20 ปี ผ่านไป HONDA “JAZZ GD i-DSI” ยังน่ารักเหมือนเดิมไหม ???
20 ปี ผ่านไป “JAZZ GD i-DSI” ยังน่ารักเหมือนเดิมไหม ???
HONDA JAZZ เปิดตัวครั้งแรกในปี 2003 ซึ่งสร้างความนิยมกันอย่างรวดเร็วและแพร่หลาย จากสไตล์ของรถ Hatchback ที่ดูน่ารักมากกก สไตล์ญี่ปุ่นจ๋า ภายในที่กว้างขวางและอเนกประสงค์สไตล์ครอบครัว เครื่องยนต์ L15A ที่ประหยัดน้ำมัน การขับขี่คล่องตัว ในความเร็วเดินทางก็ยังสบายด้วย เรียกว่าเปลี่ยนภาพลักษณ์รถขนาดเล็กไปอย่างชัดเจน อารมณ์แบบ “มีคันเดียวเฟี้ยวได้ทุกโอกาส” ไม่ได้นิยมเฉพาะในเมืองไทยเท่านั้น ในญี่ปุ่นเอง ก็จะขายในชื่อ FIT (อ่านสำเนียงญี่ปุ่นว่า “ฟิตโตะ”) และทำยอดขายแซง TOYOTA VITZ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ HONDA ทำยอดขายแซง TOYOTA ได้ มาถึง ณ ตอนนี้ เวลาผ่านมากว่า 20 ปีเศษๆ จะมาลองดูว่า “มันจะยังน่ารักเหมือนเดิมไหม” และคุ้มไหมที่จะหามาใช้งาน…
ข้อมูลพื้นฐาน
สำหรับคันนี้ เป็น JAZZ GD โฉมแรก ที่ใช้เครื่องยนต์ L15A i-DSI ที่ย่อมาจาก Intelligent Dual And Sequential Ignition หรือ “การใช้หัวเทียน 2 หัว ต่อ 1 สูบ” ล้ำสมัยกว่าเพื่อนร่วมวงการในตอนนั้น โดยเน้นการจุดระเบิดที่หมดจด เพิ่มกำลัง และสิ่งที่เน้นหนัก คือ “ประหยัดน้ำมันสูงสุด” มีแรงม้าสูงสุด 88 PS ดูแล้วอาจจะไม่ตื่นตาตื่นใจ เพราะตอนนั้นเพื่อนต่างค่ายอย่าง VIOS ที่ใช้เครื่อง 1NZ-FE ก็มีแรงม้า 109 PS เข้าไปแล้ว ก็เข้าใจได้ว่า JAZZ ก็คงเน้นความประหยัดไว้ก่อน แต่เชื่อเถอะว่ามี “ก๊อกสอง” เป็น JAZZ VTEC ออกมาแน่ๆ และก็จริงๆ มีโอกาสได้รถมาจะรีวิวกันอีกครั้งหนึ่ง…
ระบบส่งกำลัง หรือ เกียร์ ก็จะเป็นแบบ CVT อัตราทดต่อเนื่อง โดยมี 7 Speed Mode ที่สามารถล็อกจังหวะเกียร์ได้ถึง 7 จังหวะ ก็ออกมา “ขิง” เกียร์ CVT ของ MITSUBISHI LANCER CEDIA ที่ล็อกได้ 6 จังหวะ นั่นละมั้ง อย่างไรก็ตาม มันก็ให้อารมณ์ขับสนุก “คล้าย” เกียร์ธรรมดา อย่างทางขึ้นลงเขา โค้งไปมาต่อเนื่อง โหมดนี้จะส่งผลดีได้มาก แต่ถ้าเร่งแซงเฉยๆ ก็ใช้เกียร์ D น่ะดีแล้ว อย่าไปซนมากเดี๋ยวจะพัง อ้อ ยังมีรุ่น “เกียร์ธรรมดา” ให้เลือกด้วยนะ สำหรับวัยรุ่นโดยเฉพาะ หรือสำหรับคนที่ขับทางไกล ต้องการอัตราเร่งแซงที่รวดเร็วกว่าเกียร์ CVT รวมถึงการซ่อมบำรุงที่ต่ำกว่าด้วย…
ระบบช่วงล่าง มาแบบรถเล็กนิยม ด้านหน้าเป็นแบบอิสระ แม็คเฟอร์สันสตรัท ไม่มีอะไรพิสดาร ด้านหลังเป็น ทอร์ชั่นบีม หรือ คานบิด (ไม่อิสระนะจ๊ะ) ข้อดี คือ ชิ้นส่วนน้อย ไม่เบียดบังเนื้อที่ห้องโดยสาร ตอนแรกก็มองว่าจะทรงตัวดีสักแค่ไหน แต่พอได้ลองทดสอบจริง ก็ว่าสบประมาทไปหน่อย การตอบสนองทำได้ดีเลยล่ะครับ มีความเฟิร์ม กระชับ ไม่ย้วย และไม่ถึงกับกระด้าง ออกแนวสปอร์ตนิดๆ จัดว่าถูกใจ “วัยรุ่น” และ “วัยแรด” ที่ยังมีไฟยิ่งนัก…
ระบบเบรก ก็ยังเป็น “หน้าดิสก์ หลังดรัม” อยู่ จะไปได้ “ดิสก์หลัง” ในรุ่น VTEC ที่ออกมาในปี 2005 แต่ก็พอเพียงสำหรับรถขนาดตัวและมีแรงม้าเท่านี้ ก็ไม่จำเป็นต้องเพิ่มต้นทุนให้แพงใช่เล่น ส่วนระบบช่วยต่างๆ เช่น ABS หรือ Anti – Lock Brake System (ระบบป้องกันล้อล็อก), EBD หรือ Electronic Brake Force Assist (ระบบกระจายแรงดันเบรกไปล้อต่างๆ ตามความเหมาะสม), BA หรือ Brake Assist (ระบบเสริมแรงเบรก) ประมาณนี้ก็พอแล้ว…
ความรู้สึกยังเหมือนเดิมหรือไม่
หลังจากเวลาผ่านมา 20 ปีเศษ ย่อมมีการเปลี่ยนแปลงไปตามอายุ รถคันนี้ก็เช่นกัน สภาพโดยรวมก็ยังดั้งเดิม มีริ้วรอยตามการใช้งานบ้างเป็นปกติ แต่ไม่มีอุบัติเหตุหนัก และใช้งานมาน้อยมาก อยู่ที่ 73,256 กม. เท่านั้น ซึ่งก็เป็นระยะจริงไม่มีจกตา ตอนนี้ส่วนใหญ่ก็ใช้งานไปใกล้ๆ บ้านเท่านั้น ก็เลยโชคดีที่ได้รถสภาพดั้งเดิมมาลองขับอีกครั้งหนึ่ง…
เรื่องของอัตราเร่ง ก็อย่าคาดหวังมากในด้านความแรง มันจะมาเรื่อยๆ เนิบๆ ถ้าคนใจร้อนจะว่า “อืด” ส่วนเรื่องความประหยัด คันนี้เครื่องและเกียร์ยังสมบูรณ์ดี ก็ยังคงประหยัดเช่นเดิม แต่บางคันที่เครื่องและเกียร์เริ่มโทรม จะรู้สึก “อืด” และ “กินจุ” อย่างผิดหูผิดตา อันนี้ไม่แปลก แนะนำว่า ถ้าใครชอบความสนุก อยากได้ความจี๊ดจ๊าดมากกว่านี้ ก็จงมองข้ามไปหารุ่น VTEC ที่มีแรงม้าเพิ่มขึ้นเป็น 110 PS อันนี้ตอบโจทย์ได้ดีกว่า…
ส่วนเรื่องช่วงล่าง ก็เป็นไปตามเดิม ด้วยความที่รถ “ไมล์น้อย” และใช้งานเบาๆ ช่วงล่างเลยยังคงความเงียบ กระชับ ส่วนระบบเบรก ก็ยังเชื่อถือได้ การตอบสนองดีในรถขนาดนี้ เบรกไม่ไวเกินไปจนหัวทิ่มหัวตำ และยังมั่นใจได้ในความเร็วปกติมนุษย์ เพียงแต่บำรุงรักษาให้สมบูรณ์ เป็นรถเล็กที่ขับสบายและมั่นใจในการใช้งานทั่วไปได้ดีเลยละครับ…
ข้อควรทราบ เรื่อง “เกียร์” เจ้าปัญหา !!!
สำหรับปัญหาที่พบเจอได้บ่อย คือ เกียร์อัตโนมัติแบบ CVT ที่ใช้สายพานโลหะเป็นตัวขับเคลื่อน ตอนแรกๆ มีปัญหาพังกันบ่อย ก็มาจากการใช้น้ำมันเกียร์ผิดประเภท มันต้องใช้ของ CVT เท่านั้น และรถบางคันก็ไม่เคยเปลี่ยน “กรองเกียร์” เลย แม้จะถ่ายน้ำมันเกียร์ตามระยะ แต่พอถึงระยะหนึ่ง กรองเกียร์สกปรกเกินไป ทำให้การไหลเวียนของน้ำมันเกียร์ผิดปกติ เกียร์ก็จะทำงานแปลกๆ บื้อๆ เข้าเกียร์กว่ารถจะวิ่งต้องรอ ถ้ามีอาการเหล่านี้ต้องรีบตรวจเช็คและซ่อมแซมด่วน ก่อนที่เกียร์จะลาโลก…
จุดพีคของมัน เป็นรถยนต์รุ่นแรกที่วางขายในเมืองไทย ที่เป็นเกียร์ CVT แต่ไม่มี Torque Converter เหมือนเกียร์อัตโนมัติแบบทั่วไป ??? แต่กลับใช้แรงจากล้อกำลัง หรือ ฟลายวีล แทน โดยด้านในของฟลายวีล ก็จะมี “สปริง” เพื่อซับแงกระชาก เหมือนกับแผ่นคลัตช์ของเกียร์ธรรมดา ปัญหาเมื่อถึงอายุ สปริงจะเริ่มล้า ทำให้เกิดการ “เขย่า” มีเสียงดัง โดยเฉพาะในช่วงรอบเดินเบา ของไทยจะเป็นฟลายวีลแบบ “เปลือย” และ “ไม่มีจารบีหล่อลื่น” พอเหล็กกระทบกันโดยตรงก็จะทำให้สึกหรอได้เร็ว และพอมันขยับตัวได้มาก การส่งกำลังก็จะมีช่วง “หน่วง” มากขึ้น ประกอบกับพอมีเสียงดัง ก็นึกว่า “เกียร์พัง” ไปเปลี่ยนเกียร์กันชุดใหญ่บางทีก็ไม่หาย…
ทางแก้ของอู่ ก็คือ “ใช้ฟลายวีลของตัวญี่ปุ่น” ที่จะเป็นแบบ “ปิด” ในนั้นมีจารบีหล่อลื่น ช่วยแก้ปัญหาได้ตรงจุด ย้อนกลับมาที่เรื่องเกียร์ การซื้อเกียร์ CVT แบบ Used มา ก็ต้องระวังกันหน่อย จะต้องเป็นเกียร์ “ตรงรุ่นเครื่อง 1.5 ลิตร L15A เท่านั้น” เพราะในญี่ปุ่น จะมีรุ่นเครื่อง 1.3 ลิตร L13A ด้วย หน้าตาอาจจะเหมือนกัน ใส่กันได้ครับ แต่ “อัตราทดไม่เหมือนกัน” ซึ่งรุ่น L13A อัตราทดจะสูงกว่า L15A เพราะกำลังเครื่องน้อยกว่า พอมาใส่ก็จะกลายเป็น “เร่งดีขึ้น” แต่ “ใช้รอบมากขึ้น” ทำให้กินน้ำมัน ความเร็วปลายตก และ “เกียร์สึกหรอเร็ว” ไม่เหมาะสมกับการใช้งาน…
พิจารณา “จุดที่น้ำรั่วเข้ารถ”
ก็อาจจะเป็นปกติสำหรับรถอายุเกิน 20 ปี ที่จะต้องเจอปัญหานี้อยู่บ้าง เรื่องหลักที่เจอมา ก็คือ “น้ำรั่วเข้ารถ” ซึ่งตัวผมเองก็มีพรรคพวกที่ใช้รุ่นนี้อยู่พอควร ก็เจอเหมือนกันหลายคัน ถ้าคันไหนนั่งแล้วได้กลิ่นอับๆ ตุๆ ละก็ใช่เลย ปัญหามันอยู่ในจุดที่กำลังจะกล่าวถึงนี้…
จุดแรก “น้ำเข้าจากกระจกบังลมหน้า” เนื่องจากซิลิโคนยากระจก เริ่มหมดอายุ สังเกตง่ายๆ คันที่รั่วเยอะ แหงนมองผ้าหลังคา แถวแผ่นบังแดด จะเห็น “คราบน้ำ” ตรงมุมผ้าหลังคาเลย บางคันรั่วมากๆ เจอฝนตกหนักก็นึกว่ามีน้ำตกส่วนตัวในรถ อันนี้ก็เจอกันบ่อยๆ ในรถยุคใหม่ที่ใช้การยึดกระจกด้วยซิลิโคน ทางแก้ ควรจะให้ “ร้านทำกระจกรถยนต์” ยกกระจกออก และยาซิลิโคนใหม่ ต้องเน้นว่าให้ร้านทำกระจกรถยนต์จะดีที่สุด เพราะเขามีเครื่องมือในการถอดกระจกแบบครบๆ ไม่งั้นเสี่ยง “แตก” เสียตังค์เพิ่มแน่นอน…
จุดที่สอง “เข้าจากคิ้วรีดน้ำข้างประตูทั้ง 4 บาน” เกิดจากคิ้วยาง รวมทั้งพลาสติกกันน้ำ แผงประตูเสื่อมสภาพ “ไม่แนบ” เกิด Gap หรือช่องว่าง เวลารถเกิดการบิดตัว สะเทือน ก็จะทำให้น้ำเข้าได้ ส่วนนี้ไม่ยากเลย แค่ “เปลี่ยนของใหม่” ราคาอะไหล่เบิกศูนย์ก็ไม่แพง…
จุดที่สาม “น้ำเข้าและขังในหลุมยางอะไหล่” อันนี้หลายคนอาจจะไม่รู้ เพราะไม่ได้สังเกต แต่ปล่อยไปนานๆ ก็ไม่ดีครับ เกิด “เชื้อรา” สะสม บางคันรั่วมากๆ และไม่แก้ไข เจอ “น้ำล้นหลุมยางอะไหล่” เวลารถวิ่งทีน้ำกระฉอกเข้ามาเบาะหลัง จุดที่รั่วก็มีสองส่วนหลักๆ ดังนี้…
จุดที่สามจุดหนึ่ง “ถ้าสีน้ำที่ขังใสอยู่” อันนี้เข้าจาก “ยางรองเบ้าไฟท้าย” ที่พอเสื่อมสภาพ ทั้ง “น้ำ” และ “กลิ่นไอเสีย” จะเข้ามาด้วย หรืออาจจะเจอจาก “รอยต่อตัวถัง” ที่รถใช้มานานๆ อาจจะทำให้รอยต่อ “อ้า” มากขึ้น รวมไปถึง “ยาแนวตัวถัง” เริ่มหลุดก็เป็นไปได้…
จุดที่สามจุดสอง “ถ้าสีน้ำที่ขังขุ่น สกปรก” อันนี้จะเข้ามาทาง “ยางหัวโช้คอัพหลัง” ถ้าเกิดยางยุบตัวขณะโช้คอัพทำงาน จะมีช่องว่างให้น้ำเล็ดรอดเข้ามาได้ ตรงนี้ก็จะมีเสียงดังกุกกักเวลาสะเทือนด้วย แต่คนขับอาจจะไม่ได้ยินเพราะมันไกลหู ตรงนี้ก็ต้องดู “คราบน้ำ” ว่ามันเข้ามาจากไหน…
บทสรุป “น่าใช้ ถ้าเจอรถดี”
ในภาพรวม HONDA JAZZ GD i-DSI หลายคนอาจจะมองข้ามไปเล่นตัว VTEC ที่สดกว่า แรงกว่า แต่ถ้าคนที่ไม่ได้รีบร้อนไปไหนต่อไหน ขับเรื่อยๆ ชิลๆ เน้นใช้งานในเมือง ก็ยังถือว่า “น่าใช้” จากความคล่องตัว และ ประหยัดน้ำมัน ถ้าเจอรถที่สมบูรณ์ และถ้า “เซอร์วิสดี” โดยเฉพาะเรื่องเกียร์ ก็ถือว่าลดความเสี่ยงไปได้มาก แต่ยังไงก็ลองขับดูก่อน ถ้าอัตราเร่งดี เครื่องยนต์และเกียร์ทำงานราบเรียบปกติสุข ก็ถือว่าเล่นได้ เพราะอะไหล่ต่างๆ ก็ยังเบิกศูนย์ได้ หรือจะสั่งจากแอปต่างๆ ก็ตามสะดวก ถ้าเป็นอะไหล่เก่าเชียงกง ก็มีหลายที่ เช่น ญี่ปุ่น, ฮ่องกง, มาเลเซีย ฯลฯ ส่วน “สายแต่ง” ก็มีหลายสำนัก หลักๆ ก็ SPOON, MUGEN, J’S RACING ฯลฯ หรือจะทำตามชอบตัวเองก็แล้วแต่ศรัทธา ถ้าอยากได้รถน่ารักๆ สักคัน ที่ไม่เก่าเกินไปจนหาอะไหล่ยาก ทรวดทรงยังหากินได้อีกนาน JAZZ GD นี้ก็ถือว่าน่าสนใจมาก และมีแนวโน้มกระแสนิยมจะกลับมา เพราะคนชอบ “ย้อนวัย” ไปหาอะไรที่เป็น “ตัวแรกเริ่ม” กัน…
เรื่อง: อินทรภูมิ์ แสงดี
ภาพ: วรภัทร โพนามาศ
ข้อมูล: อู่กางร่ม Used parts JDM Boy
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th