McLaren 765LT Spider The most powerful convertible supercar!!!
ปี 2020 McLaren เปิดตัว 765LT ซึ่งถูกอัปเกรดต่อจาก 720S ต่อมาเป็นคิวของ 765LT Spider ที่ถูกต่อยอดมาจาก 720S Spider ซึ่งเป็นตัวถังเปิดหลังคา ตัวแรงที่ขึ้นชื่อว่าสุด…ในทุกรายละเอียด ตัวอักษร ‘LT’ กลายเป็นซับแบรนด์จาก McLaren บ่งชี้ถึงความพิเศษเหนือขึ้นไปอีกขั้น ตามนิยาม “Lighter & More Powerful” เพิ่มความน่าสนใจด้วย know-how จาก F1 ทำให้รถเบาขึ้น พร้อมทั้งปรับแต่งเครื่องยนต์ให้ทรงพลังขึ้นอีก จากนั้นเซตความฉับไวของระบบเกียร์ เป็นจุดกำเนิดของสมรรถนะอันจัดจ้าน 765LT Spider เร่งผ่าน 100 กม./ชม. เร็ว 2.7 วิ. และทะลุหลัก 300 กม./ชม. ใช้เวลาเพียง 19.3 วิ.เท่านั้น!!!
สมัย McLaren 765LT เปิดตัว คอลัมน์นี้ได้นำเสนอเรื่องเชิงเทคนิคไปอย่างละเอียดในทุกแง่มุม และเมื่อถึงคิวเขียนเรื่องของ 765LT Spider เทคโนโลยีตัวรถไม่มีอะไรที่แตกต่างกัน จะมีเฉพาะเรื่องดีไซน์ของหลังคาที่ Spider ดูเร้าใจยิ่งขึ้น และเพื่อให้เนื้อหาของเวอร์ชันเปิดหลังคาครบถ้วน ผู้เขียนจึงขออนุญาตนำรายละเอียดของ 765LT มาอัปเดทเพิ่มเติม เพื่อให้บทความของ 765LT Spider มีเนื้อหาที่สมบูรณ์ไม่แตกต่างกัน
- McLaren 765LT Spider ลดน้ำหนักด้วยสูตรเดียวกับ McLaren SENNA นอกจากเพิ่มสัดส่วนของพาร์ทคาร์บอนไฟเบอร์ กระจกบังลมหน้าปรับลดความหนาลง 1 มิลลิเมตร
McLaren เปิดตัวเข้าวงการ High-performance Sport Car อย่างเป็นทางการ ด้วยโมเดล ‘MP4-12C’ เป็นตัวแรงจากสหราชอาณาจักร ที่ถูกปลดปล่อยออกมาเพื่อข่มขวัญบรรดาซูเปอร์คาร์ทั้งจากอิตาลีและเยอรมนี นับตั้งแต่ปี 2011 ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน McLaren ได้สร้างสีสันให้วงการรถสมรรถนะสูงอย่างต่อเนื่อง ด้วยตัวแรงอีกหลายโมเดล และล่าสุด คือ ‘McLaren 765LT Spider’ ซึ่งถูกลดน้ำหนักลงกว่า 80 กิโลกรัม เมื่อเทียบกับโมเดลเริ่มต้น อย่าง 720S Spider มาพร้อมงานแอโรไดนามิกขั้นเทพจากรถแข่งสูตรหนึ่ง ผลลัพธ์สุดท้าย คือ ตัวเลขอัตราเร่งอันน่าสะพรึง ซึ่งต้นสังกัดเคลมออกมาจากการทดสอบในทุกช่วงความเร็ว โดยเฉพาะอัตราเร่งจาก 0-300 กม./ชม. ที่ 765LT Spider ฝากสถิติไว้กับเวลาเพียง 19.3 วินาที
McLaren 765LT Spider (MY 2022) เป็นเวอร์ชันต่อยอดจาก McLaren 720S Spider (MY 2019) ซึ่งตัวแรงจากค่ายนี้ ล้วนเริ่มต้นจาก McLaren MP4-12C (MY 2011) อันเป็นจุดกำเนิดใหม่ของซูเปอร์คาร์สัญชาติอังกฤษแท้ๆ ที่สมบูรณ์แบบชนิดครบเครื่อง McLaren เป็นหนึ่งในทีมแข่ง F1 ที่สะสมความสำเร็จมาอย่างยาวนาน จากประสบการณ์ในวงการมอเตอร์สปอร์ต ความเชี่ยวชาญชนิดหาตัวจับยากอยู่ที่เรื่อง Chassis Engineering งานแชสซีจึงนับเป็นอีกหนึ่งศาสตร์ ที่สร้างความได้เปรียบเหนือคู่แข่งได้ไม่เป็นรองเทคโนโลยีเครื่องยนต์ และระบบส่งกำลัง ด้วยความสามารถเฉพาะตัวนี้เอง McLaren จึงพร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีที่ตัวเองถนัดลงสู่รถถนน ให้บรรดาสาวกได้สัมผัสกันแบบถึงแก่น
ทว่า ซูเปอร์คาร์ 2 โมเดลก่อนหน้า MP4-12C ดูไม่ต่างอะไรกับการยืมจมูกชาวบ้านหายใจ เพราะยังต้องพึ่งพาเครื่องยนต์จากเจ้าสำนักใหญ่ในเยอรมัน แต่กับ MP4-12C มันคือ ‘Pure McLaren’ โมเดลแรกตัวจริงเสียงจริง ขนาด Mr. Ron Dennis บิ๊กบอสประจำค่าย ยังโม้ได้อย่างเต็มปากว่า MP4-12C เป็นรถที่มีแฮนด์ลิ่งดีที่สุดจาก McLaren (ในยุคนั้น) ถัดจากนั้นจึงเป็นคิวของ 675LT ต่อเนื่องมาจนเป็น 720S, 765LT รวมทั้ง 765LT Spider ตัวจี๊ด ที่จะทำให้เจ้าของซูเปอร์คาร์จากค่ายม้าลำพอง และกระทิงดุ โดนสวนแบบไม่ทันตั้งตัว
- ตัวถังของ 765LT Spider อัปเกรดระบบแอโรไดนามิกทั้งหมด สร้างแรงกดได้เพิ่มขึ้น 20 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับ 720S Spider
ตัวแรงจาก McLaren ที่ถูกผลิตเพื่อจำหน่ายทั้งกับบรรดาเศรษฐีทั่วไป และทีมแข่ง ถูกแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม คือ
>> ‘Sport Series’ [570S Coupe, 570S Spider, 570 GT, 540C Coupe, 600LT Coupe, 600LT Spider และ 620R]
>> ‘GT’ [McLaren GT]
>> ‘Supercar Series’ [675LT Spider, 675LT Coupe, 650S, 625C, 720S, 720S Spider, 765LT, Artura และ 765LT Spider]
>> ‘Ultimate Series’ [SENNA, P1 GTR, SPEEDTAIL, P1 และ ELVA]
- ชิ้นหลังคาแข็ง (Retractable Hard-Top) เป็นแบบชิ้นเดียว ตัวโครงผลิตจากคาร์บอนไฟเบอร์ พื้นผิวใช้วัสดุโปร่งแสง สามารถปรับความเข้มของแสงส่องผ่านด้วยระบบไฟฟ้า
Body & Aerodynamics:
โครงสร้างของ 765LT มีชื่ออย่างเป็นทางการ ‘MonoCage II’ เป็นโครงสร้างชุดเดียวกับ McLaren 720S พอมาเป็น 765LT Spider จะใช้โครงสร้างร่วมกับ McLaren 720S Spider ด้วยชิ้นโครงสร้างที่แตกต่างกันในชื่อ ‘MonoCage II-S’ ส่วนที่หายไปคือท่อนโครงสร้างหลังคา ที่วางไว้ในแนวกึ่งกลางโครงสร้างส่วนบน และเป็นจุดยึดของบานประตู วิศวกร McLaren จึงไปเสริมความแข็งแกร่งให้กับโครงสร้างคาร์บอนไฟเบอร์ในจุดอื่นๆ เพื่อชดเชยส่วนที่หายไป เบ็ดเสร็จ 765LT Spider มีน้ำหนักมากกว่า 765LT Coupé ไปอีก 49 กิโลกรัม แต่ทั้งหมดยังเบากว่า 720S Spider ร่วม 80 กิโลกรัม (1,278 กิโลกรัม)
ขณะที่ชิ้นหลังคาแข็ง (Retractable Hardtop) เป็นแบบชิ้นเดียว ตัวโครงผลิตจากคาร์บอนไฟเบอร์ ตัวพื้นผิวใช้วัสดุโปร่งแสง สามารถปรับความเข้มของแสงส่องผ่านด้วยระบบไฟฟ้า และสามารถตัดเสียงรบกวนจากภายนอกรถได้ไม่เป็นรอง 765LT แต่หากต้องการซึมซับความโหดจากเสียงคำรามของเครื่องยนต์ การเปิดหลังคาจะเป็นทางเลือกที่ฟินที่สุดสำหรับ 765LT Spider โดยกลไกการเปิด-ปิดหลังคา (RHT latching mechanism) สามารถสั่งการผ่านปุ่มกด ทำงานด้วยมอเตอร์จำนวน 8 ตัว กางหรือเก็บหลังคาด้วยเวลาเพียง 11 วินาที รองรับการทำงานที่ความเร็วไม่เกิน 50 กม./ชม.
โครงสร้างคาร์บอนไฟเบอร์ ‘MonoCage II-S’ ใช้รูปแบบ Double-walled รองรับอุบัติเหตุตามมาตรฐานตัวแข่ง อีกทั้งยังมุ่งเน้นการลดน้ำหนัก เพื่อยกระดับความกระฉับกระเฉงจากการตอบสนองในทุกย่านความเร็ว น้ำหนักร่วม 80 กิโลกรัม ที่หายไปจาก 720S Spider ไม่ใช่เรื่องที่ง่ายเลยสำหรับผู้ผลิตรถสมรรถนะสูงรายอื่นๆ วิศวกร McLaren เปิดเผยอย่างตรงไปตรงมาว่า น้ำหนักที่ลดลงมาจากการแทนที่ชิ้นส่วนเดิมด้วย ‘คาร์บอนไฟเบอร์’ (เดิม ๆ ของ 720S Spider ก็คาร์บอนไฟเบอร์เกือบทั้งคันแล้ว) ซึ่งแบ่งเป็น ตัวถัง แชสซี เครื่องยนต์ ห้องโดยสาร และชิ้นส่วนระบบไฟฟ้า ดังนั้น ความพรีเมียมในส่วนตัวถังของ 765LT Spider เมื่อเทียบกับ 720S Spider อยู่ที่การใช้อัตราส่วนของคาร์บอนไฟเบอร์ที่เพิ่มขึ้น
- มองจาก top view จะเห็นรูปทรงหยดน้ำบนตัวถังของ 765LT Spider ซึ่งเป็นรูปทรงทางแอโรไดนามิกที่ดีที่สุด ในการนำมาใช้ออกแบบรถยนต์
McLaren มุ่งสร้างรายได้อย่างจริงจัง กับการขายไฮเปอร์คาร์ทุกโมเดล จึงลดความยุ่งยากซับซ้อน และเวลาในการทำงานของแต่ละขั้นตอนลงมาก (ตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยีในแต่ละยุค) โครงสร้างคาร์บอนไฟเบอร์ของ McLaren F1 ต้องใช้เวลาในการผลิตต่อชิ้น นานถึง 3,000 ชั่วโมง พอมาถึง SLR McLaren ลดเวลาลงได้อีกกว่า 10 เท่า ขณะที่ ‘MonoCell’ (ใน MP4-12C) และ ‘MonoCage II’ และ ‘MonoCage II-S’ ลดเวลาในการผลิตต่อชิ้นเหลือน้อยกว่า 4 ชั่วโมง
- จากโครงสร้างคาร์บอนไฟเบอร์ ‘MonoCell’ ในรถ McLaren เจเนอเรชันแรกๆ (ไม่มีเสา A และโครงหลังคา) ถูกพัฒนาไปเป็น ‘MonoCage II’ ใน 720S และ 765LT เป็นการเพิ่มเติมโครงสร้างคาร์บอนไฟเบอร์ในท่อนบน หรือส่วนของหลังคา และต้องตัดส่วนบนของโครงหลังคาออกอีกครั้งใน ‘MonoCage II-S’ เพื่อใช้กับ 720S Spider และ 765LT Spider [ในภาพเป็นโครงสร้างของ 720S และ 765LT]
เฉพาะในส่วนของตัวถัง ชิ้นงานคาร์บอนไฟเบอร์ที่โดดเด่นเป็นสง่า ได้แก่ กันชนหน้า, ชิ้นแอโรไดนามิกใต้กันชนหน้า ที่พ่วงมาด้วย Front Splitters ทำให้ท่อนหน้ารถมีลักษณะคล้ายจมูกฉลาม (Shark Front) เช่นเดียวกับ F1, แผ่นปิดใต้ท้องรถท่อนหน้า, ครีบระบายลมเหนือซุ้มล้อหน้า และด้านข้างกันชน, สเกิร์ตข้าง, ช่องรับลมแนวด้านข้างตัวถัง (ระบายความร้อนจานเบรกหลัง), แผ่นปิดใต้ท้องรถท่อนหลัง, กันชนหลัง, ชิ้น Diffuser, Rear Splitters และปีกหลังชิ้นใหญ่ (Active Rear Wing)
- ตัวโครงหลังคาผลิตจากคาร์บอนไฟเบอร์ กลไกการเปิด-ปิดหลังคา (RHT latching mechanism) สั่งการผ่านปุ่มกด ทำงานด้วยมอเตอร์จำนวน 8 ตัว กางหรือเก็บหลังคาด้วยเวลาเพียง 11 วินาที รองรับการทำงานที่ความเร็วไม่เกิน 50 กม./ชม.
ตัวอักษร ‘LT’ ห้อยท้าย นอกจากใช้สื่อสารถึงความเบา ยังย่อมาจาก ‘Longtail’ หรือมีหางยาวขึ้น ชิ้น Active Rear Wing มีความสูงเพิ่มอีก 60 มิลลิเมตร จึงมีพื้นที่ในการรับลมมากขึ้นอีกเมื่อเทียบกับ 720S Spider (+20%) ทั้งหมดเป็นส่วนหนึ่งของงานแอโรไดนามิกที่วิศวกร McLaren เชี่ยวชาญ ช่วยสร้างแรงกดบนตัวถัง (Downforce) ได้อย่างมหาศาล โดยเฉพาะสปอยเลอร์หลังคาร์บอนไฟเบอร์ ซึ่งสร้างแรงกดเพิ่มจาก 720S Spider ได้กว่า 20 เปอร์เซ็นต์
โดย ‘Active Rear Wing’ ปรับองศาในการรับลมเพื่อสร้างแรงกดท้ายรถด้วยระบบไฮดรอลิก ใช้องศาการกระดกที่ 35 องศา เพื่อสร้างแรงกดในระดับสูงสุดขณะรถเคลื่อนที่ ระบบตอบสนองการทำงานด้วยเวลาเพียง 0.3-0.7 วินาที และปีกหลังจะกระดกด้วยองศาที่มากกว่านี้ เพื่อทำหน้าที่เป็น Air Brake แบบ 100 เปอร์เซ็นต์ เช่นเดียวกับอากาศยาน ช่วยสร้างสมดุลการเบรกในความเร็วสูง มี 3 รูปแบบการทำงาน ได้แก่ Driver Downforce องศาการยกแปรผันตามความเร็ว ช่วยลดแรงต้านของอากาศในโค้ง เพื่อให้รถทะยานออกจากโค้งได้ไวขึ้น, DRS Automatically ลดแรงต้านอากาศในทางตรง เมื่อต้องการทำความเร็วสูงสุด และ High Speed Braking โดยปีกหลังจะกระดกนานราวครึ่งวินาที สร้างแรงต้านทานอากาศได้เพิ่มขึ้นถึง 60 เปอร์เซ็นต์ ช่วยชะลอความเร็ว และลดระยะทางในการเบรก
- เสา A เสริมความแข็งแรงตามสูตรของรถเปิดหลังคา (Convertible) เพื่อชดเชยให้โครงหลังคาส่วนที่หายไป
- ห้องโดยสารสไตล์ Lightweight Design เน้นหนักไปที่งานคาร์บอนไฟเบอร์ และ Alcantara เฉพาะโครงสร้างเบาะนั่งคาร์บอนไฟเบอร์ ลดน้ำหนักลงได้ถึง 18 กิโลกรัม เมื่อเทียบกับเบาะนั่งสแตนดาร์ดของ 720S Spider
- สวิตช์ควบคุมหลังคาบริเวณคอนโซลเกียร์ ส่วนนี้ใช้โชว์ชิ้นงานคาร์บอนไฟเบอร์
Engine & Transmission:
Pure McLaren โมเดลแรก อย่าง MP4-12C ไม่ได้พึ่งพาเครื่องยนต์จากทั้ง BMW (McLaren F1) และ Mercedes-Benz (SLR McLaren) อีกต่อไป ด้วยเหตุผลเครื่องยนต์ความจุมหาศาลเหล่านี้ “ไม่ตอบโจทย์ตามความต้องการของวิศวกร McLaren ในยุคที่รถสมรรถนะสูง ถูกควบคุมด้วยมาตรฐานมลพิษในระดับเข้มข้น” ขุมพลัง V8 ขนาด 3.8 ลิตร ใน MP4-12C เป็นการพัฒนาร่วมกับบริษัทพันธมิตรนาม ‘Ricardo’ ใช้อะลูมินัมอัลลอยทั้งเสื้อสูบและฝาสูบ ระบบเพลาราวลิ้นแบบ DOHC 32 วาล์ว พร้อมระบบ ‘Dual VVT’ (Variable Valve Timing) หรือวาล์วแปรผันทั้งฝั่งวาล์วไอดีและวาล์วไอเสีย น้ำหนักทั้งบล็อกเหลือเพียง 199 กิโลกรัม
McLaren MP4-12C ใช้เครื่องยนต์รหัส ‘M838T’ มาพร้อม Twin-turbo โดยเทอร์โบแต่ละตัวจะรับไอเสียจากท่อร่วมไอเสียในแต่ละฝั่ง อากาศที่ผ่านการเพิ่มแรงดันจากเทอร์โบจะถูกส่งไประบายความร้อนที่อินเตอร์คูลเลอร์แบบฝั่งใครฝั่งมัน ก่อนส่งอากาศอัดความหนาแน่นสูง (ลดอุณหภูมิ) ไปรวมตัวกันที่ท่อร่วมไอดี รอผสมกับละอองน้ำมันเชื้อเพลิงตามจังหวะการจุดระเบิดต่อไป ขุมพลังของ MP4-12C ผลิตแรงม้าได้ 600 PS (592 bhp) ที่ 7,000 รอบ/นาที (เพิ่มเป็น 625 PS ในโมเดลปี 2013) แรงบิด 600 Nm ที่ 3,000-7,000 รอบ/นาที
บล็อก ‘M838T’ ใน McLaren 650S ถูกปรับปรุงในส่วนลูกสูบและฝาสูบเพิ่มเติม เพื่อรับกับแรงบูสต์ของเทอร์โบที่เพิ่มขึ้น กระทั่งแรงม้าขยับขึ้นมาเป็น 650 PS (641 bhp) ที่ 7,250 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุดพุ่งขึ้นไปแตะ 678 Nm ที่ 6,000 รอบ/นาที ทำอัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ด้วยเวลาต่ำกว่า 3 วินาที เหยียบคันเร่งจนผ่าน 200 กม./ชม. ใช้เวลา 8.4 วินาที และหากถนนยังว่างพอ คุณสามารถผ่านหลัก 300 กม./ชม. ด้วยเวลาเพียง 25.4 วินาที ส่วนความเร็วสูงสุดไปหยุดอยู่ที่ 333 กม./ชม. เมื่อสมัยประจำการใน MP4-12C เครื่องยนต์บล็อกนี้ปล่อย CO2 ในระดับ 279 กรัม/กิโลเมตร แต่เมื่อมาอยู่ใน McLaren 650S สะอาดขึ้นอีกเล็กน้อย ด้วยตัวเลข CO2 ที่ 275 กรัม/กิโลเมตร
- ล้อ Ultra-Lightweight forced alloy ลาย 10 ก้าน พร้อมโบลท์ยึดไทเทเนียมทั้ง 4 ล้อ ลดน้ำหนักได้ 22 กิโลกรัม มาพร้อมจานเบรกเซรามิก (Carbon Ceramic Disc) หน้า 390 มิลลิเมตร หลัง 380 มิลลิเมตร ใช้คาลิเปอร์ผลิตจาก forced aluminium ชุดเดียวกับ McLaren SENNA คู่หน้า 6 pot คู่หลังใช้ 4 pot ระบายความร้อนได้เร็วกว่าจานเบรกทั่วไป 4 เท่า ห้ามล้อที่ความเร็ว 200-0 กม./ชม. ใช้ระยะเบรกสั้นเพียง 108 เมตร
ขณะที่ 675LT (เป็นเวอร์ชันตัวเบาเช่นเดียวกับ 765LT) ใช้เครื่องยนต์ที่อัปเกรดในสเต็ปที่สูงกว่า 650S ด้วยส่วนประกอบใหม่ นับรวมแล้วกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ อาทิ ชุดเพลาลูกเบี้ยว ระบบหล่อเย็น รหัสเครื่องยนต์เปลี่ยนมาเป็น ‘M838TL’ เป้าหมายมุ่งเน้นการตอบสนองที่ฉับไวและดึงอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งลดน้ำหนักของเครื่องยนต์ลงอีก เฉพาะระบบหล่อเย็นหั่นน้ำหนักทิ้งไปได้ 6 กิโลกรัม ในส่วนของ Twin-turbo ใช้ชุดใหม่ ที่แม้จะมีขนาดเท่าเดิม แต่ทำงานได้เร็วขึ้น จากกลไกส่วนอัดอากาศชุดใหม่ (Compressor Wheels)
ขุมพลัง ‘M838TL’ ใน 675LT ให้แรงม้าในระดับ 675 PS (666 bhp) ที่ 7,100 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 700 Nm ที่ 5,500-6,500 รอบ/นาที ทำอัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ด้วยเวลา 2.9 วินาที ผ่าน 200 กม./ชม. รอเพียง 7.9 วินาที และทะลุ 300 กม./ชม. เร็วยิ่งขึ้นด้วยเวลา 22.5 วินาที ท็อปสปีด 330 กม./ชม. อัตราสิ้นเปลืองเฉลี่ย 8.55 กิโลเมตร/ลิตร และค่า CO2 ในระดับ 275 กรัม/กิโลเมตร
- รูปแบบการเปิดประตูของ Spider เปลี่ยนไปเล็กน้อย เมื่อเทียบกับตัวถัง Coupé
ขณะที่ 720S ใช้เครื่องยนต์รหัส ‘M840T’ หากเทียบกับบล็อก ‘M838T’ ใน 650S จะใช้ส่วนประกอบใหม่ถึง 41 เปอร์เซ็นต์ ความเปลี่ยนแปลงหลัก คือ ขยายความจุจาก 3.8 ลิตร ขึ้นไปเป็น 4.0 ลิตร (3,994 ซี.ซี.) ระบบจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงยกระดับมาใช้แบบ Twin-injector หรือ 2 หัวฉีดต่อสูบ ที่ยังคงเป็นแบบ Port Fuel Injection (ฉีดน้ำมันเชื้อเพลิงในท่อร่วมไอดี) การจะทำงาน 8 หัวฉีด หรือเต็มทั้ง 16 หัวฉีด จะขึ้นอยู่กับการประมวลผลของ ECU
ระบบอัดอากาศยังคงเป็น Twin-turbo โดยตัวโข่งฝั่งเทอร์ไบน์ใช้แบบ Twin-scroll รอบในการหมุนจัดจ้านถึง 160,000 รอบ/นาที ชุด Wastegate หรือส่วนควบคุมวงจรการทำงานของเทอร์โบ ยกระดับมาคอนโทรลด้วยระบบไฟฟ้า ซึ่งช่วยระบายแรงดันจากเทอร์โบได้เร็วขึ้นขณะถอนคันเร่ง ปิดท้ายด้วย ‘ชุดท่อไอเสียไทเทเนียม’ (Forged from Titanium) เน้นที่ความเบา มาพร้อมชุดเฮดเดอร์ 2 วงจร จัดวางในรูปแบบไขว้ เป็นอีกหนึ่ง know-how จาก F1 ใน 765LT สร้างสุ้มเสียงฮาร์ดคอร์ผ่านปลายท่อ Quad-exit Exhaust โดยชุดท่อไอเสียไทเทเนียมของ 765LT Spider เบากว่าของ 720S Spider อีก 3.8 กิโลกรัม
ระบบหล่อลื่นใช้แบบอ่างแห้ง (Dry Sump) ไร้ซึ่งอ่างน้ำมันเครื่องเช่นเครื่องยนต์ทั่วไป เป็นการแยกอ่างน้ำมันเครื่องออกมาไว้ต่างหาก จากนั้นจึงใช้ปั๊มแรงดันสูงอัดน้ำมันไปหล่อลื่นตามซอกต่าง ๆ ภายในเครื่องยนต์อย่างทั่วถึง โดยแรง g รวมถึงแรงเหวี่ยงหนีศูนย์นานาประการ จะไม่สามารถลดทอนประสิทธิภาพของระบบหล่อลื่นลงได้ และจากการที่ย้ายอ่างน้ำมันเครื่องออกไปจากใต้เครื่องยนต์ จะส่งผลให้ความสูงของเครื่องยนต์ลดลง ช่วยให้จุดศูนย์ถ่วง (C.G.) ต่ำลงอีก เมื่อเทียบกับเจเนอเรชันแรก เครื่องยนต์ ‘M840T’ ของ 720S และ 765LT จะวางต่ำลง 120 มิลลิเมตร ส่งผลให้การออกแบบส่วนท้ายรถ ลดความสูงลงได้อีก 145 มิลลิเมตร เมื่อเทียบกับ 650S ซึ่งส่วนนี้จะส่งผลต่อเนื่องไปยังเรื่องแอโรไดนามิกโดยตรง
เกียร์ของ ‘765LT’ เป็นแบบ 7 สปีด ‘คลัตช์คู่’ ที่อัปเกรดต่อจาก ‘720S’ เปลี่ยนเกียร์ได้เร็วขึ้นถึง 15 เปอร์เซ็นต์ โดยผู้พัฒนาเกียร์ลูกนี้คือบริษัท Graziano จากอิตาลี การทำงานของเกียร์ควบคุมด้วยซอฟต์แวร์ SSG (Seamless Shift Gearbox) ช่วยให้การเปลี่ยนเกียร์รวดเร็วและต่อเนื่อง แถมท้ายด้วยฟังก์ชัน Pre-cog รับหน้าที่จับสัมผัสที่ผู้ขับกระทำกับ Paddle Shift หลังพวงมาลัยทั้ง 2 ฝั่ง โดยระดับและความเร็วในการกด Paddle จะถูกแปรเปลี่ยนไปเป็นการปรับระยะฟรีโหลดในการกดคลัตช์ ส่งผลต่อเนื่องไปยังความเร็วในการทำงานของคลัตช์ สร้างความแตกต่างในการคอนโทรลคลัตช์ได้ใกล้เคียงการเหยียบคลัตช์แบบดั้งเดิม
เครื่องยนต์ ‘M840T’ ใน McLaren 720S ให้แรงม้าในระดับ 720 PS (710 bhp) ที่ 7,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 770 Nm ที่ 5,500-6,500 รอบ/นาที ทำอัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ด้วยเวลา 2.9 วินาที ผ่านหลัก 200 กม./ชม. รอเพียง 7.8 วินาที และทะลุ 300 กม./ชม. เร็วยิ่งขึ้น ด้วยเวลา 21.4 วินาที ท็อปสปีด 341 กม./ชม. อัตราสิ้นเปลือง ในเมือง/เดินทาง/เฉลี่ย อยู่ที่ 6.33/12.65/9.35 กิโลเมตร/ลิตร ตามลำดับ และมีค่า CO2 ต่ำเพียง 249 กรัม/กิโลเมตร
- ช่วงล่างของ 765LT Spider จัดเป็น Adaptive Suspension หรือกันสะเทือนที่ปรับการตอบสนองได้ตามรูปแบบการขับขี่ ถูกควบคุมผ่านระบบ ‘ProActive Chassis Control’ เจเนอเรชันที่ 2 หรือ ‘PCC II’
สำหรับขุมพลังใน 765LT Spider เป็นการจับบล็อก ‘M840T’ ใน 720S Spider มาปรับซอฟต์แวร์ควบคุมการทำงานของเครื่องยนต์ใหม่ พละกำลังขยับขึ้นไปที่ 765 PS (755 bhp) ที่ 7,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 800 Nm ที่ 5,500 รอบ/นาที เร่ง 0-100 กม./ชม. ด้วยเวลา 2.8 วินาที, 0-200 กม./ชม. ใช้ 7.2 วินาที และ 0-300 กม./ชม. เร็วสุดๆ ที่เพียง 19.3 วินาที ความเร็วสูงสุด 330 กม./ชม. ส่วนอัตราสิ้นเปลือง ในเมือง/เดินทาง/เฉลี่ย ระดับ 5.95/7.65/6.33 กิโลเมตร/ลิตร ตามลำดับ และมาพร้อม CO2 ที่ 280 กรัม/กิโลเมตร
- ปลายท่อ Quad-exit Exhaust ชุดท่อไอเสียไทเทเนียมของ 765LT Spider เบากว่าของ 720S Spider อีก 8 กิโลกรัม
ProActive Chassis Control II:
โครงสร้างหลักของ 720S Spider และ 765LT Spider เป็น ‘MonoCage II-S’ ขณะที่โครงสร้างท่อนหน้าและท่อนหลังเป็นอะลูมิเนียม โครงอะลูมิเนียมด้านหน้าเป็นจุดยึดให้กับช่วงล่างแบบดับเบิ้ลวิชโบน และท่อนหลังรับหน้าที่เป็นจุดยึดให้กับอุปกรณ์ต่างๆ อาทิ เครื่องยนต์ ระบบส่งกำลัง และช่วงล่างแบบดับเบิ้ลวิชโบนเช่นเดียวกัน โดยโครงสร้างของระบบกันสะเทือนยังคงเป็นอะลูมิเนียมทั้งชุด เพื่อลดน้ำหนักใต้สปริง (un-sprung weight)
หากเทียบกับ 720S Spider ช่วงล่างของ 765LT Spider จะถูกปรับแต่งให้คมยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการจิกเข้าโค้ง ด้านหน้าเปลี่ยนสปริงชุดใหม่ที่มาพร้อม Helper Springs ลดความสูงลง 5 มิลลิเมตร และเบากว่าการใช้สปริงขดใหญ่แบบขดเดียวใน 720S Spider อีก 1.5 กิโลกรัม/ล้อ จากนั้นขยายระยะ Track ล้อหน้าอีก 6 มิลลิเมตร (ด้านหลังไม่เปลี่ยนแปลง) ช่วงล่างของ 765LT Spider จัดเป็น Adaptive Suspension หรือกันสะเทือนที่ปรับการตอบสนองได้ตามรูปแบบการขับขี่ ถูกควบคุมผ่านระบบ ‘ProActive Chassis Control’ เจเนอเรชันที่ 2 หรือ ‘PCC II’
- ความร้อนจากปลายท่อ Quad-exit Exhaust ที่ปลดปล่อยจากการสันดาปของขุมพลัง ‘M840T’ ใน 765LT Spider แรงระดับ 765 PS ที่ 7,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 800 Nm ที่ 5,500 รอบ/นาที
แนวคิดของระบบ ‘PCC II’ จาก McLaren อาจทำให้ผู้ผลิตซูเปอร์คาร์หลายค่ายต้องทึ่ง วัตถุประสงค์คือ “การแยกความนุ่มนวลในการขับขี่ออกจากอาการโคลง ขณะรถเข้าโค้ง” ไฮเปอร์คาร์ทุกรุ่นจาก McLaren จึงไม่จำเป็นต้องมีเหล็กกันโคลงมาเป็นน้ำหนักส่วนเกินอีกต่อไป ช็อคอัพทั้ง 4 ล้อ ของ 765LT Spider ถูกเชื่อมโยงเข้าด้วยกันผ่านวงจรไฮดรอลิก ความคล่องตัวในการไหลของของไหล (Fluid) ภายในวงจร จะเป็นตัวแปรหลักต่อการตอบสนองของระบบกันสะเทือนทั้งระบบ ซึ่งจะถูกคอนโทรล ‘ผ่านวาล์ว’ ภายใต้การควบคุมการทำงานโดยสมองกลอีกที
อาการ ‘ยุบตัว’ หรือ ‘ยืดตัว’ ของช็อคอัพตัวใดตัวหนึ่ง จึงส่งผลต่อเนื่องไปยังช็อคอัพตัวอื่นๆ ได้ตามการประมวลผล ซึ่งซอฟต์แวร์ในส่วนของงานแชสซี ถูกออกแบบผ่านแบบจำลองทางคณิตศาสตร์โดยความร่วมมือของ McLaren กับ University of Cambridge เพื่อให้ได้ ‘อัลกอริทึม’ ในระดับก้าวหน้า (Advanced Algorithms) รองรับตัวแปรจากการทำงานของช่วงล่างในทุกสภาพถนน จากเซ็นเซอร์จำนวน 12 ตัว ตรวจจับทุกสัญญาณ อาทิ อัตราเร่ง, องศาการหักเลี้ยวของพวงมาลัย, แรงดันภายในช็อคอัพแต่ละล้อ ฯลฯ จากนั้นจะนำมาวิเคราะห์ และประมวลผลก่อนสั่งปรับแต่งอาการของรถ ด้วยเวลาในทุกขั้นตอนเพียง 0.002 วินาที [หมายเหตุผู้เขียน : อัลกอริทึม คือ กระบวนการการแก้ปัญหา ที่สามารถอธิบายมาเป็นขั้นตอนที่ชัดเจน]
- อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. 2.8 วิ., 0-200 กม./ชม. 7.2 วิ. และ 0-300 กม./ชม. 3 วิ.
ความโดดเด่นของช่วงล่าง ‘PCC II’ อยู่ที่การรักษาความนุ่มนวลขณะรถเคลื่อนที่ในทางตรงไว้ระดับน้อง ๆ รถสปอร์ตซาลูน และช่วงล่างชุดเดียวกันนี้ ก็ยังสามารถลดอาการโคลงที่เกิดขึ้นจากความนุ่มนวลในระดับนั้นได้ด้วย ทั้งหมดเป็นที่มาของความเสถียรสูงสุดขณะรถอยู่ในโค้ง
การทำงานของ ‘PCC II’ ยกตัวอย่างได้ ดังนี้ ขณะเบรก ธรรมชาติของรถขณะเกิดการห้ามล้ออย่างรุนแรง คือ ‘หน้ารถยุบ ท้ายรถยกขึ้น’ การยืดตัวออกของช็อคอัพคู่หลัง จะไปทำให้ช็อคอัพคู่หน้าแข็งขึ้น เมื่อช็อคอัพคู่หน้าแข็งขึ้น จึงสามารถช่วยต้านอาการยุบตัวดังกล่าวได้ ในทางกลับกัน ขณะออกตัวอย่างรุนแรง การเคลื่อนที่ที่เกิดขึ้น คือ ‘หน้ารถยก ท้ายรถยุบ’ การยืดตัวของช็อคอัพคู่หน้า จะทำให้ช็อคอัพคู่หลังแข็งขึ้น เมื่อช็อคอัพคู่หลังแข็งขึ้นจึงสามารถช่วยต้านอาการยุบตัวที่เกิดขึ้นได้นั่นเอง
นั่นเป็นเรื่องความสัมพันธ์ในการทำงานระหว่างล้อหน้าและล้อหลัง สำหรับล้อซ้ายและล้อขวา ก็ใช้หลักการที่ไม่แตกต่างกัน ขณะรถเข้าโค้ง อาการของช่วงล่างที่เกิดขึ้นขณะนั้น คือ ‘ล้อด้านนอกโค้งยุบตัว ส่วนล้อด้านในโค้งยกตัว’ เช่นเดียวกัน การยืดตัวของช็อคอัพของล้อด้านในโค้ง จะถูกแปรเปลี่ยนไปเป็นแรงดันไฮดรอลิก ที่ทำให้ช็อคอัพด้านนอกโค้งช่วยต้านอาการยุบตัว ลดอาการโคลงของตัวถัง และให้การตอบสนองของช่วงล่างที่เฟิร์มแน่นยิ่งขึ้น
ทุกองค์ประกอบบนตัวถังของ 765LT และ 765LT Spider ล้วนกำเนิดจากเหตุและผลทางวิศวกรรม อันเป็นประสบการณ์ตรงจากสนามแข่ง F1 โดยทั้งหมดมาพร้อมกับงานออกแบบอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวจาก McLaren ผลลัพธ์เป็น “ความงดงาม” ที่ดูลงตัว ทว่า มีฮาร์ดคอร์ซ่อนอยู่ในทุกรายละเอียด McLaren จึงเป็นรถแรงสายโหดสัญชาติอังกฤษแท้ๆ ที่พร้อมวัดฝีเท้ากับซูเปอร์คาร์เจ้าตลาดทุกรุ่น ทั้งจากอิตาลี และเยอรมนี
เรื่อง : พิทักษ์ บุญท้วม
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานต์ยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th