MazdaCX คืออะไร มีกี่รุ่น มาทำความรู้จักกัน
MazdaCX คืออะไรมีกี่รุ่น มาทำความรู้จักกัน ในปี 2012 Mazda ได้ปัดฝุ่นนำตัวเองกลับสู่ตลาด SUV อีกครั้งหลังจากที่ห่างหายไปนาน และแต่ละรุ่นจะมีชื่อนำหน้าว่า CX และต่อท้ายด้วยตัวเลข ซึ่งแน่นอนว่าหลายคนเริ่มสงสัยละว่า มันคืออะไรกันแน่ วันนี้เรามาทำความรู้จักกัน
CX เป็นตัวย่อของคำว่า Cross-Over หรือรถยนต์อเนกประสงค์ที่เกิดจากการควบรวมทางด้านการออกแบบของรถยนต์แบบหนึ่งเข้าอีกแบบหนึ่งเพื่อให้เกิดเป็นรถยนต์ตัวถังใหม่ขึ้นมา ซึ่งในปัจจุบัน Cross-Over มักจะถูกนำมาใช้ในการนิยามรถยนต์อเนกประสงค์ในสไตล์ SUV ที่มีความสะดวกสบายเหมือนกับรถยนต์นั่ง และสามารถลุยวิบากได้เหมือนกับพวก 4X4 แม้จะไม่เยอะเท่าก็ตาม ในปัจจุบัน Mazda มีผลผลิตในตระกูล CX อยู่ด้วยกัน 5 รุ่น และมีบางรุ่นผลิตเพื่อจำหน่ายในบางประเทศด้วย MazdaCX เริ่มจาก
CX-3 : เป็น Sub Compact SUV ที่ถูกส่งเข้ามาเสริมทัพแข่งกับบรรดารถยนต์ในกลุ่มเดียวกันอย่าง Honda HR-V, Toyota CH-R หรือ Nissan Juke โดย CX-3 เปิดตัวครั้งแรกในปี 2015 และแม้ว่าตัวเลขต่อท้ายจะเป็นเลข 3 ซึ่งควรจะหมายถึงระดับเดียวกับ Mazda 3 แต่ทว่าพื้นฐานทางวิศวกรรมของรถยนต์รุ่นนี้แชร์ร่วมกับ Mazda 2 หรือ Demio ในญี่ปุ่น โดยตัวถังจะมาในแบบแฮทช์แบ็ก 5 ประตูยกสูง มีทั้งรุ่นขับเคลื่อนล้อหน้า และ 4 ล้อให้เลือกใช้ โดยเครื่องยนต์อยู่ในกลุ่ม Skyactiv โดยจะมีทั้งเบนซิน 4 สูบ 2,000 ซีซี 155 แรงม้า ส่วนเทอร์โบดีเซลมี 2 รุ่นคือ 1,500 ซีซี 105 แรงม้า และ 1,800 ซีซี
CX-5 : เป็นรถยนต์รุ่นแรกในตระกูล MazdaCX และถือเป็นรุ่นเปิดสายพันธุ์เลยก็ว่าได้ โดยเปิดตัวครั้งแรกในปี 2012 โดยตัวรถได้รับการพัฒนาอยู่บนพื้นฐานเดียวกับ Mazda 3 และจัดเป็นคู่ปรับโดยตรงของ Honda CR-V, Nissan X-Trail และ Toyota RAV4 (ซึ่งบ้านเราไม่มีขายอย่างเป็นทางการ) ในแง่ของการออกแบบนั้น CX-5 รุ่นใหม่ได้รับแนวคิดในการสร้างสรรค์มาจาก KODO-Soul of motion ซึ่งเป็นแนวทางการออกแบบใหม่ของ Mazda และถูกนำมาใช้กับยรถยนต์หลายรุ่นของแบรนด์ ในแง่ของการทำตลาดนั้น CX-5 จะมากับตัวถังเดียวในแบบ 5 ประตูที่มีขนาดตัวถังยาว 4,550 มิลลิเมตร และระยะฐานล้อ 2,698 มิลลิเมตร โดยเครื่องยนต์ที่ทำตลาดจะมีทั้งรุ่น 4 สูบ 2,000 ซีซี 165 แรงม้า และ 2,500 ซีซี รุ่นธรรมดา 181 แรงม้า และเทอร์โบ 231 แรงม้า ขณะที่รุ่นเทอร์โบดีเซลมี 1 รุ่นคือ 4 สูบ 2,200 ซีซี 190 แรงม้า โดยในบ้านเรานั้นจะมีขายด้วยกัน 3 รุ่นคือ 2,000 ซีซี และ 2,500 ซีซี เทอร์โบ รวมถึงดีเซล 2,200 ซีซี
CX-8 : ทางเลือกใหม่ที่ถูกเปิดตัวออกสู่ตลาดเพื่อเสริมทัพให้กับ CX-5 ด้วยทางเลือกใหม่ในแบบ SUV ที่มีขนาดตัวถังใหญ่ขึ้น และเบาะนั่งแบบ 3 แถวที่มีทั้ง 6 และ 7 ที่นั่งให้เลือกใช้ โดยในรุ่นนี้มีการแชร์พื้นฐานเดียวกับ CX-5 แต่ขยายขนาดตัวถังขึ้นโดยเพิ่มความยาวเป็น 4,900 มิลลิเมตร (+350 มิลลิเมตร) และระยะฐานล้อเพิ่มขึ้นอีก 232 มิลลิเมตรเป็น 2,930 มิลลิเมตร โดยพื้นที่ที่เพิ่มขึ้นถูกนำไปใช้ในการเพิ่มความกว้างขวางในห้องโดยสาร โดยเฉพาะในส่วนของเบาะนั่งแถวที่ 2 ซึ่งในรุ่น 6 ที่นั่งจะมีการปรับเป็นแบบ Captain Seat แยกฝั่งซ้ายขวาสำหรับรองรับกับการเดินทางของผู้บริหาร ทางเลือกของเครื่องยนต์ก็จะมีทั้งเบนซิน และเทอร์โบดีเซล ในแบบ 2,500 ซีซีเบนซิน แม้ว่าจะไม่มีเทอร์โบ แต่ก็ได้รับการปรับเพิ่มความแรงจากสเป็กที่ใช้อยู่ใน CX-5 โดยมีตัวเลขอยู่ที่ 194 แรงม้า ที่ 6,000 รอบ/นาที และรุ่นเทอร์โบดีเซล 2,200 ซีซีมีกำลังเท่าเดิมคือ 190 แรงม้า ที่ 4,500 รอบ/นาที เน้นตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าครอบครัว โดย Mazda CX-8 ถูกเปิดตัวครั้งแรกในตลาดเมืองไทยตั้งแต่เดือน พ.ย. ปี 2019 ซึ่งมีให้เลือกทั้งแบบ 6 ที่นั่ง และ 7 ที่นั่ง และมี 2 เครื่องยนต์ คือ เบนซิน 2.5 ลิตร และ ดีเซล 2.2 เทอร์โบ หลังจากนั้นวันที่ 20 ตุลาคม 2021 ก็ได้เปิดตัวรุ่นปรับอุปกรณ์ MY2021 ซึ่งมีการเพิ่มรุ่นย่อยใหม่อย่าง 2.5 SP Exclusive FWD 6 ที่นั่ง นอกจากนี้ยังมีการปรับลดราคาจำหน่ายของบางรุ่นย่อยลง 100,000 บาทอีกต่างหาก ล่าสุดบริษัทมาสด้า เซลส์ ประเทศไทย ได้มีการประกาศพร้อมเปิดตัว New Mazda CX-8 MY2022 อย่างเป็นทางการในประเทศไทยในวันที่ 25 กรกฏาคม 2022 นี้
CX-30 : Mazda วางแผนการตลาดให้กับ SUV รุ่นนี้ในการแทรกกลางระหว่าง CX-3 ที่เป็น Sub Compact SUV และ CX-5 ที่เป็น Compact SUV เพียงแต่พวกเขาเลี่ยงที่จะใช้ชื่อว่า CX-4 อย่างที่ควรจะเป็น เพราะว่า CX-4 เป็น SUV อีกรุ่นที่ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อจำหน่ายในตลาดจีนเท่านั้น CX-30 เป็นผลผลิตที่เกิดมาเพื่อรองรับกับกลุ่มลูกค้าที่เป็นผู้ชายซึ่งกำลังอยู่ในช่วงของการสร้างครอบครัว คือ เพิ่งแต่งงาน เพราะตัวรถจะเน้นความสปอร์ตของรูปลักษณ์ และขนาดที่กะทัดรัดกว่า CX-5 CX-30 มากับตัวถังแบบ 5 ประตู โดยตัวรถจะมาในแบบเบาะนั่ง 2 แถว พร้อมความจุในการบรรทุกสัมภาระ 430 ลิตรเมื่อยังไม่พับเบาะหลังลง ด้านเครื่องยนต์ในตลาดเมืองนอก CX-30 จะได้รับการติดตั้งเครื่องยนต์ Skyactiv-X ที่มีความประหยัดน้ำมันประมาณ 20-30% เมื่อเปรียบเทียบกับเครื่องยนต์แบบเดิมๆ มีกำลังสูงสุด 180 แรงม้า และแรงบิดสูงสุด 22.8 กก.-ม.ขณะที่อีกรุ่นเป็นเบนซิน 2,000 ซีซี 122 แรงม้า ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 21.7 กก.-ม. ที่ 4,000 รอบ/นาที
CX-4 (China Only) : เป็นผลผลิตที่เกิดมาเพื่อตลาดจีน โดยเปิดตัวครั้งแรกในปี 2016 และเป็นการทำตลาดร่วมกันระหว่าง Mazda กับพันธมิตรในจีนอย่าง FAW โดยตัวรถจะมีมิติตัวถังใกล้เคียงกับ CX-5 โดยเฉพาะระยะฐานล้อที่ยาวถึง 2,700 มิลลิเมตร แต่เน้นความสปอร์ตมากกว่าด้วยตัวถังส่วนท้ายที่ออกแบบให้ลาดเทไปทางด้านหลัง และจะเรียกว่าเป็นเวอร์ชันสปอร์ตของ CX-5 ก็คงจะไม่ผิด สำหรับเครื่องยนต์ที่ขายในจีนนั้นมี 2 บล็อกเป็นเบนซิน คือ 2,000 ซีซี และ 2,500 ซีซี ส่งกำลังด้วยเกียร์อัตโนมัติแบบ 6 จังหวะ
CX-7 : เป็น SUV ในกลุ่ม D-Segment ที่ทำตลาดก่อนที่ Mazda จะมีการปรับปรุงไลน์อัพของ SUV ในปี 2012 ซึ่ง เปิดตัวในปี 2006 และทำตลาดจนถึงปี 2012 ก่อนที่จะถูกแทนที่ด้วย CX-5 พร้อมกับการปรับทัพในกลุ่ม SUV ใหม่ โดยเครื่องยนต์ที่ทำตลาดมีเพียงแบบเดียว คือ 4 สูบ 2,300 ซีซี ขณะที่ตัวถังมีความยาว 4,681 มิลลิเมตร และระยะฐานล้อ 2,750 มิลลิเมตร
CX-9 : เป็นผลผลิตที่เกิดขึ้นในช่วงก่อนปี 2012 เหมือนกับ CX-7 ซึ่งตอนนั้น Mazda วางกลุ่ม SUV ในการทำตลาดคือ Tribute สำหรับรุ่นเล็ก CX-7 สำหรับรุ่นกลาง และ CX-9 สำหรับรุ่นใหญ่ รุ่นแรกเปิดตัวในปี 2006 และทำตลาดจนถึงปี 2015 จากนั้นจึงเปิดตัวรุ่นที่ 2 ออกมาในปี 2016 และทำตลาดจนถึงปัจจุบัน โดย CX-9 จะเป็น Top of the line ของ SUV จากค่าย Mazda ที่มีขายอยู่ในปัจจุบัน และเน้นเจาะตลาดที่สหรัฐอเมริกาเพราะตัวรถใช้พื้นฐานเดียวกับรถยนต์ในกลุ่มครอบครัวอย่าง Mazda 6 หรือ Atenza ตัวถังมีความยาวถึง 5,075 มิลลิเมตร และระยะฐานล้อในระดับ 2,930 มิลลิเมตร มาพร้อมเครื่องยนต์ 4 สูบ 2,500 ซีซี เทอร์โบ 227 แรงม้า และ 250 แรงม้าให้เลือกใช้
เรื่อง : ณัฐพล เดชสิงห์
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานต์ยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th