Isuzu กับประวัติศาสตร์ที่ไม่ได้มีแค่รถกระบะ
เมื่อพูดถึงชื่อ Isuzu ภาพติดตาที่คนทั่วไปคิดถึงคือรถกระบะ รถเอสยูวี และรถเพื่อการพาณิชย์ แต่จริงๆ แล้วในอดีตผู้ผลิตรถยนต์จากญี่ปุ่นรายนี้ก็ไม่แตกต่างจากผู้ผลิตรถยนต์ร่วมชาติรายอื่นที่มีการทำรถยนต์นั่งออกมาขายด้วย
รวมไปถึงเคยมีความร่วมมือกับผู้ผลิตรถสปอร์ตอย่าง Lotus ในการทำรถสมรรถนะสูง และยังเคยมีการทำเครื่องยนต์สำหรับรถฟอร์มูลาวันมาแล้ว ขณะที่ในส่วนของรถกระบะซึ่งเป็นสินค้าหลักของ Isuzu ในปัจจุบัน จริงๆ แล้ว Isuzu เพิ่งเริ่มมีการผลิตในช่วงยุค 1980 นี้เอง แต่ก็เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญเพราะได้กลายมาเป็นสินค้าสำคัญของบริษัท หลังจากที่ในยุค 1970 ถึง 1990 ผู้ผลิตรถยนต์รายนี้เคยมีการทำรถยนต์ออกมาอย่างหลากหลายรูปแบบ และต่อไปนี้คือเรื่องราวในอดีตของ Isuzu นอกเหนือจากส่วนของรถกระบะที่หลายคนอาจไม่รู้ว่าเคยมีอยู่
ยุค 1960 กับรถซีดานสไตล์ยุโรปและมอเตอร์สปอร์ต
ในยุค 1960 Isuzu ประสบความสำเร็จจากการทำรถคอมแพกต์ซีดานที่มีการออกแบบในสไตล์รถยุโรปออกมาในชื่อ Bellett โดยนอกจากขายในประเทศแล้วยังมีการส่งออกไปขายในต่างประเทศด้วย รวมทั้งยังมี Bellett GT-R ที่ผลิตจำกัดออกมาเป็นแรร์ไอเทม นอกจากนี้ในช่วงเวลานั้น Isuzu ยังเปิดตัวสู่มอเตอร์สปอร์ตระดับชาติกับการแข่งขันรถ Group 7 ในรายการ Can-AM ที่อเมริกาเหนือ พร้อมกับมีการทำรถแข่งต้นแบบ Bellett R6 ออกมา และนอกจากรถแข่งแล้วในงานโตเกียวมอเตอร์โชว์ปี 1969 ทาง Isuzu ยังมีการเปิดตัวรถคอนเซ็ปต์ซูเปอร์คาร์เครื่องยนต์วางกลางในชื่อ Bellett MX1600 ออกมาซึ่งเป็นฝีมือของนักออกแบบรถยนต์ในตำนานอย่าง Tom Tjaarda โดยใช้เครื่องยนต์ 4 สูบ DOHC 1.6 ลิตรจาก Bellett GT-R
Isuzu ในยุค 1970
ยุคนี้อาจไม่หวือหวานักโดยทาง Isuzu ยังคงทำรถซีดานออกมาทำตลาดต่อเนื่องในชื่อ Florian แต่รถที่โดดเด่นคือ 117 คูเป้ซึ่งเป็นฝีมือการออกแบบของ Giorgetto Giugiaro โดยความร่วมมือกับนักออกแบบผู้นี้ยังคงมีต่อเนื่องไปถึงยุคต่อมากับรถที่จะมาเป็นตัวแทน 117 คูเป้ที่ชื่อ Asso di Fiori ซึ่งเป็นรถคอนเซ็ปต์ที่เปิดตัวในโตเกียวมอเตอร์โชว์ปี 1979 ด้วย โดยรถมาในสไตล์รถแฮทช์แบ็กคูเป้ขับเคลื่อนล้อหลัง อย่างไรก็ตามเมื่อมีการผลิตออกมาขายรถรุ่นนี้ใช้ชื่อ Piazza หรือ Impulse ทำตลาดแทน
ความร่วมมือกับ Lotus
Isuzu ต้องการปรับปรุงแชสซีส์ของ Piazza หรือ Impulse จึงหันไปหาความร่วมมือกับ Lotus ผ่านทางความสัมพันธ์ของ GM ที่มีกับผู้ผลิตรถยนต์ทั้ง 2 ซึ่งผลลัพธ์ของการทำงานร่วมกันก็คือ Piazza/Impulse Turbo ที่มีโช๊กอัพที่หนึบขึ้น บาร์กันโคลงที่แข็งแรงขึ้น รวมทั้งลักษณะของรถสปอร์ตจากอังกฤษ ทำให้หลังจากนั้นเจนเนอเรชั่นที่ 2 ของ Piazza/Impulse ทั้งขับเคลื่อนล้อหน้าและ 4 ล้อล้วนใช้แชสซีส์ที่ปรับจูนโดย Lotus ไม่เฉพาะแค่รุ่นเทอร์โบซึ่งเป็นรุ่นสูงสุดเท่านั้น
ต่อมาความร่วมมือระหว่าง Isuzu กับ Lotus ก็ขยายไปยังส่วนอื่นโดยเจนเนอเรชั่นที่ 2 และ 3 ของรถขนาดเล็กรุ่น Gemini จาก Isuzu ได้มีแพ็กเกจช่วงล่าง ZZ จาก Lotus เป็นออฟชั่นให้เลือก ขณะที่ทาง Lotus เองก็ได้นำเอาเครื่องยนต์ 4 สูบในตระกูล 4XE1 ของ Isuzu ไปใช้กับ Elan M100 ของตนเองด้วย
Isuzu กับเครื่องยนต์ V12
ช่วงที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นเฟื่องฟูในยุค 1980 วิศวกรของ Isuzu ได้ตัดสินใจที่จะลองทำเครื่องยนต์เบนซิน V12 เพื่อการพัฒนาด้านวิศวกรรม หลังจากที่ทาง Isuzu ได้มีการพัฒนาเครื่องยนต์ดีเซล V12 สำหรับรถเพื่อการพาณิชย์ไปเรียบร้อยแล้ว ซึ่งผลจากการพัฒนาเครื่องยนต์ V12 อย่างเป็นความลับคือเครื่องยนต์ P799WE V-12 3.5 ลิตร โดยตั้งเป้าไปที่การใช้ในฟอร์มูลาวันซึ่งเพิ่งเปลี่ยนจากการใช้เครื่องยนต์เทอร์โบมาเป็นเครื่องยนต์หายใจเอง และทีมฟอร์มูลาวันของ Lotus ก็กำลังมีปัญหากับการเปลี่ยนแปลงนี้จากการใช้เครื่องยนต์ของ Lamborghini ดังนั้นเครื่องยนต์ P799WE จึงถูกวางลงใน Lotus 102C ซึ่งเป็นเวอร์ชั่นทดสอบของรถแข่ง 102B โดยมีข่าวออกมาว่ามีกำลังถึง 750 แรงม้า อย่างไรก็ตามหลังการทดสอบแล้วรถทดสอบของ Lotus ตามหลังของรถแข่งของ Ayrton Senna 6 วินาที ทาง Lotus จึงไม่ไปต่อกับเครื่องยนต์ V12 ของ Isuzu
หลังเหตุการนี้ทาง Isuzu ยังเคยมีข้อเสนอในการพัฒนาเครื่องยนต์ V12 ใหม่ให้กับทีม McLaren แต่ข้อเสนอถูกปฏิเสธไป เนื่องจากนโยบายของ McLaren ที่มองหาเครื่องยนต์จากผู้ผลิตรถยนต์ที่เคยประสบความสำเร็จในการแข่งขันมาแล้ว
รถคอนเซ็ปต์ก็มี
ในส่วนของรถคอนเซ็ปต์ Isuzu ไม่ได้ทำแค่ Bellett MX1600 ในช่วงทศวรรษ1960 เท่านั้น เพราะในช่วงยุคทศวรรษที่ 90 ถึงทศวรรษที่ 20 มีการทำออกมาโชว์หลากหลายรุ่น โดยช่วงปี 1983 ถึง 1987 ผู้ผลิตรถยนต์รายนี้ได้ทำซีรี่ส์รถคอนเซ็ปต์ในชื่อ COA ออกมาถึง 3 รุ่นคือ COA, COA II และ COA III ซึ่งคันหลังสุดมีความโดดเด่นเป็นพิเศษจากการที่มีทั้งหลังคาและประตูเป็นชิ้นเดียวกันสำหรับเปิดเพื่อเข้าสู่ห้องโดยสาร รวมไปถึงยังมาพร้อมกับระบบขับเคลื่อนและเลี้ยว 4 ล้อโดยใช้เครื่องยนต์ 4 สูบ เทอร์โบชาร์จเป็นขุมกำลัง
นอกจากรถคอนเซ็ปต์ที่โดดเด่นของ Isuzu หลังจากนั้นยังมี 4200R ซึ่งเป็นซูเปอร์คาร์ที่มีรูปทรงไหลลื่นโค้งมน พร้อมเครื่องยนต์ V8 4.2 ลิตรจาก Lotus กำลัง 350 แรงม้า โดยรถยังมาพร้อมกับเทคโนโลยีต่างๆ ที่ทันสมัยสำหรับยุคนั้นอย่างช่วงล่างแอคทีฟ ระบบนำทาง นอกจากนี้ Isuzu ยังเคยมีการนำเครื่องยนต์ V12 ที่พัฒนาสำหรับฟอร์มูลาวันมาใส่ไว้ในรถคอนเซ็ปต์ Cosmo F1 ซึ่งมีรูปทรงที่โค้งมนและ,uประตูเปิดขึ้นด้านบนในลักษณะ Gullwing ตอนปี 1991 ด้วย
สู่การเน้นไปที่รถเอสยูวี
ในช่วงกลางยุค 1990 Isuzu เน้นความสำคัญไปที่การพัฒนารถบรรทุกและรถเอสยูวีแทนรถยนต์นั่งขนาดเล็ก และก็พิสูจน์ว่าสามารถทำได้ดีจากทั้ง Trooper และ Rodeo รวมไปถึงยังมีรถคอนเซ็ปต์ Vehicross ออกมาในปี 1993 ก่อนที่จะมีการผลิตในปี 1997 เพียงแต่ว่าไม่ประสบความสำเร็จเพียงพอจะทำให้มีรุ่นต่อมา
ภาพ : Automobilemag.com, Wikipedia
เรื่อง : กองบรรณาธิการ
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRAND PRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th