McLaren-Honda MP4/4 ที่สุดแห่งตัวแข่ง F1
กวาดแชมป์กรังด์ปรีซ์ 15 จาก 16 สนามของปีตามด้วยออกสตาร์ทในตำแหน่งโพล โพซิชั่น 15 ครั้ง และทำเวลาต่อรอบดีที่สุดอีก 10 ครั้ง ก่อนส่งไอร์ตัน เซนน่าให้กลายเป็นแชมป์โลกประเภทนักแข่ง (ส่วนอแลง พรอสต์ เพื่อนร่วมทีมได้รองแชมป์โลก) และพาทีมแม็คลาเรนพ่วงอีกตำแหน่งกับแชมป์ประเภททีมผู้ผลิต โดยมีคะแนนสะสมมากถึง 199 คะแนน
ต้องบอกว่ากับความสำเร็จในระดับนี้จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่เมื่อถามถึงรถแข่ง F1 ที่เยี่ยมสุดและมีผลงานดีที่สุดเท่าที่เคยมีมา คนส่วนใหญ่จะนึกถึงรถแข่งรหัส MP 4/4 ของทีมแม็คลาเรนที่ใช้เครื่องยนต์ของฮอนด้าในการขับเคลื่อน…ผลงานข้างบนถือเป็นสิ่งที่ยืนยันได้ถึงเรื่องนี้
ก่อนที่จะถึงจุดเริ่มต้นแห่งความสำเร็จของแม็คลาเรน-ฮอนด้า ทีมแม็คลาเรนซึ่งลงแข่งภายใต้ชื่อ TAG Porsche ทำผลงานได้อย่างสุดบู่ในการแข่งชขันปี 1987 โดยคว้าแชมป์กรังด์ปรีซ์มาได้แค่ 3 สนาม 16 สนาม และชัยชนะในปีนั้นถูกผูกขาดโดยทีมวิลเลี่ยมส์ที่ใช้เครื่องยนต์เทอร์โบของฮอนด้า และนำเนลสัน ปิเกต์คว้าแชมป์โลกนักแข่งโดยที่แชมป์โลกประเภททีมผู้ผลิตตกเป็นของวิลเลี่ยมส์-ฮอนด้า
ในปีต่อมาแม็คลาเรนติดต่อทาบทามฮอนด้าเข้ามาให้การสนับสนุนเครื่องยนต์ในปี 1988 และนั่นเป็นจุดเริ่มต้นแห่งความยิ่งใหญ่ของชื่อแม็คลาเรน-ฮอนด้า
1988 ถือเป็นปีสุดท้ายของยุคเทอร์โบ และรถแข่ง MP4/4 เป็นตัวแข่งที่ได้รับการออกแบบโดยกอร์ดอน เมอร์เรย์กับสตีฟ นิโคลส์ ซึ่งเป็นวิศวกรชาวอเมริกัน ซึ่งเมอร์เรย์ได้นำแนวทางและสไตล์การออกแบบตัวรถมาจากรถแข่งรุ่น BT55 ของทีมแบรบแฮมที่ใช้ลงแข่งในปี 1986 ซึ่งตัวเขาเองออกแบบร่วมกับเดวิด นอร์ธ วิศวกรของทีมแบรบแฮม
ในช่วงนั้นด้วยการที่เป็นปีสุดท้ายของยุคเทอร์โบ ทำให้ทีมต่างๆ หันไปทุ่มเทกับการพัฒนารถแข่งให้สอดรับกับเครื่องยนต์แบบ NA ที่จะใช้ในปี 1989 แต่สำหรับเมอร์เรย์กลับไม่สนใจและเดินหน้าพัฒนารถแข่งเพื่อปิดท้ายยุคเทอร์โบ ซึ่งตรงนี้ทำให้แม็คลาเรนได้เปรียบเหนือคู่แข่งเพราะพวกเขาทุ่มเทความพยายามในการพัฒนาลงไปอย่างเต็มที่แบบไม่มองข้ามช็อต
จากไอเดียของ BT55 ซึ่งเน้นตัวถังที่เตี้ย ลู่ลม มีค่าสัมประสิทธิ์แรงต้านทานต่ำ ซึ่งตามทฤษฎีแล้ว สิ่งที่จะได้รับคือ ตัวถังที่เตี้ยทำให้อากาสไหลผ่านด้านบนได้มากและส่งผลต่อการสร้างแรงกดหรือ Downforce บนแพนอากาศด้านหลังที่เพิ่มขึ้น โดยที่ไม่มีแรงฉุดลาก หรือ Drag Force ที่มากจนเกินไป แต่เมื่อใช้จริง แนวคิดนี้กลับไม่เวิร์คกับ BT55 ที่แบกเครื่องยนต์ของบีเอ็มดับเบิลยูเอาไว้ที่ด้านหลัง ผลงานของทีมก็เลยไม่ประสบความสำเร็จ
แต่สำหรับเครื่องยนต์ของฮอนด้าแบบเทอร์โบวี6 1,500 ซีซีในรหัส RA168E ที่จะมาอยู่ด้านหลังของตัวรถนั้นมีความแตกต่างจากของค่ายใบพัดสีฟ้า ทั้งขนาดที่เล็กกว่าและมีจุดศูนย์ถ่วงที่ต่ำกว่าถือว่ามีความเหมาะสอย่างมากกับรถแข่งที่ถูกออกแบบให้เตี้ย รวมถึงการออกแบบตำแหน่งของคนขับให้แทบจะแบนราบไปกับตัวรถ จนกลายเป็นมาตรฐานของการจัดวางตำแหน่งให้กับรถแข่ง F1 นับตั้งแต่นั้นมา และนั่นคือ ปัจจัยที่ช่วยเสริมและทำให้ตัวรถสามารถแสดงผลงานได้อย่างเต็มที่
ตัวรถและค็อกพิตได้รับการผลิคตจากคาร์บอนไฟเบอร์ เช่นเดียวกับปีกนกแบบ SLA หรือ Short Long Arm ของระบบช่วงล่างเพื่อเน้นน้ำหนักตัวที่เบาในระดับ 540 กิโลกรัม ส่วนโช้กอัพวางตัวในแนวนอนและใช้วิธีในการซับแรงกระแทกแบบก้านกระทุ้ง หรือ Pushrod และดิสก์เบรกเป็นแบบคาร์บอนเซรามิก ส่งกำลังด้วยเกียร์เดินหน้า 6 จังหวะ
เครื่องยนต์เทอร์โบของฮอนด้าขึ้นชื่ออยู่แล้วในด้านสมรรถนะ ตัวเสื้อสูบแบบบล็อกวีเอียงทำมุม 80 องศา ความจุกระบอกสูบอยู่ที่ 1,492 ซีซี พร้อมเทอร์โบคู่ของ IHI รีดกำลังออกมาได้ 900 แรงม้า ที่ 12,500 แรงม้า หรือคิดเป็น 602 แรงม้าต่อลิตร หรือ 1,000 ซีซี ส่วนแรงม้าต่อน้ำหนักอยู่ที่ 1.67 กิโลกรัม/ 1 แรงม้า
ผลงานในการแข่งขันของปี 1988 เรียกว่าทีมแม็คลาเรนเกือบจะผูกขาดการคว้าแชมป์กรังด์ปรีซ์ ซึ่งทั้งอแลง พรอสต์ และไอร์ตัน เซนน่าช่วยกันคว้าแชมป์มาครองได้ 15 สนาม พลาดเพียงแค่ครั้งเดียวในรายการอิตาเลี่ยน กรังด์ปรีซ์ที่แกร์ฮาร์ด เบอร์เกอร์ของเฟอร์รารี่ซิวแชมป์ไป เพราะเซนน่าซึ่งออกสตาร์ทในตำแหน่งโพล โพซิชั่นพลาดรถชนในรอบที่ 49 หรืออีก 2 รอบจะจบการแข่งขัน ส่วนพรอสต์เครื่องยนต์พังไปในรอบที่ 34
อย่างไรก็ตาม แชมป์ครั้งนั้นก็กลายเป็นของมีแค่สำหรับทีมเฟอร์รารี่ไป เพราะหลังจากที่เบอร์เกอร์คว้าแชมป์รายการนี้ ที่เปรียบเสมือนกับบ้านของเฟอร์รารี่ได้เพียง 2 สัปดาห์ เอ็นโซ่ เฟอร์รารี่ ผู้ก่อตั้งทีมเฟอร์รารี่ก็สิ้นลม
สำหรับรถแข่งรุ่นนี้มีการผลิตออกมา 6 คันเท่านั้นโดยทาง Hercules Aerospace ซึ่งในปัจจุบันรถแข่งทั้ง 6 คันอยู่ดีมีสุข ซึ่งหมายเลข 1, 3, 4 และ 6 เป็นกรรมสิทธิ์ของแม็คลาเรน กรุ๊ป และมีการนำคันหมายเลข 1 ออกจัดแสดงที่แม็คลาเรน เทคโนโลยี เซ็นเตอร์ ส่วนหมายเลข 3 ถูกยืมไปโชว์ตัวที่ห้องจัดแสดงของพิพิธภัณฑ์ National Motor Museum สนามโดนิงตัน พาร์คในอังกฤษ ส่วนหมายเลข 5 เป็นกรรมสิทธิ์ของฮอนด้า ซึ่งถูกนำออกจัดแสดงใน Honda Collection hall ที่สนามทวินริง โมเตกิ และหมายเลข 2 อยู่ในการครอบครองของนักสะสมชาวอเมริกัน
สำหรับแชสซีส์หมายเลข 3 เป็น MP4/4 คันเดียวที่ไม่เคยสัมผัสแชมป์ ซึ่งก็เป็นรถแข่งที่ใช้ในรายการอิตาเลี่ยน กรังด์ปรีซ์ ส่วนหมายเลขอื่นคว้าแชมป์มากันหมด คือ หมายเลข 1 ที่ซานมารีโน และแคนาดาโดยเซนน่า, หมายเลข 2 ที่บราซิลโดยพรอสต์ และสหรัฐอเมริกากับญี่ปุ่นโดยเซนน่า หมายเลข 4 ที่โมนาโก เม็กซิโก และฝรั่งเศสโดยพรอสต์ หมายเลข 5 ที่อังกฤษฐ เยอรมนี, ฮังการี และเบลเยี่ยมโดยเซนน่า และหมายเลข 6 ที่โปรตุเกส, สเปน และออสเตรเลียโดยพรอสต์
เรื่อง : กองบรรณาธิการ
เรียบเรียงข้อมูลโดย กรังด์ปรีซ์ออนไลน์ GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th