Mercedes-Benz EQS สำรวจเทคโนโลยีใน BEVs ระดับ Flagship!!!
นับตั้งแต่ปี 2020 เกือบทุกค่ายรถยนต์เก่าแก่ พร้อมผลิตพาหนะในรูปแบบ BEVs (Battery Electric Vehicles) เพื่อจำหน่ายแทนที่รถ ICE มากรุ่นขึ้นเป็นลำดับ โดยชุดขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าของรถ BEVs จากทุกค่าย ไม่มีความแตกต่างอย่างเป็นนัยสำคัญ ดังนั้น การสร้างจุดขายของ BEVs ของแต่ละแบรนด์ ตั้งแต่รุ่นเริ่มต้น ไล่เรียงไปจนถึงระดับ Flagship จึงตกไปอยู่กับ know-how ที่ค่ายรถยนต์นั้น ๆ สั่งสมมา สำหรับ Mercedes-Benz EQS โจทย์หลักคือความหรูหรา ให้ความสะดวกสบายสูงสุดในการเดินทาง ปิดท้าย…ด้วยระบบความปลอดภัย ที่ต้นสังกัดสั่งจัดเต็มมาครบถ้วนตามมาตรฐานตัวท็อปเช่นเดียวกับ S-Class
Mercedes-Benz S-Class โมเดลปัจจุบัน ทั้งรหัส ‘W223’ ในรุ่นมาตรฐาน และรหัส ‘V223’ กับตัวถัง LWB เปิดตัวมาอย่างอลังการ เป็นรถระดับเรือธงที่มาพร้อมนวัตกรรมอัดแน่นเต็มคัน ซึ่งทั้งหมดได้ถูกถ่ายทอดมายัง Mercedes-Benz EQS (รหัสโมเดล V297) ซึ่งเป็น Pure EV ตัวท็อปในสายการผลิต โดยรถระดับหัวแถวทั้ง 2 รูปแบบการขับเคลื่อนจาก Mercedes-Benz ทั้งที่ใช้ต้นกำลัง ICE (รวม PHEV) และ Electric Motors ยังคงสไตล์การออกแบบที่ผสมผสานความไฮคลาสและความสปอร์ตเอาไว้อย่างลงตัว เป็นการส่งต่อความพรีเมียมจากรุ่นสู่รุ่นได้อย่างไร้ที่ติ
แม้ S-Class จะจัดเป็น Luxury Saloon คันใหญ่ แต่ตัวถังได้รับการขัดเกลาจนดูปราดเปรียว มาพร้อมตัวเลขสัมประสิทธิ์แรงต้านทานอากาศที่ต่ำเพียง 0.22 สถิติรถลู่ลมที่สุดในโลก (Production Cars) ของ W223 ได้กลายเป็นอดีตไปอย่างรวดเร็ว จากการมาของ EQS ซึ่งมาพร้อมดีไซน์ที่แตกต่างจากรถใช้เครื่องยนต์ ตัวถังใหม่จึงขัดเกลาอากาศพลศาสตร์ได้มากยิ่งขึ้น ผลลัพธ์ คือ ตัวเลข Cd. ที่ต่ำสุด ๆ เพียง 0.20 เป็นเจ้าของสถิติใหม่ไปเรียบร้อย นอกจากนี้ EQS ยังนำเสนอมุมมองเรื่องความปลอดภัยได้อย่างโดดเด่น และล้ำหน้าคู่แข่งอยู่เสมอ
- Mercedes-Benz EQS พัฒนาขึ้นจากแพลตฟอร์ม MEA ใช้ชื่อรหัสโมเดล V297
Basic Introduction:
นับแต่ S-Class รหัส ‘W223’ ต่อเนื่องมาจนถึง EQS ทั้งทีมดีไซเนอร์ และทีมวิศวกรของ Mercedes-Benz พร้อม ‘ปล่อยของ’ แบบไม่มีการออมมือ นอกจากเรื่องการปฏิวัติงานออกแบบสไตล์ coupé-like ที่ฉีกตัวออกมาจากรถคูเป้ 4 ประตู ในแบบที่เราคุ้นเคยแล้ว ซอฟต์แวร์ส่วนควบคุมการทำงานของตัวรถกว่า 50 ระบบ ยังพร้อมรองรับการอัปเดตผ่าน OTA (over-the-air) เช่นเดียวกับ Applications บนสมาร์ตโฟน อีกทั้งระบบไฮเทคภายในห้องโดยสาร รวมทั้งอุปกรณ์ Infotainment สั่งการด้วยเสียงได้ถึง 27 ภาษา ซึ่งทั้งหมดเป็นการปรับตัวต่อยอดการสื่อสารยุคไร้สาย (Connected, Shared, Services) ที่จะเชื่อมโยงต่อไปยังระบบ Autonomous Driving ระดับต่างๆ ที่เตรียมรอไว้ใน EQS เรียบร้อยแล้ว
เรื่องความก้าวหน้าทางวัสดุที่ใช้ในการผลิต หากคิดเป็นน้ำหนักบนตัวถังของ EQS ราว 80 กิโลกรัม จะผลิตจากวัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีทั้งที่รีไซเคิลนำกลับมาใช้ใหม่ได้ และเป็นวัสดุที่มาจากธรรมชาติ ทั้งหมดเป็นการลด CO2 นับตั้งแต่ขบวนการผลิต นอกเหนือไปจากการใช้มอเตอร์ไฟฟ้ามาเป็นต้นกำลังในการขับเคลื่อน โดย EQS ใช้โครงสร้างแบบ Hybrid Structure เป็นโครงสร้างลูกผสมระหว่างเหล็กกล้า อะลูมิเนียม และวัสดุสังเคราะห์รูปแบบใหม่ ตามแนวคิดเรื่องรักษ์สิ่งแวดล้อม โครงสร้างเสริมด้วยเหล็กกล้าทนความเค้นสูง (Ultra-high-strength Steels) ขณะที่ส่วนประกอบอื่น ๆ บนตัวถังเน้นความแข็งแกร่ง แต่น้ำหนักเบา และไม่สร้างภาระให้กับสิ่งแวดล้อม ตัวถังของ EQS จึงมีให้เห็นทั้ง เหล็ก อะลูมิเนียม และพลาสติกรีไซเคิล ที่ผสมผสานกันอยู่อย่างกลมกลืน
- ตัวถังสไตล์ coupé-like มาพร้อมค่าสัมประสิทธิ์แรงต้านทางอากาศ () ต่ำเพียง 0.20 ส่งผลให้ EQS เป็น Production Cars ที่ลู่ลมที่สุดในโลกทันที
EQS V297 ใช้อะลูมิเนียมแทนที่เหล็กในหลายจุด ไม่แตกต่างจาก S-Class W223/V223 อาทิ ฝากระโปรงหน้าและหลัง, ประตูทั้ง 4 บาน, แก้มข้าง, คานภายในกันชนทั้งด้านหน้าและด้านหลัง และซับเฟรมในจุดต่างๆ การใช้อะลูมิเนียมแทนที่เหล็กในหลายส่วนบนตัวถัง ซึ่งเหตุผลที่วิศวกรพยายามกระจายอะลูมิเนียมไปในหลายจุดรอบคัน เพื่อช่วยในเรื่องการลดน้ำหนักด้วยนั่นเอง
EQS เป็นรถจาก EQ Family โมเดลแรก ที่ถูกผลิตขึ้นภายใต้แพลตฟอร์ม ‘Mercedes-Benz MEA’ ซึ่งออกแบบมาสำหรับ all-electric luxury saloon และ all-electric luxury SUV โดยจำนวนมอเตอร์ไฟฟ้าที่ใช้ขับเคลื่อน จะไปอิงกับรุ่นย่อย ได้แก่ EQS 450+ ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าที่ล้อหลัง จำนวน 1 ตัว ส่วนรุ่นท็อป (ในปัจจุบัน) EQS 580 4MATIC ติดตั้งมอเตอร์ไฟฟ้า 2 ตัว ช่วยกันขับเคลื่อนล้อหน้าและล้อหลัง ในรูปแบบ AWD จึงใช้ชื่อระบบขับเคลื่อน 4MATIC เช่นเดียวกับรถ Mercedes-Benz ขุมพลัง ICE ที่ใช้ระบบขับเคลื่อน AWD ในปัจจุบัน [หมายเหตุผู้เขียน: EQ จาก Mercedes-Benz ถูกใช้สื่อสารถึง Emotion และ Intelligence ซึ่งไปสอดรับกับคำว่า EQ (Emotional Quotient) ที่หมายถึง ความฉลาดทางอารมณ์ ได้อย่างลงตัว]
- ทีมวิศวกรให้ความสำคัญสูงสุดกับชั่วโมงการทำงานใน Wind Tunnel เพื่อให้ห้องโดยสารของ EQS เงียบกว่า รถ BEVs แนวหรูหราจากทุกค่าย ที่มีจำหน่ายในปัจจุบัน
ชุดมอเตอร์ไฟฟ้าในรถ EQ Family มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า ‘eATS’ (มาจาก Electric Powertrain ในภาษาอังกฤษ) เป็นแบบ PSM (Permanently Excited Synchronous Motor) สำหรับ EQS 450+ มีกำลัง 245 kW (333 PS) ให้แรงบิดสูงสุด 568 Nm ขณะที่ EQS 580 4MATIC มีกำลังขับเคลื่อนรวม 385 kW (524 PS) ให้แรงบิดสูงสุด 855 Nm โดยข้อมูลปัจจุบันยังไม่เปิดเผยว่ามอเตอร์ไฟฟ้าแต่ละตัว มีกำลังในระดับใด ต้นสังกัดเปิดเผยเพียงว่า เร็ว ๆ นี้จะมี EQS เวอร์ชันแรงตามออกมา (น่าจะมีชื่อ AMG) พร้อมความดุในระดับ 560 kW (761 PS)
- EQS รองรับ Autonomous Driving ได้ถึง SAE Level 4 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดของรถที่มีพวงมาลัย แป้นคันเร่ง และแป้นเบรก ให้มนุษย์ควบคุมได้ ดังนั้น จึงใช้สารพัดเซ็นเซอร์แบบจัดเต็ม ทั้งคันนับรวมได้มากถึง 350 เซ็นเซอร์ ไฮไลต์อยู่ที่ LiDAR (Light Detection And Ranging) บริเวณกระจังหน้า ทำงานร่วมกับ Radars ที่ส่วนหน้ารถอีก 3 ตัว
ในส่วนของสมรรถนะ ทาง Mercedes-Benz เคลมตัวเลขของ EQS 480+ และ EQS 580 4MATIC มาดังนี้ อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ทำได้ 6.2 และ 4.3 วินาที ตามลำดับ, ความเร็วสูงสุดทั้งคู่ถูกจำกัดไว้ที่ 210 กม./ชม. ความจุแบตเตอรี่ (Recuperation Capacity, max.) ระบุมา 186 และ 290 kW ตามลำดับ ต่อเนื่องไปถึงระยะทางที่วิ่งได้ต่อการชาร์จแบตเต็มแต่ละรอบที่ 780 และ 676 กิโลเมตร (WLTP) ตามลำดับ และแน่นอนว่า ค่า CO2 จากไอเสียอยู่ในระดับ 0 กรัม/กิโลเมตร (ระบุไว้เพื่อจัดเรตอัตราภาษี)
ก่อน EQS จะพร้อมเปิดไลน์การผลิตอย่างเป็นทางการ ทีมวิศวกรได้นำรถโปรโตไทป์ไปวิ่งทดสอบเก็บข้อมูล คิดเป็นระยะทางสะสมรวมถึง 5 ล้านกิโลเมตร ปักหลักทดสอบกันยาว ๆ ที่ Test and Technology Centre (PTZ) ณ เมือง Immendingen สนามทดสอบที่ Daimler AG ทุ่มทุนไปกว่า 200 ล้านยูโร โดย Proving Ground แห่งนี้ ถูกเตรียมไว้สำหรับโครงการ The mobility of the future หรือยานยนต์ในอนาคตที่มาพร้อมระบบ Connected, Autonomous, Shared & Services และ Electric
- MBUX Hyperscreen เป็นอุปกรณ์มาตรฐานใน EQS 580 4MATIC จัดเต็มมาถึง 3 จอ จอสำหรับผู้ขับและผู้โดยสารใช้ขนาด 3 นิ้ว จอกลางใหญ่โตถึง 17.7 นิ้ว รวมความกว้างของทั้ง 3 จอ บนคอนโซลจะเต็มตาถึง 141 เซนติเมตร โดยทั้งหมดเป็นหน้าจอแบบ OLED
- Active Ambient Lighting เป็นลูกเล่นใหม่ของห้องโดยสาร ใช้ LEDs รอบห้องโดยสารที่ไม่ได้เป็นเพียงแค่เปลี่ยนสีการสร้างบรรยากาศ แต่ยังเชื่อมโยงกับระบบความปลอดภัยด้วย
เสร็จจากสนามทดสอบ PTZ ในเยอรมนี EQS ถูกนำมาวิ่งเก็บข้อมูลต่อกับสภาพอากาศเย็นจัดใน Proving Ground และถนนจริง แถบสแกนดิเนเวีย วัตถุประสงค์เพื่อหาเค้นหาความบกพร่องของระบบแชสซี และระบบขับเคลื่อน ในสภาพอุณหภูมิติดลบ ที่อาจส่งผลต่อความเสถียรในการจ่ายกระแสไฟ จากนั้นยกทีมไปต่อกันที่สนาม High-speed Test Track ณ เมือง Nardò ประเทศอิตาลี แน่นอนว่า สนามนี้ EQS ต้องวิ่งแช่ที่ท็อปสปีดกันแบบยาวๆ จนแบตหมด ผ่านเย็นจัด ต่อด้วยร้อนจัดกับรูปแบบ Vehicle Heat Testing เริ่มจากตอนใต้ของยุโรป แล้วข้ามไปวิ่งต่อที่แอฟริกาใต้บนสภาพการใช้งานจริง กับขบวน EQS เวอร์ชันพรางตัว จากนั้นตระเวนวิ่งเก็บข้อมูลไปทั่วโลก อาทิ จีน, ญี่ปุ่น, ดูไบ และสหรัฐอเมริกา
- คิดเป็นน้ำหนักบนตัวถังของ EQS ราว 80 กิโลกรัม ถูกผลิตจากวัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีทั้งที่รีไซเคิลนำกลับมาใช้ใหม่ได้ และเป็นวัสดุที่มาจากธรรมชาติ ทั้งหมดเป็นการลด CO2 นับตั้งแต่ขบวนการผลิต
Safety System:
เริ่มต้นที่ระบบ DRIVE PILOT อัปเกรดทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์เพิ่มเติม จากระบบ DISTRONIC PLUS ใน S-Class W222 เริ่มใช้งานอย่างเต็มรูปแบบครั้งแรกกับ S-Class W223 สำหรับ EQS เพิ่มเติมด้วย LiDAR (Light Detection And Ranging) บริเวณกระจังหน้าอีก 1 ตัว ที่เหลือจะยกชุดมาจาก S-Class W223 อาทิ Radars ท่อนหน้ารถ 3 ตัว, Camera Sensors รอบคัน, Moisture Sensor ซ่อนอยู่เหนือบังโคลนซุ้มล้อหน้า ทำหน้าที่คำนวณระดับการตกของฝน เพื่อควบคุมระบบช่วยการทรงตัว รวมทั้งสารพัดเซ็นเซอร์รอบตัวถัง ล้อ เบรก ระบบขับเคลื่อน ระบบบังคับเลี้ยว ฯลฯ ซึ่งใน EQS นับรวมได้มากถึง 350 เซ็นเซอร์ โดยเครือข่ายของเซ็นเซอร์ทั้งหมด ถูกออกแบบสำหรับการขับเคลื่อน Autonomous Driving นั่นเอง
ระบบ DRIVE PILOT ตรวจสอบสิ่งกีดขวาง และระยะห่างด้านหน้ารถอย่างแม่นยำด้วย LiDAR 1 ตัว พร้อม Radars อีก 3 ตัว ในส่วนของ Radar ตัวแรกใหญ่สุด อยู่ตรงกลางหลังโลโกดาว มีพิสัยทำการระยะไกล หรือ Front long-range radar องศาในการสแกน 90 องศา สองตัวที่เหลือเป็น Front multi-mode radars วางมุมกันชน ซ้าย-ขวา เน้นสแกนในแนวกว้าง รวมกันครอบคลุม 130 องศาจากหน้ารถ หาก EQS วิ่งอยู่ในเลนกลางจากถนน 3 เลน ทั้ง 2 เลนด้านซ้ายและขวา จะไม่มีทางรอดพ้นจากการตรวจจับของเรดาร์ชุดนี้ไปได้เลย
ถัดมาเป็น Front stereo multi purpose camera หรือกล้องหน้ารถ การทำงานครอบคลุม 70 องศา, Rear multi-mode radar จำนวน 2 ตัว ที่ท้ายรถครอบคลุมการสแกน 130 องศา, 360º camera ใช้กล้อง 4 ตัว แต่ละตัวใช้เลนส์มุมกว้าง 180 องศา ทำงานร่วมกันเพื่อสร้างภาพจากมุมบน 360 องศา รอบตัวรถ และ Ultrasonic sensor จำนวน 12 ตัว แบ่งเป็น 6 ตัวที่กันชนด้านหน้า และอีก 6 ตัวที่กันชนหลัง เจ้า 12 ตัวนี้ไม่มีอะไรพิเศษไปกว่า Parking Sensors ที่เราคุ้นเคย มันเป็นเสมือนดวงตาของระบบ INTELLIGENT PARK PILOT (Autonomous Driving, SAE Level 4) ซึ่งส่งสัญญาณตรวจสอบวัตถุได้ไกล 1.2-4.5 เมตร และสแกนกว้างถึง 120 องศา/ตัว
- มอเตอร์ไฟฟ้าใช้ชื่อ ‘eATS’ ใน EQS 480+ ติดตั้ง 1 ตัว รับหน้าที่ขับเคลื่อนล้อหลัง มีกำลัง 245 kW (333 PS) แรงบิดสูงสุด 568 Nm ขณะที่ EQS 580 4MATIC ติดตั้ง 2 ตัว ขับเคลื่อนในรูปแบบ AWD มีกำลังขับเคลื่อนรวม 385 kW (524 PS) พร้อมแรงบิดสูงสุด 855 Nm
DRIVE PILOT ควบคุมรถได้ตั้งแต่จอดสนิท เริ่มออกตัว เพิ่มความเร็ว ชะลอความเร็ว บังคับทิศทางพวงมาลัย และทำงานได้จนถึงความเร็วเท่าที่กฎหมายกำหนด ตามป้ายจราจรของแต่ละพื้นที่ สามารถใช้งานแบบ stop-and-go สำหรับการเดินทางในเมืองได้อย่างสมบูรณ์แบบ โดย EQS มาพร้อม Autonomous Driving ระดับ SAE Level 2 ถึง Level 4 ขึ้นอยู่กับการทำงานของแต่ละฟังก์ชัน
- แบตเตอรี่ลิเทียม-ไอออน Mercedes-Benz ลงทุนเปิดโรงงานผลิตเอง หากชาร์จผ่าน DC Fast Charging ทั้ง EQS 480+ และ EQS 580 4MATIC จะชาร์จแบตเต็มได้ภายใน 31 นาที
อีกหนึ่งไฮไลต์ซึ่งมีมาให้เฉพาะรถ Mercedes-Benz ระดับหัวแถว ได้แก่ ระบบ PRE-SAFE วิศวกร Mercedes-Benz จัดให้อยู่ในหมวดหมู่ของอุปกรณ์ความปลอดภัยประเภท Passive Safety หรือระบบที่ช่วยปกป้องผู้โดยสารหลังจากรถเกิดอุบัติเหตุ เป็นระบบที่ใช้เทคโนโลยีมาช่วยพยากรณ์โอกาสที่รถจะประสบอุบัติเหตุ เริ่มต้นพัฒนาใช้มาก่อน S-Class W221 จัดเต็มยิ่งขึ้นใน W222 และ W223 จวบจนปัจจุบันระบบนี้มีใช้มากว่า 15 ปี และมีการอัปเกรดความก้าวหน้าของเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง และระบบ PRE-SAFE ใน EQS เป็นเวอร์ชันล่าสุด
การทำงานของ PRE-SAFE เป็นการคาดการณ์การเกิดอุบัติเหตุล่วงหน้า เพื่อสั่งให้อุปกรณ์ Passive Safety ซึ่งทำงานด้วยไฟฟ้าทั้งหมด เตรียมรับมือกับอุบัติเหตุ ด้วยการใช้สัญญาณ LiDAR และ Radars ด้านหน้ารถ สแกนหาสิ่งกีดขวางบนผิวถนนจากระยะไกล ความอัจฉริยะของหน่วยประมวลผลจะแยกแยะได้ว่า เป็นสิ่งกีดขวางที่เคลื่อนที่ หรือเป็นสิ่งกีดขวางที่อยู่นิ่งกับที่ ถ้าเคลื่อนที่ก็จะเป็นรถที่วิ่งอยู่ด้านหน้า ไม่มีอะไรผิดปกติ และถ้าไม่เคลื่อนที่ก็อาจมีรถจอดอยู่ข้างทาง หรือเกิดอุบัติเหตุ มีรถจอดกีดขวางช่องจราจรอยู่ เป็นต้น
- เรื่องอุปสรรคในการชาร์จไฟของรถกลุ่มนี้ กำลังจะกลายเป็นอดีตในหลายภูมิภาค ทั้งโลกมีจุดชาร์จไฟรองรับรถ BEVs ทั้ง AC และ DC กว่า 5 แสนจุด เฉพาะในยุโรปกว่า 2 แสนจุด
ในกรณีหลัง PRE-SAFE จะสั่งให้ระบบร่วมอื่นๆ พร้อมรับมือกับอุบัติเหตุ เช่น ถ้ามีกระจกบานใดบานหนึ่ง หรือซันรูฟเปิดอยู่ มันจะเลื่อนปิดเองโดยอัตโนมัติ เข็มขัดนิรภัย รวมถึงเบาะนั่งในตำแหน่งที่มีผู้โดยสารนั่งอยู่ จะบังคับให้ท่านั่งของผู้โดยสารอยู่ในตำแหน่งที่ปลอดภัย พนักพิงเอนเข้าสู่ตำแหน่งปกติ หมอนรองขยับเข้าใกล้ศีรษะมากยิ่งขึ้น ส่วนรองรับต้นขา และด้านข้างลำตัวของเบาะนั่ง จะโอบกระชับร่างกายผู้โดยสาร
อีกทั้ง PRE-SAFE จะเชื่อมโยงการทำงานไปถึงระบบ ABA (Active Brake Assist) ในการสั่งสะสมแรงดันเบรกเตรียมเอาไว้ล่วงหน้า (ผู้ขับไม่ได้เหยียบแป้นเบรก) เพื่อให้ระบบเบรกมีความฉับไวสูงสุด ระดับของแรงดันขึ้นอยู่กับการประมวลผลของระบบนี้ โดยอ้างอิงจาก ความเร็วรถ จำนวนผู้โดยสาร สรุปออกมาเป็น ‘โมเมนตัม’ เพื่อให้การหยุดการเคลื่อนที่ของรถหนักกว่า 2.5 ตัน เกิดขึ้นในเวลาและระยะทางที่สั้นที่สุด
- Pain Point ของรถยนต์ไฟฟ้า อยู่ที่เรื่องการชาร์จไฟ Mercedes-Benz ตีโจทย์แตก ทำเรื่องการชาร์จให้ง่าย แถมชาร์จได้ Unlimited ผ่านเครือข่ายของ IONITY แบบฟรี ๆ นาน 1 ปีเต็ม (โปรโมชันสำหรับตลาดในยุโรป)
- ฟังก์ชันของระบบช่วยผู้ขับ และระบบความปลอดภัย EQS คับคั่งระดับเดียวกับ S-Class
ระบบกลุ่ม Driving Assistance รับภารกิจช่วยผู้ขับใน EQS ยังมีอีกหลายฟังก์ชัน อาทิ Active Distance Assist DISTRONIC รักษาระดับความเร็วรถ เริ่มต้นเซตการทำงานของระบบได้ตั้งแต่ความเร็ว 50 กม./ชม. จากนั้นระบบจะควบคุมความเร็วรถอัตโนมัติ จากจุดหยุดนิ่งต่อเนื่องไปจนถึง 100 กม./ชม. รองรับการเคลื่อนที่แบบ stop-and-go ตอบโจทย์การเดินทางทั้งบน มอเตอร์เวย์ ทางหลวงชนบท และไหลไปตามสภาพการจราจรในเมือง
Active Steering Assist ใช้กล้อง 360 องศา ตรวจจับเส้นแบ่งเลนบนผิวถนน ช่วยเตือนและประคองรถให้วิ่งอยู่ในเลน ทำงานได้จนถึงความเร็ว 210 กม./ชม. (หากเปลี่ยนเลนโดยไม่เปิดสัญญาณไฟ ระบบจะเตือน), Traffic Sign Assist เตือนป้ายจราจร เช่น ป้ายจำกัดความเร็ว ป้ายหยุดรถระวังก่อนข้ามทางแยก และสัญญาณไฟแดง เป็นต้น, Remote Parking Assist (SAE Level 2) ควบคุมการเข้าจอดของรถผ่านสมาร์ตโฟนจากนอกตัวรถ, Memory Parking Assist (SAE Level 2) สั่งให้ระบบจดจำตำแหน่งที่จอดรถเป็นประจำ ตัวอย่าง เช่น รถส่งผู้ขับบริเวณหน้าบ้าน จากนั้นผู้ขับสั่งรถผ่าน App ในสมาร์ตโฟน เพื่อให้รถเข้าไปจอดเองในโรงรถ [หมายเหตุผู้เขียน: SAE Level 2 ยังต้องอาศัยการควบคุมรถโดยคน แม้คนสั่ง…จะไม่ได้อยู่ในรถก็ตาม]
ปิดท้ายส่วนนี้ ด้วยระบบ INTELLIGENT PARK PILOT (SAE Level 4) ทำงานร่วมกับ Automated Valet Service (AVS) ซึ่งเป็นบริการจอดรถอัตโนมัติ ตัวอย่าง เช่น ผู้ขับและผู้โดยสารลงรถที่จุดรับ-ส่ง ทางเข้าตึก จากนั้นรถจะไปหาที่ว่างจอดเอง ในทำนองเดียวกัน เมื่อเสร็จภารกิจ ก็สามารถเรียกรถให้มารับที่จุดรับ-ส่ง ได้เช่นกัน ระบบลักษณะนี้รถสามารถเดินทางจากจุด A ไปจุด B ได้อัตโนมัติเต็มระบบ เพียงแต่ต้องถูกจำกัดการเคลื่อนที่แบบอัตโนมัติไว้เฉพาะในพื้นที่ควบคุม ซึ่งเป็นพื้นที่ที่วาง Infrastructure สำหรับระบบขับขี่อัตโนมัติไว้เรียบร้อยแล้ว
- DRIVE PILOT ควบคุมรถได้ตั้งแต่จอดสนิท เริ่มออกตัว เพิ่มความเร็ว ชะลอความเร็ว บังคับทิศทางพวงมาลัย สามารถใช้งานแบบ stop-and-go สำหรับการเดินทางในเมืองได้อย่างสมบูรณ์แบบ
- DISTRONIC ใช้การทำงานอันแม่นยำของทั้ง LiDAR และ Radars เพื่อรักษาระยะห่างที่ปลอดภัย (จากรถที่เคลื่อนที่อยู่ด้านหน้า) เมื่อต้องหยุดรถแบบกะทันหัน
Chassis & Suspension:
เป็นที่ทราบกันดี รถหรูระดับ Flagship จาก Mercedes-Benz วิศวกรต้องเน้นความนุ่มนวลเป็นที่สุด แต่เมื่อกำลังของรถมากขึ้น สมรรถนะก็ไม่เป็นรองรถสปอร์ต ระบบต่างๆ จึงจำเป็นต้องออกแบบให้ตอบโจทย์กับสมรรถนะที่เพิ่มขึ้นด้วย สำหรับ EQS ทุกรุ่นจะติดตั้งระบบกันสะเทือนแบบ AIRMATIC มาเป็นอุปกรณ์มาตรฐาน เช่นเดียวกับ S-Class
AIRMATIC ถูกพัฒนาขึ้นโดย BILSTEIN ซึ่งเป็นมือหนึ่งของวงการช่วงล่างรถยนต์ R&D ช่วงล่างถุงลมร่วมกับ Mercedes-Benz มาตั้งแต่ยุคแรกๆ เป็นการนำ ‘สปริงลม’ มาใช้งานแทน ‘สปริงขด’ ฟีลลิ่งที่ผู้โดยสารได้รับจากกันสะเทือน จะขึ้นอยู่กับความหนาแน่นของลมภายในชุดถุงลมนี้ ถ้าลมมาก สปริงลมจะแข็ง ให้ความนุ่มนวลน้อย แต่ให้ความมั่นใจในการเกาะถนนมาก ในทางกลับกัน ถ้าความหนาแน่นของลมในสปริงลมลดลง ความรู้สึกนุ่มนวลนั่งสบายก็จะเข้ามาแทนที่ อีกทั้งยังปรับเปลี่ยนระดับความสูงของตัวถังให้สัมพันธ์กับความเร็ว เพื่อลดแรงต้านอากาศได้ด้วย การสั่งเพิ่ม-ลดปริมาณลม จะมาจากการประมวลผลของ ECU ที่พิจารณาจากความเร็วรถ และสภาพถนนในขณะนั้น ซึ่งการปรับเปลี่ยนจะเกิดขึ้นในรูปแบบ ‘แปรผัน’ คือ เป็นแบบค่อยเป็นค่อยไปตามระดับความเร็ว โดยทั้งหมดผู้โดยสารมีโอกาสรับรู้ถึงการทำงานของมันได้น้อยมาก แม้จะตั้งใจจับผิดความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอยู่ก็ตาม
- ระบบส่องสว่าง DIGITAL LIGHT ขณะทำงานร่วมกับฟังก์ชัน Active Lane Change Assist
ช่วงล่าง AIRMATIC ทำงานร่วมกับ ADS+ (Adaptive Damping System+) ซึ่งเป็นช็อคอัพไฟฟ้า โดยช็อคอัพแต่ละล้อจะทำงานอย่างเป็นอิสระต่อกัน ตามสภาพผิวถนน ในโหมด COMFORT ช่วงล่างจะปรับลดความสูงตัวถังลง 10 มิลลิเมตร เมื่อความเร็วรถสูงกว่า 120 กม./ชม. และปรับลงเพิ่มอีก 10 มิลลิเมตร เมื่อผ่านหลัก 160 กม./ชม. เพื่อลดแรงต้านอากาศ
ขณะที่โหมด SPORT จะลดความสูงที่ระดับ 20 มิลลิเมตร เมื่อใช้ความเร็วสูงกว่า 120 กม./ชม. และผู้ขับสามารถสั่งยกรถขึ้นจากระดับมาตรฐานได้ถึง 25 มิลลิเมตร เพียงกดปุ่ม เพื่อให้ผู้โดยสาร VIP สูงอายุ ก้าวเข้า-ออกจากห้องโดยสารได้ง่ายยิ่งขึ้น เมื่อรถใช้ความเร็วเกิน 40 กม./ชม. ไปแล้ว ระบบจะปรับเข้าสู่ความสูงมาตรฐานโดยอัตโนมัติ
- DIGITAL LIGHT เป็นระบบส่องสว่างรูปแบบใหม่ ให้ความสว่างในระดับ high-resolution หรือมีระดับความละเอียดของแสงได้ถึง 6 ล้านพิกเซล/คัน ลูกเล่นบางส่วนของ DIGITAL LIGHT ได้แก่ EQS สามารถใช้ไฟสูงตลอดเวลา โดยที่ไม่แยงตาชาวบ้าน ทั้งรถที่วิ่งอยู่ข้างหน้า หรือรถที่วิ่งสวนทางมา จากจำนวนเม็ดพิกเซลที่ระบบเลือกให้ทำงานหรือไม่ทำงานก็ได้ ตามการประมวลของคอมพิวเตอร์ ที่อ้างอิงการตรวจจับวัตถุ LiDAR, Radars และกล้องด้านหน้ารถ
ปิดท้ายด้วยระบบ Rear-axle Steering เป็นระบบ ‘ล้อหลังช่วยล้อหน้าเลี้ยว’ ไม่ใช่ของใหม่สำหรับวงการรถหรู หรือรถ SUV จากเยอรมัน แต่ความใหม่ของระบบนี้ใน EQS (และ W223) คือ ล้อหลังสามารถหักเลี้ยวได้มากถึง 10 องศา เมื่อเทียบกับระบบเดียวกันในรถค่ายอื่น ซึ่งทำได้เพียง 3 องศา ดังนั้น การทำงานของ Rear-axle Steering ใน EQS จึงเห็นความต่างอย่างชัดเจน ในระดับที่วิศวกร Mercedes-Benz เคลมมาเลยว่า มันจะช่วยให้รถตัวถังยาวเกิน 5 เมตร ขับง่ายและคล่องตัวไม่ต่างกับรถ City Car โดยเฉพาะขณะถอยรถเข้าจอดในซองแคบๆ ที่เป็นอุปสรรคมาอย่างยาวนานสำหรับรถตัวถัง long-wheelbase
- การทำงานของฟังก์ชัน Traffic Sign Assist
ใน EQS ล้อหลังจะหักเลี้ยวได้ 2 สเต็ป สเต็ปแรกเป็นค่ามาตรฐานสูงสุดที่ 4.5 องศา และสเต็ปที่สองเป็นออปชันสูงสุดที่ 10 องศา ซึ่งจากสเต็ปแรกมาเป็นสเต็ปสอง อัปเกรดง่ายๆ ผ่าน OTA (over-the-air) หรือซอฟต์แวร์ เพราะในส่วนของฮาร์ดแวร์ถูกออกแบบเผื่อไว้หมดแล้ว โดยระบบ Rear-axle Steering ในความเร็วต่ำจะสั่งล้อหลังหักเลี้ยว สวนทางกับล้อหน้า เพื่อลดรัศมีวงเลี้ยว ในทางกลับกัน เมื่อรถใช้ความเร็วสูง ล้อหลังจะหักเลี้ยวทิศทางเดียวกับล้อหน้า เพื่อให้หน้ายางตั้งฉากกับผิวถนนตลอดเวลา ขณะรถเคลื่อนที่อยู่ในโค้ง
- Memory Parking Assist (SAE Level 2) สั่งให้ระบบจดจำตำแหน่งที่จอดรถเป็นประจำ ตัวอย่าง เช่น รถส่งผู้ขับบริเวณหน้าบ้าน จากนั้นผู้ขับสั่งรถผ่าน App ในสมาร์ตโฟน เพื่อให้รถเข้าไปจอดเองในโรงรถ
- แนวคิด Smart Mobility เชื่อมโยงกับ Smart Living ช่วงกลางคืน หากพลังงานไฟฟ้าในรถมากพอ ก็สามารถส่งต่อพลังงานไปใช้ในครัวเรือนได้ ขณะที่ช่วงกลางวัน สามารถใช้พลังงานจากโซลาร์เซลล์ ส่งกลับมาชาร์จรถได้เช่นกัน โดยทั้งหมดต้องคิดและวางแผน ตามรูปแบบการใช้พลังงานของแต่ละบุคคล
สำหรับรถ BEVs ทาง Mercedes-Benz นำร่องมาก่อนด้วย EQS ซึ่งเป็น Luxury Saloon และจากแพลตฟอร์ม MEA จะถูกต่อยอดไปเป็น Luxury SUV เป็นลำดับถัดไป ความโดดเด่นของ EQS ไม่ได้มีเฉพาะเรื่องดีไซน์ ความพรีเมียม และเทคโนโลยี แต่เรื่องกลยุทธ์การตลาด Mercedes-Benz ในยุโรป ยังเตรียมมาแบบจัดเต็ม ด้วยโปรชาร์จไฟผ่านเครือข่าย Fast Charging ของ IONITY ได้ฟรี ไม่มีจำกัดใดๆ ยาวถึง 1 ปีเต็ม
เรื่อง : พิทักษ์ บุญท้วม
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสารยานยนต์ รถจักรยานยนต์ รถใหม่ได้ที่ www.grandprix.co.th