ปอร์เช่เผยกลยุทธ์คว้าชัย Le Mans 24 ชั่วโมง
ปอร์เช่มีกำหนดเข้าร่วมลงแข่งขันรถยนต์ทางเรียบ รายการ Le Mans 24 ชั่วโมง ในวันที่ 18 และ 19 มิถุนายนนี้ นับเป็นการลงสนามฤดูกาลที่ 3 ของรถแข่งปอร์เช่ 919 ไฮบริด (919 Hybrid) เพื่อป้องกันตำแหน่งแชมป์ในรายการ Le Mans และ FIA World Endurance Championship (WEC) ซึ่งถือได้ว่าเป็นการแข่งขันที่มีชื่อเสียงมายาวนาน รวมทั้งมีความสำคัญที่สุดรายการหนึ่ง จากเกียรติประวัติการคว้าชัยชนะในรายการนี้ทั้งหมดถึง 17 ครั้ง ปอร์เช่จะยังคงทำหน้าที่จารึกสถิติเพิ่มเติมไว้ที่สนาม Circuit de la Sarth แห่งนี้ ทั้งในฐานะตำแหน่งผู้นำประเภทโรงงานผู้ผลิตและประเภทนักแข่ง สำหรับการชิงแชมป์ประจำฤดูกาล 2016
แน่นอนว่าย่อมต้องมีแรงกดดันมหาศาลเกิดขึ้น ก่อนการแข่งขันเริ่มต้น เพื่อเป็นการรับมือสถานการณ์แบบนี้ กลยุทธ์ที่จะใช้ในการแข่งขันจึงได้ถูกกำหนดขึ้นจากการควบคุมที่เข้มงวดที่สุด โดยทีมงานปอร์เช่ทุกคน ไม่เพียงบรรดานักแข่งของทีมซึ่งประกอบไปด้วย Timo Bernhard (DE) Brendon Hartley (NZ) และ Mark Webber (AU) ในรถแข่งหมายเลข 1 รวมทั้ง Romain Dumas (FR) Neel Jani (CH) และ Marc Lieb (DE) ในรถแข่งหมายเลข 2 เท่านั้นที่จะต้องปฎิบัติตามแผนอันซับซ้อน แต่ทีมงานยังต้องคิดคำนวณเพื่อรองรับองค์ประกอบอื่นๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อการแข่งขันอีกด้วย
ผู้รับบทบาทสำคัญ:
Andreas Seidi หัวหน้าทีมแข่งปอร์เช่ชาวเยอรมัน ผู้ได้รับสมญานามเจ้าแห่งกลยุทธ์ ทำงานร่วมกับ Chief Race Engineer Stephen Mitas (AU) Strategy Engineer Pascal Zurlinden (FR) Vehicle Race Engineer Kyle Wilson-Clarke (GB,รถแข่งหมายเลข 1) และ Jeromy Moore (AU, รถแข่งหมายเลข 2) ทั้งหมดนี้รับบทบาทสำคัญในการกำหนดแผนการแข่งที่เหมาะสมที่สุด ด้วยลักษณะเดียวกับการวางกลยุทธ์ตามสถานการณ์ของเกมหมากรุก อย่างไรก็ตาม เมื่อรถแข่งออกตัวจากจุดสตาร์ทไปแล้ว ย่อมเป็นการยากที่จะคาดการณ์ในสิ่งที่เกิดขึ้น คำตอบของคำถามทั้งหมดเพื่อเอาชนะการแข่งขันนั้น ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจที่ถูกต้องในแต่ละสภาวการณ์ที่ต้องเผชิญ
ปัจจัยที่ 1: การเติมน้ำมันเชื้อเพลิง
ข้อจำกัดแรกที่ต้องคำนึงถึงในการกำหนดกลยุทธ์เพื่อการแข่งขัน คือระยะทางที่รถแข่งเสียไปในการหยุดเพื่อเติมน้ำมันเชื้อเพลิงแต่ละครั้ง หลังจากที่ทาง WEC ได้ออกกฎข้อบังคับกำหนดค่าอัตราการบริโภคน้ำมันเชื้อเพลิง รวมทั้งอัตราการใช้พลังงานไฟฟ้าสูงสุดต่อรอบสนามแข่งขัน ทำให้ทีมงานสามารถคำนวณระยะเวลาที่แน่นอนในการหยุดเพื่อเติมน้ำมันเชื้อเพลิงได้ ซึ่งรวมไปถึงระยะเวลาของคู่แข่งขันคันอื่นเช่นกัน โดยระยะทางต่อรอบสนาม 13.629 กิโลเมตร ของรายการ Le Mans นั้น รถแข่งปอร์เช่ 919 ไฮบริด (919 Hybrid) สามารถวิ่งได้สูงสุดถึง 14 รอบ ต่อการเติมน้ำมันเชื้อเพลิงเต็มถัง 62.5 ลิตร
แต่ในระหว่างการแข่งขันตลอดเวลากว่า 24 ชั่วโมง การวิ่งให้ครบระยะทาง 14 รอบสนามนั้นแทบจะไม่มีทางเป็นไปได้ ทีมแข่งจึงต้องเน้นไปที่วัตถุประสงค์หลักคือการกำหนดแผนการให้รถแข่งวิ่งเข้าเส้นชัยด้วยการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงจนถึงหยดสุดท้าย เนื่องจากการเหลือปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงในถังน้อยลงเท่าไหร่ ย่อมหมายถึงน้ำหนักรวมของตัวรถแข่งที่น้อยลง และในทางกลับกันรถแข่งจะสามารถวิ่งได้ด้วยความเร็วที่มากขึ้นนั่นเอง นี่คือสาเหตุที่ในบางครั้งทีมงานจะทำการเติมน้ำมันเชื้อเพลิงไม่เต็มถัง โดยปริมาณน้ำมันที่เหมาะสมที่สุดจะต้องผ่านการคำนวณด้วยความแม่นยำอย่างสูง ในกรณีที่การแข่งขันดำเนินไปจนจบโดยปราศจากเหตุการณ์ไม่ปกติใดๆ รถแข่งจะสามารถวิ่งถึงจุดหมายได้ด้วยน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีอยู่ในถัง แต่ถึงอย่างไร แค่เพียงการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศหรือองค์ประกอบเล็กน้อยก็ตาม อาจส่งผลกระทบต่ออัตราการบริโภคน้ำมันเชื้อเพลิงได้ ตัวอย่างเช่น การเปลี่ยนยางเพื่อวิ่งบนถนนเปียก (rain tyres) เหตุการณ์ดังกล่าวต้องได้รับการตัดสินใจที่รวดเร็วในเสี้ยววินาที จากการอาศัยข้อมูลสนับสนุนของโปรแกรมจำลองสถานการณ์ ซึ่งได้รับการถ่ายทอดมาจาก Zurlinden ผู้รับหน้าที่ Strategy Engineer โดยการประมวลผลข้อมูลทั้งจากรถแข่งปอร์เช่เองและการสังเกตการณ์รถของคู่แข่งทีมอื่นๆ รวมถึงการคาดเดาสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป
ปัจจัยที่ 2: การเปลี่ยนยาง
ตัวแปรพื้นฐานสำคัญลำดับที่ 2 ในการนำมาใช้ประกอบการวางแผนกลยุทธ์สำหรับเอาชนะการแข่งขัน คือกราฟแสดงสมรรถนะของยางรถยนต์ ซึ่งเป็นหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงของวิศวกรผู้มีความเชี่ยวชาญจาก Michelin การสึกหรอของยางนั้น ส่งผลโดยตรงกับระยะเวลาต่อรอบสนาม ที่รถแข่งสามารถทำได้ ทั้งนี้การเสื่อมสภาพของยางจะได้รับการนำมาคิดคำนวณเพื่อเปรียบเทียบกับระยะเวลาที่สูญเสียไปในขณะหยุดเข้าพิทเพื่อทำการเปลี่ยนยาง ประสิทธิภาพในการยึดเกาะพื้นถนนของยางนั้นไม่ได้ลดลงในลักษณะคงที่ตลอดเวลา ในบางครั้งยางอาจสูญเสียการยึดเกาะด้วยการวิ่งเพียงไม่กี่รอบสนาม แต่หลังจากนั้นสมรรถนะของยางอาจจะกลับมาดีขึ้นอีกครั้ง เนื่องจากน้ำหนักรวมของรถแข่งที่เบาลงตามระยะทางที่ผ่านไปทุกรอบสนาม ทั้งหมดที่กล่าวมาล้วนแล้วแต่ส่งผลกระทบกับอายุการใช้งานของยาง
Andreas Seidi ให้ความเห็นว่า “ในการแข่งขัน Le Mans ฤดูกาล 2015 ที่ผ่านมา รถแข่งปอร์เช่สามารถวิ่งได้ระยะทางมากที่สุด 54 รอบสนามด้วยยาง 1 ชุด นั่นหมายความว่า เราจะต้องเติมน้ำมันเชื้อเพลิงถึง 3 ครั้งโดยที่ไม่มีการเปลี่ยนยาง ดังนั้นประสิทธิภาพการยึดเกาะถนนของยางจึงมีโอกาสเปลี่ยนแปลงขึ้นลงอยู่ตลอด ตั้งแต่ดีที่สุดจนถึงแย่ที่สุด ขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงในถังนั่นเอง โดยผลกระทบจากยางทำให้สูญเสียเวลาต่อรอบเพิ่มขึ้นประมาณ 1.6 วินาที จะเห็นได้ว่าเพียงความแตกต่างของน้ำหนัก 44 กิโลกรัมจากน้ำมันเต็มถังนั้น ส่งผลให้เราช้าลงเกือบ 2 วินาทีต่อรอบสนาม”
ความเร็วของรถแข่งที่วิ่งอยู่ในสนามและระยะเวลาที่ต้องหยุดเพื่อเข้าพิท มีผลอย่างมหาศาลต่อระยะทางที่รถแข่งสามารถทำได้ตลอดการแข่งขันอันดุเดือดทั้ง 24 ชั่วโมง ในฤดูกาล 2015 ทีมปอร์เช่ซึ่งคว้าชัยชนะในการแข่งขัน ต้องเติมน้ำมันเชื้อเพลิงทั้งหมด 30 ครั้งต่อรถหนึ่งคัน เมื่อรวมเวลาเข้าและออกจากพิทแล้ว ระยะเวลารวดเร็วที่สุดอยู่ที่ 51.3 วินาที สำหรับระยะเวลาที่รวดเร็วที่สุดในการเปลี่ยนตำแหน่งผู้ขับขี่พร้อมด้วยการเปลี่ยนยางอยู่ที่ 1:13.9 นาที ทั้งนี้นักแข่งจะต้องขับรถแข่งจนกระทั่งถึงจุดที่ต้องเปลี่ยนยาง การหยุดเข้าพิทเพียงเพื่อเปลี่ยนตัวนักแข่งนั้นถือเป็นการสูญเสียเวลาโดยไม่จำเป็น คำถามก็คือนักแข่งจะสามารถขับรถแข่งได้นานแค่ไหนโดยที่ไม่กระทบต่อความเร็วที่ทำได้?
ปัจจัยที่ 3: นักแข่ง
Andreas Seidi เผยว่า “นักแข่งทุกคนมีสภาพร่างกายที่สมบูรณ์ เปี่ยมไปด้วยความเป็นมืออาชีพ และมีความสามารถในการบังคับควบคุมรถแข่งได้อย่างเต็มประสิทธิภาพตลอด 54 รอบสนามแม้ในเวลากลางคืน อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องจับตามองไปที่ระยะเวลาที่นักแข่งอยู่กับตัวรถ กฎข้อบังคับของการแข่งขันกำหนดระยะเวลาสูงสุดและต่ำสุดที่นักแข่งแต่ละคนจะสามารถขับรถแข่งของตนเองได้ ในการแข่งขัน Le Mans นักแข่งแต่ละคนจะต้องใช้เวลาในการขับรถอย่างน้อยที่สุด 6 ชั่วโมง แต่จะต้องขับต่อเนืองไม่เกิน 4 ชั่วโมงเท่านั้น ส่วนระยะเวลาสูงสุดอนุญาติไว้ที่ 14 ชั่วโมงตลอดการแข่งขัน โดยปกติแล้วมักจะไม่เกิดปัญหาอะไรสำหรับนักแข่ง แต่ในกรณีสุดวิสัยอย่างเช่น นักแข่งเกิดอาการปวดท้องกะทันหัน แผนการรับมือที่ถูกกำหนดไว้ล่วงหน้าจะถูกนำมาใช้เพื่อปรับแก้สถานการณ์ ทีมงานพยายามให้นักแข่งทุกคนรวมทั้งบรรดาทีมงานได้มีเวลาหยุดพักที่เหมาะสมจนกระทั่งจบการแข่งขันเท่าที่โอกาสจะเอื้ออำนวยด้วยเช่นกัน”
หัวหน้าทีมแข่งวิศวกร รวมทั้งนักแข่งทุกคน ต่างมีส่วนในการตัดสินใจว่าเมื่อใดควรจะส่งนักแข่งคนไหนเข้าประจำการในตำแหน่งหลังพวงมาลัย ซึ่งแน่นอนว่าย่อมมีหลายครั้งที่ความคิดเห็นไม่ตรงกัน ทีมงานจำเป็นต้องหาข้อยุติอย่างประนีประนอม เนื่องจากในการแข่งขันล้วนเต็มไปด้วยข้อจำกัดนานับประการก่อให้เกิดภาระหน้าที่และแรงกดดันมากมายที่ต้องกระทำให้บรรลุจนกว่ารถแข่งจะวิ่งผ่านเส้นชัย Seidi กล่าวต่อไปอีกว่า “เราพยายามวางแผนให้ทีมงานทุกคนรับหน้าที่อย่างเท่าเทียมกันที่สุด ภาวะของอารมณ์ที่ตึงเครียดจะส่งผลต่อประสิทธิภาพการปฎิบัติงาน”
ปัจจัยที่ 4: อุบัติเหตุ
ในการแข่งขันที่เต็มไปด้วยเหตุการณ์อันคาดไม่ถึง โปรแกรมจำลองสถานการณ์ได้รับการนำมาใช้เพื่อช่วยในการคาดการณ์และรับมือสภาวะที่อาจเกิดขึ้นได้ ทีมงานทุกคนล้วนหวังว่าการแข่งขันจะสามารถดำเนินต่อไปโดยไม่มีอุปสรรคใด แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ข้อมูลอันมีค่าที่ได้รับจากการคำนวณด้วยคอมพิวเตอร์จะถูกจัดเตรียมไว้เพื่อจัดการกับสิ่งที่อยู่นอกเหนือการคาดเดา ตัวอย่างเช่น เมื่อรถ safety car ออกวิ่ง ทีมงานควรจะใช้โอกาสนี้ในการนำรถแข่งกลับเข้าพิทเพื่อซ่อมบำรุงหรือไม่? โปรแกรมคอมพิวเตอร์จะทำการประมวลผลเพื่อลำดับสถานการณ์ต่างๆ ที่เป็นไปได้ในกรณีนำรถแข่งกลับเข้าพิท หากรถแข่งเกิดการปะทะกับรถคันอื่น แรงดันลมยางและอากาศพลศาสตร์ของตัวรถจะถูกตรวจสอบอย่างทันทีทันใด นักแข่งจะรายงานสิ่งที่เกิดขึ้นทางวิทยุสื่อสาร เพื่อให้ทีมวิศวกรรับทราบถึงชิ้นส่วนที่ได้รับความเสียหาย และเตรียมพร้อมในทุกสิ่งที่สามารถทำได้เพื่อแก้ไขรถแข่งที่จำเป็นต้องวิ่งด้วยความเร็วเกินกว่า 200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในส่วนที่เรียกกันว่า “Battle Room” สถานที่ซึ่งเป็นจุดประจำการของ Zurlinden ทั้งนี้ในบางครั้งอาจจำเป็นต้องอาศัยการตรวจสอบภาพช้าซ้ำๆ กันหลายครั้งเพื่อยืนยันว่ารถแข่งจำเป็นต้องกลับเข้าพิทหรือไม่
ปัจจัยที่ 5: ทีมงานในพิท
ทีมงานทุกคนที่ประจำอยู่ในพิท ต่างอยู่ในสภาวะเตรียมพร้อมเสมอ เพื่อรองรับการเข้าพิทของรถแข่งที่อาจเกิดขึ้นอย่างกะทันหันได้ตลอดเวลาโดยไม่มีสัญญาณเตือนล่วงหน้าแต่อย่างใด และแน่นอนว่าทุกคนต้องปฎิบัติงานด้วยความรวดเร็วที่สุด ในฤดูกาล 2015 ที่ผ่านมา ระยะเวลารวมที่รถแข่งปอร์เช่ 919 ไฮบริด (919 Hybrid) ซึ่งเข้าร่วมแข่งขันที่ Le Mans ทั้ง 3 คันใช้ในการเข้าและออกจากพิท อยู่ที่ 95 นาที กับอีก 36 วินาที หากนำมาเปรียบเทียบกับทีมคู่แข่งที่ทำเวลาดังกล่าวได้ดีเป็นอันดับ 2 นั้นพบว่าใช้เวลา 130 นาที
Amiel Lindesay (NZ) รับหน้าที่ Crew Chief คือ ผู้ดูแลการปฺฎิบัติงานนี้ โดยเขาเรียกมันว่า “การฝึกซ้อมเล็กๆ น้อยๆ ” ด้วยการจำลองสถานการณ์ต่างๆ ที่ต้องเผชิญ การออกแบบและวางแผนตำแหน่งท่าทางในการปฎิบัติงานโดยอาศัยหลักการทางวิทยาศาสตร์ ด้วยเหตุผลเดียวกันกับการแข่งรถ Formula 1 ซึ่งจำกัดจำนวนทีมงานซ่อมบำรุงที่สามารถเข้าถึงตัวรถได้ ก่อให้เกิดความยุ่งยากมากขึ้น กฎข้อบังคับที่มีรายละเอียดถึง 11 หน้ากระดาษนี้ได้รับการปรับให้มีความเข้มงวดมากยิ่งขึ้นในฤดูกาล 2016 ทั้งยังรวมถึงการกำหนดจำนวนเจ้าหน้าที่เติมน้ำมันเชื้อเพลิงเพียง 2 ตำแหน่ง การกำหนดให้รถแข่งต้องอยู่บนล้อของตัวรถเองเมื่อเข้ารับการเติมน้ำมันเชื้อเพลิง นั่นหมายความว่าทีมงานจะสามารถเปลี่ยนยางได้ต่อเมื่อการเติมน้ำมันเสร็จสิ้นแล้วเท่านั้น ขั้นตอนทั้งหมดจะต้องปฎิบัติด้วยเจ้าหน้าที่ของทีมแข่งไม่เกิน 4 คนพร้อมปืนลมสำหรับเปลี่ยนยางเพียง 1 ชุดเท่านั้น ซึ่งแน่นอนว่ากฎข้อบังคับย่อมต้องมีรายการบทลงโทษสำหรับผู้กระทำผิด Lindesay ทำงานอย่างหนักในทุกขั้นตอนและทุกกระบวนการเพื่อพิจารณาว่าทีมงานแต่ละคนนั้นมีความเหมาะสมกับหน้าที่ใดมากที่สุด การทดสอบด้วยการจำลองสถานการณ์มากกว่า 250 ครั้งต่อฤดูกาลแข่งขันถูกจัดขึ้นในพื้นที่ปฎิบัติงาน รวมทั้งการทดสอบด้วยการลงแข่งขันจริงในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ของทีมงานอีกด้วย ล้อรถที่ติดตั้งยางเรียบร้อยแล้วมีน้ำหนักที่ 19.9 กิโลกรัม ทีมช่างจึงจำเป็นต้องมีสภาพร่างกายที่แข็งแรง รวดเร็วว่องไว และเต็มไปด้วยความอดทน เพื่อพร้อมรับแรงกดดันมหาศาลในระหว่างการแข่งขัน
ไม่ว่าจะเป็นอัตราการบริโภคน้ำมันเชื้อเพลิง การสึกหรอของยาง การเข้าพิทเพื่อซ่อมบำรุงและแก้ไขสิ่งที่เสียหาย ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่ทีมงานต้องนำมาคิดคำนวณด้วยความละเอียดรอบคอบ บางสิ่งบางอย่างอาจสามารถทำการทดสอบหรือฝึกฝนเพื่อเตรียมการรับมือ แต่แน่นอนว่าไม่มีกลยุทธ์ใดที่สามารถรองรับทุกสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในการแข่งขันรายการ Le Mans 24 ชั่วโมงนี้ได้อย่างสมบูรณ์แบบ เช่นเดียวกับสิ่งที่ Mark Webber นักแข่งของทีมปอร์เช่ได้กล่าวไว้ว่า “Le Mans คือการแข่งขันที่เต็มไปด้วยความโหดร้าย ก่อนที่คุณจะคิดถึงการเอาชนะคู่แข่งของคุณ คุณต้องคิดถึงการเอาชนะตัวเองให้ได้เสียก่อน”
เรื่อง : พุทธิ ผาสุข
เรียบเรียงข้อมูลโดย กรังด์ปรีซ์ออนไลน์ GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th