McLaren Artura High-Performance Hybrid Supercar
ในวงการมอเตอร์สปอร์ต การแข่งขันรถยนต์ F1 ถือเป็นที่สุด ทั้งเรื่องเทคโนโลยี และเงินทุนในการพัฒนา รถแข่ง F1 จึงได้สัมผัสเทคโนโลยีใหม่ในโลกยนตรกรรมก่อนใครเสมอ และ McLaren คือหนึ่งในผู้คร่ำหวอดในวงการนี้ ทั้งประสบการณ์และความเชี่ยวชาญที่สั่งสมมายาวกว่า 50 ปี กับสถิติแชมป์โลกนับครั้งไม่ถ้วน ทั้งในส่วนของนักแข่งและทีมผู้ผลิต เมื่อถึงเวลาหารายได้เพื่อความยั่งยืนของธุรกิจ ทีมแข่งอย่าง McLaren จึงพร้อมผลิตรถสมรรถนะสูงในรูปแบบ mass production มาให้บรรดาแฟนคลับกระเป๋าหนักได้จัดทันที และเพื่อให้สอดรับกับกระแสรักษ์โลก ซูเปอร์คาร์ไฮบริดนาม McLaren P1 จึงถูกส่งลงถนนเมื่อหลายปีที่ผ่านมา ก่อนที่จะตามมาด้วยรถไฮบริดโมเดลล่าสุด อย่าง McLaren Artura ซึ่งต้นสังกัดจัดให้อยู่เซ็กเมนต์ใหม่ ในชื่อ ‘HPH’
- McLaren Artura ใช้โครงสร้าง ‘MCLA’ (McLaren Carbon Lightweight Architecture) เป็นโครงสร้างคาร์บอนไฟเบอร์ ที่ออกแบบมารองรับรถไฮบริดโดยเฉพาะ ซึ่งโครงสร้างนี้น่าจะออกแบบเผื่อไปถึง ‘Super e-Car’ ที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าล้วนๆ ไว้เรียบร้อยแล้ว
HPH ย่อมาจาก High-Performance Hybrid ตามต่อด้วยคำว่า Supercar หรือ ‘ซูเปอร์คาร์ไฮบริด’ เคลมแสนยานุภาพเบื้องต้นของ McLaren Artura ด้วยอัตราเร่ง 0-300 กม./ชม. เร็วสุดๆ เพียง 21.5 วินาที ความเร็วสูงสุดถูกล็อกไว้ที่ 330 กม./ชม. แต่สวนกระแสความเป็นรถบ้าพลัง ด้วยอัตราสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงในระดับรถจ่ายกับข้าวที่เพียง 21.26 กิโลเมตร/ลิตร และค่า CO2 ต่ำสุดๆ 129 กรัม/กิโลเมตร เท่านั้น
นอกจากเรื่องเป็นรถลูกผสม McLaren P1 ถูกผลิตขึ้นเพื่อใช้โชว์เหนือเรื่องศักยภาพทางแอโรไดนามิกของ McLaren พื้นฐานโครงสร้างถูกยกมาจาก MP4-12C ซึ่งเป็น Pure McLaren โมเดลแรก ตัวถังภายนอกถูกออกแบบอย่างพิถีพิถันผ่านโปรแกรม ‘CFD’ (Computational Fluid Dynamics) จากนั้นนำมาขัดเกลาต่อในอุโมงค์ลม วิศวกรทุ่มเทกับขบวนการนี้ครั้งแล้วครั้งเล่า เพื่อให้ได้ตัวถัง ‘ซูเปอร์คาร์ไฮบริด’ ที่สมบูรณ์แบบที่สุด
P1 มาพร้อมตัวเลขสัมประสิทธิ์แรงต้านทางอากาศ (Drag Coefficient) 0.34 ตัวเลขไม่ได้ต่ำหรือลู่ลมสุดขีดเหมือนรถซาลูนสมัยใหม่ แต่เน้นสร้างความสมดุลระหว่างแรงยกตัวถัง (Lift force) แรงกดตัวถัง (Down force) และสมรรถนะของเครื่องยนต์ พื้นผิวตัวถังของ P1 จึงไม่ได้ราบเรียบเป็นชิ้นเดียวเหมือนรถยนต์ทั่วไป แต่ถูกออกแบบเป็นช่องสำหรับให้กระแสลมเคลื่อนที่ผ่าน ประโยชน์นอกจากเรื่องสร้างแรงกดบนตัวถัง ระบบแอโรไดนามิกยังผันกระแสลมไปใช้ในการระบายความร้อนให้กับเครื่องยนต์ และระบบเบรกด้วย
- ห้องโดยสารของซูเปอร์คาร์สมัยใหม่ เน้นความสปอร์ตและความสบาย ตกแต่งอย่างพิถีพิถันด้วยงานอาคันทารา และคาร์บอนไฟเบอร์
สำหรับ Artura ใช้ know-how ทุกองค์ประกอบของ P1 มาอัปเกรดต่อ โดยเฉพาะในส่วนของนวัตกรรมล่าสุดจาก McLaren โครงสร้างที่ขึ้นรูปจากคาร์บอนไฟเบอร์ ยกระดับมาใช้โครงสร้างใหม่ ‘MCLA’ (McLaren Carbon Lightweight Architecture) เป็นรถโมเดลแรก ซึ่งโครงสร้างนี้ออกแบบมารองรับรถไฮบริดโดยเฉพาะ (น่าจะออกแบบเผื่อไปถึง Super e-Car ที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าล้วนๆ ไปเรียบร้อย) โดยโครงสร้างคาร์บอนไฟเบอร์ชุดใหม่ ออกแบบพัฒนาและผลิตจาก McLaren Composites Technology Centre (MCTC) ในเมือง Sheffield ประเทศอังกฤษนั่นเอง
โครงสร้างท่อนกลางของ Artura เป็น ‘MCLA’ หรือคาร์บอนไฟเบอร์ ขณะที่โครงสร้างท่อนหน้าและท่อนหลังเป็นอะลูมิเนียม ซึ่งทำหน้าที่เป็นจุดยึดให้กับอุปกรณ์ต่างๆ อาทิ เครื่องยนต์ ระบบเกียร์ และช่วงล่าง โดยโครงสร้างช่วงล่างยังคงเป็นอะลูมิเนียมเพื่อช่วยน้ำหนักใต้สปริง ของ Artura ยังคงใช้บริการระบบ ‘PDC’ (Proactive Damping Control) เช่นเดียวกับรถ McLaren รุ่นพี่
แนวคิดของระบบ ‘PDC’ จาก McLaren อาจทำให้ผู้ผลิตซูเปอร์คาร์หลายค่ายต้องทึ่ง วัตถุประสงค์ของระบบนี้ คือ ‘การแยกความนุ่มนวลในการขับขี่ ออกจากอาการโคลงขณะรถเข้าโค้ง’ ช็อคอัพทั้ง 4 ล้อ ของ Artura ถูกเชื่อมโยงเข้าด้วยกันผ่านวงจรไฮดรอลิก ความคล่องตัวในการไหลของของไหล (Fluid) ภายในวงจร จะเป็นตัวแปรหลักต่อการตอบสนองของระบบกันสะเทือนทั้งระบบ ซึ่งจะถูกคอนโทรลผ่านวาล์วภายใต้การควบคุมการทำงานของสมองกล อาการยุบตัวหรือยืดตัวของช็อคอัพตัวใดตัวหนึ่ง จึงส่งผลต่อเนื่องไปยังช็อคอัพตัวอื่นๆ ได้ตามการประมวลผลของ ECU
- ชาร์จแบตเต็ม 80 เปอร์เซ็นต์ ใช้เวลาราว 5 ชั่วโมง
ยกตัวอย่าง เช่น ขณะเบรก ธรรมชาติของรถขณะเกิดการห้ามล้ออย่างรุนแรง คือ ‘หน้ายุบ-ท้ายยก’ การยืดตัวออกของช็อคอัพคู่หลัง จะทำให้ช็อคอัพคู่หน้าแข็งขึ้น เมื่อช็อคอัพคู่หน้าแข็งขึ้น จึงสามารถช่วยต้านอาการยุบตัวดังกล่าวได้ ในทางกลับกัน ขณะรถออกตัวอย่างรุนแรง การเคลื่อนที่ที่เกิดขึ้น คือ ‘หน้ายก-ท้ายยุบ’ การยืดตัวของช็อคอัพคู่หน้า จะทำให้ช็อคอัพคู่หลังแข็งขึ้น เมื่อช็อคอัพคู่หลังแข็งขึ้น จึงสามารถช่วยต้านอาการยุบตัวที่เกิดขึ้นได้
ส่วนล้อซ้ายและล้อขวาก็ใช้หลักการที่ไม่แตกต่างกัน ขณะเข้าโค้ง อาการของช่วงล่างที่เกิดขึ้นขณะนั้น คือ ล้อด้านนอกโค้งยุบตัว ส่วนล้อด้านในโค้งยกตัว เช่นเดียวกัน การยืดตัวของช็อคอัพของล้อด้านในโค้ง จะถูกแปรเปลี่ยนไปเป็นแรงดันไฮดรอลิกที่ทำให้ช็อคอัพด้านนอกโค้งหนึบแน่นขึ้น
รถ McLaren รุ่นพี่ทุกโมเดล รวมทั้งซูเปอร์คาร์ไฮบริด อย่าง P1 จะมาพร้อมเครื่องยนต์พื้นฐานเป็นบล็อก ‘V8’ พ่วงมาด้วย Twin-turbo แต่ Artura ได้ใช้เครื่องยนต์บล็อกใหม่ ลดจำนวนกระบอกสูบลง 2 สูบ หรือตัดออกไป 1 แถว เป็นบล็อก ‘V6’ ใช้ขนาดความจุ 3 ลิตร (2,993 ซี.ซี.) ตัวเครื่องยนต์มีน้ำหนัก 160 กิโลกรัม นอกจากมีความยาวตัวเครื่องลดลงแล้ว ยังเบากว่าเครื่องยนต์ ‘V8’ ร่วม 50 กิโลกรัม เครื่องยนต์ใหม่ใช้ชื่อรหัส ‘M630’
- ขุมพลัง ‘M630’ บล็อก V6 Twin-turbo ขนาดความจุ 3 ลิตร, 585 PS (577 bhp) ที่ 7,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 585 Nm ที่ 2,250-7,000 รอบ/นาที
บล็อก ‘V6’ วางทำมุม 120 องศา ตรงกลางระหว่างตัววี ถูกเรียกว่า ‘hot-vee’ เป็นที่อยู่ของเทอร์โบชาร์จเจอร์ (Twin-turbo) และระบบไอเสีย ตัวเทอร์โบเป็นแบบ ‘mono-scroll’ วิศวกรเคลมว่า ตำแหน่งใหม่ของระบบอัดอากาศจะช่วยเพิ่มสมรรถนะให้กับเครื่องยนต์ เพราะลด pressure losses ของระบบไอเสียลง ช่วยให้เครื่องยนต์ตอบสนองได้ไวขึ้น โดยรอบเครื่องกวาดไปสุดที่ 8,500 รอบ/นาที
- เกียร์คลัตช์คู่ 8 สปีด ลูกใหม่ ความเร็วในการเปลี่ยนเกียร์อยู่ในระดับ 200 milliseconds
- E-motor ของ Artura ให้กำลัง 95 PS (94 bhp) พร้อมแรงบิดสูงสุด 225 Nm มีน้ำหนัก 4 กิโลกรัม เบากว่ามอเตอร์ที่ใช้ใน P1 เกือบเท่าตัว
ระบบฉีดน้ำมันเชื้อเพลิง ‘GDI’ (Gasoline Direct Injection) สร้างแรงดันในการฉีดน้ำมันเชื้อเพลิงได้สูงสุดถึง 350 บาร์ ขุมพลัง ‘M630’ ใน Artura มีขนาดความจุเพียง 3 ลิตร แต่เบ่งกล้ามออกมาได้ถึง 585 PS (577 bhp) ที่ 7,500 รอบ/นาที (เฉียดๆ 200 PS/Litre) แรงบิดสูงสุด 585 Nm ที่ 2,250-7,000 รอบ/นาที เครื่องยนต์วางกลางลำ ขับเคลื่อนล้อหลัง เกียร์ใช้แบบ 8 สปีด คลัตช์คู่ลูกใหม่ ภายในติดตั้งชุด E-motor ให้กำลัง 95 PS (94 bhp) พร้อมแรงบิดสูงสุด 225 Nm โดยมอเตอร์ทั้งชุดมีน้ำหนักอยู่ที่เพียง 15.4 กิโลกรัม
- แบตเตอรี่มีความจุ 4 kWh ทั้งชุดมีน้ำหนัก 88 กิโลกรัม ใน E-mode วิ่งได้ไกล 30 กิโลเมตร
เมื่อรวมแรงม้าทั้งจากเครื่องยนต์และมอเตอร์ไฟฟ้าเข้าด้วยกัน ในทางเทคนิค McLaren Artura จะมีกำลังรวม 680 PS (671 bhp) แรงบิดสูงสุด 720 Nm ในส่วนของสมรรถนะ Artura เร็วและแรงจนน่าขนลุก อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ใช้เวลา 3.0 วินาที ผ่านเพดาน 200 กม./ชม. เร็วเพียง 8.3 วินาที และหากถนนยังว่างพอ Artura จะทะลุ 300 กม./ชม. ด้วยเวลา 21.5 วินาที!!!
แบตเตอรี่ถูกวางไว้หลังห้องโดยสาร หรือในตำแหน่งด้านหน้าห้องเครื่องยนต์ มีความจุ 7.4 kWh ทั้งชุดมีน้ำหนัก 88 กิโลกรัม จากน้ำหนัก Artura ทั้งคัน 1,498 กิโลกรัม ชาร์จแบตเต็ม 80 เปอร์เซ็นต์ ใช้เวลาราว 2.5 ชั่วโมง สามารถขับเคลื่อนแบบไร้มลพิษ จากการทำงานของมอเตอร์ไฟฟ้าล้วนๆ ใน E-mode ได้ไกล 30 กิโลเมตร ปัจจุบัน McLaren Artura เปิดตัวในไทยเรียบร้อย ด้วยสนนราคาเริ่มต้น 16.7 ล้านบาท เท่านั้นเอง
เรื่อง :พิทักษ์ บุญท้วม
ที่มา GRAND PRIX MAGAZINE ISSUE 619
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th