชนกัน’ จากด้านหน้ารถ, ‘LKAS’ (Lane Keeping Assist System) ระบบช่วยควบคุมให้รถวิ่งอยู่ในเลน, ‘RDM’ (Road Departure Mitigation) ทำงานร่วมกับระบบ LDW โดยใช้กล้อง (Monocular Camera) จากกระจกบังลมหน้า ทำงานในกรณีที่ล่วงเลยจากขั้นตอนการเตือน หรือเมื่อรถกำลังหลุดออกนอกเลน ระบบจะเข้าควบคุมพวงมาลัย (EPS: Electric Power Steering) และระบบช่วยการทรงตัว (VSA: Vehicle Stability Assist with Traction Control) เพื่อดึงรถให้กลับเข้ามาวิ่งในเลนอัตโนมัติ, LDW (Lane Departure Warning) แจ้งเตือนเมื่อรถกำลังจะออกนอกเลนโดยไม่ได้ตั้งใจ หรือผู้ขับไม่ได้ใช้สัญญาณไฟ และ ACC (Adaptive Cruise Control) ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติ
- ห้องเก็บสัมภาระท้ายรถจุ 1,166 ลิตร และขยับขยายไปได้มากถึง 2,200 ลิตร ด้วยการพับพนักพิงเบาะนั่งแถว 2 ลง
ปิดท้ายส่วนห้องโดยสาร ด้วยการออกแบบจัดวางตำแหน่งของเบาะนั่งเอื้อประโยชน์ต่อการใช้สอย เบาะนั่งคู่หน้ารูปทรงใหม่ เพิ่มความกระชับในส่วนท่อนขาและลำตัว ส่วนพนักพิงเบาะนั่งแถวหลังแบ่งพับได้ 60:40 หรือจะพับเบาะมาด้านหน้าทั้งชุด เปิดทะลุกับส่วนท้ายรถ เพื่อเพิ่มพื้นที่ในการขนสัมภาระก็ย่อมได้ ห้องเก็บสัมภาระท้ายรถจุ 1,166 ลิตร และขยับขยายไปได้มากถึง 2,200 ลิตร ด้วยการพับพนักพิงเบาะนั่งแถว 2 ลง
Engine & Transmission:
Passport ใช้เครื่องยนต์ร่วมกับ Pilot และ Ridgeline เป็นบล็อก V6 SOHC 24-Valve ความจุ 3.5 ลิตร (3,471 ซี.ซี.) ซึ่งพ่วงมาด้วยหลายระบบไฮเทคหลายรายการ เริ่มต้นกันที่ระบบหลัก i-VTEC (Intelligent Variable Valve Timing and Lift Electronic Control) ในส่วนของวาล์วไอดี ที่เป็นการผนวกรวมระบบ VTEC ที่เราคุ้นเคย กับระบบวาล์วแปรผัน VTC (Variable Timing Control) เข้าไว้ด้วยกัน ระบบนี้จะทำหน้าที่ควบคุม ‘ระยะยก’ (Lift) และ ‘ระยะเวลาในการยก’ (Valve Timing) ของวาล์ว การทำงานของ i-VTEC จะส่งผลให้การป้อนไอดีเข้าสู่ห้องเผาไหม้ราบรื่น และต่อเนื่องสมดุลกับ ‘รอบ’ และ ‘โหลด’ ที่เกิดขึ้นกับเครื่องยนต์ตามแต่ละสถานการณ์ในการขับขี่
- ขุมพลัง V6 i-VTEC มาพร้อมเทคโนโลยี VCM (Variable Cylinder Management) ใช้กลไกการทำงานของ i-VTEC ตัดการทำงานของเครื่องยนต์จาก 6 สูบ เหลือเพียง 3 สูบ เพื่อลดการใช้น้ำมันเขื้อเพลิง
ดังนั้น ระบบ i-VTEC จึงคอนโทรลได้ทั้งระยะเวลาการเปิด-ปิด และระยะยกของวาล์วไอดี ช่วยให้การป้อนอากาศเข้าห้องเผาไหม้แม่นยำ และอัตราส่วนผสมของไอดี (น้ำมันเชื้อเพลิง + อากาศ) สัมพันธ์กันตามโหลดที่เครื่องยนต์ได้รับ เป็นจุดเริ่มต้นของการเผาไหม้ที่สะอาดหมดจด ให้กำลังอย่างเต็มสมรรถนะ การทำงานของ i-VTEC ถูกสั่งการมาจาก ECU ซึ่งประมวลผลจากเซ็นเซอร์อีกหลายจุด ได้แก่ องศาการเปิดของลิ้นปีกผีเสื้อ (Drive-by-Wire), รอบเครื่อง, ตำแหน่งเพลาลูกเบี้ยว และอัตราส่วนผสมระหว่างน้ำมันเชื้อเพลิงกับอากาศ ในช่วงเวลานั้นๆ
ระบบ VTEC จะสลับการทำงานกันระหว่างลูกเบี้ยว 2 ชุด ให้สอดคล้องกับสภาวะการใช้งานหนักและการใช้งานปกติ ช่วยควบคุมปริมาณแรงดันของไอดีที่เข้าสู่กระบอกสูบ พร้อมทั้งนำระบบควบคุมลิ้นปีกผีเสื้อด้วยไฟฟ้ามาใช้ลด Pumping Loss ในช่วงที่เครื่องยนต์ทำงานปกติ ประโยชน์นอกจากช่วยเพิ่มสมรรถนะของเครื่องยนต์ในด้านแรงม้าและแรงบิด ยังมีส่วนสำคัญในเรื่องความประหยัด พร้อมทั้งลดมลพิษที่เกิดจากการเผาไหม้ได้อีกทางหนึ่งด้วย
โดย i-VTEC ในเครื่องยนต์ V6 บล็อกนี้ จะพ่วงมาด้วยระบบ VCM (Variable Cylinder Management) ใช้กลไกการทำงานของ i-VTEC เพื่อตัดการทำงานของเครื่องยนต์ จาก 6 สูบ ลดมาเหลือเพียง 3 สูบ ตามสภาพการขับขี่ และรอบเครื่องยนต์ (ขณะเดินทางด้วยความเร็วคงที่) โดยวาวล์ไอดีและไอเสียของสูบที่ถูกตัดการทำงานจะปิด หัวฉีดหยุดจ่ายน้ำมัน ระบบ VCM จึงช่วยลดการใช้น้ำมันเขื้อเพลิง
ระบบ VCM ทำงานโดยอ้างอิงข้อมูลจาก ตำแหน่งลิ้นปีกผีเสื้อ, ความเร็วรถ, รอบเครื่อง และตำแหน่งเกียร์ที่ใช้ โดยการเชื่อมต่อการทำงานระหว่าง 3 สูบ กับ 6 สูบ จะราบรื่น ไร้รอยต่อให้ผู้ขับสัมผัสได้ ส่วนหนึ่งต้องยกความดีให้กับ ACM (Active Control Engine Mounts) ในส่วนของแท่นเครื่องไฮดรอลิก ซึ่งสามารถช่วยลดแรงสั่นสะเทือนของเครื่องยนต์ ในกรณีที่ตัดการทำงานเหลือเพียง 3 สูบ ได้ด้วย
ระบบจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นแบบ DI (Direct Injection) หรือฉีดน้ำมันเชื้อเพลิงเข้าห้องเผาไหม้โดยตรง จากหัวฉีดแบบ Multi-hole ฉีดละอองน้ำมัน 360 องศารอบทิศทาง ในความควบคุมของระบบ PGM-FI (Programmed Fuel Injection) ประมวลผลโดย ECU ซึ่งใช้ไมโครโปรเซสเซอร์ขนาด 32-bit เครื่องยนต์ V6 ใช้อัตราส่วนกำลังอัดสูงถึง 11.5:1 ให้พละกำลัง 280 แรงม้า (SAE net) ที่ 6,800 รอบ/นาที พร้อมแรงบิดสูงสุด 355 Nm ที่ 4,700 รอบ/นาที ตัวเครื่องยนต์เชื่อมต่ออยู่กับเกียร์อัตโนมัติ 9 สปีดลูกใหม่
เซตอัตราทดออกมาที่ 4.713/2.842/1.909/1.382/1.000/0.808/0.699/0.580/0.480 พิจารณาจากอัตราทด พอจะบอกเราได้ว่า เกียร์ 9AT ของ Passport มีส่วนช่วยสร้างอัตราเร่งที่ดีขณะออกตัว เป็นการเพิ่มความเร็วแบบต่อเนื่อง ลื่นไหล แบบไร้อาการสะดุด ขณะที่ความเร็วเดินทาง อัตราทดต่ำๆ ระดับ 0.580 และ 0.480 จะช่วยลดรอบการหมุนของเครื่องยนต์ลงได้อย่างเหลือเชื่อ ทั้งหมด เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ในการลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง และลดมลพิษ โดย HONDA เคลมอัตราสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิง ในเมือง/เดินทาง/เฉลี่ย ของ Passport 2WD ออกมาที่ 8.50/10.62/9.35 กิโลเมตร/ลิตร และ Passport AWD กับตัวเลข 8.07/10.20/8.92 กิโลเมตร/ลิตร
Passport รุ่นย่อยหรือ Trims นับตั้งแต่ Sport, EX-L และ Touring จะมีให้เลือกระบบขับเคลื่อน ว่าจะเป็น FWD (Front Wheel Drive) หรือ AWD (All Wheel Drive) ขณะที่รุ่นท็อปหรือ Elite จะมีเฉพาะ AWD เพื่อให้ผู้ขับได้สัมผัสกับศักยภาพที่แท้จริงของ Passport
เครื่องยนต์ V6 พร้อมเกียร์ 9AT ถูกจับวางขวางตามรูปแบบของรถขับเคลื่อนล้อหน้า ในรุ่น AWD ชุดเกียร์ 9AT จะถูกเพิ่มเติมมาด้วยอุปกรณ์ของระบบ i-VTM4 (Intelligent Variable Torque Management) รับหน้าที่จัดสรรกำลังผ่านเพลากลาง เพื่อส่งไปยังชุดเฟืองท้าย Hydraulically Actuated Rear Differential สำหรับขับเคลื่อนล้อคู่หลัง ในสภาพการขับขี่ปกติล้อหน้าขับเคลื่อน 100 เปอร์เซ็นต์ เพื่อลดโหลด ลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง
เมื่อล้อหน้าซึ่งเป็นล้อขับเคลื่อนหลักเกิดการสลิป i-VTM4 จะกระจายแรงขับเคลื่อนไปให้ล้อหลัง ซึ่งแบ่งไปได้มากสุดถึง 70 เปอร์เซ็นต์ (30:70) และในสภาพเส้นทาง off-road แบบสุดๆ i-VTM4 สามารถส่งกำลังสูงสุดถึง 100 เปอร์เซ็นต์ ไปให้ล้อหลังข้างใดข้างหนึ่ง เพื่อให้ Passport เอาตัวรอดออกมาจากอุปสรรค (หลุมโคลน) แม้จะเหลือล้อที่ขับเคลื่อนได้อยู่เพียงล้อเดียว โดยการกระจายแรงบิดระหว่างล้อหน้าและล้อหลังของระบบ i-VTM4 ถูกควบคุมผ่าน ECU ของระบบ AWD โดยเฉพาะ และทำงานร่วมกับระบบช่วยการทรงตัว VSA ในการสั่งเบรกล้อใดล้อหนึ่งได้อย่างอิสระ เพื่อลดการสลิป พร้อมกระจายแรงขับเคลื่อนไปยังล้อที่เกาะถนนได้อย่างมั่นคงกว่า
ระบบ i-VTM4 มีให้ผู้ขับเลือกปรับตามความต้องการ 4 โหมด ได้แก่ Normal (ขับขี่บนถนนปกติ กระจายแรงขับเคลื่อนอัตโนมัติ), Snow (ขับขี่บนหิมะ), Mud (ลุยเส้นทาง off-road ที่เป็นโคลน) และ Sand (วิ่งบนผิวทราย)
Chassis & Suspension:
แม้ Passport จะใช้พื้นฐานโครงสร้าง ‘Honda’s Global Light Truck Platform’ ร่วมกับรถปิกอัพอย่าง Ridgeline แต่ช่วงล่างใช้แบบอิสระทั้ง 4 ล้อ ด้านหน้าเป็นสตรัท ทำงานร่วมกับปีกนกล่างที่ผลิตจากฟอร์จอะลูมิเนียม ได้ทั้งเบาและแข็งแรง ช่วงล่างด้านหลังเป็นมัลติลิงก์ ที่โครงสร้างออกแบบโดยเน้นความกะทัดรัด กันสะเทือนทั้งด้านหน้าและด้านหลัง มาพร้อมเหล็กกันโคลง โดยที่ด้านหลังจะใช้แบบ Tubular Stabilizer Bar หรือเหล็กกันโคลงแบบท่อกลวง ที่เบายิ่งขึ้น
โครงสร้างของระบบกันสะเทือนทั้งด้านหน้าและด้านหลัง เชื่อมต่อกับแชสซีผ่านซับเฟรมเหล็ก และแท่นยาง (Rubber-isolated Mounting) เพื่อลดทั้งเสียง และแรงสั่นสะเทือน (NVH) ในส่วนของช็อคอัพ HONDA ใช้เทคโนโลยี Amplitude Reactive Dampers ใช้ลูกสูบหลักและลูกสูบเสริม ทำงานผ่านห้องที่แยกออกจากกัน ลูกสูบหลักเคลื่อนที่ผ่านห้องน้ำมันเช่นเดียวกับช็อคอัพปกติ ขณะที่ลูกสูบเสริมรับหน้าที่คั่นกลางระหว่างห้องน้ำมันกับห้องแก๊สแรงดันสูง จากคุณสมบัติของแก๊สที่ยุบตัวได้ (Compressible Fluid) และทำงานในห้องที่แยกอิสระ จะส่งผลให้ช็อคอัพทำงานได้อย่างนุ่มนวลในจังหวะ Bump หรือช่วงล่างเกิดการยุบตัว นั่นเอง
Motion-Adaptive Electric Power Steering หรือ EPS เป็นชื่อระบบบังคับเลี้ยวของ Passport ใช้มอเตอร์ไฟฟ้าช่วยออกแรงในการหมุนพวงมาลัยเต็มระบบ ความเหนือชั้น คือ วิศวกร HONDA จับมันมาทำงานร่วมกับระบบช่วยการทรงตัว VSA (Vehicle Stability Assist with Traction Control) ความหมาย คือ ระบบช่วยการทรงตัวจะแอบเข้ามาควบคุมพวงมาลัยอัตโนมัติ ในกรณีที่รถมีการเบรกอย่างรุนแรง หรือช่วยประคับประคองขณะรถเกิดอาการโอเวอร์สเตียร์ (ท้ายปัด) และอันเดอร์สเตียร์ (หน้าแถออกนอกโค้ง) นอกจากนี้ ระบบช่วยการทรงตัว VSA ใน Passport จะมาพร้อมฟังก์ชัน Trailer Stability Assist เป็นการนำการเคลื่อนที่ น้ำหนัก และแรงเหวี่ยงที่เกิดจากพ่วง มาร่วมประมวลผลเพื่อควบคุมการทรงตัวของรถด้วย
HONDA Passport เป็นรถ SUV ที่มีคุณสมบัติครบเครื่อง ไม่ได้เด่นเฉพาะเรื่องความอเนกประสงค์ หรือเก่งเฉพาะทาง off-road เหมือนรถ SUV ในอดีต ทั้งหมดล้วนเกิดจากการทำการบ้านอย่างหนักของทีม R&D และ Passport เจนฯที่ 3 ซึ่ง HONDA พัฒนาด้วยตัวเองแบบเต็มร้อย น่าจะได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีในสหรัฐอเมริกา ไม่เป็นรอง CR-V, Pilot หรือแม้แต่ปิกอัพอย่าง Ridgeline ส่วนคนไทยคงต้องฝันถึง SUV ดีๆ แบบ Passport ไปแบบยาวๆ
เรื่อง: พิทักษ์ บุญท้วม
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th