Mazda 3 VS. Mazda 3 ปรับตรงไหน เปลี่ยนอย่างไร ?
เจนเนอเรชันที่ 3 ของ Mazda 3 (เมื่อนับจากปี 2003 ที่ใช้ชื่อนี้) มาการปรับโฉมครั้งแรกในรอบ 3 ปีแล้ว โดยเปิดตัวที่ญี่ปุ่น และในเมืองไทยก็น่าจะเข้ามาขายในเร็วๆ นี้ คราวนี้มาดูกันว่าระหว่างรุ่นก่อนหน้านี้ที่เปิดตัวเมื่อปี 2013 กับรุ่นไมเนอร์เชนจ์ MY2017 เปลี่ยนกันเยอะขนาดไหน
-ด้านหน้า : อาจจะไม่ถึงกับเห็นแบบจะๆ แต่ถ้าคุณมีภาพของรุ่นก่อนปรับโฉม แล้วนำมาวางเปรียบเทียบกันจะทราบดีกว่า ‘จริงๆ แล้วมันเปลี่ยนเยอะเอาเรื่องเหมือนกัน’ โดยเฉพาะตรงส่วนที่เป็นด้านหน้าชองตัวรถ ทั้งกันชนหน้า ไฟหน้า และกระจังหน้า ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นเฉพาะในส่วนของไฟหน้าซึ่งติดกับกระจังและกันชนหน้า แต่ตรงส่วนไฟช่วงปลายที่ติดกับแก้มตัวถัง ยังมีลักษณะที่มีรูปทรงเหมือนเดิม ตรงนี้ก็เลยไม่จำเป็นที่จะต้องปรับเปลี่ยนไปตาม นอกจากนั้น ในญี่ปุ่น ยังเป็นไฟหน้าอัตโนมัติ Adaptive LED Headlight สามารถทำงานในระดับความเร็ว+/- 40 กิโลเมตร/ชั่วโมง ปรับแสงไฟอัตโนมัติตามรูปแบบการขับขี่ และ Highway Mode ปรับการทำงานส่องสว่างในการขับขี่กลางคืนให้สามารถส่องได้ไกลขึ้น เมื่อความเร็วของตัวรถเกิน 95 กิโลเมตร/ชั่วโมงนอกจากนั้นรายละเอียดบนกันชนหน้า เช่น ขอบโครเมียมของกระจัง ลักษณะของไฟตัดหมอก รูปทรงของ Air Damp หรือช่องดักอากาศด้านหน้า ก็มีการเปลี่ยนแปลงด้วยเช่นกัน
-ด้านท้าย : คุณไม่ผิดถ้าหากจะแยกไม่ออกระหว่างรุ่นก่อนและหลังปรับโฉม เพราะตามธรรมเนียมแล้ว แม้ว่าจะยังใช้ไฟท้ายแบบกรอบเดิม แต่อย่างน้อยรายละเอียดของไฟสัญญาณ และการจัดวางอะไรบางอย่างภายในโคมไฟท้าย รวมถึงเลนส์ไฟก็น่าจะต้องปรับเปลี่ยนตามไปด้วย แต่นี่เมื่อมองจากตาเปล่าแล้วก็ยังเหมือนเดิม หรือถ้าเปลี่ยนก็ถือว่าน้อยเต็มทน แต่จุดที่สังเกตได้คือ รายละเอียดของกันชนท้าย เพราะทาง Mazda ปรับเปลี่ยนในส่วนของพื้นที่ ซึ่งเป็นพลาสติก และไฟทับทิมใหม่ เรียกว่าขยายพื้นที่ซึ่งเป็นส่วนของสีเดียวกับตัวถังมากขึ้น และลดพื้นที่สีดำของพลาสติกลง และย้ายไฟทับทิมจากเดิมอยู่ในพื้นที่ส่วนพลาสติกสีดำขึ้นไปอยู่ในส่วนของพื้นที่เดียวกับสีตัวถัง
-ภายใน : ชุดมาตรวัดหลักอาจจะไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน เพราะทั้ง 2 รุ่นยังใช้ดีไซน์และเลย์เอาท์เหมือนกัน อาจจะต่างนิดหน่อยตรงวัสดุที่ใช้ในการตกแต่ง แต่ที่เปลี่ยนแปลงและเห็นได้ชัดเจนคือ พวงมาลัยแม้ว่าจะเป็นทรงสามก้าน แต่ก็มีการเปลี่ยนดีไซน์ใหม่อย่างชัดเจน และในรุ่นที่มีปุ่มมัลติฟังก์ชั่น ก็มีการจัดเรียงปุ่มใหม่ อีกจุดที่สังเกตได้ คือ รุ่นใหม่หันมาใช้เบรกมือไฟฟ้า ไม่ต้องยกด้ามเบรกมือเหมือนกับเมื่อก่อนอีกแล้ว โดยปุ่ม P ของเบรกมือจะติดตั้งอยู่ที่ฐานคันเกียร์ ส่วนเบาะนั่งก็ยังเป็นรูปทรงแบบเดิมไม่เปลี่ยนแปลง
-เครื่องยนต์ : ที่มีการเปิดเผยออกมาในตอนนี้ สำหรับสเปกญี่ปุ่นจะเพิ่มรุ่นดีเซลตัวต่ำสุด ซึ่งเป็นเครื่องยนต์ใหม่สำหรับที่นี่คือ บล็อก 4 สูบ 1,500 ซีซี เทอร์โบดีเซล 105 แรงม้า มีทั้งรุ่นเกียร์ธรรมดาและอัตโนมัติ 6 จังหวะ ส่วนเครื่องยนต์เทอร์โบดีเซล 2,200 ซีซีที่มีอยู่แล้วก่อนหน้านี้ก็ยังขายต่อไปควบคู่กับรุ่นเบนซิน 1,500 ซีซี โดยมีให้เลือกทั้งแบบขับเคลื่อนล้อหน้า หรือ 4 ล้อตลอดเวลา ส่วนตลาดยุโรปจะมีทั้งรุ่นเบนซิน 1,500 ซีซี 100 แรงม้า และ 120แรงม้า ตามด้วย 2,000 ซีซี 165 แรงม้า พร้อมเทอร์โบดีเซล 1,500 ซีซี 105 แรงม้า และ2,200 ซีซี 150 แรงม้า โดยทางเลือกตรงนี้ยังเหมือนเดิม
-เทคโนโลยี : ที่กลายเป็นจุดเด่นซึ่ง Mazda จะนำมาโปรโมทในรุ่นใหม่นี้คือ SKYACTIV-Vehicle Dynamics ที่มีจุดเด่นอยู่ที่ G-Vectoring Control ซึ่งก็คือ การใช้เครื่องยนต์เพิ่มประสิทธิภาพของระบบช่วงล่าง และการควบคุมรถให้ดีขึ้น โดยเป็นครั้งแรกของโลกที่มีการใช้ระบบควบคุมแรงบิดเครื่องยนต์ตามการหมุนของพวงมาลัย การช่วยคำนวณการถ่ายเทน้ำหนักลงสู่ล้อแต่ละข้างตามการเหยียบคันเร่งหรือชะลอความเร็ว รวมทั้งลดการเคลื่อนของพวงมาลัยเพื่อรักษารถให้อยู่ในเลนได้ง่ายขึ้น ส่วนระบบความปลอดภัยที่เรียกว่า Advanced Smart City Brake system ก็มีการอัพเกรดในแง่การทำงานทั้งการตรวจจับรถยนต์ที่อยู่บนท้องถนนและคนเดินถนน โดยจะเปลี่ยนการจับภาพที่อยู่ข้างหน้ามาเป็นกล้องแบบ Forward-Sensing แทนการใช้สัญญาณอินฟาเรด และจะทำงานในช่วงความเร็ว 4-80 กิโลเมตร/ชั่วโมง
เรื่อง: กองบรรณาธิการ
เรียบเรียงข้อมูลโดย กรังด์ปรีซ์ออนไลน์ GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th