รถเก๋ง Isuzu—รถกระบะ Honda …25 ปีแห่งความหลัง
ในยุคนี้คนไทยส่วนใหญ่คงจะคุ้นเคยกับ Honda ในฐานะเจ้าตลาดรถเก๋ง และ Isuzu ที่ครองความสำเร็จแบบผูกขาดในตลาดรถกระบะจนมาถึงปัจจุบันกับสโลแกน “พลานุภาพ…พลิกโลก” แต่หากย้อนกลับไปราว 25 ปีที่แล้ว ทั้ง 2 บริษัทเคยสร้างความฮือฮาจับมือกัน—เพื่อสลับโลโก้ของตัวเองไปอยู่บนรถของอีกฝั่งออกขายในเมืองไทยมาแล้ว!!!
ความจริงเรื่องแบบนี้ในวงการรถยนต์เกิดขึ้นมาก่อนหน้านั้นหลายสิบปี ไม่ว่าจะเป็นการจับคู่ระหว่างบริษัทรถญี่ปุ่น-ญี่ปุ่น, ญี่ปุ่น-ยุโรป, อเมริกา-ยุโรป หรือญี่ปุ่น-อเมริกา ขึ้นอยู่กับว่าดีลกันลงตัวหรือไม่เท่านั้น แต่การเป็นพันมิตรระหว่าง Honda กับ Isuzu เพื่อแลกรถขายในประเทศไทย เมื่อปีพ.ศ. 2539 กลายเป็นที่สนใจเพราะความเป็นยักษ์ใหญ่ของตลาดรถยนต์บ้านเราของทั้ง 2 ค่าย
อย่างที่รู้กันว่าถึง Honda จะรั้งตำแหน่งผู้นำรถยนต์นั่งเมืองไทย แต่หากมองจากตัวเลขรวม—รถเพื่อการพาณิชย์ (หรือรถกระบะ) ครองส่วนแบ่งตลาดราว 50-60 เปอร์เซ็นต์มาตลอด (จนถึงปัจจุบัน) ทำให้พวกเขาพยายามหาหนทางเข้ามาแข่งขันในเซกเม้นต์นี้ เช่นเดียวกับ Isuzu ต้องห้ำหั่นกับ Toyota เพื่อแย่งชิงอันดับ 1 ของผู้นำตลาดรถกระบะมายาวนาน ก็คงอยากปรับอิมเมจ พร้อมเพิ่มทางเลือกให้ลูกค้าที่ภัคดีในแบรนด์ที่มองหารถซีดานที่มั่นใจทั้งคุณภาพ และบริการหลังการขาย มาใช้งานสักคัน
พันธมิตร Honda-Isuzu เป็นผลต่อเนื่องจากข้อตกลงระหว่าง 2 ฐานบัญชาการใหญ่บนเกาะญี่ปุ่นที่เริ่มต้นขึ้นในช่วงต้นทศวรรษ 1990 โดยมีการแลกเปลี่ยนรถยนต์หลากหลายรุ่นเพื่อทำตลาดทั้งในบ้านตัวเอง และประเทศอื่นๆ จนมาถึงเมืองไทยกับข้อแลกเปลี่ยนที่ Honda ต้องส่งเจ้า Civic “ตาโต” เจเนอเรชั่น 6 ไปให้ Isuzu ติดโลโก้ของตัวเองออกขายในชื่อ Vertex (เวอร์เทคซ์) และพวกเขาได้รถกระบะ TFR Spacecab ที่มีฉายาในบ้านเราว่ารุ่น “มังกรทอง” มาติดโลโก้ตัว “H” เปิดตัวในชื่อ Tourmaster (ทัวร์มาสเตอร์)
ในตอนนั้น Isuzu เป็นฝ่ายเปิดตัว Vertex ออกมาให้ลูกค้าชาวไทยได้จับจองก่อนในวันที่ 6 สิงหาคม 2539 โดยความแตกต่างจาก Civic ที่มีขายอยู่แล้วนั้น ก็คือการนำดีไซน์ด้านหน้าของ Honda Integra SJ ที่ใช้พื้นฐานร่วมแต่ทำตลาดเฉพาะในญี่ปุ่นส่งมาให้แปะโลโก้ Isuzu เครื่องยนต์ยกมาจาก Civic ที่ขายในบ้านเรามีให้เลือกเป็นเบนซิน 4 สูบแถวเรียง SOHC 1.5 ลิตร ที่มีกำลังสูงสุด 120 แรงม้า กับเครื่องยนต์ VTEC ที่มีความแรงเพิ่มเป็น 127 แรงม้า
จากนั้นไม่ถึงเดือนดี Honda จัดงานแถลงเปิดตัว Tourmaster รถกระบะรุ่นแรกในเมืองไทยของพวกเขาในวันที่ 3 กันยายน 2539 โดยมาพร้อมสโลแกน “อีกบทแกร่ง บนความภูมิใจ” และในงานแถลงข่าวตามภาพที่ทีมงานเราค้นหามาจะเห็นว่าพวกเขาเปิดฝากระโปรงหน้าโชว์ให้เห็นโลโก้ Isuzu ติดอยู่บนเครื่องยนต์สีทองอร่าม ดีเซลไดเร็คอินเจ็คชั่น 2.5 ลิตร 90 แรงม้า เหมือนอยากจะคอนเฟิร์มความมั่นใจให้ลูกค้าที่ซื้อไปว่า Isuzu ผลิตให้พวกเขาจริงๆ
ในขณะที่อุปกรณ์อื่นๆ ของ Honda Tourmaster แทบจะยกชุดมาจาก TFR Spacecab แถมตั้งราคาสูงกว่าพี่ชาย รวมถึงบรรดารถกระบะคู่แข่งที่ขายอยู่ในเวลานั้นไม่ว่าจะเป็น Toyota, Nissan หรือ Mitsubishi ทำให้ยอดขายไม่เดินอย่างที่คาดหวัง (ก็แน่นอนอยู่แล้วไหม?)
เช่นเดียวกับ Isuzu Vertex ถึงจะพยายามยกระดับภาพลักษณ์ด้วยการดึง ริชาร์ด เกียร์ พระเอกฮอลลีวู้ดที่กำลังฮอตในยุคนั้นมาเป็นพรีเซ็นเตอร์ แต่ลูกค้าหลายคนเปลี่ยนใจกลับไปซื้อ Civic ด้วยเหตุผลทำนองเดียวกับที่หลายคนกลับมาซื้อ TFR แทนที่จะเป็น Tourmaster—เพราะไม่จำเป็นต้องจ่ายเงินแพงกว่าเพื่อให้ได้รถที่เหมือนกันแทบจะทุกอย่างยกเว้น—โลโก้!!!
เวลานั้นทีมงานทั้ง 2 ค่ายพยายามงัดกลยุทธ์ทั้งปรับโฉม-เพิ่มลดรุ่นย่อยเพื่อต่อลมหายใจให้ความร่วมมือครั้งนี้ยืดยาวออกไปให้นานที่สุด แต่สุดท้าย Honda เป็นฝ่ายถอดใจเลิกทำตลาดหลังจากผ่านไปได้เพียง 2 ปี จากนั้นอีกเพียง 1 ปีต่อมา Isuzu ตัดสินใจยกธงขาวยอมแพ้ไปด้วย
นับจากนั้นทั้ง 2 ค่ายไม่เคยกลับมาขายรถยนต์ในเซกเม้นต์ที่ตัวเองไม่ถนัดอีกเลย โดย Honda เลือกจะมุ่งมั่นกับการขายรถยนต์นั่งเหมือนเดิม (เพิ่มเติมด้วยครอสส์โอเวอร์เอสยูวี) เช่นเดียวกับ Isuzu ประสบความสำเร็จต่อเนื่องกับรถกระบะ และรถอเนกประสงค์ขนาดกลาง ปล่อยให้การจับมือเป็นพันธมิตรเมื่อ 25 ปีที่แล้วกลายเป็นบทเรียนสำคัญในหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์ทั้ง 2 บริษัทไปตลอดกาล
เรื่อง: พูนทวี สุวัตถิกุล
ขอบคุณข้อมูล: GPI Photobank
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th