LAMBORGHINI URUS เมื่อผู้ผลิต Super Car พร้อมสร้าง Super SUV!!!
หลังจากเปิดตัวอย่างเป็นทางการ Lambo Urus กลายเป็น SUV จากโรงงานผู้ผลิตที่ทรงพลังที่สุดในโลก พิกัดความโหดอยู่ในระดับที่รถสปอร์ตแท้ๆ หลายโมเดลไม่กล้าแหย่ เพราะสเป็ก 650 hp กับ 850 Nm พร้อมความเร็วปลายแตะ 305 กม./ชม. มันเป็นอะไรที่ไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ สำหรับรถ SUV ที่ขึ้นชื่อเรื่องความอเนกประสงค์ ทว่า Urus นั้นแตกต่าง เพราะ Lambo กำหนดให้มันอยู่ในกลุ่ม Super Sport Utility Vehicle ที่แม้จะเป็น SUV แต่ให้สมรรถนะการขับขี่แบบสุดขั้ว ระดับน้องๆ Super Car เลยทีเดียว
- Lamborghini Urus ถูกจัดให้เป็นรถในกลุ่ม Super Sport Utility Vehicle
Lamborghini DNA อันได้แก่ สไตล์การออกแบบ สมรรถนะ คุณภาพการขับขี่ และอารมณ์ความรู้สึกหลังพวงมาลัย ได้ถูกถ่ายทอดมายัง Urus ในทุกรายละเอียด โดยทั้งหมดได้ถูกปรับแต่งเพื่อรองรับการใช้งานในชีวิตประจำวัน มาพร้อมความหรูหรา และให้ความสบายในการเดินทาง แบบที่ไม่เคยมี Super Car จาก Lambo รุ่นใดทำได้มาก่อน ต้นสังกัดจัดให้ Urus เป็น Super SUV รุ่นแรกของค่าย แต่หากเป็น SUV รุ่นแรกของค่าย ต้องยกให้กับยานลุยในตำนานอย่างโมเดล LM002 ที่น้อยคนนักจะรู้จัก
History: รถ SUV โมเดลแรกจากค่าย Lambo ใช้ชื่ออย่างเป็นทางการ ‘LM002’ การผลิตอยู่ระหว่างปี 1986-1993 กับจำนวนการผลิตแบบ Hand Made จำกัดอยู่ที่เพียง 328 คัน โดยรถโปรโตไทป์ก่อนการมาของ LM002 จะมีอยู่ 2 โมเดล ได้แก่ LM001 และ Cheetah (ชีตาห์) นอกจากดีไซน์อันแข็งแกร่ง บึกบึน เสมือนยานรบติดเกราะพร้อมออกศึก ความเทพของ LM002 ยังอยู่ที่การใช้เครื่องยนต์จาก Super Car ที่นักซิ่งในสมัยนั้นต่างใฝ่ฝัน ถึงขั้นมีรูปติดอยู่ที่ผนังห้องนอน เรากำลังกล่าวถึง Lamborghini Countach (คูนทาช) รถสปอร์ตที่แตกต่าง กระทั่งได้สร้างคำจัดกัดความใหม่ให้กับรถรูปแบบนี้ ที่ถูกเรียกว่า Super Car
- LM002 คือตำนานยานลุยจากอิตาลี และเป็น SUV โมเดลแรกจากค่าย Lambo
เมื่อกองทัพอเมริกันมี Humvee (1984-ปัจจุบัน) เป็นยานยนต์หลักในกองทัพ อิตาลีก็ใช้ LM002 (1986-1993) เป็นพาหนะในกองทัพไม่แตกต่างกัน เพียงแต่ด้วยเหตุผลเรื่องต้นทุนการผลิต ที่ถอดแบบ know-how มาจากซูเปอร์คาร์ Countach (Tubular steel frame riveted aluminium body panels) ประกอบกับสภาวะเศรษฐกิจในยุคนั้น ส่งผลให้ LM002 ไม่ได้ไปต่อแบบยาวๆ เมื่อเทียบกับ Humvee
- ระบบ AWD ใน Urus รองรับการทำงานในทุกสภาพพื้นผิว ทั้งรูปแบบ on-road และ off-road
LM002 ใช้เครื่องยนต์ V12 NA ขนาดความจุ 5,167 ซี.ซี. ด้วยความโหดของเครื่องยนต์ และความบึกบึนของตัวถัง มันจึงได้รับฉายา Rambo-Lambo จากสื่อยุคนั้น ในปี 1988 ค่าย Lambo จัดหนัก ส่งทีมวิศวกรโม LM002 เข้าสู่สนามแรลลี่สุดหฤโหด ปารีส-ดาการ์ นอกจากอัปเกรดช่วงล่างยกชุด ติดตั้งโรลเคจรอบคัน (Full Roll Cage) ตัวเครื่องยนต์ยังถูกโมถึงระดับ 600 hp กระจกหน้าต่างเปลี่ยนมาใช้ Plexiglas ตามมาตรฐานรถแข่งที่เบากว่า และติดตั้งอุปกรณ์ GPS ซึ่งในยุคนั้นมีเฉพาะรถกองทัพเท่านั้นที่มีโอกาสได้ใช้
- Urus ใช้ช่วงล่างแบบ Adaptive Air Suspension ปรับระยะ Ground clearance หรือความสูงใต้ท้องรถได้ระหว่าง 158-248 มิลลิเมตร
จาก SUV โมเดลแรกของค่าย มาสู่ Super SUV โมเดลแรกของค่าย เหลือเพียงชื่อให้คุยต่อว่า Lambo ก็มีตำนานในเส้นทางสาย off-road เหมือนกัน นั่นเพราะการออกแบบ รวมทั้งเทคโนโลยีเป็นเรื่องราวของรถคนละยุคทั้งหมด และเป็นธรรมเนียมไปแล้ว ที่ชื่อรถทุกโมเดลจาก Lambo จะมีที่มาจากชื่อกระทิงยอดนักสู้ ในแต่ละยุคสมัย (ตามโลโกกระทิงเปลี่ยว) Super SUV นาม Urus ก็ไม่มีข้อยกเว้นเช่นกัน (ภาษาไทย อ่านว่า อูรุส)
ในขั้นตอนการพัฒนา Urus ภารกิจหลักของทีมงานจาก Lambo อยู่ที่เรื่องของดีไซน์ ทั้งตัวถังและภายในห้องโดยสาร จะทำอย่างไรให้ Lamborghini DNA มาแบบครบถ้วน และจัดเต็ม เช่นเดียวกับ Huracan และ Aventador ขณะที่เรื่องเทคโนโลยี เครื่องยนต์ ระบบส่งกำลัง และระบบกันสะเทือน รวมทั้งระบบช่วยเหลือผู้ขับขี่ และระบบความปลอดภัยทุกระบบ Urus จะใช้ร่วมกับพี่น้องร่วมเครือ VW Group ด้วยเทคโนโลยียานยนต์เยอรมันที่สมบูรณ์แบบที่สุดในวันนี้ แบบที่ไม่ต้องไปเสียเวลาในการพัฒนาใหม่
Urus ใช้พื้นฐานโครงสร้าง (Platform) ชื่อ ‘MLBevo’ ร่วมกับ AUDI Q7, Q8, BENTLEY Bentayga, PORSCHE Cayenne (Mk.III) และ VW Touareg (Mk.III) ซึ่งเป็นพื้นฐานโครงสร้างที่ถูกออกแบบมารองรับรถกลุ่ม Luxury SUV ในเครือโดยเฉพาะ แพลตฟอร์มนี้มาพร้อมช่วงล่างแบบ Air Suspension ที่ปรับระดับสูง-ต่ำ และระดับในการตอบสนองได้ตามความเร็วรถอัตโนมัติ สำหรับเครื่องยนต์ V8 Bi-turbo ถูกใช้งานอยู่ทั้งใน Cayenne และ Panamera ฯลฯ เช่นเดียวกับระบบขับเคลื่อน เหล็กกันโคลงไฟฟ้า ระบบช่วยเลี้ยวของล้อหลัง ที่รถกลุ่มนี้จาก VW Group ล้วนมีใช้งานไม่แตกต่างกัน
แม้รถกลุ่ม Mid-size และ Full-size Luxury SUV ทุกรุ่นจาก VW Group จะใช้ ‘ฮาร์ดแวร์’ หรืออุปกรณ์การทำงานพื้นฐานร่วมกัน แต่ในส่วนของ ‘ซอฟต์แวร์’ หรือโปรแกรมที่ใช้ควบคุม ต่างค่ายต่างออกแบบให้เป็นไปตามบุคลิกของตัวเอง ซึ่งให้รูปแบบการทำงานที่แตกต่างกัน มีทั้งที่เน้นความสบายในการเดินทางแบบเต็มพิกัด หรือจะรองรับสมรรถนะการขับขี่แบบสุดขั้ว และแน่นอนว่า Urus แตกต่างจากพี่ๆ น้องๆ Luxury SUV ร่วมเครือ ด้วยฟีลลิ่งและแฮนด์ลิ่งในสไตล์ Lambo
- รูปแบบการดีไซน์ตัวถังถูกเรียกว่า low line coupe styling ดูรับกับการใช้ Frameless Windows หรือบานประตูแบบไร้กรอบกระจก ได้อย่างลงตัว
Body & Design:
Urus มาพร้อมดีไซน์บนตัวถังที่ฉีกตัวออกมาจาก SUV ที่เราคุ้นเคย ให้อารมณ์ประมาณจับตัวถังของ Huracan หรือ Aventador มายกสูง ซึ่งนั่นเป็นการบรรลุเป้าหมายของ Lamborghini DNA รูปแบบการดีไซน์ตัวถังถูกเรียกว่า low line coupe styling ช่วงท้ายของหลังคาเทลาดในสไตล์รถคูเป้ พื้นผิวตัวถังถอดแบบมาจาก Aventador ซึ่งถูกส่งต่อมาจาก Reventon ซูเปอร์คาร์ที่ได้รับแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์มาจากเครื่องบินรบล่องหน ‘Stealth’ ใช้ธีมบนพื้นผิวตัวถังจากรูปทรง ‘หกเหลี่ยม’ จุดขายของดีไซน์ใน Urus จึงไม่ใช้ความโค้งมน หากแต่เป็นมิติจากการเรียงตัวของรูปทรงหกเหลี่ยมมากมาย เป็นงานออกแบบที่ฉีกตัวออกมาจากดีไซน์ของ SUV ทั่วไป อย่างเห็นได้ชัด คมกริบ และบาดตาบาดใจบรรดาสาวก Lambo เป็นที่สุด
ความบึกบึนจาก LM002 ยังมีให้สัมผัสแบบเบาๆ บนบอดี้ของ Urus อารมณ์ที่มาเต็ม คือความโฉบเฉี่ยว และดึงดูดสายตาในสไตล์รถซูเปอร์คาร์ ใช้ระยะโอเวอร์แฮงค์ที่สั้นทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ดีไซน์ของ Urus จึงสื่อสารความแข็งแกร่ง พละกำลัง และการเคลื่อนที่ ตำแหน่งการวางเครื่องยนต์และกระปุกเกียร์อยู่บนเพลาหน้า ค่อนมาทางด้านหลัง เข้าสูตร Front Mid-engine แม้จะดูทรงพลังไม่เท่าซูเปอร์คาร์เครื่องวางกลางลำแท้ๆ แต่สมดุลทางสายตาบนบอดี้ของ Urus ก็ดูลงตัว กับความเป็น Super SUV ในทุกรายละเอียด
ไฟหน้า และไฟท้าย LED ภายในออกแบบด้วยรูปทรง Y-shape อันเป็นซิกเนเจอร์ของ Lambo แนวหลังคาที่ลาดต่ำสไตล์รถสปอร์ต ดูรับอย่างลงตัวกับการใช้ Frameless Windows หรือบานประตูแบบไร้กรอบกระจก เสา C ใช้รูปแบบ glass-on-glass เพื่อลดความหนาของตัวเสา และช่วยเพิ่มความโปร่งโล่งให้กับห้องโดยสาร ในส่วนของรองเท้า Urus ใช้ ล้อ+ยาง แบบต่างขนาด ซึ่งเริ่มต้นที่ 21 นิ้ว ไล่ไปจนถึงระดับ 23 นิ้ว เป็นล้อลาย 6 เหลี่ยม ที่ถูกคู่กับยางแบรนด์อิตาเลียนคู่บุญของ Lambo อย่าง PIRELLI เป็นรุ่น P Zero ขนาด หน้า 285/45R21 (285/35R23) และหลัง 315/40R21 (325/30R23)
- ดีไซน์ห้องโดยสารสไตล์ซูเปอร์คาร์ จะแตกต่างก็ตรง Urus ให้ความสบายในการขับขี่และการโดยสารที่เหนือกว่าแบบเทียบกันไม่ได้
Urus ใช้ระยะฐานล้อถึง 3,003 มิลลิเมตร ส่งผลให้ห้องโดยสารกว้างขวางเต็มพิกัด นั่งโดยสารเดินทางแบบสบายๆ ทั้งเบาะหน้าและเบาะหลัง งานออกแบบห้องโดยสารเป็นอีกหนึ่งผลงานจาก Lamborghini DNA ซึ่งได้รับอิทธิพลทางการออกแบบมาจาก Aventador ดีไซเนอร์เรียกพื้นที่ใช้งานรอบตัวผู้ขับว่า Cockpit ที่ให้ความรู้สึกเดียวกับค็อกพิตของอากาศยาน โดยเฉพาะในส่วนของคอนโซลกลาง ที่ปราศจากแท่งคันเกียร์เหมือนรถยนต์ทั่วไป แทนที่ด้วยแป้นเลือกตำแหน่งเกียร์ ที่ถูกออกแบบและวางตำแหน่งในลักษณะเดียวกับคันเร่งของเครื่องบิน
- จอทัชสกรีนของระบบ LIS (Lamborghini Infotainment System) พัฒนามาจนถึงเจเนอเรชันที่ 3 รองรับในส่วนของการสื่อสาร แสดงรูปแบบการทำงานของระบบขับเคลื่อน และอุปกรณ์เพื่อความบันเทิงทั้งหมด
ถัดจากช่องแอร์กลางคอนโซลหน้าลงมา จะเป็นจอทัชสกรีนของระบบ LIS (Lamborghini Infotainment System III) รองรับในส่วนของการสื่อสาร แสดงรูปแบบการทำงานของระบบขับเคลื่อน และอุปกรณ์เพื่อความบันเทิง เฉพาะในส่วนของเครื่องเสียง ใช้ชุด High-end จาก Bang & Olufsen Sound System กำลังขับ 1700 วัตต์ พร้อมลำโพงรอบห้องโดยสาร รวมซับวูฟเฟอร์ถึง 21 ตัว ถัดจากจอหลักของระบบ ‘LIS III’ ลงมา เป็นจอของระบบปรับอากาศ ทั้งในส่วนของห้องโดยสาร รวมทั้งระบบ Heaters ของตัวเบาะนั่ง โดยจอในส่วนนี้เป็นแบบ hand-writing-compatible screen รองรับการใช้นิ้วมือ เพื่อป้อนข้อมูลในลักษณะตัวอักษรด้วย
- คันบังคับเพื่อเลือกโหมดการขับขี่ที่ Lambo เรียกว่า Tamburo Driving Mode
- คอนโซลเกียร์ เป็นพื้นที่ของระบบขับเคลื่อน
ถัดลงมาอีกเป็นคอนโซลเกียร์ พื้นที่ของระบบขับเคลื่อน อาทิ แป้นเลือกตำแหน่งเกียร์ (P-R-N-D-M) ที่วางครอบทับอยู่บนสวิตช์ start-stop engine ซึ่งโดดเด่นด้วยฝาครอบสีแดง ฝั่งซ้ายเป็น Tamburo Driving Mode หรือส่วนเลือกโหมดการขับขี่ และฝั่งขวาสำหรับเลือกแยกปรับแบบ Individual ของระบบขับเคลื่อน พวงมาลัย และช่วงล่าง
- ใช้ระยะฐานล้อมากถึง 3,003 มิลลิเมตร เบาะหลังจึงมี Legroom มาให้แบบเหลือเฟือ
เบาะนั่งเพียงพอสำหรับการเดินทางแบบ 2+3 ตำแหน่ง เบาะนั่งคู่หน้าปรับไฟฟ้า 12 ทิศทาง และมีปรับแบบ 18 ทิศทาง พร้อมระบบระบายอากาศ และระบบนวดหลัง มาเป็นออปชัน ในส่วนของธีมสีและวัสดุตกแต่งห้องโดยสาร มีให้เลือกทั้งหนังแท้เกรดพรีเมียม หนังอาคันทารา อะลูมิเนียม คาร์บอนไฟเบอร์ และแม้กระทั่งลายไม้ โดยธีมที่ลูกค้าเลือกได้จะรวมถึง สีพรมพื้นห้องโดยสาร สีเข็มขัดนิรภัย และสีของหนังที่ใช้ตกแต่งด้วย
- เครื่องยนต์ V8 Bi-turbo ขนาด 0 ลิตร แรงม้า 650 hp ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 850 Nm ที่ 2,250-4,500 รอบ/นาที
Engine & Transmission:
เครื่องยนต์ V8 บล็อกเดียวกันนี้ใน Cayenne Turbo และ Panamera Turbo ใช้อัตราส่วนกำลังอัด 10.1:1 สร้างพละกำลัง 550 hp ที่ 5,750-6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 770 Nm ที่ 1,960-4,500 รอบ/นาที รอบเครื่องสูงสุดถูกจำกัดไว้ที่ 6,800 รอบ/นาที เมื่อมาประจำการใต้ฝากระโปรงหน้าของ Lambo Urus อัตราส่วนกำลังอัดไม่ได้ระบุ แจ้งแต่เพียงใช้ Bi-turbo ที่เป็นแบบ Twin-scroll เพื่อลดอาการ turbo lag พร้อมอัปเดตซอฟต์แวร์การทำงานของเครื่องยนต์เวอร์ชันใหม่ แรงม้าพุ่งแตะ 650 hp ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 850 Nm ที่ 2,250-4,500 รอบ/นาที โดยที่รอบเครื่องสูงสุดยังถูกคุมไว้ที่ 6,800 รอบ/นาที ไม่เปลี่ยนแปลง
เมื่อทำงานร่วมกับเกียร์อัตโนมัติ 8 สปีด (ZF 8HP) พร้อมระบบ 4WD จะตะกายด้วยล้อทั้งสี่ผ่าน 100 กม./ชม. ด้วยเวลา 3.6 วินาที ผ่านหลัก 200 กม./ชม. เร็วเพียง 12.8 วินาที ความเร็วสูงสุด 305 กม./ชม. อัตราสิ้นเปลือง ในเมือง/เดินทาง/เฉลี่ย อยู่ที่ 6.0/10.0/8.0 กิโลเมตร/ลิตร ตามลำดับ ปิดท้ายด้วยตัวเลข CO2 ระดับ 279 กรัม/กิโลเมตร
Urus ใช้เครื่องยนต์ V8 ปริมาตรประบอกสูบ 3,996 ซี.ซี. ชุดเพลาราวลิ้นบนฝาสูบ ใช้ระบบวาล์วแปรผันที่มาพร้อมฟังก์ชัน ‘Cylinder Deactivation’ นอกจากรับหน้าที่ในส่วนของวาล์วแปรผันแล้ว ยังสามารถตัดการทำงานจาก 8 สูบ มาเหลือเพียง 4 สูบ ขณะรถใช้ความเร็วคงที่ หรือในสภาพโหลดต่ำได้ด้วย
- Urus ตัวโปรโตไทป์พรางตัวถัง วิ่งทดสอบเก็บข้อมูลทั้งในสนามแข่งปิด และบนถนนจริงในทุกภูมิภาคทั่วโลก ก่อนเปิดไลน์การผลิตอย่างเป็นทางการ
สำหรับระบบ Cylinder Deactivation เป็นเทคโนโลยีลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงที่ถูกเพิ่มเข้ามาในเครื่องยนต์ V8 4.0 ลิตร บล็อกนี้ เพื่อลดการทำงานของกระบอกสูบทั้ง 8 สูบ ลงมาเหลือเพียง 4 สูบ ตามสภาพการใช้งาน นั่นหมายความว่า เครื่องยนต์ V8 สามารถตัดการทำงานลงครึ่งหนึ่ง หรือเหลือเพียง V4 ได้ทันทีที่เข้าเงื่อนไขดังต่อไปนี้
เงื่อนไขแรก อุณหภูมิน้ำหล่อเย็นต้องไม่ต่ำกว่า 30 องศาเซสเซียส (ระบบไม่ยอมตัดการทำงาน ขณะเครื่องยนต์เย็น เพราะการสึกหรอสูง) ถัดมา Urus ต้องเคลื่อนที่ด้วยเกียร์ 3 ขึ้นไปเท่านั้น และรอบเครื่องที่ระบบทำงาน จะอยู่ระหว่าง 960-3,500 รอบ/นาที หรือระบบ Cylinder Deactivation จะเน้นการทำงานที่รอบเครื่องยนต์คงที่ เช่น การเดินทางไกลบนไฮเวย์ เป็นต้น
ระบบจะสั่งตัดการทำงานของวาล์วไอดีและไอเสีย (วาล์วปิด) ของกระบอกสูบ 2, 3, 5 และ 8 ผ่านกลไกของระบบวาล์วแปรผัน และระบบจุดระเบิดจะหยุดการจุดประกายไฟจากหัวเทียนของกระบอกสูบดังกล่าวเช่นกัน กระบอกสูบที่เหลือจะมีลำดับการทำงานอยูที่ 1-4-6-7 จากเดิมลำดับการจุดระเบิดแบบครบทั้ง 8 สูบ อยู่ที่ 1-5-4-8-6-3-7-2
ระบบ AWD ใน Urus รองรับการทำงานในทุกสภาพพื้นผิว ทั้งรูปแบบ on-road และ off-road โดยมีชุด Central Differential ทำหน้าที่ในการแจกจ่ายกำลังระหว่างเพลาหน้ากับเพลาหลัง ผ่านขบวนเฟืองแบบ Torsen โดยการจัดสรรกำลังในสภาวะการขับขี่ปกติ ถูกเซตอัตราส่วนไว้ที่ 40:60 และจะแปรผันไปได้ตามสภาพการขับขี่ ล้อคู่หน้ารับไปได้สูงสุด 70% (70:30) ขณะที่ล้อคู่หลังรับไปได้สูงสุด 87% (13:87) การปรับเปลี่ยนระดับในการส่งกำลังระหว่างล้อคู่หน้าและคู่หลังของ Urus จึงสามารถช่วยแก้อาการที่เกิดขึ้นกับรถในโค้งได้ทั้งอันเดอร์สเตียร์ (หน้าแถออกนอกโค้ง) และโอเวอร์สเตียร์ (ท้ายกวาดออกนอกโค้ง)
Rear Differential เป็นอุปกรณ์ที่ถูกเพิ่มเติมขึ้นมานอกเหนือจากเฟืองท้ายปกติ รับหน้าที่สร้างสมดุลในการส่งกำลังระหว่างล้อฝั่งซ้ายและล้อฝั่งขวาของล้อคู่หลัง โดยเฉพาะขณะรถเคลื่อนที่อยู่ในโค้ง ควบคุมการทำงานด้วยไฟฟ้า ระบบอ้างอิงข้อมูลจากเซ็นเซอร์หลายจุด ได้แก่ Steering Angle Sensor (องศาการหักเลี้ยวของพวงมาลัย), Wheel Rotating-speed Sensors (รอบการหมุนของล้อแต่ละล้อ), Redundant Yaw-rate Sensor (ระนาบการเอียงของตัวถัง) และ Acceleration Sensor (อัตราเร่ง) ก่อนที่ทั้งหมดจะส่งข้อมูลให้กับ Control Unit เพื่อประมวลผลเลือกระดับในการจัดสรรกำลังไปยังล้อที่อยู่ด้านนอกโค้งและด้านในโค้งต่อไป
ปิดท้ายด้วย Torque Vectoring ระบบนี้ใช้การคอนโทรลเบรกระหว่างล้อหลังด้านในโค้งและนอกโค้งอย่างอิสระ สร้างสมดุลในการกระจายกำลังของล้อขับเคลื่อน ตามสภาพและรูปแบบโค้งที่แตกต่างกัน ช่วยให้ Urus จิกเข้าโค้งได้อย่างแม่นยำ พร้อมทะยานออกจากโค้งได้อย่างรวดเร็ว
- Urus ใช้ชุด Central Differential ทำหน้าที่ในการจัดสรรกำลัง ระหว่างเพลาหน้ากับเพลาหลัง ผ่านขบวนเฟืองแบบ Torsen ที่ขึ้นชื่อเรื่องความแม่นยำ และผ่านการทดสอบจาก AUDI เพื่อนร่วมเครือ VW Group มาอย่างยาวนาน
Chassis & Suspension:
Urus ใช้ระบบกันสะเทือน Adaptive Air Suspension (แอร์สปริง) หรือกันสะเทือนที่ปรับเปลี่ยนความสูงและรูปแบบในการตอบสนองได้ตามความเร็วรถ โครงสร้างของกันสะเทือนใช้อะลูมิเนียมที่ผลิตจากกกรรมวิธี Forced เป็นพื้นฐานเพื่อลดน้ำหนักใต้สปริง โครงสร้างช่วงล่างจัดวางในรูปแบบ ‘มัลติลิงก์’ ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง การทำงานของช่วงล่างจะถูกควบคุมจากซอฟต์แวร์ Lamborghini Driving Dynamics Control หน้าที่ของระบบนี้ คือ การปรับระดับความสูงของตัวถัง (ผ่านแอร์สปริง) และปรับระดับการตอบสนอง ทั้งนุ่มนวลและหนึบแน่นของช็อคอัพ ให้แปรผันไปตามความเร็วรถ โดยระบบจะเข้าไปคอนโทรลระดับการหน่วงของช็อคอัพ นอกจากนี้ ยังสอดแทรกเข้าไปทำงานขณะรถออกตัวหรือเบรกอย่างรุนแรง และขณะรถเข้าโค้ง เพื่อรักษาสมดุลบนตัวถังให้อยู่ในสภาพปกติด้วย
โหมดการขับขี่ หรือ Tamburo Driving Mode จะเชื่อมโยงการทำงานระหว่าง เครื่องยนต์, เกียร์, ความไวในการทำงานของพวงมาลัย, ระดับการจัดสรรกำลังของระบบขับเคลื่อน AWD, ระดับความสูงและการตอบสนองของช่วงล่าง และเสียงคำรามผ่านปลายท่อไอเสีย โดยแบ่งเป็น 6 โหมด ได้แก่ STRADA สำหรับการขับขี่ทั่วไป เน้นความสบาย / SPORT สำหรับการขับขี่อย่างมั่นคง ให้ความแม่นยำในความเร็วสูง / CORSA สำหรับการขับขี่ที่เน้นสมรรถนะ และให้ความแม่นยำสูงสุด เช่น ในสนามแข่ง / NEVE สำหรับการขับขี่บนถนนที่มีหิมะ / TERRA สำหรับการขับขี่บนเส้นทาง off-road / SABBIA สำหรับการขับขี่บนพื้นทราย
ของเล่นถัดมา เป็นระบบ Active Roll Stabilization เป็นระบบเสริมการทำงานของช่วงล่างทั้งด้านหน้าและด้านหลัง วัตถุประสงค์เพื่อลดอาการโคลงของตัวถังที่สูงของ SUV ขณะรถเข้าโค้ง รวมทั้งขณะเปลี่ยนเลนอย่างฉับพลัน อุปกรณ์หลักของระบบนี้ คือ ‘เหล็กกันโคลง’ จากเดิมทำหน้าที่เพียงลดอาการโคลงของตัวถัง ด้วยค่าความเป็นสปริง (ค่า K) หรือค่าความแข็งที่คงที่
วิศวกรออกแบบเหล็กกันโคลงทั้งแท่งของระบบนี้ ให้สามารถปรับเพิ่มค่าความแข็งได้ จากการใช้ชุด ‘Electromechanical System’ เข้ามาบิดที่กึ่งกลางเส้นเหล็กกันโคลง (เป็นมอเตอร์ไฟฟ้าทำงานด้วยแรงเคลื่อน 48 โวลต์ มาพร้อมชุดเฟืองสุริยะ เพื่อแปรผันระดับการสร้างแรงบิดตามระดับแรง g ที่เกิดขึ้นกับตัวถัง ซึ่งสร้างแรงบิดได้สูงสุดถึง 1,200 Nm) เหล็กกันโคลงจะถูกปรับให้แข็งมากขึ้น เมื่อรถมีอาการโคลงอย่างรุนแรง ในทางกลับกัน ถ้ารถมีอาการโคลงเพียงเล็กน้อย เหล็กกันโคลงก็จะถูกปรับให้มีค่าความแข็งในระดับต่ำลง เป็นต้น
ระบบ Active Roll Stabilization จะตรวจสอบอาการโคลงของตัวถังล่วงหน้า โดยการประมวลผลข้อมูลจากเซ็นเซอร์หลายจุด แล้วสั่งแก้อาการที่เกิดขึ้นแบบทันทีทันใด โดยการปรับความแข็งเป็นไปในลักษณะแปรผัน ซึ่งขั้นตอนการทำงานทั้งหมดของระบบ ใช้เวลาที่มีหน่วยเป็น milliseconds เท่านั้น
ถัดมาเป็นระบบ Rear-wheel Steering ที่ Urus มีใช้งานเช่นเดียวกับซูเปอร์คาร์ Aventador S ใช้แขนกลบังคับเลี้ยวในล้อคู่หลัง เพื่อเสริมการเลี้ยวของล้อหน้า ล้อหลังหักเลี้ยวสูงสุดได้เพียงบวกลบ 3 องศา จะหักเลี้ยวสวนทิศทางการเลี้ยวของล้อหน้าในความเร็วต่ำกว่า 80 กม./ชม. (ลดรัศมีวงเลี้ยว) และหักเลี้ยวทิศทางเดียวกับล้อหน้าในความเร็วสูงกว่า 80 กม./ชม. (รักษาอาการตั้งฉากของหน้ายางกับผิวถนน)
Urus จัดเป็น SUV ขนาดใหญ่ มีน้ำหนักตัวอยู่ที่ 2,197 กิโลกรัม ประกอบกับเครื่องยนต์มาพร้อมพละกำลังมหาศาล ระบบเบรก Lambo จึงจัดชุดใหญ่มาให้พร้อมสรรพจากโรงงาน เป็นดิสก์เบรกพร้อมครีบระบายความร้อนทั้ง 4 ล้อ ในรูปแบบ ‘CCB’ (Carbon Ceramic Brakes) ด้านหน้าใช้จานขนาด 440 x 40 มิลลิเมตร พร้อมคาลิเปอร์แบบ 10 pot ขณะที่คู่หลังใช้ขนาด 370 x 30 มิลลิเมตร กับคาลิปเปอร์ 6 pot ระบบเบรกชุดนี้ใหญ่กว่าซูเปอร์คาร์ทุกโมเดลในไลน์การผลิตของ Lambo
Lamborghini Urus เปิดตัวในไทยอย่างเป็นทางการไปเป็นที่เรียบร้อย ด้วยค่าตัวสูงถึง 23,420,000 ล้านบาท Urus ไม่ได้มาแข่งกับ Luxury SUV ที่มีอยู่เกลื่อนตลาด แต่เป็น Super SUV ที่ออกแบบสมรรถนะมาเพื่อตอบโจทย์คนรักซูเปอร์คาร์ และยังคงปรารถนาความอเนกประสงค์ โดยเฉพาะการเดินทางท่องเที่ยวพร้อมสมาชิกในครอบครัว Urus แรงได้ทั้งบนไฮเวย์ และทางฝุ่น รองรับการเดินทางในทุกพื้นที่ได้แบบไร้ข้อจำกัด ทั้งหมดคือนิยามในการสร้าง Super SUV โมเดลแรกจากค่ายกระทิงเปลี่ยว
เรื่อง พิทักษ์ บุญท้วม / กรังด์ปรีซ์ แมกกาซีน ฉบับมกราคา 2561
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th