Land Rover Series III จากรถทรงงาน สู่กระปุก “ออมเพื่อให้ตามรอยพ่อ”
เกือบครบ 1 ปี นับตั้งแต่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเสด็จสวรรคต ชาวไทยทั่วโลกต่างระลึกถึงพระกรุณาธิคุณของพระองค์ โดยเฉพาะเรื่องราวในอดีตที่พระองค์ทรงออกเยี่ยมพสกนิกรในถิ่นทุรกันดารทั่วทุกภาค ด้วยรถทรงงานจากหน่วยงานราชยานยนต์หลวงจัดถวาย และที่เราเห็นกันบ่อยครั้งจะเป็นรถยนต์ Land Rover Series III หนึ่งในรุ่นที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ใช้ในการทรงงานอยู่เสมอ
ผมยังจำในวัยเด็กของตัวเองได้ขึ้นใจ ว่าในละแวกบ้านจะมีบ้านหลังหนึ่งซึ่งเป็นบ้านของเพื่อนผมเอง พ่อของเขารับราชการทหาร ผมมักเรียกท่านว่า “ลุงจ่า” เป็นประจำและจะมีรถคันใหญ่แปลกตาไม่เหมือนใครจอดอยู่หน้าบ้านทุกวัน… ใช่แล้วมันคือ Land Rover ที่เหมือนกับรถทรงงานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ถูกนำมาใช้ในพระราชกรณียกิจบ่อยครั้ง
จุดเริ่มต้นของ Land Rover เกิดขึ้นเมื่อปี 1948 ภายใต้ร่มเงาของแบรนด์รถยนต์ Rover ในอังกฤษ โดยเป็นแบรนด์ที่เชี่ยวชาญรถยนต์ขับเคลื่อน 4 ล้อเอนกประสงค์ ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นไอคอนของประเทศนี้และเมื่อปี 1951 ยังได้รับการรับรองโดยกษัตริย์จอร์จที่ 6 จนในปัจจุบันดำเนินการภายใต้หน่วยงานธุรกิจ จากัวร์ แลนด์โรเวอร์หรือ JLR โดยมีทาทามอเตอร์สเป็นเจ้าของ
รถยนต์ Land Rover Series III โดดเด่นขึ้นชื่อเรื่องการลุยในเส้นทางธุรกันดารมาก โดยคันที่ถูกนำมาใช้ในพระราชกรณียกิจ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชนั้น เป็นแบบ Long Wheel Base เป็นรุ่นที่ปรับให้ความยาวของฐานล้อเพิ่มมากขึ้นจากปกติ เพื่อให้พื้นที่โดยสารหรือใช้งานมีเพิ่มมากขึ้น มีตัวถังและเครื่องยนต์เดียวกับ Series IIA ไฟหน้าจากเดิมอยู่ตรงตะแกรงหน้า ก็ย้ายมาติดตรงบริเวณปีกข้างด้านหน้า และตะแกรงหน้าจากเดิมเป็นโลหะจาก Series I, II และ IIA ภายหลังถูกเปลี่ยนมาเป็นพลาสติกใน Series III แทน
ขุมพลังเครื่องยนต์ขนาด 2.25 ลิตร เบนซิน เพิ่มกำลังอัดจากเดิม 7:1 เป็น 8:1 ให้พละกำลังสูงสุด 73 แรงม้า ที่ 4,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 161 นิวตันเมตร ที่ 1,500 รอบ/นาที ทำงานคู่กับเกียร์ธรรมดาซินโครเมช 4 สปีด ซึ่งเป็นรุ่นแรกของ Land Rover ช่วยให้การเข้าเกียร์ง่ายขื้น สะดวกขี้น ส่วนภายในยังคงการออกแบบในยุค 70 ห้องโดยสารโปร่งสูงไม่อึดอัด เบาะนั่งแถว 1 และ 2 แบบ Bench Seat ส่วนด้านหลังสุดเป็นแบบหันหน้าเข้าหากัน การตกแต่งภายในไม่หรูหรา แต่เรียบง่าย ปลอดภัย แข็งแรงและใช้วัสดุคุณภาพสูง เหมาะแก่การเน้นใช้งานสมบุกสมบันในเส้นทางออฟโรดเป็นอย่างดี
สำหรับ Series III กับภาพที่เราคุ้นเคยนั้นเกิดขึ้นเมื่อ วันที่ 7 กันยายน 2524 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงงาน ณ บ้านเจาะบากง หมู่3 ตำบลปูโยะ อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส โดยมิได้นัดหมายให้ราษฎรในพื้นที่ทราบล่วงหน้าแต่อย่างใด ซึ่งขณะนั้นชาวบ้านที่มีชาวไทยพุทธ และไทยมุสลิม กำลังทำนาอยู่ในพื้นที่ เมื่อได้ยินเสียงรถยนต์ของตำรวจทางหลวงนำขบวนเสด็จฯ ชาวบ้านในระแวกนั้นจึงวิ่งออกมารับเสด็จฯ ริมถนนเส้นทางเสด็จฯ รวมทั้งนายพร้อม จินนาบุตร ขณะนั้นมีอายุ 47 ปี (เสียชีวิตเมื่อปี 2555 ขณะอายุ78 ปี) ได้นั่งและยกมือกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ พระองค์ทอดพระเนตรลุงพร้อม และทรงรับสั่งให้รถยนต์พระที่นั่งฯหยุด แล้วทรงตรัสถามลุงพร้อมว่า “ที่นี่ที่ไหน” ลุงพร้อมตอบว่า “หมู่บ้านเจาะบากง” และพระองค์ทรงตรัสว่า “หมู่บ้านดังกล่าวไม่มีในแผนที่ มีแต่บ้านโคกกูโน และบ้านโคกกูยิ” ซึ่งหมู่บ้านทั้ง2แห่ง เป็นหมู่บ้านที่มีเขตติดต่อกับบ้านเจาะบากง และในระหว่างนั้นลุงพร้อม จึงได้เสนอขอพระราชทานให้มีการขุดคลองเชื่อมต่อคลองโต๊ะแดง หลังจากนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้เสด็จฯ ลงจากรถยนต์พระที่นั่งฯ แล้วเสด็จพระราชดำเนินไปที่สะพานไม้พร้อมกับลุงพร้อม เพื่อทอดพระเนตรสภาพพื้นที่ดังกล่าว ดังภาพที่ปรากฏในภาพพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ขณะประทับอยู่บนสะพานกับลุงพร้อม และเอนพระวรกายข้างรถยนต์พระที่นั่ง Land Rover Series 3 “ร.ย.ล. 111” ซึ่งในปัจจุบันเปลี่ยนเป็นทะเบียน ร.ย.ล.244 และถูกเก็บรักษาใน นิทรรศการ พระราชยานพาหนะ ในการเสด็จฯ เยี่ยมราษฎร พระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม
นอกจากนี้ โรงพยาบาลศิริราชปิยมหาราชการุณย์ ได้เปิดตัวกระปุกออมสินที่ระลึกอุปกรณ์ทรงงานของในหลวงรัชกาลที่ 9 ในโครงการ “ออมเพื่อให้ตามรอยพ่อ” ปลูกฝังวินัยทางการเงินที่ควรได้รับรณรงค์ให้เป็นพื้นฐานของทุกคนอย่างต่อเนื่อง กระปุกออมสิน #ออมเพื่อให้ตามรอยพ่อ คอลเลคชั่นพิเศษถือเป็นสัญลักษณ์การออม ที่เป็นของที่ระลึกแห่งความทรงจำเพื่อระลึกถึงพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในรูปแบบจำลองอุปกรณ์และของทรงงาน 3 แบบ คือกล้องถ่ายรูป วิทยุสื่อสาร และพระราชพาหนะทรงงาน
โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อรำลึกถึงพระราชจริยวัตรและพระราชกรณียกิจของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงเป็นแบบอย่างในการออมตั้งแต่ทรงพระเยาว์ และได้พระราชทานปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงแก่ประชาชนเพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต และได้ปลูกฝังให้ประชาชนรู้จักการออมและการใช้จ่ายเงินอย่างพอเพียง เมื่ออยู่อย่างพอเพียงก็สามารถเป็น “ผู้ให้” คืนกลับสู่สังคมและประเทศชาติได้ และสุดท้ายเพื่อสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่ทรงพระราชทานนามอาคารโรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ หนึ่งในโครงการพัฒนาศิริราชสู่การเป็นสถาบันทางการแพทย์ชั้นเลิศในระดับเอเชียอาคเนย์ ด้วยรูปแบบการบริหารจัดการพิเศษเพื่อให้มีรายได้ที่สามารถเลี้ยงตัวเองได้อย่างยั่งยืน และนำรายได้กลับคืนสู่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลต่อไป
ผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการออมเพื่อให้ตามรอยพ่อ สามารถทำตามขั้นตอนการร่วมกิจกรรมรับกระปุกที่ระลึกได้ ดังนี้
ส่วนผู้ที่ไม่สามารถเดินทางมาร่วมแลกกระปุกได้ด้วยตัวเอง สามารถลงทะเบียน โอนเงินออมบริจาคเพื่อรับกระปุกสัญลักษณ์อุปกรณ์ทรงงานทั้ง 3 แบบ ดังนี้
สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ : www.savingforgiving.com
เรื่อง : ธราภณ วชิระธรกุล
ภาพและข้อมูลบางส่วน :
– ภาพและข้อมูลกระปุกออมสิน www.savingforgiving.com
– ภาพและข้อมูลพระราชกรณียกิจ บ้านเจาะบากง www.sator4u.com
– ภาพบางส่วน www.sator4u.com
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานต์ยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th