Report: การดิ้นรนของผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นในตลาดจีน-ไร้แผนเชิงรุกรับมือการเปลี่ยนผ่านสู่รถยนต์พลังงานใหม่ NEV
‘สาธารณรัฐประชาชนจีน’ – ตลาดรถยนต์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของโลก เผชิญความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยตามรายงานของ GlobalData บริษัทวิเคราะห์ข้อมูลของประเทศอังกฤษ การเกิดเทรนด์ รถยนต์พลังงานใหม่ (New Energy Vehicle: NEV) ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว แม้ว่าความเชี่ยวชาญด้านเทคนิคที่แตกต่างจะนำความสำเร็จมาสู่กลุ่มผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่เช่นเดิม แต่ผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติจีนฉวยโอกาสที่เกิดคลื่นความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จัดการแบรนด์ต่างชาติที่เข้ามารุกรานพวกเขาเป็นเวลานานหลายปีลงได้
ด้วยเหตุนี้ยอดขายรถยนต์ NEV ในประเทศจีนเพิ่มขึ้นจนมาอยู่ในระดับ 25 เปอร์เซ็นต์ เมื่อปี 2022 และเดือนกรกฎาคมปีนี้พวกเขาข้ามผ่านกำแพง 50 เปอร์เซ็นต์ได้เป็นครั้งแรก เช่นเดียวกับการส่งออกรถยนต์ของจีนสร้างสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในแง่ของปริมาณ โดยปี 2023 ผู้ผลิตรถยนต์ของประเทศจีนสามารถแซงญี่ปุ่นด้วยการส่งออกรถยนต์มากกว่า 4 ล้านคัน ทำให้พวกเขากลายเป็นประเทศผู้ส่งออกรถยนต์รายใหญ่ที่สุดของโลก
องค์กรพลังงานฯ IEA เชื่อมั่นปี 2024 ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกทุบสถิติใหม่ 17 ล้านคัน
ในปี 2020 ยอดขายรถยนต์ญี่ปุ่นในตลาดประเทศจีนสูงกว่า 5 ล้านคัน โดยรถยนต์นั่งส่วนบุคคล (Passenger Vehicle) ครองส่วนแบ่งตลาดที่ 25 เปอร์เซ็นต์ หมายความว่ารถยนต์ทุก 4 คันที่ขายในจีน จะต้องมีรถยนต์แบรนด์ญี่ปุ่น 1 คัน อย่างไรก็ตามในปี 2021 ยอดขายรถยนต์ NEV พุ่งพรวดเป็น 3 ล้านกว่าคัน สูงกว่ายอดขายรวม 3 ปีก่อนหน้า และหากเทียบกับปี 2020 จะมีอัตราเติบโตสูงกว่า 150 เปอร์เซ็นต์ ทุกคนในอุตสาหกรรมเริ่มมองเห็นจุดเปลี่ยนที่เกิดขึ้น และนับจากปี 2021 สัดส่วนยอดขายรถยนต์แบรนด์ญี่ปุ่นเริ่มดิ่งลงมาอย่างต่อเนื่อง
ก่อนหน้านี้ Subaru และ Suzuki เคยทำสถิติยอดขายสูงสุดในประเทศจีน เมื่อปี 2013 และ 2014 ตามลำดับ ก่อนที่ยอดขายจะลดลงต่อเนื่อง โดยปี 2018 Suzuki ประกาศเตรียมยุติธุรกิจเกือบทั้งหมดในตลาดจีน ส่งผลให้ปีที่แล้วยอดขายของพวกเขาไม่ถึง 5,000 คัน เช่นเดียวกับ Subaru ที่เคยทำยอดขายสูงสุดเกือบ 60,000 คัน (ปี 2013) แต่ในปี 2023 เหลือเพียง 8,000 คันเท่านั้น
Mazda เผชิญสถานการณ์ที่ยากลำบากไม่ต่างกันจากที่เคยทำยอดขายผ่านหลัก 300,000 คันเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2017 จากนั้นตัวเลขลดลงต่อเนื่อง เฉลี่ยติดลบ 18 เปอร์เซ็นต์ต่อปี จนทำให้ยอดขายปี 2023 ต่ำกว่า 100,000 คันเป็นครั้งแรก และแนวโน้มยังคงลดลงต่อไป โดยไม่มีสัญญาณว่าจะฟื้นตัวกลับมาในอนาคตอันใกล้เลย
ไม่เพียงบรรดาแบรนด์ที่กล่าวมาเท่านั้น 3 ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของประเทศญี่ปุ่น – Toyota, Honda และ Nissan (รวมถึงกลุ่มพันมิตร Renault–Nissan–Mitsubishi Alliance) กำลังเผชิญวิกฤตยอดขายตกต่ำในตลาดประเทศจีนที่ไม่แตกต่างกัน โดยไม่แสดงให้เห็นหนทางที่จะฟื้นตัวกลับมาทำยอดขายได้สูงเหมือนในอดีตอีกด้วย
ในปี 2022 Acura แบรนด์ลักชัวรี่ภายใต้เครือ Honda ประกาศที่จะต้องถอนตัวจากตลาดจีนในปี 2023 จากการที่มียอดขายต่ำกว่าที่คาดการณ์ ตามด้วย Mitsubishi แถลงยืนยันที่จะถอนตัวด้วยเหตุผลเดียวกันเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว รวมถึง Infiniti แบรนด์หรูของ Nissan ที่มียอดขายเกิน 5,000 คันเพียงไม่มากนักเมื่อปี 2023 แสดงท่าทีจะออกจากแดนมังกรเช่นเดียวกัน
ทางด้าน 3 ยักษ์ใหญ่ Toyota, Honda และ Nissan เผชิญสถานการณ์ยอดขายลดลงที่แตกต่างกัน โดยเมื่อปี 2023 Nissan มียอดขายรวมอยู่ที่ 660,000 คัน ลดลง 19.4 เปอร์เซ็นต์หากเทียบกับปีก่อนหน้า ส่งผลให้เกิดการปรับลดราคารถยนต์ครั้งใหญ่ในปีนี้ โดยช่วง 7 เดือนแรก (มกราคม-กรกฎาคม 2024) พวกเขามียอดขาย 340,000 คัน ติดลบเพียง 2.5 เปอร์เซ็นต์หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2023
ขณะที่ Honda มียอดขายรวม 1.2 ล้านคัน ในปี 2023 ลดลง 13.7 เปอร์เซ็นต์ หากเทียบกับปี 2022 และถึงจะมีการลดราคาครั้งใหญ่ในปีนี้ แต่ก็ทำยอดขายได้เพียง 450,000 คัน ในระหว่างเดือนมกราคม-กรกฏาคม ลดลง 24.5 เปอร์เซ็นต์หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว จนทำให้มีโอกาสที่ปีนี้ยอดขายของพวกเขาจะไปไม่ถึง 1 ล้านคัน
และสุดท้ายพี่ใหญ่ Toyota ที่มียอดขายเกือบ 1.8 ล้านคัน ในปี 2023 ลดลง 4.4 เปอร์เซ็นต์หากเทียบกับปีก่อนหน้า ประสบความยากลำบากที่ไม่ต่างกัน โดยทำยอดขายได้เพียง 780,000 คัน ระหว่างมกราคม-กรกฎาคม 2024 ติดลบ 18.8 เปอร์เซ็นต์หากเทียบกับ 7 เดือนแรกของปี 2023
จากตัวเลขสถิติยอดขายจะเห็นได้ชัดเจนว่าแบรนด์รถยนต์ญี่ปุ่นกำลังดิ้นรนอย่างหนักที่จะแข่งขันในตลาดประเทศจีน ด้วยหลายสาเหตุที่แตกต่าง โดยสิ่งสำคัญคือผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นไม่เคยแสดงให้เห็นแผนเชิงรุกในการเปลี่ยนผ่านสู่รถยนต์พลังงานใหม่ NEV หรือแสดงให้เห็นความพยายามต่อสู้เลยสักครั้ง
BYD พาสัมผัส DM-i Technology Super Hybrid แรงและประหยัดน้ำมัน
ยิ่งไปกว่านั้นการรับรู้ของผู้บริโภคเกี่ยวกับรถยนต์ญี่ปุ่นในตลาดประเทศจีนตั้งแต่อดีตคืออัตราประหยัดน้ำมันที่ยอดเยี่ยม และคุณภาพการผลิตระดับสูง อย่างไรก็ตามความได้เปรียบที่พวกเขาเคยมีในด้านความประหยัดน้ำมันถูกลบเลือนออกไปนับตั้งแต่ NEV เริ่มได้รับความนิยมสูงขึ้น โดยความเปลี่ยนแปลงเริ่มเห็นชัดเจนมากขึ้นจากการที่ BYD เปิดตัวเทคโนโลยีไฮบริด DM (Dual Mode; โดยประเทศไทยเปิดตัวในชื่อเทคโนโลยี DM-i ในรถยนต์ BYD Sealion 6) ที่มีอัตราสิ้นเปลืองน้ำมันที่ดีกว่าแบรนด์รถยนต์ญี่ปุ่น รวมทั้งข่าวอื้อฉาวเกี่ยวกับการใช้ชิ้นส่วนไม่ได้มาตรฐานหรือปลอมแปลงผลการทดสอบรถยนต์ที่เกิดขึ้นหลายครั้งของค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นส่งผลกระทบกับความเชื่อถือด้านคุณภาพในสายตาของลูกค้า และต้องอาศัยเวลาอีกพอสมควรในการสร้างภาพลักษณ์ของแบรนด์ขึ้นมาใหม่
นอกเหนือจากนี้ในแง่คุณค่าของแบรนด์ รถยนต์ญี่ปุ่นไม่อาจนำเสนอความพรีเมียมในระดับเดียวกับแบรนด์ยุโรปหรืออเมริกา ความได้เปรียบเดียวของรถยนต์ญี่ปุ่นในตอนนี้คือ – ราคาที่เข้าถึงได้ง่าย – แต่ตอนนี้กำลังเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงจากแบรนด์ในประเทศจีนเช่นกัน
และสุดท้ายผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นไม่อาจตอบสนองความต้องการด้านเทคโนโลยีที่เพิ่มสูงขึ้นของผู้บริโภค ทั้งระบบขับขี่อัตโนมัติ (Autonomous Driving) และระบบควบคุมอัจฉริยะต่างๆ การไร้ความสามารถที่จะตอบรับความคาดหวังของกลุ่มลูกค้าเจเนอเรชั่นใหม่ถือเป็นสัญญาณที่น่ากังวล ท่ามกลางความท้าทายจากรอบด้าน ส่งผลให้ภาพรวมของผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นในตลาดประเทศจีนกำลังเผชิญความยากลำบากที่ยังไร้หนทางที่จะแก้ไขต่อไป
เรื่อง: พูนทวี สุวัตถิกุล
ขอบคุณข้อมูล: Just Auto/GlobalData
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th
NEV รถยนต์พลังงานใหม่
ในช่วงเวลาที่รถยนต์ไฟฟ้า หรือ EV ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง และดูเหมือนว่าจะยังไม่ตอบโจทย์ในภาพรวมของผู้ใช้รถคนไทยสักเท่าไหร่ BYD จึงนำอีกหนึ่งเทคโนโลยีอย่าง DM-i Technology ที่ถือว่าเป็น Super Hybrid