LOTUS Eletre The world’s first electric Hyper-SUV
หนึ่งในผู้ผลิตรถสปอร์ตระดับตำนานจากอังกฤษได้ล้ำหน้าไปอีกขั้น ด้วยการข้ามผ่านขุมพลัง ICE มาที่ Electric Hyper-SUV ก่อนใคร และ LOTUS จะนำร่องด้วย Eletre เพื่อเปิดตัวเข้าสู่ยุคของ Sustainable Mobility อย่างเป็นทางการ ในวันที่ผู้ผลิตรถสปอร์ตและซูเปอร์คาร์ระดับชั้นนำของโลก ต่างหันมาพัฒนารถแนว SUV นอกเหนือจากผลิตภัณฑ์หลักที่จำหน่ายมาอย่างยาวนาน เพื่อขยายฐานลูกค้า และถ่ายทอดบุคลิกเฉพาะตัวของรถสมรรถนะสูงแต่ละค่าย มาให้ผู้ใช้รถได้สัมผัสในวงกว้าง
Eletre เปิดตัวด้วยสโลแกน Electric Hyper-SUV โมเดลแรกของโลก
การส่งผ่านสมรรถนะจากรถมายังผู้ขับ เพื่อความเป็นหนึ่งเดียวในการบังคับควบคุม นับเป็น Lotus’s DNA ว่าด้วยเรื่องของศาสตร์และศิลป์ ที่ LOTUS สั่งสมประสบการณ์มาอย่างยาวนาน โดยทั้งหมดได้ถูกถ่ายทอดมายังรถทุกโมเดลในค่าย นับแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน
สำหรับ Eletre ซึ่งเป็นว่าที่รถ SUV โมเดลแรกของค่ายก็ไม่มีข้อยกเว้น แม้จะเน้นความอเนกประสงค์ในการใช้งาน หรือแม้จะเป็นรถ BEV (Battery Electric Vehicle) ไร้มลพิษจาก Fossil Fuel ต้นสังกัดก็ยังคงให้ความสำคัญกับเรื่องสมรรถนะไม่เปลี่ยนแปลง
- ใช้รหัสโมเดล ‘Type 132’ พัฒนาขึ้นบนแพลตฟอร์ม ‘EPA’ (Electric Premium Architecture) ซึ่งออกแบบมารองรับแบตเตอรี่หลากหลายขนาด จำนวนมอเตอร์ไฟฟ้าของชุดขับเคลื่อนที่แตกต่างกัน และระบบช่วยขับขี่ระดับก้าวหน้า
ปัจจุบัน LOTUS Eletre ยังไม่พร้อมจำหน่ายอย่างเป็นทางการ ซึ่งเวอร์ชันจำหน่ายจริงก็น่าจะผิดเพี้ยนจากนี้ไปไม่มากนัก โดยเฉพาะในส่วนของดีไซน์ รหัสในการพัฒนา Eletre คือ ‘Type 132’ ถูกกำหนดให้เป็น Pure Electric SUV โมเดลแรกของค่าย โดย LOTUS Evija ซึ่งเป็น Electric Hypercar เปิดตัวมาก่อน ด้วยรหัส ‘Type 130’
นอกจากนี้ LOTUS ได้วางแพลตฟอร์ม ‘Type 133’ ไว้สำหรับรถ E-Segment sedan และ ‘Type 134’ ไว้สำหรับรถ D-Segment SUV ซึ่งจะทยอยเปิดตัวอีกราว 3-5 ปี นับจากนี้
- ชุด Powertrain ใช้มอเตอร์ไฟฟ้าพร้อมเกียร์แบบ Single-speed ขับเคลื่อนล้อหน้าจำนวน 1 ตัว และล้อหลังอีก 1 ตัว ให้กำลังรวม 600 PS
- โครงสร้างและตัวถังของ Eletre มีทั้งอะลูมิเนียม และคาร์บอนไฟเบอร์ มุ่งลดน้ำหนักให้มากที่สุด
ดังนั้นแพลตฟอร์มหรือส่วนพื้นฐานโครงสร้างซึ่งเป็นงานยากที่สุด จึงต้องออกแบบใหม่ทั้งหมด และแพลตฟอร์มนี้จะถูกแตกไลน์ไปเป็นยานยนต์ไฟฟ้าโมเดลใหม่อีกหลายรุ่น LOTUS ใช้ชื่อแพลตฟอร์ม ‘EPA’ (Electric Premium Architecture) ออกแบบมารองรับแบตเตอรี่หลากหลายขนาด, จำนวนมอเตอร์ไฟฟ้าของชุดขับเคลื่อนที่แตกต่างกัน และระบบช่วยขับขี่ระดับก้าวหน้า รวมทั้งออกแบบมารองรับ Autonomous Driving หรือระบบขับขี่อัตโนมัติไว้เรียบร้อยแล้ว
แม้จะไม่ได้เป็นรถสปอร์ตเครื่องยนต์วางกลางลำเช่นเดียวกับรุ่นพี่ในค่าย แต่ทีมวิศวกร LOTUS การันตีว่า Eletre จะให้ฟีลลิ่งและแฮนด์ลิ่งหลังพวงมาลัยที่ไม่เป็นรองกัน จากการใช้ระยะฐานล้อ (Wheelbase) ที่ยาว พร้อมช่วงโอเวอร์แฮงค์ (Overhangs) หน้า-หลัง ที่สั้น
เมื่อประกอบกับดีไซน์ที่ไม่ติดข้อจำกัดของขนาดและตำแหน่งการวางเครื่องยนต์ แนวฝากระโปรงหน้าจึงสั้น และกดได้ต่ำกว่าที่เคยเห็นในรถ SUV ทั่วไป ท่อนหน้ารถสามารถใช้รูปทรงลิ่มเช่นเดียวกับ LOTUS Emira ซึ่งวางเครื่องยนต์ในรูปแบบ mid-engine ได้แบบสบาย ๆ
LOTUS Eletre ขับเคลื่อนด้วย ‘2 E-motors’ ใช้มอเตอร์ไฟฟ้าพร้อมเกียร์แบบ Single-speed ขับเคลื่อนล้อหน้าจำนวน 1 ตัว และล้อหลังอีก 1 ตัว ให้กำลังรวม 600 PS สมรรถนะเร้าใจสมกับเป็น Electric Hyper-SUV จาก LOTUS ความเร็วสูงสุด 260 กม./ชม. และทำอัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ต่ำกว่า 3 วินาที
- อุปกรณ์ Infotainment สื่อสารกับผู้ขับและผู้โดยสารผ่านจอ OLED แบบสัมผัส ขนาด 15.1 นิ้ว และระบบต่างๆ ของ Eletre รองรับการอัปเดตซอฟต์แวร์แบบ over-the-air เช่นเดียวกับสมาร์ตโฟน
LOTUS เป็นแบรนด์รถยนต์เก่าแก่ ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานร่วม 71 ปี ทั้งบนถนน และสนามแข่ง ดังนั้น LOTUS จึงมีพันธมิตรในวงการมากมาย ทั้งหมดล้วนเป็นบริษัทที่เชี่ยวชาญเฉพาะทาง
สำหรับ Evija ที่เปิดตัวมาก่อน (ผลิต 130 คัน) ในส่วนของชุด All-electric Powertrain ใช้แบบ ‘4 E-motors’ พัฒนาโดย Williams Advanced Engineering (WAE) เป็นเทคโนโลยีเดียวกับมอเตอร์ไฟฟ้าสายมอเตอร์สปอร์ต นับตั้งแต่ Formula 1 ไปจนถึง Formula E โดย Evija ใช้มอเตอร์ไฟฟ้าต่อตรงอยู่กับแต่ละล้อ แต่ละตัวมีกำลัง 500 PS รวม 4 ล้อ ได้แรงม้าขับเคลื่อนรถ 2,000 PS มีแรงบิดสูงสุดรวมอยู่ที่ 1,700 Nm
- แม้จะเป็นรถ SUV โมเดลแรกของค่าย แต่งานออกแบบห้องโดยสาร Eletre ไม่เป็นรอง SUV เจ้าตลาดจากฝั่งเยอรมัน ทั้งเรื่องความกว้างขวาง อุปกรณ์ไฮเทค และคุณภาพวัสดุ ที่ให้สัมผัสระดับพรีเมียม
ส่วน Eletre ชุด Powertrain ใช้ ‘2 E-motors’ มอเตอร์ไฟฟ้าพร้อมเกียร์แบบ Single-speed ขับเคลื่อนล้อหน้าจำนวน 1 ตัว และล้อหลังอีก 1 ตัว ให้กำลังรวม 600 PS
ส่วนแรงบิดสูงสุดยังไม่เปิดเผย โดยแรงบิดจากล้อทั้งสี่ ถูกออกแบบให้ทำงานร่วมกับระบบ Torque Vectoring ที่ช่วยเพิ่มความสมดุลในการส่งถ่ายแรงขับเคลื่อน ขณะรถอยู่ในโค้ง
ดังนั้น Eletre จึงสามารถขับเคลื่อนได้ทั้ง 2 ล้อ หรือครบทั้ง 4 ล้อ ตามสภาพการขับขี่ แถมยังมีระบบ ESP มาคอยกำกับ เพื่อไม่ให้รถเสียการทรงตัวด้วย
ชาร์จด้วยไฟ DC, 350 kW ชาร์จเพียง 20 นาที รถวิ่งใช้งานได้ 400 กิโลเมตร (WLTP)
ช่วงล่างเป็นไปตามมาตรฐานรถกลุ่ม Premium SUV ด้วย Air Suspension หรือช่วงล่างถุงลม พ่วงมาด้วยระบบ Active Ride Height ปรับระดับความสูงตามรูปแบบการขับขี่
ส่วนเรื่องปรับระดับการทำงานของช็อคอัพไฟฟ้า เป็นหน้าที่ของระบบ CDC (Continuous Damping Control) จากนั้นลดรัศมีวงเลี้ยวด้วยระบบ Active Rear Axle Steering (ล้อหลังช่วยล้อหน้าเลี้ยว) และลดอาการโคลงของตัวถังผ่านระบบ Active Anti-roll Bars ซึ่งจะปรับค่าความแข็งของเหล็กกันโคลงแปรผันตามแรง g ขณะที่ Eletre วิ่งอยู่ในโค้ง หรือเปลี่ยนเลนกะทันหัน
ชุดแบตเตอรี่ของ Eletre ตำแหน่งการติดตั้งใต้พื้นห้องโดยสาร ระหว่างเพลาหน้าและเพลาหลัง ช่วยลดจุดศูนย์ถ่วง (C.G.) และเน้นการสมดุลน้ำหนัก มีความจุไม่น้อยกว่า 100 kWh ระบบขับเคลื่อนใช้กระแสไฟ 800 โวลต์ หากชาร์จด้วยไฟ DC, 350 kW ชาร์จเพียง 20 นาที รถวิ่งใช้งานได้ 400 กิโลเมตร (WLTP)
ส่วนการชาร์จผ่านไฟบ้าน AC, 22 kW ก็จะเร็วยิ่งขึ้น (ยังไม่ระบุเวลา) และเมื่อแบตเต็ม Eletre จะมีพิสัยการเดินทางอยู่ที่ราว 600 กิโลเมตร (WLTP) สมรรถนะจากโรงงานของ Eletre เร้าใจสมกับเป็น Electric Hyper-SUV จาก LOTUS ความเร็วสูงสุด 260 กม./ชม. และทำอัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ต่ำกว่า 3 วินาที!!!
เรื่อง พิทักษ์ บุญท้วม
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th