Lexus RX / Toyota Harrier เมื่อคู่แฝดที่ต้องแยกจากกัน
ปี 1997 หรือ 3 ปีหลังจากที่ Toyota เปิดตลาดใหม่ของ SUV ด้วยความอเนกประสงค์แบบขับสบายเพราะใช้พื้นฐานของรถเก๋งอย่าง RAV4 พวกเขาได้สร้างมาตรฐานใหม่ให้กับตลาดอีกครั้ง และคราวนี้คือการรุกขึ้นสู่ข้างบนกับ SUV รุ่นใหม่ที่เจาะตลาด D-Segment หรือรถยนต์ครอบครัวในระดับเดียวกับ Camry หรือ Honda Accord โดยรถยนต์รุ่นนี้มีขายเฉพา และนั่นคือที่มาของรุ่น Harrier ที่วงการรถยนต์นำเข้าในบ้านเรารู้จักกันดี
แน่นอนว่าในยุคนั้น Toyota มี Lexus เป็นแบรนด์คู่ขนานในการเจาะตลาดรถยนต์ระดับหรูและใช้แนวคิดในการนำรถยนต์แบบ JDM ของ Toyota ทั้งคันมาเปลี่ยนแค่ชื่อและโลโก้ (หรืออาจจะปรับสเป็ก และรูปลักษณ์อีกเล็กน้อย) และนั่นทำให้เราได้รู้จักกับร่างจำแลงของ Harrier สำหรับขายในตลาดโลกโดยใช้ชื่อว่า RX-Series ด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม นับจากรุ่นที่ 3 เป็นต้นมา ชื่อของ Toyota Harrierและ Lexus RX-Series ได้ถูกแยกจากกันในเรื่องของกลุ่มตลาดและรายละเอียดทางวิศวกรรม และนั่นทำให้ผลผลิตของ Toyota ทั้ง 2 รุ่นนี้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น
รุ่นที่ 1
Toyota Harrier / RX Series : รหัส XU10
ช่วงที่ทำตลาด 1997-2003
เปิดตัวครั้งแรกกับชื่อ Harrierและจำหน่ายผ่านแบรนด์ Toyota ในปลายปี 1997 และขายเฉพาะในญี่ปุ่นเท่านั้น ส่วนตลาดโลกไม่มีทำตลาดผ่านแบรนด์ Toyota แต่จะขายผ่านทางแบรนด์ Lexus ในรหัส RX แล้วตามด้วยตัวเลขที่สอดคล้องกับความจุกระบอกสูบเครื่องยนต์นั่นคือ RX300 ซึ่งใช้เครื่องยนต์วี6 3,000 ซีซี
โปรเจ็กต์การพัฒนา RX Series เริ่มขึ้นในปี 1993 เมื่อ Toyota มีความต้องการที่จะสร้างรถยนต์อเนก ประสงค์ที่ให้ความสะดวกสบายในการขับขี่ เป็นการเชื่อมโยงระหว่าง SUV แบบเดิมแต่ใช้พื้นฐานของรถยนต์นั่ง แทนที่จะเป็นปิกอัพเหมือนกับที่มีอยู่ในตลาด โดยเป้าหมายคือ การสร้างรถยนต์ที่มีรูปลักษณ์ในสไตล์ SUV เน้นความอเนกประสงค์ทั้งการบรรทุกและการขับขี่ บุกตะลุยบนเส้นทางวิบากได้ในระดับหนึ่ง และเน้นไปที่การใช้งานในเชิงออนโรดมากกว่าออฟโรด และที่สำคัญต้องตอบสนองความสะดวกสบายในการขับและความหรูหรา
ในกลุ่มคอมแพ็กต์พวกเขาทำออกมาแล้วกับรุ่น RAV4 ที่แชร์พื้นฐานร่วมกับรถเก๋งอย่าง Corolla และเป็นคู่ปรับสายตรงของ Honda CR-V ที่ออกมาในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน ขณะที่ตลาดรถยนต์ครอบครัวอย่าง D-Segment นั้นตลาดยังว่างอยู่ และนั่นก็เลยเป็นที่มาของการผลิตรุ่น Harrier ออกมาซึ่งโปรเจ็กต์เป็นรูปเป็นร่างเมื่อปี 1995 และได้รับการออกแบบโดย Makoto Oshima ซึ่งรับผิดชอบในด้านการออกแบบของโปรเจ็กต์นี้
ตัวรถทรงท้ายตัดยกสูงแบบ 5 ประตูมาพร้อมกับความยาวในระดับ 4,575 มิลลิเมตร กว้าง 1,816 มิลลิเมตร สูง 1,669 มิลลิเมตร และระยะฐานล้อ 2,619 มิลลิเมตร
จุดเด่นของ Harrier คือ การผสมผสานรถยนต์นั่งกับ SUV แบบเดิมเข้าด้วยกัน ตัวรถมีจำหน่ายทั้งแบบขับเคลื่อนล้อหน้า และแบบ 4 ล้ออัตโนมัติที่จะมีการแปรผันการถ่ายทอดกำลังจากเครื่องยนต์ระหว่างเพลาหน้าและหลังโดยอัตโนมัติขึ้นอยู่กับสภาพเส้นทางซึ่งจะแตกต่างจาก SUV แบบเดิมที่ต้องเลือกผ่านทางคันเกียร์ขับเคลื่อน 4 ล้อแบบ 4H หรือ 4L
เครื่องยนต์ของ Harrier ที่ขายในญี่ปุ่นจะมีทั้งแบบ 4 สูบ 2,200 ซีซี 132 แรงม้าจากขุมพลังรหัส 5S-FE ที่บ้านเราคุ้นเคยกันในช่วงนั้นจาก Toyota Camry และรุ่นใหญ่ขึ้นที่เป็นเครื่องยนต์วี6 3,000 ซีซี 220 แรงม้าในรหัส 1MZ-FE ที่ยกมาจากรุ่น ES300 ของ Lexus ซึ่งก็เป็นเก๋งที่แชร์พื้นฐานจาก Camry/Windom และมีอีกทางเลือกสำหรับรุ่นปรับโฉมคือเครื่องยนต์ 2,400 ซีซีในรหัส 2AZ-FE ที่มีกำลังสูงสุด 157 แรงม้าและเข้ามาแทนที่เครื่องยนต์ 5S-FE เมื่อปี 2001
รุ่นแรกของ Harrier/RX Series ทำตลาดอยู่ใน 5 ปีและเลิกจำหน่ายในปี 2003 เพื่อเปิดทางให้กับเจนเนอเรชั่นที่ 2 เข้ามาทำตลาดแทน
รุ่นที่ 2
Toyota Harrier / RX Series : รหัส XU30
ช่วงที่ทำตลาด 2004-2013
หลังประสบความสำเร็จในการทำตลาดของรุ่นแรกทำให้ Toyota พัฒนาเจนเนอเรชั่นที่ 2 ของ Harrier ออกมาขาย และยังใช้แนวทางเดิมในการทำตลาดให้กับ Lexus แต่ในช่วงปลายอายุตลาดมีความเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยเกี่ยวกับเรื่องของการทำตลาด
ในรุ่นนี้ทั้ง 2 ยี่ห้อเปิดตัวทำตลาดในช่วงไล่เลี่ยกันในเดือนกุมภาพันธ์ 2003 โดยยังแชร์พื้นฐานเหมือนกันหมด และ Harrier ก็ยังเป็น JDM ที่ขายเฉพาะในญี่ปุ่นเท่านั้น สิ่งที่เกิดขึ้นกับความสัมพันธ์ของทั้งคู่เกิดขึ้นในปี 2005 เมื่อ Lexus ที่ไม่เคยขายในญี่ปุ่นเลยถูกวางให้เป็นแบรนด์ที่เข้ามาเจาะตลาดในบ้านตัวเองเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เปิดแบรนด์นี้ออกสู่ตลาดสหรัฐอเมริกาในปี 1989 แต่ปัญหาที่ตามมาคือ ที่ผ่านมา Lexus ใช้รถยนต์ที่เป็น JDM ของ Toyota มารีแบรนด์ ถ้าจะเข้ามาขายในญี่ปุ่นย่อมเกิดความซ้ำซ้อนกันแน่ๆ
ผลคือ รถยนต์โมเดลหลัก เช่น IS ES LS และ RX จะต้องมีการพัฒนาขึ้นมาเองใหม่โดยที่ไม่ได้เป็นการยกรถยนต์ทั้งคันมาเปลี่ยนหน้าตา แชร์พื้นฐานทางวิศวกรรมได้ แต่ไม่ใช่คันเดียวกันที่เปลี่ยนแค่ชื่อรุ่นกับโลโก้เหมือนกับที่ผ่านมา สิ่งที่ตามมาคือ RX ในรุ่นนี้มีอายุตลาดเพียงแค่ 5 ปี และเลิกทำตลาดในปี 2009 เพื่อเปิดทางให้ RX เจนเนอเรชั่นที่ 3 เข้ามาแทนที่ ส่วน Harrier ที่ขายในญี่ปุ่นจะถูกลากยาวในการทำตลาดจนถึงปี 2013 เพื่อให้ RX สามารถวางขายในตลาดญี่ปุ่นได้โดยที่ไม่เกิดการทับซ้อนในแง่ผลิตภัณฑ์
ในเชิงเทคนิคนั้น Harrier/RX Series รุ่นที่ 2 มากับตัวถังทรง SUV ที่มีขนาดความยาว 4,729-4,755 มิลลเมตร กว้าง 1,844 มิลลิเมตร และระยะฐานล้อ 2,715 มิลลิเมตร โดยจะมีขายทั้งรุ่นเครื่องยนต์เบนซินและเครื่องยนต์ไฮบริด เช่นเดียวกับระบบขับเคลื่อนที่มีทั้งแบบล้อหน้า และ 4 ล้อแบบอัตโนมัติ ซึ่งตัวรถได้รับการพัฒนาขึ้นบนพื้นตัวถัง K Platform ที่ Toyota สร้างมาเพื่อใช้กับรถยนต์ในกลุ่ม D-Segment เช่น Camry/Avalon/Aurion
ในรุ่นนี้มีเครื่องยนต์ที่ทำตลาดทั้งแบบ 4 สูบ 2,400 ซีซีในรหัส 2AZ-FE และวี6 3,000 ซีซีในรหัส 1MZ-FE ก่อนที่จะมีการปรับโฉมพร้อมกับเปลี่ยนเครื่องยนต์มาเป็น 3MZ-FE แบบวี6 3,300 ซีซี และเพิ่มรุ่นตัวแรงด้วยเครื่องยนต์วี6 บล็อกใหม่ในรหัส 2GR-FE
รุ่นที่ 3
RX Series : รหัส AL10
ช่วงที่ทำตลาด 2008-2015
เป็นครั้งแรกที่มีการแยกการทำตลาดอย่างชัดเจนของ Harrier กับ LX Series ซึ่งแม้ว่า LX ใหม่ที่เป็นเจนเนอเรชั่นที่ 3 จะยังแชร์พื้นฐานทางวิศวกรรมร่วมกับตัวถัง K Platform อยู่ แต่ก็มีการออกแบบใหม่ทั้งหมด โดยในรุ่นนี้มีการอัพขนาดขึ้นเป็น 4,770 มิลลิเมตร และระยะฐานล้อที่มีความยาวในระดับ 2,741 มิลลิเมตร พร้อมกับมีระบบขับเคลื่อนทั้งล้อหน้า และ 4 ล้ออัตโนมัติเหมือนเดิม พร้อมเกียร์อัตโนมัติใหม่แบบ 6 จังหวะ และ 8 จังหวะสำหรับรุ่น F Sport
ในรุ่นนี้มีขายเฉพาะเครื่องยนต์วี6 แบบเบนซินและไฮบริด เริ่มกับรุ่น RX350 ที่ใช้เครื่องยนต์วี6 3,500 ซีซีในตระกูล 2GR-FE และรุ่นไฮบริด RX400h ใช้เครื่องยนต์รหัส 2GR-FXE ที่มีการเชื่อมต่อมอเตอร์ไฟฟ้าเข้าไปผลิตกำลังได้ 297 แรงม้า ก่อนที่ในปี 2010 Lexus จะเพิ่มทางเลือกรุ่นเล็กด้วยรหัส RX270 แบบขับเคลื่อรล้อหน้า ซึ่งใช้เครื่องยนต์เบนซิน 4 สูบ 1AR-FE ที่มีความจุ 2,700 ซีซีซึ่งถือเป็นรุ่นเริ่มต้น หรือ Entry Level ในการทำตลาด โดยในช่วงแรกจะเน้นไปที่ตลาดญี่ปุ่น จีนและรัสเซีย
รุ่นที่ 3
Harrier : รหัส XU60
ช่วงที่ทำตลาด 2013-2020
ในช่วงที่ Harrier รุ่นที่ 2 ถูกลากยาวให้ทำตลาดเพื่อไม่ไปทับไลน์กับ Lexus RX ที่เข้ามาเปิดตลาดในญี่ปุ่น ซึ่งใช้ตัวถังใหม่เป็นเจนเนอเรชั่นที่ 3 ทางด้าน Harrier ยังเป็น JDM ที่วางขายอยู่ในตลาดญี่ปุ่น และรอพัฒนาโฉมใหม่เพื่อเปิดตัวอีกครั้ง โดยคราวนี้มีความเปลี่ยนแปลงตรงที่ Harrier ไม่ใช่เป็น Midsize SUV อีกแล้ว แต่ถูกปรับลดขนาดลงมาเป็น SUV ที่แชน์พื้นฐานร่วมกับเก๋งระดับคอมแพ็กต์อย่าง Corolla และ RAV4
ในรุ่นนี้ถูกพัฒนาบนพื้นตัวถังรุ่น MC ร่วมกับ RAV4 ใหม่มีหน้าตาคนละแบบกับ RX Series อย่างชัดเจน แถมขนาดตัวถังยังลดลง โดยในรุ่นนี้มีความยาวเพียง 4,720 มิลลิเมตร และระยะฐานล้อ 2,660 มิลลิเมตร ขณะที่เครื่องยนต์เน้นแบบ 4 สูบเรียงล้วนๆ มีทั้ง 3ZR-FAE แบบ 2,000 ซีซี 151 แรงม้า ตามด้วย 8AR-FTS 2,000 ซีซี เทอร์โบ 231 แรงม้า และ 2AR-FXE แบบไฮบริด 197 แรงม้า
รุ่นที่ 4
RX Series : รหัส AL20
ช่วงที่ทำตลาด 2016-2020
ยังใช้พื้นตัวถัง K Platform เหมือนเดิม และเน้นเจาะกลุ่มลูกค้า SUV ขนาดกลางครั้งนี้มการอัพขนาดตัวถังขึ้นอีก โดยมีระยะฐานล้อเพิ่มเป็น 2,790 มิลลิเมตร และมีความยาวตัวถัง 4,890 มิลลิเมตรโดยตัวรถเปิดตัวครั้งแรกที่งาน New York Auto Show 2015 พร้อมรูปลักษณ์ที่มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงใหม่หมดด้วยดีไซน์ใหม่ที่เรียกว่า Floating Roof และ Spindle Grille
ในรุ่นนี้มีการทำตลาดเหมือนเดิมกับเครื่องยนต์เบนซิน และไฮบริด โดยมีทั้งรุ่น RX350 ที่ใช้เครื่องยนต์ 2GR-FKS ที่มีกำลัง 295 แรงม้า และรุ่นไฮบริด RX450h ใช้พื้นฐานของเครื่องยนต์ 2GR แต่มีการปรับสเป็กเพิ่มมอเตอร์ไฟฟ้า ทำให้มีกำลังขับเคลื่อน 308 แรงม้า ก่อนที่จะมีการเพิ่มรุ่น Entry-Level เหมือนเดิม แต่คราวนี้เปลี่ยนเครื่องยนต์มาเป็น 8AR-FTS ซึ่งใช้ขุมพลังแบบ 4 สูบ 2,000 ซีซี เทอร์โบ 235 แรงม้า และใช้รหัส RX200t
เรื่อง: กองบรรณาธิการ
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th