Mazda ตั้งเป้า New CX-8 ยึดตลาดเอสยูวีครอบครัว 7 ที่นั่ง
Mazda ตั้งเป้าส่ง New CX-8 พรีเมียมครอสส์โอเวอร์ ยึดตลาด เอสยูวีครอบครัว แบบ 7 ที่นั่งของประเทศไทย หลังจากสถานการณ์การผลิตเริ่มกลับคืนสู่ปกติ ทำให้มีรถยนต์พร้อมส่งมอบให้ลูกค้าทันที หลังการเปิดตัวรุ่นไมเนอร์เชนจ์ ปี 2022 เมื่อวันจันทร์ที่ 25 กรกฎาคมที่ผ่านมา
ธีร์ เพิ่มพงศ์พันธ์ รองประธานบริหารอาวุโสบริษัทมาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) เปิดเผยถึงแผนการทำตลาดของ New Mazda CX-8 รุ่นปรับโฉมว่า “ยอดขายรถอเนกประสงค์ (SUV) ที่มีพื้นฐานจากรถยนต์นั่ง (Sedan) เราเป็นเบอร์หนึ่งมาตลอด แต่สำหรับการเปิดตัว New CX-8 ทางมาสด้า ไม่อาจตั้งเป้าหมายเป็นตัวเลขที่แน่นอนได้ เพราะปริมาณการผลิตรถรุ่นนี้เพิ่งจะกลับมา จากเดิมที่มีรถยนต์พร้อมส่งมอบ 100 คันต่อเดือน ตอนนี้ยอดการผลิตกลับมาเพิ่มขึ้นเป็น 3-4 เท่า ทำให้เราเริ่มทยอยส่งมอบรถให้ลูกค้าได้มากขึ้น”
“ผมมองว่าเซกเม้นต์รถอเนกประสงค์ขนาดใหญ่ (Large SUV) มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ถึงจะไม่หวือหวา แต่ตัวเลขยอดขายก็เคยอยู่ระหว่าง 50,000-90,000 คัน แม้ว่าช่วง 3 ปีที่ผ่านมายอดขายลดลงมาอยู่ในราว 60,000 คัน แต่เป็นตัวเลขที่เติบโตต่อเนื่อง เป็นกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อ แต่การติดปัญหาการผลิตทำให้ต้องรอส่งมอบนานขึ้น ทำให้ตั้งเป้าหมายตัวเลขยอดขายลำบาก แต่หากพูดถึงเฉพาะเซกเมนต์นี้ มาสด้า ต้องการเป็นอันดับ 1 เพราะว่ารถยนต์แบบ 3 แถว 7 ที่นั่งที่มีพื้นฐานจากรถยนต์นั่ง ในตลาดประเทศไทยมีตัวเลือกเพียงไม่กี่แบรนด์เท่านั้น ทำให้ผมเชื่อว่า Mazda สามารถเป็นหมายเลขหนึ่งได้”
ตอบโจทย์ด้วยขุมพลังดีเซล SKYACTIV-D
การเปิดตัว New CX-8 ทางมาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) วางตำแหน่งเครื่องยนต์ดีเซล Skyactiv-D 2.2 เป็นตัวเลือกใน 2 รุ่นท็อป XDL (ห้องโดยสารแบบ 3 แถว 7 ที่นั่ง, ราคา 1,849,000 บาท) และ XDL Exclusive (ห้องโดยสารแบบ 3 แถว 6 ที่นั่ง Captain Seat ปรับไฟฟ้า, ราคา 2,199,000 บาท) โดยธีร์ อธิบายว่า “ในความเป็นจริงแล้ว เอสยูวีเครื่องยนต์ดีเซลของ Mazda เปิดตัวครั้งแรกกับ CX-5 เมื่อปี 2013 โดยมีกลุ่มเป้าหมายที่แน่นอน จากการที่เครื่องยนต์ดีเซลมีคาแร็กเตอร์ที่ชัดเจนในด้านความประหยัด และสมรรถนะที่ตอบสนองการใช้งานได้เป็นอย่างดี”
“ถ้าสังเกตจะเห็นว่า Mazda พยายามนำเสนอเครื่องยนต์ดีเซลเป็นตัวเลือกในเกือบทุกรุ่นทั้ง CX-5, Mazda2 หรือ CX-3 ทำให้เรานำเสนอ New CX-8 Skyactiv-D ใน 2 รุ่นบน โดยเฉพาะรุ่นท็อปเครื่องยนต์ดีเซลทำยอดขายได้ดีต่อเนื่องมาตลอด (นับตั้งแต่เปิดตัวในประเทศไทยครั้งแรกเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2562)”
รองประธานบริหารอาวุโสบริษัทมาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) ยังเปิดเผยว่าตอนนี้สถานการณ์ของโรงงานผลิต Mazda ที่ประเทศมาเลเซีย ซึ่งเป็นฐานการผลิตเอสยูวีทั้ง CX-8 และ CX-5 เริ่มกลับมาสู่ปกติ ทำให้มีรถที่พร้อมส่งมอบให้ลูกค้าทันที และยอดจองที่คงค้างจากรุ่นก่อนปรับโฉมจะมีการเชิญลูกค้ามาพูดคุยเพื่อเปลี่ยนมาออกเป็น New CX-8 ต่อไป
สถานการณ์ยอดขายครึ่งหลังของปี 2565
ในขณะที่ภาพรวมของอุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศไทยในปี 2565 เริ่มกลับมาฟื้นตัว โดยก่อนหน้านี้มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) เปิดเผยว่าช่วงครึ่งปีแรกมีการส่งมอบรถยนต์ 20,117 คัน เติบโตเพิ่มขึ้น 6.4% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว และตั้งเป้าหมายยอดขายรวมทั้งปี 45,000 คัน
“ตอนนี้สถานการณ์เริ่มดีขึ้น ภาพรวมอุตสาหกรรมเติบโตราว 15 เปอร์เซ็นต์” ธีร์ ให้ความเห็น “ขณะที่ช่วง 6 เดือนแรก Mazda มีอัตราเติบโตที่น่าพอใจ การเปิดตัว New CX-8 คาดว่าจะช่วยกระตุ้นยอดขายของ Mazda ได้มากขึ้น ทำให้บริษัทต้องประเมินยอดขายใหม่ โดยคาดว่าอุตสาหกรรมยานยนต์โดยรวมจะเติบโตเพิ่มขึ้นราว 10-20 เปอร์เซ็นต์”
สรุปยอดจำหน่ายรถยนต์มาสด้าในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 เปรียบเทียบกับปี 2564
ข้อมูลการขายรถ | มกราคม – มิถุนายน 2565 (คัน) | มกราคม – มิถุนายน 2564 (คัน) | เปลี่ยนแปลง (%) |
Mazda2 | 11,242 | 9,623 | +16.8% |
Mazda3 | 866 | 1,270 | -31.8% |
Mazda CX-3 | 2,792 | 2,227 | +25.4% |
Mazda CX-30 | 3,869 | 4,194 | -7.8% |
Mazda CX-5 | 421 | 390 | +8.0% |
Mazda CX-8 | 414 | 533 | -22.3% |
Mazda BT-50 | 510 | 668 | -23.7% |
Mazda MX-5 | 3 | 3 | 0% |
ยอดรวม | 20,117 | 18,908 | +6.4% |
Mazda New CX-8 เอสยูวีครอบครัว
เรื่อง: พูนทวี สุวัตถิกุล
ขอบคุณข้อมูล: บริษัทมาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย)
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th