ลุยจริง! เลอะจริง! New Land Rover Defender ขับทดสอบครั้งแรกในเมืองไทย
การขับทดสอบครั้งแรกของ New Land Rover Defender ในประเทศไทย บนเส้นทางจำลองสุดโหดของสนามทดสอบกรมการขนส่งทหารบก จังหวัดกาญจนบุรี เพื่อสัมผัสสมรรถนะของตำนานรถอเนกประสงค์ที่กลับมาอีกครั้งในศตวรรษที่ 21
3 ปีหลังจาก Land Rover ค่ายรถยนต์เก่าแก่ของเกาะอังกฤษยุติการผลิตรถเอสยูวีที่เป็นสัญลักษณ์แห่งการผจญภัย New Defender ที่ได้รับการตีความใหม่เพื่อเป็นยานพาหนะของผู้คนในศตวรรษที่ 21 เผยโฉมสู่สายตาชาวโลกเป็นครั้งแรกในงานแฟร้งค์เฟิร์ต มอเตอร์โชว์ 2019
รู้จัก Land Rover Defender เจเนอเรชั่นที่ 3
New Land Rover Defender ถูกสร้างขึ้นเพื่อผู้ที่มีใจรักในการผจญภัย ชอบเสาะหาประสบการณ์ใหม่ และมุ่งมั่นที่จะสร้างความแตกต่าง โดยเลือกใช้ภาษาในการออกแบบที่เป็นเอกลักษณ์บนตัวถังของเจเนอเรชั่นใหม่ แสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่งดุดัน พร้อมกำหนดแนวทางดีไซน์เพื่อนำเสนอความตื่นเต้น ด้วยชื่อของรถยนต์ที่เป็นสัญลักษณ์, รูปทรง และสมรรถนะที่ยอดเยี่ยม
เจเนอเรชั่นที่ 3 ของ Defender ถูกปรับเปลี่ยนให้ตรงกับบุคลิกของผู้ครอบครอง เพื่อใช้งานอย่างเต็มประสิทธิภาพในโลกส่วนตัวของพวกเขา มีการเพิ่มเทคโนโลยีที่มีความทันสมัย รวมทั้งระบบความปลอดภัยเพื่อการเดินทางของทุกคนในครอบครัวที่เหนือกว่ารถระดับเดียวกัน
เส้นสาย และแสงเงาของ New Defender ที่ใช้รหัสตัวถัง L663 ถูกออกแบบเพื่อให้ผู้คนที่พบเห็นสามารถจดจำได้ทันที ความยาวบริเวณฝากระโปรงด้านหน้า และตัวถังด้านท้ายที่มีขนาดสั้นทำให้องศาของมุมเงย (Approach Angle) และมุมจาก (Departure Angle) เหมาะสมในการขับแบบสมบุกสมบัน ทีมดีไซน์ Land Rover พยายามปรับให้เป็นรถเพื่อคนในศตวรรษที่ 21 แต่ยังคงเป็นรถขับเคลื่อน 4×4 รูปทรงสี่เหลี่ยม และติดตั้งกระจกแบบ Alpine Light บนหลังคา โดยประตูท้ายเปิดด้านข้างติดตั้งที่เก็บยางอะไหล่เป็นการรักษาเอกลักษณ์ดั้งเดิมไว้อย่างครบถ้วน
1 ในส่วนสำคัญของความแข็งแกร่งคือการใช้แพล็ตฟอร์มใหม่ D7x (X-หมายถึง Extreme) ใช้วัสดุน้ำหนักเบา Llightweight Aluminium Monocoque ทำให้โครงสร้างตัวถังมีความแข็งแกร่งที่สุดในบรรดารถยนต์ที่ Land Rover เคยผลิตออกขายหรือมากกว่า 3 เท่าหากเทียบกับเอสยูวีแบบเก่าที่ดีไซน์แบบ Body-on-frame รวมทั้งเพิ่มทางเลือกในการออกแบบระบบช่วงล่างสามารถติดตั้งแบบถุงลมหรือคอยล์สปริงต์ เพื่อรองรับระบบขับเคลื่อนพลังงานไฟฟ้าที่จะเปิดตัวตามมาในอนาคต
เทคโนโลยีระบบขับเคลื่อนของ New Defender ก้าวสู่อีกระดับ โดยระบบขับเคลื่อนสี่ล้อ Permanent All-wheel Drive จะมาพร้อมระบบเฟืองท้าย Active Locking Rear Differential เพื่อความมั่นใจว่าจะสามารถขับลุยทุกสภาพพื้นผิวตั้งแต่ทะเลทรายพื้นผิวอ่อนนุ่ม, ทุ่งน้ำแข็งในแถบขั้วโลก หรือทุกสถานการณ์ที่รถยนต์จะสามารถเผชิญบนโลกใบนี้
นอกจากนี้ยังเป็นครั้งแรกที่ Land Rover ติดตั้งระบบควบคุม Configurable Terrain Response เพื่อให้คนขับสามารถเซ็ตค่าของ New Defender ตามความต้องการเพื่อให้เหมาะสมที่สุดกับสภาพเส้นทางที่กำลังเผชิญอยู่ แต่หากมีประสบการณ์น้อยในการขับสไตล์ Off Road สามารถปล่อยให้ระบบเลือกรูปแบบการขับขี่ที่เหมาะสมโดยอัตโนมัติ
โครงสร้างตัวถังใหม่ของ New Defender ทำให้มีระยะความสูงจากพื้น-ใต้ท้องรถ 291 มิลลิเมตร สามารถลุยน้ำลึกได้สูงสุด 90 เซนติเมตร พร้อมการสนับสนุนของระบบควบคุม Terrain Response 2 เพิ่มความมั่นใจให้คนขับ และหากเป็นการขับบนถนนปกติจะมีเทคโนโลยีใหม่ ClearSight Ground View เพื่อให้มองเห็นมุมอับที่ถูกบดบังจากฝากระโปรงหน้าด้วยการแสดงภาพผ่านหน้าจอบริเวณคอนโซลกลาง
การกลับมาครั้งนี้ New Defender ยังคงรักษาเอกลักษณ์จากเจเนอเรชั่นแรก มีให้เลือกทั้งรุ่นฐานล้อสั้น 3 ประตู (Defender 90) และรุ่นฐานล้อยาว 5 ประตู (Defender 110) โดยมีการปรับเปลี่ยนจากเดิมคนนั่งเหมือนถูกเบาะโอบล้อมจนมองไม่เห็นวิวข้างนอกให้มีความรู้สึกปลอดโปร่ง การตบแต่งที่เรียบง่าย และติดตั้งอุปกรณ์ที่จำเป็นต่อการใช้งานเท่านั้น รวมทั้งเปลี่ยนตำแหน่งเกียร์ขึ้นมารวมกับแผงควบคุมระบบปรับอากาศ เพิ่มพื้นที่ว่างให้เลือกติดเบาะนั่งตรงกลาง Jump Seat นั่งเรียงแถวด้านหน้า 3 คน (รวมคนขับ) เหมือนกับ Land Rover ยุคแรก โดยสามารถพับเบาะเสริมนี้ลงมาเพื่อใช้วางของได้แทนอีกด้วย
สำหรับประเทศไทยตามกำหนดเดิมอินช์เคป บริษัทผู้นำเข้า-ตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการ วางแผนให้เป็นไฮไลต์ประจำงานบางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 41 แต่วิกฤตไวรัสโควิด-19 คุกคามทั้งประเทศอังกฤษฐานการผลิตของ Land Rover และคนไทยต้องเก็บตัวอยู่บ้านทำให้การจัดงานต้องเลื่อนมาเป็นวันที่ 15-26 กรกฎาคมนี้ ส่งผลให้การเปิดตัว New Defender มาอยู่ในวันสุดท้ายของเดือนมิถุนายนแทน
แต่ถึงจะดีเลย์สาวก Land Rover ชาวไทยสามารถเลือก New Defender ในแบบที่ตัวเองต้องการทั้งรุ่น 90 ในราคาเริ่มต้น 5,400,000 บาท และรุ่น 110 ราคาเริ่มต้น 5,800,000 บาท ขุมกำลังจะมีทั้งเครื่องยนต์ดีเซล Ingenium เทอร์โบคู่ 2.0 ลิตร 200 แรงม้า และ 240 แรงม้า สามารถสร้างแรงบิดสูงสุด 430 นิวตันเมตรที่ 1,400 รอบ/นาที หรือจะเป็นเครื่องยนต์เบนซิน 2.0 ลิตรให้กำลังสูงสุด 300 แรงม้า และเบนซิน 3.0 ลิตร ให้กำลังสูงสุด 400 แรงม้า โดยทุกตัวเลือกจะทำงานร่วมกับเกียร์อัตโนมัติ 8 สปีดของ ZF ผู้ผลิตชื่อดังจากเยอรมัน
สัมผัสความเป็นตำนานของ New Defender
สำหรับการทดสอบของนักข่าวไทยเกิดขึ้นเมื่อราว 2 สัปดาห์ก่อน โดยเป็น New Defender 110 เครื่องยนต์ดีเซลเทอร์โบคู่ Ingenium 2.0 ลิตร ตัวท็อป 240 แรงม้า พร้อมนำ 3 โมเดลร่วมแบรนด์ Evoque, Range Rover และ Range Rover Sport มาให้ลองขับในสนามทดสอบของกรมการขนส่งทหารบก จังหวัดกาญจนบุรี เพื่อเปรียบเทียบความแตกต่าง
คงต้องบอกว่าโชคดีของผู้เขียนที่เริ่มการทดสอบครั้งนี้กับน้องเล็กสุด Evoque คอมแพ็กต์เอสยูวียอดนิยม ไล่มาสู่ความหรูหราของ Range Rover ที่ขับก็สบายนั่งก็ให้ความรู้สึกเหมือนกำลังขึ้นเครื่องบินชั้นเฟิร์สตคลาส และมาสัมผัสความแรงลูกผสมระหว่างเครื่องยนต์กับกำลังไฟฟ้าของ Range Rover Sport ก่อนจะได้ลองขับพระเอกของงานนี้ New Land Rover Defender เอสยูวีที่คนทั่วโลกยกย่องให้เป็นตำนานแห่งการผจญภัย
เริ่มต้นด่านแรกเป็นการขับขึ้นทางลาดชันที่จะไล่ระดับตั้งแต่ 10-60 เปอร์เซ็นต์ (ของมุม 45 องศา) โดย New Defender จะขึ้นจากทางลาดชันระดับ 45 เปอร์เซ็นต์ เพื่อให้ลอง Hill Launch Assist ระบบช่วยออกตัวบนทางลาดชัน และ Hill Descent Control (HDC) ระบบควบคุมความเร็วรถขณะลงทางลาดชันว่าสามารถทำงานในทุกระดับความสูง รวมทั้งเทคโนโลยีใหม่ ClearSight Ground View การจำลองภาพรอบคันสู่หน้าจอบริเวณคอนโซลกลางเพื่อช่วยให้คนขับมองเห็นมุมอับที่ถูกบดบังจากฝากระโปรงหน้า โดยสามารถเรียกดูตำแหน่งของล้อเพื่อช่วยให้ง่ายต่อการควบคุม
ก่อนจะเข้าสู่บททดสอบที่โหดขึ้นเพื่อสัมผัสความล้ำสมัยของระบบควบคุมรูปแบบการขับขี่ Terrain Response 2 สามารถปรับให้เหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศไล่จากการถนนปกติ (General Driving), พื้นหญ้า-กรวด-หิมะ (Grass, Gravel, Snow), โคลน-แอ่งโคลน (Mud & Ruts), ทราย (Sand), ไต่หน้าผาหิน (Rock Crawl) และใหม่ล่าสุด Wading หรือแปลตรงๆ คือการขับลุยน้ำท่วมสูง
แต่วันนี้ไม่ได้ขับลุยครบทุกรูปแบบ ทีมงานของอินช์เคป จำลองพื้นที่ทดสอบ 2 รูปแบบเท่านั้น เริ่มต้นจากการขับฝ่าแอ่งโคลนที่ให้บรรยากาศเหมือนคุณกำลังขับลุยหนองน้ำในแอฟริกา เพื่อลองใช้ระบบควบคุมใหม่ All Terrain Progress Control (ATPC) ที่จะช่วยรักษาระดับความเร็วของ New Defender ให้มีความสม่ำเสมอในสภาพพื้นผิวที่มีความลื่นสูง การทำงานเหมือนระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติ Cruise Control ที่ใช้กันมานานหลาย 10 ปี เพียงแต่จะรักษาระดับความเร็วไว้ที่ 1.8-30 กม./ชม. โดยไม่ต้องแตะคันเร่ง เพื่อให้คนขับใช้สมาธิควบคุมพวงมาลัยอย่างเต็มที่
เข้าสู่ช่วงไฮไลต์สำคัญของการทดสอบวันนี้—Wading การนำ New Defender ลุยฝ่าน้ำท่วมที่ระดับความสูง 60 เซนติเมตร เพื่อดูการทำงานของระบบเซ็นเซอร์อัลตร้าโซนิกตรวจจับระดับความสูงของน้ำแสดงเป็นภาพจำลองผ่านหน้าจอกลาง และภาพรอบคันแบบ 3 มิติ แถมยังได้ระบบ ATPC เข้ามาช่วยควบคุมความเร็วอีก เรียกว่าขับลุยแบบไม่ต้องลุ้นอะไรเลย และที่สำคัญ Land Rover รับประกันว่าเอสยูวีรุ่นนี้ลุยน้ำท่วมได้สูงสุด 90 เซนติเมตร
พอขึ้นจากแอ่งน้ำจำลองเป็นการขับบนพื้นผิวที่ทำเป็นลูกระนาดยาวต่อเนื่องเพื่อให้เข้าใจความแตกต่างระบบช่วงล่างของ New Defender สามารถช่วยลดแรงกระแทกในห้องโดยสาร และไหลต่อเนื่องด้วยความเร็วต่ำ (Walking Speed) โดยไม่ต้องเหยียบคันเร่งช่วย ก่อนจะปิดท้ายด้วยการลองอัตราเร่งเครื่องยนต์ Ingenium 240 แรงม้า ในลานกว้างแบบพอให้รับรู้ถึงความสนุกหากต้องนำมาใช้งานในชีวิตประจำวันในเมือง
การทดสอบครั้งนี้อาจจะมีเวลาอยู่หลังพวงมาลัยของ New Land Rover Defender เพียงไม่กี่นาที และเป็นการขับในสนามทดสอบ แต่เส้นทางจำลองที่ถูกสร้างขึ้นมากพอจะทำให้รับรู้ถึงสมรรถนะของเอสยูวีรุ่นนี้ว่าสามารถพาผู้ที่เป็นเจ้าของออกไปผจญภัยในทุกสภาพภูมิประเทศสมกับที่ถูกยกย่องให้เป็นตำนานของพวกสายลุยมาตลอดระยะเวลากว่า 7 ทศวรรษ
เรื่อง: พูนทวี สุวัตถิกุล
ขอบคุณข้อมูล: อินช์เคป (ประเทศไทย)
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th