LEXUS RZ ว่าที่ BEV รุ่นแรกของค่าย!!!
หลังจาก TOYOTA เปิดตัว bZ4X ยานยนต์ไฟฟ้าโมเดลแรกของค่าย ที่พัฒนาภายใต้แพลตฟอร์ม ‘e-TNGA’ พรีเมียมแบรนด์ในเครืออย่าง LUXUS ก็พร้อมปล่อย LUXUS RZ ตามออกมา ด้วยแพลตฟอร์มเดียวกัน และรถโมเดลคู่แฝดได้นำเสนอผ่านรูปแบบตัวถัง SUV หากพิจารณาด้วยสายตา อาจแตกต่างกันเฉพาะดีไซน์ตัวถังภายนอก และงานออกแบบภายในห้องโดยสาร ทว่า ทีมพัฒนา RZ ฟันธงเลยว่า ว่าที่ยานยนต์ไฟฟ้าโมเดลแรกของพวกเขา แตกต่างด้วยบุคลิกเฉพาะตัวของ LEXUS ทั้งเรื่องความหรูหรา และความเงียบของห้องโดยสาร รวมทั้งการปรับแต่งซอฟต์แวร์การทำงานของชุดขับเคลื่อน ระบบบังคับเลี้ยว และช่วงล่าง ให้สิ่งแวดล้อมรอบตัวผู้ขับและผู้โดยสาร เป็นไปตามมาตรฐาน LEXUS ทุกประการ
-
นวัตกรรมไฮไลต์ใน RZ 450e ได้แก่ ระบบขับเคลื่อน DIRECT4, ระบบบังคับเลี้ยว Steer by Wire และ ระบบช่วงล่าง FRD II
RZ ใช้ภาษาทางการออกแบบที่ระบุว่า เป็นเจเนอเรชันใหม่จาก LEXUS เน้นความเรียบง่าย แต่อัดแน่นไปด้วยความภูมิฐานในทุกรายละเอียด เปิดตัวมาด้วยรุ่นย่อย RZ 450e ซึ่งได้รับการพัฒนาจาก TTCI (Toyota Technical Center Shimoyama)
ในทุกขั้นตอน ตั้งแต่ ต้นน้ำ ต่อเนื่องไปจนถึงปลายน้ำ มุ่งมั่นสู่ ‘ความเป็นกลางทางคาร์บอน’ (Carbon Neutrality) หรือการควบคุมปริมาณการปล่อยคาร์บอน (CO2) ที่ปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศ ให้เท่ากับปริมาณคาร์บอนที่ป่าไม้ รวมทั้งกรรมวิธีต่างๆ สามารถดูดซับได้ (ชดเชย) ซึ่งหลักๆ คือ ลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลนั่นเอง ทั้งหมดจึงเป็นการวางยุทธศาสตร์ของ LEXUS ที่จะมุ่งพัฒนารถ BEV จำหน่ายแบบ 100% ในอีก 5 ปี นับจากนี้
-
LEXUS RZ ใช้พื้นฐานโครงสร้าง ‘e-TNGA’ (electric-Toyota New Global Architecture) ที่ TOYOTA และ SUBARU จับมือกันพัฒนาขึ้น [ภาพจาก TOYOTA bZ4X]
ปัจจุบันอุตสาหกรรมยานยนต์ แบ่งรถ EV (หมายถึง รถที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า) ออกเป็น 4 ประเภท: HEV (Hybrid Electric Vehicle) เป็นรถไฮบริดหรือรถลูกผสม ใช้เครื่องยนต์ + มอเตอร์ไฟฟ้า เพื่อขับเคลื่อนรถ
PHEV (Plug-in Hybrid Electric Vehicle) แบตเตอรี่ใหญ่ขึ้น พร้อมเพิ่มฟังก์ชันเสียบปลั๊กชาร์จไฟเข้าไปในรถไฮบริดมาตรฐาน และ FCEV (Fuel Cell Electric Vehicle) นำก๊าซไฮโดรเจน เชื้อเพลิงที่ผลิตได้จากธรรมชาติ ที่มีใช้อย่างไม่จำกัดมาผ่านขบวนการทางเคมี
ผลลัพธ์ที่ได้คือ พลังงานไฟฟ้า และน้ำ หากเทียบค่ายรถยนต์ที่ผลิตรถเซลล์เชื้อเพลิงด้วยกัน TOYOTA จัดอยู่ในกลุ่มหัวแถวเช่นเดียวกับรถไฮบริด และ BEV (Battery Electric Vehicle) มอเตอร์ไฟฟ้ารับหน้าที่ขับเคลื่อนรถ โดยใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ล้วน ๆ
ดังนั้น TOYOTA จึงมีรถ EV จำหน่ายอย่างน้อย 3 ประเภท มานานแล้ว ขณะที่ LEXUS ก็จำหน่ายรถ HEV ต่อเนื่องมาจนถึง PHEV มากว่า 10 ปีแล้วเช่นกัน
ทำให้การพัฒนาใช้มอเตอร์ไฟฟ้าขับเคลื่อนรถแทนที่เครื่องยนต์ จึงไม่ใช่เรื่องที่ใหม่เลยสำหรับ LEXUS เพียงแต่ความท้าทายจะอยู่ที่แบตเตอรี่ ทั้งระยะเวลาในการชาร์จ และระยะทางในการวิ่งใช้งาน ซึ่งรถ BEV โมเดลแรกของทั้ง TOYOTA (bZ4X) และ LEXUS (RZ 450e) ก็ทำได้ไม่เป็นรอง BEV เจ้าตลาดในปัจจุบัน
-
ห้องโดยสารสไตล์ minimal ประยุกต์ใช้วัสดุ bio-based สามารถย่อยสลายได้ถึง 30%, กระจกบังลมหน้าและหลัง ใช้ Acoustic Glass ช่วยเพิ่มความเงียบให้กับห้องโดยสาร
TOYOTA มีรถ EV จำหน่ายอย่างน้อย 3 ประเภท (HEV, PHEV และ FCEV) มานานแล้ว ขณะที่ LEXUS ก็จำหน่ายรถ HEV ต่อเนื่องมาจนถึง PHEV มากว่า 10 ปีแล้วเช่นกัน ดังนั้น การพัฒนาใช้มอเตอร์ไฟฟ้าขับเคลื่อนรถ แทนที่เครื่องยนต์ จึงไม่ใช่เรื่องที่ใหม่เลยสำหรับ LEXUS เพียงแต่ความท้าทายจะอยู่ที่แบตเตอรี่ ทั้งระยะเวลาในการชาร์จ และระยะทางในการวิ่ง
LEXUS RZ ใช้พื้นฐานโครงสร้าง ‘e-TNGA’ (electric-Toyota New Global Architecture) ที่ TOYOTA และ SUBARU จับมือกันพัฒนาขึ้น มาพร้อมระบบขับเคลื่อนแบบ AWD เน้นทั้งเรื่องความปลอดภัย และสมรรถนะการขับขี่ รวมทั้งรองรับการเดินทางในรูปแบบ off-road เบา ๆ ได้ด้วย
-
เมื่อพัฒนามาใช้ระบบบังคับเลี้ยว Steer by Wire การใช้พวงมาลัยแนวอากาศยานแบบนี้ ก็ไม่ใช่เรื่องที่ยุ่งยาก
ชื่อเสียงของ LEXUS อยู่ที่เรื่องความสบายสุดๆ ในการเดินทาง (Home-like Comfort) และสามารถแยกห้องโดยสารออกจากความวุ่นวายภายนอกรถได้อย่างเบ็ดเสร็จ (Quiet Space) จากคุณภาพสูงสุดในทุกขั้นตอนการผลิต
แถมได้ know-how จาก SUBARU ในการพัฒนารถให้มีจุดศูนย์ถ่วงต่ำ โดยเฉพาะแบตเตอรี่ซึ่งถูกวางไว้ใต้พื้นห้องโดยสาร ตัวเคสแบตถูกออกแบบให้บางลง ทั้ง TOYOTA และ LEXUS สร้างความมั่นใจด้วยการการันตีว่า หลังจากผ่านการใช้งานไป 10 ปี (หรือ 240,000 กิโลเมตร) ประสิทธิภาพของแบตจะลดลงมาอยู่ที่ 90%
นวัตกรรมใน RZ 450e เปิดเผยออกมา 3 เรื่อง ได้แก่ DIRECT4, Steer by Wire และ ระบบช่วงล่าง FRD II เริ่มต้น RZ 450e ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า 2 ตัว แบ่งกันขับเคลื่อนล้อหน้า (150 kW) และล้อหลัง (80 kW) โดยมีระบบ DIRECT4 มารับหน้าที่กระจายกำลังให้สัมพันธ์กับสภาวะการขับขี่ (แบบแปรผัน) ซึ่งทำได้ตั้งแต่ 100:0 ไปจนถึง 0:100 วัตถุประสงค์เพื่อ สร้างอัตราเร่งที่ดีขณะออกตัว, เพิ่มประสิทธิภาพในการยึดเกาะ และลดการใช้พลังงาน
ตัวอย่าง เช่น สภาวะการขับขี่ทั่วไป ช่วงอัตราส่วน 60:40 ถึง 40:60 จะถูกใช้งานมากที่สุด, การเข้าและออกจากโค้ง DIRECT4 จะสั่งใช้อัตราส่วน 75:25 ช่วงเข้าโค้ง และแปรผันไปที่ 50:50 ขณะทะยานออกจากโค้ง ส่วนโหมดการขับขี่สปอร์ต จะเน้นการขับเคลื่อนของล้อหลังมากขึ้น ใช้อัตราส่วนระหว่าง 50:50 ไปจนถึง 20:80 เป็นต้น
Steer by Wire แปลตามชื่อหมายถึง ระบบบังคับเลี้ยวไฟฟ้า ซึ่งแตกต่างจากระบบบังคับเลี้ยวที่ผ่อนแรงด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า (EPS; Electric Power Steering) เพราะ Steer by Wire จะไม่มีกลไกหรือเพลาใดๆ ต่อเชื่อมระหว่างพวงมาลัยกับชุดเฟืองสะพาน (Rack & Pinion) อีกแล้ว เป็นการสั่งการผ่านระบบไฟฟ้า 100%
โดยระบบ Steer by Wire อาศัยข้อมูลจาก องศาการหักเลี้ยวของพวงมาลัย, ความเร็วรถ, แรง g, รอบการหมุนของล้อ, สภาพพื้นผิวถนน ฯลฯ มาประมวลผล
ก่อนเลือกองศาและความเร็วในการหักเลี้ยวของล้อ การนำระบบ Steer by Wire มาใช้ จะช่วยให้ RZ 450e รองรับการควบคุมผ่านระบบ Autonomous Driving ได้ง่ายยิ่งขึ้น
-
แนวหลังคาที่ลาดเอียง ต่อเนื่องไปจนถึงสปอยเลอร์ท้าย ออกแบบตามหลักแอร์โรไดนามิค ช่วยสร้างแรงกดในย่านความเร็วสูง ชิ้นหลังคาแก้วปรับระดับการส่องผ่าน กรองได้ทั้งแสง และความร้อน
ช่วงล่างด้านหน้า RZ 450e ใช้แบบแม็คเฟอร์สันสตรัท ด้านหลังเป็นเทรลลิ่งอาร์ม พร้อมปีกนกคู่ ใช้ช็อคอัพไฟฟ้าที่ควบคุมผ่านระบบ FRD เจเนอเรชันที่ 2 (Frequency Reactive Damper)
โดยจุดขายของระบบนี้ถูกเรียกว่า Lexus Driving Signature ให้การตอบสนองที่ฉับไว ตามความเร็ว และพื้นผิวถนน เพื่อความมั่นคงและความสบายสูงสุดในการเดินทาง
-
สเปกเบื้องต้น ใช้มอเตอร์ตัวหน้า 150 kW มอเตอร์ตัวหลัง 80 kW แรงม้ารวม 230 kW หรือประมาณ 308 PS [ภาพจาก TOYOTA bZ4X]
-
แบตเตอรี่มีความจุ 4 kWh วิ่งได้ไกลประมาณ 360 กิโลเมตร/ชาร์จ (WLTC) [ภาพจาก TOYOTA bZ4X]
ปัจจุบัน RZ 450e ยังอยู่ในขั้นตอนรถโปรโตไทป์ (ข้อมูล April, 2022) สเปกพื้นฐานถูกเปิดมาเพียงบางส่วน และอาจมีการปรับเปลี่ยนได้ในเวอร์ชันจำหน่ายจริง อาทิ มอเตอร์ตัวหน้ามีกำลัง 150 kW มอเตอร์ตัวหลังมีกำลัง 80 kW (แรงม้ารวม 230 kW หรือประมาณ 308 PS), แบตเตอรี่มีความจุ 71.4 kWh และวิ่งได้ไกลประมาณ 360 กิโลเมตร/ชาร์จ (WLTC)
เรื่อง พิทักษ์ บุญท้วม
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th