Mazda Rotary&Kenichi Yamamoto…ชายที่เคยทำให้มาสด้าขึ้นสู่จุดสูงสุด
ความทรงจำของผู้คนที่ติดตามเรื่องราวของมาสด้า ค่ายรถญี่ปุ่นที่มีเรื่องราวแห่งการเปลี่ยนแปลงในหลายเรื่อง จากที่เคยเงียบเหงาจนเกือบจะหายไปจากความทรงจำของผู้ใช้รถเมืองไทยรวมไปถึงทั่วโลก ก็กลับพลิกฟื้นมาเป็นหนึ่งในกระแสค่ายรถที่ได้รับความนิยมขึ้นเรื่อยๆ
แต่หากย้อนไปในอดีตมาสด้าเคยก้าวขึ้นสู่จุดสูงสุดในโลกยานยนต์ ด้วยการเข้าร่วมการแข่งขันมอเตอร์สปอร์ตที่ เลอ ม็อง ในปี 1991 ด้วยรถ 787B สปอร์ตคาร์ ที่ใช้เครื่องยนต์ โรตารี่แบบ 4 โรเตอร์ ซึ่งเป็นเพียงทีมเดียวที่ใช้เครื่องยนต์แบบโรตารี่ในการแข่งขัน ซึ่งเทคโนโลยีในการพัฒนาเครื่องยนต์โรตารี่ของมาสด้า เป็นผลงานการพัฒนาค้นคว้าและสร้างจาก “เคนอิจิ ยามาโมโต” และทีมงานวิศวกรที่เรียกว่า 47 ซามูไร
“เคนอิจิ ยามาโมโต” ถูกขนานนามว่าเป็น บิดาแห่งเครื่องยนต์โรตารี่ของมาสด้า คงมาจากหลายส่วน เพราะนอกจากเขาจะมีแนวคิดในการพัฒนาเครื่องยนต์โรตารี่ของมาสด้าให้มีสมรรถนะที่สูงขึ้น เขายังทำให้แบรนด์อย่างมาสด้ามีทิศทางและตัวตนในการสร้างรถสองประตูแบบสปอร์ตเปิดประทุนออกมาจำหน่าย จนเป็นที่รู้จักมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน
เขาเรียนจบมาทางด้านวิศวกรรมยานยนต์ ญี่ปุ่นในช่วงนั้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ต้องทำงานอย่างหนักเพื่อพัฒนาประเทศที่บอบช้ำจากระเบิดนิวเคลียร์ อุตสาหกรรมยานยนต์คือหนึ่งในทิศทางเศรษฐกิจที่ต้องพัฒนา ความรู้และประสบการณ์ของเขาถูกสั่งสมจากการมาทำงานที่ โรงงาน Toyo Kogyo ที่ได้เริ่มสร้างเครื่องยนต์ใหม่สำหรับรถบรรทุกสามล้อ ซึ่งจำหน่ายภายใต้แบรนด์มาสด้า
แบรนด์มาสด้าเปิดตัว Mazda R36 ในปี 1961 ซึ่งถือเป็นรถยนต์รุ่นแรก และปีต่อมามาสด้ามีโครงการพัฒนาเครื่องยนต์แบบโรตารี่ร่วมกับหุ้นส่วนทางเทคนิค NSU จากเยอรมัน “เคนอิจิ ยามาโมโต” ได้รับมอบหมายให้ดูแลเรื่องนี้ร่วมกับทีมงานวิศวกร 47 ซามูไร
จากนั้นในปี 1964 มาสด้าได้นำเสนอรถต้นแบบ Cosmo Sport ซึ่งเป็น Roadster สปอร์ตสองประตูเปิดประทุนได้ ที่วางเครื่องยนต์แบบโรตารี่ และนี่คือการเปิดประตูสู่อนาคตที่ยิ่งใหญ่ของมาสด้าในช่วงเวลานั้น จากผลงานของ “เคนอิจิ ยามาโมโต” และทีมวิศวกร 47 ซามูไร
กว่าที่ Cosmo Sport จะถูกผลิตออกมาในปี 1967 ไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะมันต้องผ่านข้อจำกัดกฎเกณฑ์ของหน่วยงานรัฐบาลประเทศญี่ปุ่น ที่ไม่ค่อยเอื้ออำนวยในช่วงแรกๆ แต่มันก็สำเร็จออกมาเป็นรถ Roadster ที่มาพร้อมเครื่องยนต์แบบโรตารี่แบบ 2 โรเตอร์ หลังจากนั้นเป็นต้นมา มาสด้าเล่นกับเครื่องยนต์แบบโรตารี่มาตลอดในทุกรุ่นที่ผลิตออกมาช่วงนั้น อย่างรถในตระกูล RX และทำให้ RX7 ได้รับความนิยมในตลาดอเมริกา ในปี 1978
“เคนอิจิ ยามาโมโต” ก้าวสู่ตำแหน่งสูงสุด Chairman ในปี 1987 จากนั้นเขาได้ทำการพัฒนา Roadster ของมาสด้าให้มีเอกลักษณ์ผสมความคลาสสิคสไตล์ยุโรป จนนำไปสู่เอกลักษณ์ two-seat roadster ของมาสด้า จนเป็นที่รู้จักและประสบความสำเร็จในการแข่งขันอย่างที่ได้กล่าวไปในช่วงต้น
จะเห็นได้ว่าเขาคือบุคคลที่ทำผลงานให้แบรนด์อย่างมาสด้าขึ้นสู่จุดสูงสุด และเป็นที่ยอมรับในตลาดรถยนต์ทั่วโลก เพราะนอกจากจะจับเอาเครื่องยนต์แบบโรตารี่มาพัฒนาและใช้งานอย่างจริงจัง ซึ่งในตอนนั้นจนกระทั่งถึงปัจจุบันไม่เป็นที่นิยมเท่ากับเครื่องยนต์แบบอื่น แต่มันก็ยังถูกใช้และพัฒนามาอย่างต่อเนื่องในรถสปอร์ตของมาสด้า
อาจเป็นเพราะการร่วมมือพัฒนากับทาง NSU ของเยอรมันทำให้เขาเล็งเห็นถึงสมรรถนะอันได้เปรียบกว่าเครื่องยนต์แบบอื่นบนพื้นฐานเดียวกัน เพราะเครื่องยนต์แบบโรตารี่นั้นในหนึ่งโรเตอร์จะเท่ากับเครื่องยนต์แบบลูกสูบถึงสามสูบ จึงมีขนาดและน้ำหนักเครื่องยนต์ที่น้อยกว่า อีกทั้งในหนึ่งกลวัตรหรือการเคลื่อนที่หมุน 1 รอบของโรเตอร์ (เปรียบได้กับลูกสูบของเครื่องยนต์โรตารี่) จะได้งานหรือกำลังจากการจุดระเบิดถึง 3 ครั้ง ซึ่งมากกว่าเครื่องยนต์แบบ 3 สูบถึง 6 เท่า เพราะเครื่องยนต์แบบลูกสูบต้องหมุนถึง 2 รอบถึงจะได้กำลังการระเบิด 1 ครั้งต่อกระบอกสูบ อีกทั้งยังต้องจุดระเบิดตามลำดับทีละสูบอีกต่างหาก ดังนั้นเครื่องยนต์แบบ 2 โรเตอร์ของมาสด้า จะเท่ากับเครื่องยนต์ 6 สูบ ที่ทำงานได้เทียบเท่าเครื่อง 12 สูบ ในเครื่องยนต์แบบ 4 จังหวะ ดูด อัด ระเบิด คลาย
ด้วยสมรรถนะที่จัดจ้านของเครื่องยนต์แบบโรตารี่ ให้การตอบสนองที่ทันทีทันใด แต่ต้องแลกมาด้วยอัตราการสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงที่ค่อนข้างมาก จึงกลายเป็นข้อจำกัดในการใช้งาน ที่กระแสโลกเดินไปตามหนทางของการประหยัดพลังงาน รวมถึงการหาเชื้อเพลิงทดแทนชนิดใหม่ ซึ่งยากที่จะรองรับเครื่องยนต์แบบโรตารี่ที่รอบจัดและความร้อนสูง มันจึงถูกนำไปใช้ในรถแบบเฉพาะอย่างพวกรถสปอร์ตหรือรถสำหรับการแข่งขัน แต่ในปัจจุบันเครื่องยนต์แบบลูกสูบมีการพัฒนาไปมากจนเพียงพอต่อการใช้งาน อีกทั้งสมรรถนะที่ไม่ได้ด้อยไปกว่าเครื่องยนต์แบบโรตารี่ ในรูปแบบการใช้งานจริง ทำให้เครื่องยนต์แบบโรตารี่ไม่ถูกนำมาใช้ในแบรนด์อื่น หรือแม้แต่ค่ายมาสด้าเองในปัจจุบัน
แต่ถ้าการพัฒนาเครื่องยนต์แบบโรตารี่ให้สามารถใช้เชื้อเพลิงทางเลือกได้มากขึ้น อย่างน้อยก็ต้องรองรับน้ำมันแบบแก๊สโซฮอล์ และมีอัตราการสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงที่อยู่ในระดับซึ่งผู้ใช้งานสามารถยอมรับและจับต้องได้ รวมไปถึงการกระจายเทคโนโลยีให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย ในอนาคตอาจจะมีการนำเอาเครื่องยนต์แบบโรตารี่มาใช้ในรถหรือยานพาหนะอื่นๆ ก็เป็นได้
สำหรับมาสด้ากับเครื่องยนต์แบบโรตารี่คงจะไม่ทิ้งกันไปไหน แต่อาจจำกัดอยู่ในรุ่นเฉพาะอย่างตระกูล Roadster จนกว่าจะมีความชัดเจนในการพัฒนาที่ลงตัวจนสามารถทำให้เครื่องยนต์แบบโรตารี่กลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้ง ตามปณิธานของ“เคนอิจิ ยามาโมโต”
“เคนอิจิ ยามาโมโต” เขาได้เสียชีวิตลงแล้วเมื่อเร็ว ๆนี้ หลังจากมีข่าวออกมาทำให้ การรำลึกถึงเรื่องราวและผลงานที่เขาได้ทำเอาไว้เป็นสิ่งที่น่าสนใจ เพราะมันหมายถึงอนาคตของแบรนด์อย่างมาสด้าที่ได้ผ่านวันเวลาจากอดีตจนถึงปัจจุบัน เชื่อได้เลยว่าโลกยานยนต์จะต้องมีการพัฒนาไปอีกมาก เหมือนกับในอดีตและเรื่องราวของเขา “เคนอิจิ ยามาโมโต” Father of the Mazda Rotary…
เรื่อง : ศิปิวรรธ ปานกลาง
ขอบคุณภาพ : www.carnichiwa.com / www.s1.cdn.autoevolution.com / www.johsautolife.com / www.i.kinja-img.com / www.motorpasion.com
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานต์ยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th