Mercedes-Benz, หอการค้าเยอรมัน-ไทย, บริษัทชั้นนำเยอรมัน ร่วมเปิดโครงการ Clean Air Initiative ในงานมอเตอร์โชว์ 2021
เมอร์เซเดส-เบนซ์ (ประเทศไทย) ร่วมกับหอการค้าเยอรมัน-ไทย และบริษัทชั้นนำของเยอรมัน เปิดโครงการ Clean Air Initiative เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีในการสร้างอากาศสะอาดบริสุทธิ์ให้ประเทศไทย โดยเกออร์ก ชมิดท์ เอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมันประจำประเทศไทย ให้เกียรติเป็นประธานที่บูธเมอร์เซเดส-เบนซ์ (ประเทศไทย) ในงานบางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ ครั้งที่42 ชาเลนเจอร์ ฮอลล์ อิมแพ็ค เมืองทองธานี เมื่อวันศุกร์ที่ 26 มีนาคมที่ผ่านมา
โครงการ Clean Air Initiative เป็นโครงการที่ทางหอการค้าไทย-เยอรมัน ริเริ่มขึ้นภายใต้ความร่วมมือกับบริษัทชั้นนำจากประเทศเยอรมันที่เข้ามาดำเนินธุรกิจในประเทศไทย ในการผลักดันให้แต่บริษัท พัฒนานวัตกรรม และเทคโนโลยีใหม่ๆ ในการผลิตสินค้าหรือการให้บริการต่างๆ ที่จะช่วยส่งเสริมในการช่วยทำให้อากาศสะอาดบริสุทธิ์
Clean Air for Everyone and Stimulation Foreign Direct Investment
เมื่อไม่นานมานี้รัฐบาลไทยได้กำหนดให้การลงทุนในเศรษฐกิจสีเขียวเป็นเป้าหมายในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนโดยกระตุ้นให้กลุ่มธุรกิจทั้งหลายมาลงทุนในการพัฒนาปรับปรุงเทคโนโลยี และมาตรการควบคุมมลพิษ ทั้งนี้เพื่อเป็นการบรรเทาภาระต้นทุน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนจึงได้เสนอสิทธิประโยชน์ในการลงทุนให้แก่บริษัท “ที่มีการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม”
การสำรวจล่าสุดในบรรดาบริษัทที่เป็นสมาชิกของหอการค้าเยอรมัน-ไทย แสดงให้เห็นว่ามากกว่าร้อยละ 77 ของผู้ตอบแบบสอบถามเชื่อว่าความน่าสนใจในการลงทุนในประเทศไทยกาลังลดลงเนื่องจากจากปัญหามลพิษทางอากาศของประเทศ ยิ่งไปกว่านั้น บริษัทข้ามชาติหลายแห่งได้นำการพัฒนาอย่างยั่งยืนมาเป็นเป้าหมายการดำเนินงานด้านภูมิอากาศของบริษัท (รวมถึงฮอนด้า, เนสท์เล่, ซีเมนส์, ยูนิลีเวอร์, อิเกีย, กูเกิล, แอปเปิ้ล, คัมมิ่นส์, พาทาโกเนีย และอื่น ๆ) และนำเป้าหมายดังกล่าวมาเป็นปัจจัยในการพิจารณาตัดสินใจเลือกสถานที่ในการลงทุนและการประเมินห่วงโซ่อุปทาน
ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 28 จากประเทศที่มีมลพิษทางอากาศมากที่สุด และกรุงเทพมหานครอยู่ในอันดับที่ 20 จากเมืองที่มีมลพิษทางอากาศมากที่สุดในโลก ในขณะที่หมอกควันของฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ในเชียงใหม่อยู่ในระดับสูงถึงเกือบ 20 เท่าของระดับความปลอดภัยในช่วงฤดูการตัด และเผาป่า ในปี พ.ศ. 2562 เจ็ดจังหวัดของประเทศไทยเป็นหนึ่งใน 15 เมืองที่มีมลพิษทางอากาศมากที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ค่าเฉลี่ยของฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอนต่อปีของประเทศไทยอยู่ที่ 26 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ซึ่งสูงมากกว่า 2 เท่าของค่าสูงสุดที่จัดทำโดยองค์การอนามัยโลก ซึ่งอยู่ที่10 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ในขณะที่การขนส่งทางถนนในกรุงเทพมหานคร เป็นสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอนในอากาศ ขณะที่ยอดขาย และการผลิตยานพาหนะในประเทศไทยยังคงมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มมากขึ้น
มลพิษทางอากาศเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์ที่สำคัญต่อสังคมไทย ซึ่งสะท้อนจากสุขภาพที่แย่ลงและต้นทุนในการดูแลสุขภาพ ต้นทุนค่าเสียโอกาสและการสูญเสียรายได้ ค่าใช้จ่ายสำหรับอุปกรณ์ป้องกัน อาทิ หน้ากากอนามัย และเครื่องฟอกอากาศ รวมถึงความสุขที่ลดลงของประชากร ทั้งนี้มลพิษทางอากาศที่รุนแรงเกิดจากฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) สามารถสร้างความเสียหายให้แก่ประเทศเป็นจำนวนเงินกว่า 6.6 พันล้านบาท ทั้งในด้านสุขภาพ และภาคการท่องเที่ยว นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลที่สูงขึ้นยังสามารถก่อให้เกิดค่าเสียโอกาสสูงถึง 3.1 พันล้านบาท
เศรษฐกิจประเทศไทยพึ่งพาการท่องเที่ยวเป็นสำคัญ และจากการคาดหมายของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจภายหลังจากสถานการณ์โควิด-19 มีความเป็นไปได้สูงว่าการท่องเที่ยวยังคงได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงหากระดับมลพิษทางอากาศยังอยู่ในระดับที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงระหว่างเดือนธันวาคม-เดือนมีนาคมของแต่ละปีซึ่งเป็นช่วงที่นักท่องเที่ยวเดินทางมายังประเทศไทยจำนวนมากที่สุด แต่ระดับมลพิษทางอากาศในหลายพื้นที่ทั่วประเทศยังอยู่ในระดับค่อนข้างสูง
กรมควบคุมมลพิษระบุว่าหมอกควันในกรุงเทพมหานครเกิดขึ้นจากการปล่อยมลพิษจากเครื่องยนต์ดีเซล การเผาขยะชีวมวล และฝุ่นทุติยภูมิ ในขณะที่สาเหตุหลักของควันพิษอันตรายในภาคเหนือของประเทศไทยคือ การเผาไหม้ชีวมวลแบบระบบเปิด รวมถึงการทำเกษตรกรรมแบบถางโค่นและเผาป่าอย่างดั้งเดิม อันเป็นสาเหตุของการเกิดไฟไหม้ป่าในหลายพื้นที่ของประเทศ.
หอการค้าเยอรมัน-ไทยเชื่อว่าเพื่อให้บรรลุถึงความสำเร็จในการพัฒนาและการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนในประเทศไทยในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า จึงจำเป็นต้องมีการปฏิรูปนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมซึ่งจะช่วยให้ประเทศไทยยังคงสถานะของการเป็นผู้นำในด้านการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ และเป็นแหล่งท่องเที่ยวชั้นนำของภูมิภาค
ดังนั้นหอการค้าเยอรมัน-ไทยจึงขอเสนอให้รัฐบาลไทยนำเกณฑ์มาตรฐานขององค์การอนามัยโลกในการวัดระดับการผ่านของฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอนที่เข้มงวดมากขึ้นมาใช้บังคับ ตลอดจนใช้มาตรการบังคับทางกฎหมาย การลงทุนในนวัตกรรมทางเทคโนโลยี และมาตรการทางภาษี รวมถึงสิทธิประโยชน์อื่นอันมิใช่ตัวเงิน เพื่อช่วยป้องกันมลพิษทางอากาศอันเป็นสาเหตุหลัก
หอการค้าเยอรมัน-ไทยขอสนับสนุนร่างพระราชบัญญัติการบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาดซึ่งหอการค้าไทยได้นำเสนอต่อรัฐบาลไทย และขอสนับสนุนร่างพระราชบัญญัติกำกับดูแลการจัดการอากาศเพื่อสุขภาพแบบบูรณาการซึ่งเสนอโดยเครือข่ายอากาศสะอาด
หอการค้าเยอรมัน-ไทยพร้อมทั้งบริษัทที่เป็นสมาชิกทั้งหลายยินดีจะเสนอความเชี่ยวชาญและความรู้ทางเทคนิค และพร้อมจะร่วมกับรัฐบาลไทยเพื่อสนับสนุนการอภิปรายสาเหตุของมลพิษทางอากาศในประเทศไทย รวมถึงการหาแนวทางปฏิบัติเพื่อบรรเทามลพิษทางอากาศในด้านต่างๆ ดังต่อไปนี้
การขนส่ง
- การยกระดับคุณภาพอากาศ โดยการปรับปรุงมาตรฐานการปล่อยมลพิษในรถยนต์ใหม่เป็นระดับยูโร 5 และ ยูโร 6 เพื่อให้เป็นไปในแนวทางเดียวกับเชื้อเพลิงสะอาด (โดยมีปริมาณกัมมะถัน 10 ส่วนในล้านส่วน (ppm))
– การกำหนดนโยบายที่ชัดเจนเกี่ยวกับระยะเวลาการการปรับปรุงคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิงและการบังคับใช้มาตรฐานการปล่อยมลพิษระดับยูโร 5 ในปีพ.ศ. 2567
– การสร้างความตระหนักรู้ถึงความสัมพันธ์ระหว่างมาตรฐานการปล่อยมลพิษ และนโยบายส่งเสริมการใช้ไบโอดีเซล ซึ่งส่วนผสมของไบโอดีเซล (FAME – Fatty Acid Methyl Ester) ที่มากกว่า B7 อาจส่งผลกระทบทางเทคนิคต่อเทคโนโลยีการบำบัดไอเสียขั้นสูง
- การสนับสนุนให้ใช้เชื้อเพลิงสะอาดที่มีกำมะถันต่ำ และช่วยผู้ผลิตรถยนต์ให้สามารถนำเสนอเทคโนโลยีการควบคุมปริมาณการปล่อยมลพิษขั้นสูงเพื่อลดการปล่อยอนุภาคซัลเฟต
- การส่งเสริมการใช้เชื้อเพลิงสังเคราะห์ และการกำหนดเป้าหมายหรือโครงการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพื่อกระตุ้นวิธีการเดินทางส่วนบุคคลให้มีการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ลดลงเป็นศูนย์
- การสนับสนุนเทคโนโลยีการขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้าด้วยมาตรการต่างๆ อันได้แก่
– การเพิ่มจำนวนสถานีอัดประจุไฟฟ้าสาธารณะ และการส่งเสริมการลงทุนของภาคเอกชนในการพัฒนาระบบโครงข่ายการอัดประจุไฟฟ้า การสนับสนุนให้มีจุดอัดประจุไฟฟ้าในสถานที่ราชการ และสถานที่สาธารณะ การออกกฎระเบียบสำหรับอาคารที่ปลูกสร้างขึ้นใหม่โดยจัดสรรให้มีจุดอัดประจุไฟฟ้า
– การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับนักลงทุนเพื่อส่งเสริมการผลิตภายในประเทศ การปรับปรุงกฎระเบียบหรือเงื่อนไขเพื่อปกป้องการผลิตในประเทศจากการนำเข้าสินค้าภายใต้ความตกลงการค้าเสรีต่าง ๆ (อาเซียน, จีน, ญี่ปุ่น เป็นต้น)
– การกำหนดมาตรฐานที่ชัดเจนเพื่อให้ง่ายต่อการประกอบธุรกิจของผู้จำหน่ายและผู้ผลิตตลอดจนผู้ให้บริการโดยสอดคล้องกับมาตรฐานสากล
– การส่งเสริมให้มีการสร้างห้องปฏิบัติการทดสอบแบตเตอรี่แรงดันสูงเพื่อสนับสนุนการวิจัยและพัฒนา
– การพัฒนาแรงงานฝีมือให้สอดคล้องกับเทคโนโยลียานยนต์แห่งอนาคตและส่งเสริมโครงการความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้าและการถ่ายทอดองค์ความรู้ในเรื่องดังกล่าว
โครงการ Charge to Change โดยเมอร์เซเดส-เบนซ์ (ประเทศไทย)
ในขณะเดียวกันเมื่อปีที่ผ่านมาบริษัทเมอร์เซเดส-เบนซ์ (ประเทศไทย) ได้เริ่มต้นโครงการ Charge to Change ด้วยความเชื่อที่ว่า “การชาร์จไฟฟ้าสามารถทำให้โลกดีขึ้นได้เช่นกัน” จุดมุ่งหมายหลักของโครงการฯ คือการกระตุ้นและเชิญชวนให้ผู้ใช้รถยนต์ปลั๊กอินไฮบริด เข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยลดปัญหามลภาวะทางอากาศของฝุ่น PM 2.5 เนื่องจากข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษระบุชัดเจนว่ามากกว่าร้อยละ 50 ของฝุ่นละออง PM 2.5 มาจากการเดินทางโดยรถยนต์ และเฉพาะในกรุงเทพฯ เพียงเมืองเดียวก็มีจำนวนรถยนต์จดทะเบียนอยู่มากกว่า 10 ล้านคัน ปัญหา PM 2.5 จึงยังเป็นปัญหาใหญ่ที่คนไทยทุกภาคส่วนต้องหันมาร่วมมือกันแก้ไข เพื่อร่วมกันสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น
เมอร์เซเดส-เบนซ์ (ประเทศไทย) ในฐานะผู้ผลิตรถยนต์ที่เข้ามาลงทุน และทำตลาดในประเทศไทยมาอย่างยาวนาน มองเห็นว่าบริษัทฯ สามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยทำให้อากาศสะอาดขึ้นได้เช่นกัน ด้วยรถยนต์รุ่นปลั๊ก-อิน ไฮบริด ซึ่งเมอร์เซเดส-เบนซ์ เริ่มต้นทำตลาดรถยนต์ประเภทนี้ทั่วโลกมาตั้งแต่ปี 2559 และจำหน่ายไปแล้วกว่า 20,000 คันในประเทศไทย รถยนต์รุ่นปลั๊ก-อิน ไฮบริด สามารถมอบการเดินทางที่ปราศจากมลพิษให้กับผู้ขับขี่ได้ เพียงแค่ขับขี่ด้วยโหมดการขับขี่ไฟฟ้าในทุกวัน ผู้ใช้รถก็สามารถมีส่วนช่วยลดปริมาณฝุ่น PM 2.5 ได้ทันทีในทุกการขับขี่ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นรถยนต์ของเมอร์เซเดส-เบนซ์เท่านั้น แต่ผู้ใช้รถยนต์ปลั๊กอินไฮบริดจากแบรนด์ใดก็ตาม สามารถมีส่วนช่วยสร้างสิ่งแวดล้อมที่สะอาดขึ้นได้เช่นกัน
ทั้งนี้เมอร์เซเดส-เบนซ์ มีความมุ่งมั่นที่จะสร้างการรับรู้เกี่ยวกับโครงการ Charge to Change อย่างต่อเนื่อง เพื่อกระตุ้นให้ผู้ใช้รถยนต์ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหันมาชาร์จพลังงานไฟฟ้าให้มากขึ้น จากนั้นจะมุ่งสร้างเครือข่ายการชาร์จที่มีความพร้อมและสะดวกมากขึ้นสำหรับผู้ใช้รถ เพื่อไปสู่บรรทัดฐานใหม่ในการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้า ผลักดันให้ประเทศไทยกลายเป็นพื้นที่ของการขับขี่ด้วยพลังงานสะอาด ลดปัญหามลภาวะทางอากาศ สร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น และสร้างสุขภาวะที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืนในระยะยาว
อาคาร
- การสนับสนุนอาคาร “สีเขียว” โดยส่งเสริมให้มีการปฏิบัติตามมาตรฐานความสะอาดของอาคาร และสิ่งปลูกสร้าง
- การปรับปรุงผลกระทบด้านลบต่อสุขภาพ และการเกิดมลพิษทางอากาศภายในอาคารโดยจัดให้มีการตรวจวัด และควบคุมคุณภาพอากาศภายในอาคารโดยอัตโนมัติ
- การพัฒนา “เมืองอัจฉริยะ” โดยเพิ่มประสิทธิภาพการเคลื่อนที่ของยานยนต์ด้วยการสื่อสารระหว่างยานพาหนะกับยานพาหนะและการสื่อสารระหว่างรถยนต์กับระบบโครงสร้างพื้นฐาน การเสนอการเก็บเงินค่าผ่านทางภายในเมืองแบบพลวัตตามช่วงเวลา (ชั่วโมงเร่งด่วน)
พลังงาน
- การบังคับใช้แนวปฏิบัติที่ดีเกี่ยวกับมาตรฐานการปล่อยมลพิษทางอากาศกับการผลิตพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิส
- การปรับปรุงขั้นตอนการผลิตแก๊สชีวภาพ
- การส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนที่ผลิตโดยผู้ประกอบการขนาดกลาง และขนาดย่อม และการสำรวจโครงการใช้พลังงานขนาดใหญ่เพื่อให้หลายบริษัทสามารถที่จะผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้ทั้งหมดร้อยละ 100
- การผ่อนคลายกฎระเบียนเกี่ยวกับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบที่ติดตั้งบนหลังคา
การผลิต
- การนำแนวปฏิบัติที่ดีเกี่ยวกับการปล่อยมลพิษทางอากาศมาบังคับใช้ในภาคอุตสาหกรรม
- การกำจัดการปล่อยก๊าซส่วนเกินของโรงงานอุตสาหกรรมเคมี
- การนำระบบการตรวจวัดมลพิษทางอากาศจากปล่องโรงงานอุตสาหกรรมแบบต่อเนื่อง (Continuous Emission Monitoring Systems (CEMS)) เข้ามาใช้ และการบังคับใช้มาตรฐานการปล่อยมลพิษ
การเกษตร
- การยับยั้งหรือการสั่งห้ามการเผาขยะชีวมวลในพื้นที่เปิดโล่ง และการส่งเสริมให้ใช้เทคโนโลยีเชื้อเพลิงอัดแท่งจากชีวมวลเหลือใช้จะช่วยเพิ่มกำไรให้แก่เกษตรกร
- การอนุญาตให้ใช้เชื้อเพลิงชีวมวลจากผลิตผลทางการเกษตรเป็นแหล่งเชื้อเพลิงซึ่งมีความหลากหลายตามฤดูกาลและแตกต่างไปตามเงื่อนไขของตลาด
- การแก้ไขปัญหาการทำเกษตรกรรมแบบถางโค่น และเผาป่าซึ่งเป็นสาเหตุของไฟป่าที่ลุกลามอย่างกว้างขวางรวมถึงการส่งเสริมให้มีความร่วมมือระหว่างประเทศในระดับภูมิภาค
ทั้งนี้หอการค้าเยอรมัน-ไทย ขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยดำเนินการปฏิรูปนโยบายสิ่งแวดล้อมเพื่อบรรเทาปัญหามลพิษของประเทศไทยซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งของประเทศไทยในฐานะที่เป็นเป้าหมายของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ และการท่องเที่ยวระดับแนวหน้าในภูมิภาค เพื่อให้บรรลุถึงการเจริญเติบโต และการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนในอนาคต
หอการค้าเยอรมัน-ไทย และบริษัทสมาชิกพร้อมที่จะร่วมมือกับรัฐบาลไทยเพื่อหารือสาเหตุของการเกิดมลพิษทางอากาศในประเทศไทยและร่วมกันหาแนวทางแก้ไขที่เป็นไปได้ในทางปฏิบัติโดยมีต้นทุนที่เหมาะสม ในกรณีนี้ เทคโนโลยีต่าง ๆ จะเข้ามามีบทบาทสำคัญไม่เฉพาะแต่เพียงในฐานะที่เป็นแนวทางใหม่ในการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศที่ต้นเหตุเท่านั้น แต่ยังจะช่วยรับมือกับความต้องการพลังงานที่เพิ่มขึ้นอีกด้วย หอการค้าเยอรมัน-ไทย และบริษัทสมาชิกพร้อมจะช่วยเหลือสนับสนุนความพยายามของรัฐบาลไทยเพื่อให้ประเทศไทยมีอากาศที่สะอาดและกระตุ้นการลงทุนจากต่างประเทศ
เรื่อง: พูนทวี สุวัตถิกุล
ขอบคุณข้อมูล: เมอร์เซเดส-เบนซ์ ประเทศไทย
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th