Interview: โรลันด์ โฟลเกอร์ ‘M-Class, Jurassic Park สู่หมายเลข 1 เมอร์เซเดส-เบนซ์ ประเทศไทย’
ช่วงเย็นวันศุกร์ใจกลางย่านธุรกิจของกรุงเทพมหานคร บนชั้น 2 ของเดอะ เฮ้าส์ ออฟ สาทร อาคารเก่าแก่สไตล์นีโอคลาสสิกอายุเก่าแก่กว่า 120 ปี โรลันด์ โฟลเกอร์ ประธานบริหารบริษัทเมอร์เซเดส-เบนซ์ (ประเทศไทย) เดินเข้ามาด้วยท่าทางสบายๆ ไม่มีเสื้อสูทอย่างที่คุ้นตาในงานแถลงข่าว แขนเสื้อเชิร์ตสีขาวของเขาถูกพับขึ้นมาเหมือนต้องการบอกกลุ่มสื่อมวลชนที่มารออยู่ว่าวันนี้จะเป็นการพูดคุยอย่างเป็นกันเอง ถึงจะเป็นครั้งแรกที่ผู้บริหารชาวเยอรมันจะให้สัมภาษณ์อย่างเป็นทางการนับตั้งแต่เข้ามารับตำแหน่งเมื่อเดือนตุลาคมปีที่ผ่านมาก็ตาม
[expander_maker id=”4″ more=”อ่านเพิ่มเติม” less=”Read less”]Read more hidden text
“ผมเรียนจบในปี 1979 และต้องเรียกว่าโชคดีอย่างมากที่ผมได้เริ่มต้นการทำงานกับเมอร์เซเดส-เบนซ์ เป็นบริษัทแรกในชีวิต” โฟลเกอร์ เล่าถึงความผูกพันที่ยาวนานร่วม 4 ทศวรรษกับสัญลักษณ์ดาวสามแฉก “พวกเขาถามผมว่าทำไมถึงอยากร่วมงานกับเมอร์เซเดส เป็นคำตอบที่ง่ายมาก เพราะผมเติบโตที่อุนเตอร์เติร์กไฮม์ ในเมืองสตุ๊ตการ์ท ซึ่งเปรียบเสมือนบ้านของเมอร์เซเดส-เบนซ์ และสถานที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ ทุกคืนก่อนเข้านอนผมจะมองเห็นสัญลักษณ์ดาวสามแฉกของบริษัทความสูง 12 เมตรมาตลอด ทำให้ไม่ใช่เรื่องยากที่จะตัดสินใจ”
หลังจากนั้นโฟลเกอร์ ได้เข้าร่วมหลักสูตรการศึกษาภายในองค์กร (In-house Education Program) ของเดมเลอร์ เอจี บริษัทแม่ของเมอร์เซเดส-เบนซ์ และจบการศึกษาด้านการบริหารธุรกิจจากเบรุฟส์อะคาเดมี ในปี 1982 “ในช่วงเวลานั้นบริษัทชั้นนำระดับโลก และในเยอรมันไม่ว่าจะเป็นไอบีเอ็ม, บ๊อช หรือเมอร์เซเดส นำเสนอโปรแกรมการศึกษารูปแบบใหม่ หลังจากพวกเขามองเห็นว่านักศึกษาที่เพิ่งจบจากมหาวิทยาลัย มีความรู้ภาคทฤษฎี และในตำราเรียนมากเกินไป แต่ขาดประสบการณ์ในการทำงานจริง ทำให้บริษัทเหล่านี้เลือกจะออกแบบหลักสูตรการเรียนรูปแบบใหม่ภายใต้คำแนะนำของศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยชั้นนำ พร้อมคัดเลือกคนหนุ่มสาวเพื่อเข้าเรียนเป็นระยะเวลา 3 ปี เป็นการเรียนด้านเศรษฐศาสตร์เหมือนในระดับปริญญาตรี และปริญญาโททั่วไป”
“ความพิเศษของหลักสูตรนี้คือคุณได้ถูกรับเข้าเป็นพนักงานคนหนึ่งของบริษัท มีการจ่ายเงินเดือนให้คุณระหว่างเรียน แต่สิ่งที่เป็นประโยชน์มากที่สุดคือการได้เรียนรู้การทำงานจริง หลังจากเรียนทฤษฎีด้านการตลาดในเทอมแรก คุณจะถูกส่งไปฝึกงานจริงที่แผนกการตลาดของบริษัทในเทอมถัดไป เพื่อลองนำสิ่งที่เรียนไปใช้งานจริง นับเป็นความท้าทายสำหรับเด็กใหม่ที่ต้องเข้าไปรับผิดชอบหน้าที่สำคัญ เพื่อจะหาคำตอบได้ทันทีว่างานแบบไหนที่คุณต้องการทำ”
“สำหรับผมหลักๆ ที่เรียนจะเป็นด้านการตลาด และการพัฒนาองค์กร แต่หลังจบการศึกษาช่วงเวลานั้น (ในสมัยนั้นคือเยอรมันตะวันตก) ยังมีการบังคับเกณฑ์ทหาร ทำให้ผมต้องรับราชการทหารอยู่ระยะหนึ่ง ก่อนที่จะกลับมาเริ่มงานแรกกับเมอร์เซเดส-เบนซ์ ในแผนกจัดจำหน่ายอะไหล่ และทำให้ผมได้เดินทางมาที่ประเทศไทยเป็นครั้งแรกเมื่อปี 1985 เพื่อช่วยทางบริษัทธนบุรีพานิช ตัวแทนจำหน่ายที่นี่ วางระบบการจัดเก็บอะไหล่เป็นระยะเวลา 6 เดือน ก่อนที่อีกราว 3 ปีต่อมาผมถูกแต่งตั้งให้มาปฏิบัติงานในต่างประเทศเป็นครั้งแรกที่สิงคโปร์ โดยรับตำแหน่งผู้แทนของบริษัทคล้ายกับเจ้าหน้าที่สถานทูตที่ต้องติดต่อพูดคุยกับลูกค้า และประสานงานให้ตัวแทนจำหน่ายในภูมิภาคแถบนี้”
จากนั้นในปี 1990 โฟลเกอร์ เดินทางกลับสู่สำนักงานใหญ่ที่เยอรมัน เพื่อรับผิดชอบงานด้านการขายรถยนต์นั่งส่วนบุคคลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก่อนจะก้าวสู่ตำแหน่งผู้ช่วยคณะกรรมการบริหารกลุ่มบริษัทเดมเลอร์ เอจี ด้านการขาย และการตลาดของรถยนต์นั่งส่วนบุคคล โดยได้รับการแต่งตั้งเป็นรองประธานบริหารฝ่ายขาย การตลาด และการบริการหลังการขายของกลุ่มในปี 1993 รวมทั้งเป็นหนึ่งในผู้มีบทบาทสำคัญในการนำเสนอเอสยูวีตระกูล M-Class สู่ตลาดสหรัฐฯ เป็นครั้งแรกอีกด้วย
ในช่วงปลายทศวรรษ 1990 จนถึงต้นทศวรรษ 2000 โฟลเกอร์ สั่งสมประสบการณ์ในตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงของหลายกลุ่มธุรกิจในเครือเดมเลอร์ เอจี, หัวหน้าฝ่ายผลิตภัณฑ์ของรถยนต์ M-Class, R-Class, A-Class และ B-Class จนได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้บริหารสูงสุดด้านการจัดจำหน่ายรถยนต์อเนกประสงค์ของเมอร์เซเดส-เบนซ์ ทั่วโลกในปี 2008 ก่อนจะได้กลับมาสู่เอเชียอีกครั้งด้วยการรับตำแหน่งประธานบริหารเมอร์เซเดส-เบนซ์ มาเลเซีย ในปี 2011 และย้ายสู่อินเดีย ในปี 2015 ก่อนจะเข้ารับตำแหน่งประธานบริหารเมอร์เซเดส-เบนซ์ ประเทศไทย เมื่อเดือนตุลาคม 2018
หลังจากเข้ามาบริหารงานเมอร์เซเดส-เบนซ์ ประเทศไทย ได้ระยะหนึ่ง โรลันด์ อะไรคือผลงานที่ถือเป็นความสำเร็จของคุณ และมีจุดไหนที่ต้องการแก้ไขให้ดีขึ้น?
โฟลเกอร์: “ผมยังไม่เห็นเรื่องราวความสำเร็จของตัวเองในตอนนี้ หากจะพูดกันตามตรงผลงานทุกอย่างเกิดขึ้นจากบรรดาพนักงาน และทีมงานที่เกี่ยวข้อง พวกเขาคือผู้สร้างความสำเร็จที่แท้จริงให้เมอร์เซเดส-เบนซ์ ประเทศไทย ทุกคนมีความสามารถที่จะสานต่อความสำเร็จให้ยืนยาวสู่อนาคต ท่ามกลางแรงกระตุ้นจากคู่แข่งทั้งเก่า และรายใหม่ที่เพิ่งเข้าสู่ตลาดประเทศไทยเป็นครั้งแรก ซึ่งพวกคุณคงรู้ดีว่าผมกำลังหมายถึงบริษัทใด แต่การที่เมอร์เซเดส สามารถรักษาตำแหน่งอันดับ 1 (ยอดขายรถยนต์พรีเมียมของประเทศไทย) มาได้อย่างยาวนาน ผมต้องยกให้เป็นความสำเร็จร่วมกันของทุกคนในทีม”
“แต่หากเป็นมุมมองส่วนตัวสิ่งที่ควรเปลี่ยนแปลงในฐานะบริษัทคือการสร้างสภาพแวดล้อมในการทำงาน เพื่อให้มีการตัดสินใจที่ฉับไวมากขึ้น บางครั้งผู้บริหารควรถอยฉากออกมา และปล่อยให้ฝ่ายปฏิบัติการทำหน้าที่ของตัวเอง เพื่อการตัดสินใจที่ถูกต้อง โดยหน้าที่หลักของผมควรจะเป็นเหมือนตัวกลางในการประสานระหว่างฝ่ายไทยกับสำนักงานใหญ่ที่เยอรมัน ทีมงานทุกคนเพียงทำตามนโยบายของผม มองเห็นในภาพเดียวกัน เพื่อตอบสนองความพึงพอใจของลูกค้าให้ได้ดีที่สุด”
ผมต้องยึดมั่นในค่านิยมหลัก (Core Value) ของแบรนด์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ลูกค้าคาดหวังจากเมอร์เซเดส-เบนซ์ เชื่อมั่นว่าจะได้รับสิ่งที่ดีที่สุดจากแบรนด์ของเราเหมือนตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา
อะไรคือความท้าทายของคุณในการบริหารงานเมอร์เซเดส-เบนซ์ ประเทศไทย?
โฟลเกอร์: “มีความท้าทายมากมายสำหรับผม การมีพนักงานที่ท้าทายถือเป็นเรื่องที่ดี (ตอบคำถามที่แทรกขึ้นมา) เพราะหมายถึงว่าพนักงานของเรานั้นมีความคิดเป็นอิสระ การที่ผมเดินทางมาจากสำนักงานใหญ่ ด้วยความมั่นใจเต็มเปี่ยม และความรู้มากมาย แต่หลังจากประสบการณ์ที่ได้รับในการทำงานที่มาเลเซีย และอินเดีย ทำให้ผมได้รู้ว่าคุณต้องพร้อมจะเริ่มต้นใหม่จากศูนย์เสมอ เพราะสิ่งที่คุณเรียนรู้จากประเทศที่เคยไปประจำก่อนหน้านั้นไม่มีความหมายเลย คุณอาจจะมีประสบการณ์มากมายจากการทำงานในหลายประเทศ แต่พฤติกรรมลูกค้ามีความแตกต่างเช่นเดียวกับตัวแทนจำหน่าย รวมถึงทีมงานของคุณ ต้องทำใจเปิดรับให้มากพอ เพื่อยอมรับว่าพนักงานทุกคนทำได้อย่างยอดเยี่ยมอยู่แล้วก่อนที่คุณจะเข้ามา”
“ผมเชื่อเรื่องการพัฒนาสัญชาติญาณในการตัดสินใจ เพื่อให้งานเดินหน้าอย่างรวดเร็วคุณต้องตัดสินใจตามสัญชาติญาณของตัวเอง ไม่มีทางที่ข้อมูลทุกอย่างจะวางอยู่บนโต๊ะของคุณตลอดเวลา เรื่องอันตรายที่สุดเมื่อคุณเข้ามารับตำแหน่งในช่วง 2-3 เดือนแรกคือสัญชาติญาณในการตัดสินใจของคุณยังยึดกับตำแหน่งเดิม ผมถึงพูดว่าคุณต้องพร้อมเริ่มต้นใหม่จากศูนย์เสมอ เพราะสิ่งที่คุณเรียนรู้จากตำแหน่งเดิมไม่มีความหมายเลย คุณต้องเรียนรู้แนวทาง และรูปแบบการทำงาน เพื่อตัดสินใจบนพื้นฐานที่เหมาะสมของความเป็นไทย”
กลยุทธ์สำคัญที่คุณจะนำมาใช้เพื่อให้เมอร์เซเดส-เบนซ์ รักษาตำแหน่งยอดขายอันดับ 1 ในกลุ่มรถยนต์พรีเมียมของประเทศไทย?
โฟลเกอร์: “หากถามผมเมื่อประมาณครึ่งปีก่อน คำตอบของผมคงจะเป็นการดำเนินกลยุทธ์เดิมที่ทำมาก่อนหน้านี้ แต่หลังจากผมมีเวลาทำงานในประเทศไทยระยะหนึ่ง มีโอกาสศึกษาข้อมูล และรับรู้สถานการณ์ต่างๆ หลายอย่างเปลี่ยนแปลงไปทั้งความคาดหวังของลูกค้าหรือการแข่งขันในตลาดรถยนต์ อิทธิพลจากเหตุการณ์ภายในประเทศ ความคาดหวังจากรัฐบาลที่ต้องการให้ผู้ผลิตรถยนต์ลงทุนด้านใดเพิ่มขึ้นหรือน้อยลง ทั้งหมดนี้เป็นอิทธิพลต่อการตัดสินใจของเรา แต่การรักษาอันดับ 1 คือสิ่งที่เราให้ความสำคัญมากที่สุด”
“ในอีกด้านหนึ่งผมต้องยึดมั่นในค่านิยมหลัก (Core Value) ของแบรนด์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ลูกค้าคาดหวังจากเมอร์เซเดส-เบนซ์ เชื่อมั่นว่าจะได้รับสิ่งที่ดีที่สุดจากแบรนด์ของเราเหมือนตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา หากให้ยกตัวอย่างคงจะต้องไล่ตั้งแต่ราคาของรถยนต์ในกลุ่มพรีเมียม สะท้อนให้เห็นถึงคุณค่าของผลิตภัณฑ์, บริการที่นำเสนอ, บริการช่วยเหลือฉุกเฉิน, ความมั่นใจในตัวผลิตภัณฑ์ และราคาขายในการขายต่อ ทั้งหมดคือสิ่งที่เมอร์เซเดส-เบนซ์ ประเทศไทย ต้องรักษาเอาไว้”
“นั้นคือคำอธิบายในแง่มุมหนึ่งเท่านั้น เพื่อหาเหตุผลว่าทำไมเราคือผู้ผลิตรถยนต์ที่มีการตั้งราคาในระดับสูง แต่สามารถทำยอดขายในระดับสูงในเวลาเดียวกัน อาจจะขัดแย้งกับหลักการตลาด เพราะตามปกติสินค้าที่มีราคาสูง ยอดขายจะน้อย แต่เรื่องนี้ถูกพิสูจน์จากเมอร์เซเดส ในทุกประเทศทั่วโลก การที่เรามีค่านิยมหลักที่ถูกต้อง การตอบรับของลูกค้า และความศรัทธาต่อแบรนด์ สิ่งที่เราต้องรักษาเอาไว้คือการทำให้ลูกค้าเชื่อในค่านิยมหลักของสินค้าที่เรานำเสนอ และการจะเติมเต็มคุณค่าของแบรนด์ให้ลูกค้าชาวไทย ด้วยการที่เราดำเนินธุรกิจในประเทศไทยมายาวนานกว่า 100 ปี สิ่งที่เรานำเสนอมาตลอดคือผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ รวมถึงเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายแรกๆ ที่นำเสนอเทคโนโลยีล้ำสมัย และเป็นผู้คิดค้นนวัตกรรมใหม่ การรักษาระดับราคาขายต่อ และมาตรฐานในการให้บริการ ถือเป็นภารกิจหลักที่ต้องดูแลลูกค้าได้อย่างที่เราให้คำมั่นสัญญาเอาไว้”
จากเส้นทางการทำงานกับเมอร์เซเดส ในฐานะสมาชิกของทีมพัฒนาโปรเจ็กต์เอสยูวี M-Class คุณมีส่วนเกี่ยวข้องกับการส่งรถรุ่นนี้ไปปรากฏอยู่ในภาพยนตร์ Jurassic Park ภาคแรกในปี 1993 อย่างไร?
โฟลเกอร์: “ตามปกติทีมงานฝ่ายการตลาดของเมอร์เซเดส ในประเทศสหรัฐฯ จะมีสายสัมพันธ์กับผู้คนในแวดวงฮอลลีวู้ดอยู่แล้ว ช่วงเวลาถ่ายทำ Jurassic Park ภาคแรก ค่อนข้างลงตัว และมีฉากที่ต้องใช้รถสไตล์ลุยๆ ทีมงานของเรานำเสนอ M-Class ให้กองถ่ายของสตีเว่น สปีลเบิร์ก ก่อนหน้าที่จะเปิดตัวขายอย่างเป็นทางการราว 6 เดือน ทำให้เราต้องดัดแปลงด้วยการใส่ชุดแต่ง และอุปกรณ์เสริมในบางจุดเพื่อให้แตกต่างจากรถที่ผลิตขายจริง โดยหนังเปิดตัวฉายราว 2 สัปดาห์ก่อนที่ M-Class จะเปิดตัวอย่างเป็นทางการ นับเป็นจังหวะเวลาที่เพอร์เฟ็กต์อย่างมาก”
“ตอนนั้นผมมีโอกาสเจอสตีเว่น สปีลเบิร์ก 2-3 ครั้งที่ฮอลลีวู้ด ระหว่างได้รับเชิญให้ชมภาพยนตร์รอบทดสอบ นับเป็นช่วงเวลาที่น่าประทับใจเมื่อได้เห็น M-Class โลดแล่นบนจอภาพยนตร์หนังฮอลลีวู้ด หลังจากทุ่มเททำงานมาอย่างยาวนาน โดยเมอร์เซเดส-เบนซ์ สหรัฐฯ เลือกเปิดราคาขาย M-Class อยู่ที่ 29,995 ดอลล่าร์ (ราว 900,000 บาท) ในเวลานั้นถือว่าเป็นราคาที่ต่ำกว่า C-Class แต่ภายในห้องโดยสารมีความกว้างขวางสะดวกสบายระดับเดียวกับ Jeep Grand Cherokee หรือ Mitsubishi Pajero เอสยูวีที่ได้รับความนิยมในเวลานั้น นับเป็นครั้งแรกจริงๆ ยุคนั้นไม่มีผู้ผลิตรถยนต์รายใดทำมาก่อนในการผลิตรถอเนกประสงค์ที่ขายในราคาระดับนี้ แต่ยังสามารถรักษาระดับความหรูหรา”
“หลังจากนั้นคู่แข่งหลายรายได้เข้ามาสู่เซกเม้นต์ที่ถูกนิยามให้เป็นรถยนต์หรูในแบบอเนกประสงค์ ก่อนที่เราจะเปิดตัว GLK, GLC และ GLA โดยอาศัยพื้นฐานจาก M-Class ที่ถือเป็นกุญแจแห่งความสำเร็จ เปรียบเสมือนตำนาน และจุดเริ่มต้นของการเข้าสู่ตลาดเอสยูวีของเราที่เติบโต และเป็นส่วนสำคัญในความสำเร็จของเมอร์เซเดส-เบนซ์ ในปัจจุบัน”
และหมายความว่า Mercedes M-Class เป็นรถคันโปรดของคุณด้วยไหม?
โฟลเกอร์: “คงต้องเรียกว่าเป็นรถยนต์ที่มีความทรงจำอันน่าประทับใจ ความรู้สึกผูกพัน และอยู่ในหัวใจของผมตลอดไป หากพูดกันตามตรงในตอนที่เราเริ่มต้นโปรเจ็กต์ M-Class ที่สหรัฐฯ มันเป็นรถที่ค่อนข้างเรียบง่ายเรียกว่าเป็นกลุ่มลูกค้าที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ห่างไกลเป็นปีแสงกับ New GLE (เจเนอเรชั่นที่ 4 ของ M-Class) ที่นำเสนอความหรูหรา และสมรรถนะการขับบนเส้นทางออฟโร้ด การผสมผสานระหว่างเทคโนโลยี และระบบเครื่องยนต์”
แล้วหากถึงวันที่คุณเกษียณจะเลือกขับ BMW X7 เหมือนโฆษณาล้อเลียนจากคู่แข่งที่ทำขึ้นเพื่อร่วมอำลา ดีเตอร์ เซ็ตเชอร์ ที่เกษียณจากตำแหน่งประธานเดมเลอร์ เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
โฟลเกอร์: “คำถามนี้ผมคงจะให้ความเห็นไม่ได้ แต่ผมเชื่อว่าคุณจะต้องเผชิญเรื่องนี้เสมอในยามที่ต้องตัดสินใจซื้อรถคันใหม่ องค์ประกอบในการตัดสินใจขึ้นอยู่กับไลฟ์สไตล์, ระยะเวลาที่รถยนต์รุ่นนั้นเปิดตัว และอายุของคุณ หากยังไม่แต่งงานหรือเพิ่งเริ่มต้นสร้างครอบครัว คุณอาจจะสนุกกับการขับรถสไตล์คูเป้ และรถเปิดประทุน แต่พอคุณมีลูกคนแรกก็จะเริ่มพิจารณาถึงการเปลี่ยนไปใช้ GLE ที่มีความสะดวกสบายมากกว่า สามารถใส่ของทุกอย่างไว้ในพื้นที่เก็บสัมภาระด้านหลัง เพราะทุกครั้งที่ออกไปข้างนอกคุณเหมือนต้องย้ายบ้านทั้งหลังไปด้วย ทั้งหมดเป็นข้อกำหนดในการตัดสินใจเลือกรถยนต์เพื่อใช้งานในชีวิตประจำวัน หรือเมื่อคุณอยู่ในวัยเดียวกับผม อาจต้องการรถที่ให้ความรู้สึกสะดวกสบาย และการใช้ชีวิตในต่างประเทศโดยมีคนขับประจำตัว คงจะไม่มีอะไรเทียบเท่ากับ S-Class ได้อย่างแน่นอน”
คลิก-ซีอีโอเบนซ์โผล่ซิ่ง BMW i8 ทันทีหลังเกษียณ
เมื่อไรที่เราจะได้เห็น EQC รถเอสยูวีพลังงานไฟฟ้า เมอร์เซเดส-เบนซ์ ประเทศไทย พร้อมรึยัง?
โฟลเกอร์: “ถือเป็นคำถามที่ดีครับ เพราะว่าภายในบริษัทเรากำลังถกเถียงประเด็นนี้กันอย่างหนัก เมื่อไรถึงจะเหมาะสมกับการเปิดตัว Mercedes-Benz EQC เพื่อแสดงให้เห็นความชัดเจนผมขออธิบายให้ตรงประเด็นในคำถามนี้ จากความต้องการรถยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้น เมอร์เซเดส กำลังพยายามเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อรองรับ เราจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมในทุกด้านเพื่อควบคุมความเสี่ยงให้น้อยที่สุด ไม่ให้เกิดความผิดพลาดใดๆ ก่อนจะเพิ่มกำลังการผลิตทุกอย่างต้องดำเนินไปอย่างราบรื่น คุณต้องไม่ลืมว่ารถยนต์พลังงานไฟฟ้าเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อย่างแท้จริงนับตั้งแต่อุตสาหกรรมรถยนต์เริ่มต้นขึ้น ในอดีตการผลิตรถรุ่นเดียวกันให้มีทั้งเครื่องยนต์เบนซิน และดีเซล ออกมาพร้อมกันถือว่ามีความซับซ้อนระดับหนึ่ง ก่อนจะเพิ่มทางเลือกที่ 3 เครื่องยนต์ปลั๊ก-อิน ไฮบริด แต่ตอนนี้ระบบขับเคลื่อนที่ 4 ซึ่งแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับไลน์อัพที่เมอร์เซเดส-เบนซ์ มีอยู่”
“คุณอาจจะพูดว่ามีหลายบริษัทผลิตรถยนต์ไฟฟ้าออกมาขายระยะหนึ่งแล้ว แต่หากดูตัวเลขยอดขายจริงยังเป็นจำนวนไม่สูง และเปิดตัวในไม่กี่ประเทศเท่านั้น แต่ตอนนี้เรากำลังพูดถึงการผลิตที่สูงระดับหมื่นคันต่อปี เทคโนโลยีพลังงานไฟฟ้าไม่ได้หมายความคุณจะนำรถ E-Class คันหนึ่งมาถอดเครื่องยนต์ และถังน้ำมันออกเพื่อใส่มอเตอร์ไฟฟ้า, แบตเตอรี่ และเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเข้าไปแทนที่ว่างที่อาจจะมีประสิทธิภาพในการใช้งานจริงเพียงแค่ 30-40 เปอร์เซ็นต์ แต่รถยนต์ไฟฟ้าของเมอร์เซเดส ถูกสร้างขึ้นมาใหม่จากศูนย์เพื่อให้มีประสิทธิภาพการใช้งานเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์”
“ถ้าจะตอบคำถามของคุณว่าเมอร์เซเดส-เบนซ์ ประเทศไทย พร้อมหรือไม่ วันนี้ผมตอบได้เลยว่าเราพร้อมเต็มที่ เรามีการกำหนดแผนเรื่องรถยนต์ไฟฟ้าไว้แล้ว, ขั้นตอนการอบรมพนักงานที่เกี่ยวข้อง และข้อกำหนดในการคัดเลือกตัวแทนจำหน่ายที่เหมาะสมเพื่อรับผิดชอบในการขาย EQC เรารู้ว่าพื้นฐานที่ต้องการคืออะไร การวางตำแหน่งของรถยนต์ในตลาดเมืองไทย เรามีครบถ้วนทุกอย่างที่พร้อมจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการ แต่สิ่งที่ทำให้เรารู้สึกลังเลคือการเจรจากับทางเยอรมัน เราต้องการรู้ว่าประเทศไทยจะได้โควตา EQC เข้ามาขายจำนวนกี่คัน และรถจะถูกส่งมาถึงเมื่อไร เราไม่ต้องการเปิดขายโดยปล่อยให้ลิสต์รายชื่อลูกค้าที่รอรับรถยาวจนไม่มีที่สิ้นสุด กลายเป็นวิกฤตใหญ่ของการบริหารงาน แต่อีกทางเลือกหนึ่งคือรอให้พร้อมที่สุดในทุกด้าน ก่อนจะเริ่มขั้นตอนการเปิดตัวรถอย่างเป็นทางการ”
สุดท้ายอะไรคือเป้าหมายส่วนตัวของคุณในการเข้ามารับตำแหน่งในประเทศไทย?
โฟลเกอร์: “การตั้งเป้าหมายของผมง่ายมาก แต่จะทำให้สำเร็จอาจยากพอสมควร ผมมีเป้าหมายส่วนตัวที่ชัดเจนมากคือการพาประเทศไทยให้ปรากฏบนแผนที่โลก เพื่อให้สำนักงานใหญ่ที่เยอรมัน มองเห็นประเทศไทยเป็นผู้นำด้านยานยนต์ไฟฟ้า เราอยู่ในตำแหน่งที่ดี และกำลังเริ่มโปรเจ็กต์ที่น่าสนใจ เป็นที่ยอมรับของสำนักงานใหญ่หลังจากความสำเร็จของรถยนต์ปลั๊ก-อิน ไฮบริด และหวังว่าในอนาคตรถยนต์ไฟฟ้าจะมีกระแสตอบรับเช่นเดียวกัน สิ่งสำคัญอีกอย่างคือการสนับสนุนจากรัฐบาล หากเทียบกับประเทศอื่นๆ ในแถบอาเซียน ในระยะยาวผมอยากเห็นการพัฒนา รวมถึงการเป็นต้นแบบให้หลายประเทศในภูมิภาคนี้ นั้นคือทิศทางที่เมอร์เซเดส-เบนซ์ ประเทศไทย จะต้องก้าวเดินไป”
เรื่อง: พูนทวี สุวัตถิกุล
ขอบคุณข้อมูล: เมอร์เซเดส-เบนซ์ ประเทศไทย
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th
[/expander_maker]