LEXUS LF-Z Electrified Concept A Conceptual BEVs
ยักษ์ใหญ่อย่าง TOYOTA รวมทั้งบริษัทลูก LEXUS กำลังซุ่มพัฒนารถ BEVs ที่สมบูรณ์แบบในทุกรายละเอียด และให้ความสะดวกในการใช้งานไม่แตกต่างจากรถเครื่องยนต์สันดาปในปัจจุบัน สำหรับแบรนด์ LEXUS มีกำหนดเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้าโมเดลใหม่ถึง 20 รุ่น ภายในปี 2025 ถัดจากนั้นต่อไปอีก 25 ปี ตั้งเป้าลดคาร์บอนตลอดวงจรชีวิตของรถแต่ละรุ่นให้เหลือน้อยที่สุด นับตั้งแต่การผลิตวัสดุ ชิ้นส่วน ไลน์การประกอบ ไปจนถึงการขนส่งรถยนต์ จนถึงขั้นสุดท้ายที่การกำจัด และรีไซเคิลยานพาหนะเก่า ทั้งหมดเป็นวิสัยทัศน์ที่ถูกนำเสนอผ่านรถต้นแบบ LF-Z Electrified
การเปิดตัว LEXUS LF-Z Electrified Concept ทางต้นสังกัดไม่เปิดเผยข้อมูลเชิงเทคนิคใดๆ เช่นเดียวกับเมื่อครั้งที่ TOYOTA เปิดตัว TOYOTA bZ4X Concept และจากรูปแบบตัวถังสไตล์ Sport SUV จึงมีความเป็นไปได้สูงที่รถต้นแบบทั้ง 2 โมเดล จะใช้แพลตฟอร์มร่วมกัน ด้วยชุดพื้นฐานโครงสร้างใหม่ในชื่อ ‘e-TNGA’ (electric-Toyota New Global Architecture) มาพร้อมระบบขับเคลื่อนแบบ AWD ซึ่ง TOYOTA และ SUBARU ร่วมมือกันพัฒนาขึ้น เน้นทั้งเรื่องความปลอดภัย และสมรรถนะการขับขี่ แถมยังรองรับการเดินทางในรูปแบบ off-road อีกด้วย
- รถต้นแบบ LEXUS LF-Z Electrified โชว์แนวคิด Smart Mobility ตอบโจทย์การใช้งานทุกมิติในอนาคต
และวิสัยทัศน์ที่ถูกนำเสนอพร้อมรถต้นแบบ LF-Z Electrified Concept คือ แม้รถยนต์ไฟฟ้าจากเครือนี้จะมาช้ากว่าคู่แข่ง แต่พวกเขาไม่ได้เป็นหน้าใหม่สำหรับวงการ EV เลย โดยเฉพาะเมื่อเกิดการแบ่งประเภทของรถยนต์ไฟฟ้าที่ชัดเจน ซึ่งรถไฮบริดที่ TOYOTA เป็นมือวางอันดับ 1 ของโลก!!! ได้ถูกจัดให้อยู่ในประเภทหนึ่งของรถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicles, EVs) เรียบร้อยแล้ว
- Shark Fin กึ่งกลางกระจกบังลมหลัง มาพร้อมเส้นไฟ LED ในแนวตั้ง
จากแนวคิด รถที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า ไม่ว่าจะใช้มอเตอร์ไฟฟ้าเป็นต้นกำลังหลัก หรือเป็นเพียงต้นกำลังเสริม จะเข้าข่ายเป็นรถ EVs ทั้งหมด แต่จะเป็นประเภทไหน ต้องมาคุยในรายละเอียดเพิ่มเติม ซึ่งมีการจำแนกชนิดของรถยนต์ไฟฟ้าได้เป็น 4 ประเภทหลัก ได้แก่
>> รถยนต์ไฟฟ้าไฮบริด (Hybrid Electric Vehicles: HEVs) คือ รถยนต์ลูกผสมที่ควบรวมต้นกำลัง 2 ประเภท เอาไว้ในรถเพียงคันเดียว ได้แก่ เครื่องยนต์ และมอเตอร์ไฟฟ้า โดยการทำงานของต้นกำลังทั้งคู่ จะแตกต่างกันไปตามการออกแบบของแต่ละผู้ผลิต ด้วยวัตถุประสงค์เดียวกัน มุ่งลดบทบาทของเครื่องยนต์ลงให้มากที่สุด
>> รถยนต์ไฟฟ้าปลั๊กอินไฮบริด (Plug-in Hybrid Electric Vehicles: PHEVs) มีหลักการทำงานที่คล้ายคลึงกับรถไฟฟ้าไฮบริด (HEVs) แต่เพิ่มฟังก์ชันรองรับการประจุไฟจากแหล่งจ่ายไฟภายนอกรถ (Plug-in) ใช้แบตเตอรี่ที่มีความจุสูงขึ้น จึงขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าในโหมดไร้มลพิษ (EV Mode) ได้ไกลกว่ารถไฮบริดประเภทแรก
- จากรูปแบบตัวรถ มีความเป็นไปได้สูงที่ LF-Z Electrified Concept จะใช้แพลตฟอร์ม ‘e-TNGA’ (electric-Toyota New Global Architecture) ร่วมกับ TOYOTA bZ4X Concept ที่เปิดตัวมาในเวลาใกล้เคียงกัน
- เส้นกราฟิกด้านหน้ารถ ใช้สื่อสารกับคนเดินถนน และรถที่ร่วมใช้ถนน ขณะรถเคลื่อนที่ด้วยระบบ Autonomous
- งานตัวถังระดับ Craftsmanship เป็นความเหนือชั้นของแบรนด์ LEXUS อย่างแท้จริง
จุดเด่นของรถยนต์ไฟฟ้าไฮบริดทั้ง 2 รูปแบบข้างต้น คือ ผู้ขับไม่ต้องคอยมากังวลว่าพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่จะหมดก่อนถึงที่หมาย เพราะมีเครื่องยนต์ทำหน้าที่ขับเจนเนอเรเตอร์ปั่นไฟป้อนให้กับระบบได้ตลอดเวลา น้ำมันเชื้อเพลิงหมด ก็แวะปั๊มเติมได้ เหมือนรถใช้เครื่องยนต์ปกติ
>> รถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicles: BEVs) เป็นรถยนต์ไฟฟ้าที่มีเฉพาะมอเตอร์ไฟฟ้าเป็นต้นกำลังขับเคลื่อนรถยนต์ การเคลื่อนของรถจึงมาจากพลังงานไฟฟ้าในแบตเตอรี่เท่านั้น ดังนั้น ระยะทางการวิ่งของรถยนต์ไฟฟ้าจึงขึ้นอยู่กับการออกแบบขนาดและชนิดของแบตเตอรี่ รวมทั้งน้ำหนักบรรทุก แนวคิดพื้นฐานของรถ BEVs คือ การนำแบตเตอรี่ขนาดใหญ่ความจุสูงมาใช้ในการเก็บพลังงานไฟฟ้า และมอเตอร์ไฟฟ้าจะเปลี่ยนพลังงานไฟฟ้าเป็นพลังงานกลในการขับเคลื่อนรถ แบตเตอรี่จะถูกประจุไฟจากแหล่งพลังงานภายนอก เช่น ไฟฟ้าตามอาคารบ้านเรือน และจุดประจุไฟสาธารณะ เป็นต้น
>> รถยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell Electric Vehicles: FCEVs) Fuel Cell หรือเซลล์เชื้อเพลิง เป็นเทคโนโลยีที่ใช้ผลิตพลังงานไฟฟ้า ด้วยการเปลี่ยนพลังงานเคมีไปเป็นพลังงานไฟฟ้า ซึ่งหากพิจารณาในแง่ประสิทธิภาพ จะเสถียรและให้ประสิทธิภาพในการผลิตพลังงานสูงกว่าการใช้เจนเนอเรเตอร์ปั่นไฟเพื่อเปลี่ยนพลังงานกลไปเป็นพลังงานไฟฟ้า เพราะการปั่นไฟ ระบบต้องสูญเสียพลังงานบางส่วนไปกับแรงเสียดทาน (Friction Loss) ต่อเนื่องไปจนถึงพลังงานความร้อน (Heat Loss) ขณะที่ขบวนการสร้างพลังงานไฟฟ้าของ Fuel Cell ใช้ปฏิกิริยาทาง ไฟฟ้า-เคมี ไม่มีชิ้นส่วนเคลื่อนไหว เกิดความร้อนต่ำกว่า นอกจากได้พลังงานไฟฟ้ามาขับมอเตอร์ไฟฟ้า และเก็บเข้าเป็นพลังงานสำรองในแบตเตอรี่ สิ่งที่เกิดขึ้นจากการทำปฏิกิริยาเคมีจะมีเพียง ‘น้ำ’ เท่านั้น
- มาพร้อมระบบขับเคลื่อน ‘DIRECT4’ ซึ่งเป็นระบบขับเคลื่อนในรูปแบบ AWD
- ดีไซน์ห้องโดยสาร ปรับตัวเข้าสู่ยุคดิจิทัลเต็มรูปแบบ
ข้อจำกัดบางประการ สำหรับการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicles: BEVs) ในประเทศไทย ปัจจุบันยังมีอยู่ 2 เรื่อง ได้แก่ ระยะทางการใช้งานที่จำกัด การเดินทางไกลผู้ขับจึงต้องวางแผนเรื่องที่ตั้งของสถานีประจุไฟระหว่างเส้นทาง และการชาร์จแบตเตอรี่เต็มในแต่ละรอบจะใช้เวลาไม่ต่ำกว่าครึ่งชั่วโมง (Quick Charge) แต่จากเทคโนโลยีใหม่ของแบตเตอรี่ที่เตรียมนำมาใช้กับ BEVs ในอนาคตอันใกล้ ประกอบกับความพร้อมเรื่องพื้นฐานโครงสร้างเรื่องสถานีประจุไฟ ข้อจำกัดนี้จะค่อยๆ หายไปในที่สุด
- พวงมาลัยใช้รูปทรงเดียวกับอากาศยาน บังคับเลี้ยวแบบ steer-by-wire
ดังนั้น TOYOTA (และ LEXUS) จึงมีรถ EVs จำหน่ายอย่างน้อย 3 ประเภท และขายก่อนใครมานานแล้ว ซึ่งเรื่องการนำมอเตอร์ไฟฟ้า รวมทั้งพลังงานไฟฟ้ามาใช้ขับเคลื่อนรถ จึงไม่ใช่เรื่องที่ยากเลย สำหรับค่ายรถยนต์ที่จำหน่ายรถไฟฟ้าไฮบริดได้มากที่สุดในโลก นับจากปี 1997 จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2021 TOYOTA จึงขายรถ EVs ไปแล้วกว่า 17 ล้านคัน (หลักๆ จะเป็นรถ HEVs) ลด CO2 ให้กับโลกได้ถึง 140 ล้านตัน (ข้อมูลปี 1997-2020) และในปี 2020 ทั่วโลกขาย EVs ได้รวม 1.95 ล้านคัน โดยยอดขายดังกล่าว TOYOTA แชร์มาได้ถึง 23 เปอร์เซ็นต์ ค่ายเดียวเหมามาเกือบ 1 ใน 4
สำหรับรถต้นแบบ LEXUS LF-Z Electrified มาในรูปแบบ BEVs เต็มระบบ ข้อมูลระบุว่า จะมาพร้อมระบบขับเคลื่อน ‘DIRECT4’ ซึ่งเป็นระบบขับเคลื่อนในรูปแบบ AWD นั่นทำให้เราวิเคราะห์ต่อได้ว่า LF-Z Electrified ใช้มอเตอร์ไฟฟ้า 2 ตัว แยกกันขับเคลื่อนล้อหน้าและล้อหลัง ซึ่งระดับการกระจายแรงขับเคลื่อนจะเชื่อมโยงไปถึงสมรรถนะการขับขี่ รวมทั้งฟีลลิ่งของ LF-Z Electrified โดยตรง
หัวใจในการพัฒนา LF-Z Electrified อยู่ที่เรื่อง Human-Machine Connection หรือการเชื่อมโยงระหว่างผู้ขับกับรถ หรือผู้โดยสารกับรถ พร้อมสร้างความสุขทุกมิติในการเดินทาง ซึ่งเป็นจุดแข็งของแบรนด์ LEXUS ที่เหลือจะเป็นเรื่องคุณภาพงานระดับ Craftsmanship และความประณีตในการเลือกใช้วัสดุภายในห้องโดยสาร รวมทั้งการนำ AI (Artificial Intelligence) เข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกอย่างเต็มรูปแบบ มีระบบ Machine Learning เรียนรู้พฤติกรรมของแต่ละบุคคล รถสามารถสื่อสารโต้ตอบกับผู้ขับและผู้โดยสารผ่านคำสั่งเสียง ไล่เรียงไปจนถึงระบบขับขี่อัตโนมัติ ซึ่งทีม R&D จาก LEXUS (และ TOYOTA) วิ่งทดสอบเก็บข้อมูลบนถนนจริงมานานแล้ว
เรื่อง : พิทักษ์ บุญท้วม
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสารยานยนต์ รถจักรยานยนต์ รถใหม่ได้ที่ www.grandprix.co.th