MG GS 1.5 เทอร์โบ…แค่เทียบราคาก็คุ้มสุดๆ
หลังจากที่ เอ็มจี จีเอส (MG GS) เปิดตัวครั้งแรกเมื่อเดือนมีนาคมปีที่แล้ว ด้วยเครื่องยนต์เบนซิน เทอร์โบ ขนาด 2.0 ลิตร ออกมาด้วยกัน 2 รุ่น ถือว่าได้รับผลตอบรับในด้านบวกพอสมควร แต่ด้วยราคาทำให้เป็นรองเจ้าตลาดอยู่มาก ล่าสุดเมื่อเดือนธันวาคม 2559 จึงได้ปรับใหม่ด้วยการลดขนาดเครื่องยนต์ลง เป็นขุมพลังเบนซิน 1.5 ลิตร เทอร์โบ แต่มีราคาเริ่มต้นที่ 890,000 บาท กระแสความน่าสนใจจึงกลับมาอีกครั้ง และครั้งนี้ได้ลองขับบนระยะทางไกล ยิ่งทำให้มั่นใจอีกว่า เอ็มจี จีเอส 1.5 เทอร์โบ รุ่นนี้ มันช่างคุ้มค่า ในราคาที่จับต้องได้ สมรรถนะไม่เป็นรองใคร แถมยังจัดเต็มระบบความปลอดภัยที่ครบสุดๆ
สำหรับการทดลองขับในครั้งนี้ ทางทีมงานของเอ็มจีจัดเส้นทางให้ทดลองขับจาก อุดรธานี-ขอนแก่น-ชัยภูมิ-กรุงเทพ เป็นเส้นทางที่ใช้ขับกันทั่วไป ทำให้เหมือนกับการใช้งานในชีวิตประจำวัน เพียงแต่มีมินิเกมส์ให้เล่นนิดหน่อยกับการขับประหยัดจากโชว์รูมเอ็มจี อุดรธานี มายัง จ.ขอนแก่น ระยะทางราว 100 กิโลเมตร ซึ่งผลความประหยัดเป็นอย่างไร เดี๋ยวมารอสรุปในตอนท้าย
เอ็มจี จีเอส 1.5 เทอร์โบ (MG GS 1.5 Turbo) สปอร์ตเอสยูวี (Sport SUV) ยังคงมีการออกแบบที่เหมือนกับรุ่น 2.0 เทอร์โบ แต่มีจุดเด่นที่มีการเปลี่ยนขุมพลังมาเป็นขนาด 1.5 ลิตร เบนซิน DOHC 4 สูบ 16 วาล์ว ไดเร็คอินเจคชั่น พร้อมเทอร์โบ ที่ให้พละกำลังสูงสุด 167 แรงม้า ที่ 5,600 รอบต่อนาที และมีแรงบิดสูงสุดที่ 250 นิวตันเมตร ที่ 1,700 – 4,400 รอบต่อนาที ให้แรงบิดสูงในรอบที่ต่ำทำให้รู้สึกถึงความกระฉับกระเฉงมากขึ้น และส่งพละกำลังผ่านเกียร์อัตโนมัติ TST – Twin Clutch Sportronic แบบ 7 จังหวะ รวมถึงรองรับน้ำมันเชื้อเพลิง E85 อีกด้วย
หากสำรวจรถในกลุ่มเอสยูวีตอนนี้ มีรุ่นไหนบ้างที่ราคาเริ่มต้นอยู่ในเรทเดียวกับ เอ็มจี จีเอส รุ่นนี้ แล้วให้อะไรที่ครบเครื่องเท่านี้บ้าง…คงไม่มีแล้ว ลองมาดูกันว่าเค้าให้อะไรมาบ้าง
เริ่มต้นจากกอุปกรณ์อำนวยความสะดวกกันก่อน หน้าจอมัลติฟังก์ชั่นขนาดใหญ่ 8 นิ้ว (ยกเว้นรุ่น 1.5 D), ระบบปรับอากาศอัตโนมัติพร้อมช่องแอร์สำหรับผู้โดยสารตอนหลัง,ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติ หรือ ครูส คอนโทรล (ยกเว้นรุ่น 1.5 D), กระจกมองหลังตัดแสงอัตโนมัติ (ยกเว้นรุ่น 1.5 D), กุญแจอัจฉริยะ และสตาร์ทรถแบบ Push Start (ยกเว้นรุ่น 1.5 D), ระบบเชื่อมต่อและการสื่อสารอินคาเน็ต พร้อมระบบนำทางเนวิเกชั่น (ยกเว้นรุ่น 1.5 D), ระบบเครื่องเสียงพร้อมลำโพง 8 ตัว (ยกเว้นรุ่น 1.5 D) รองรับมัลติมีเดีย และการเชื่อมต่อบลูทูธ ยูเอสบี (USB) และเอยูเอ็กซ์ (AUX)
ตามมาด้วยระบบสื่อสารระหว่างผู้ขับกับรถยนต์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะอย่าง อินคาเน็ต (inkaNet) ที่ไม่ได้เป็นแค่แอพพลิเคชั่น แต่เป็นระบบที่ใช้สื่อสารระหว่างรถยนต์ NEW MG GS กับผู้ขับขี่ โดยเชื่อมต่อกันผ่านเครือข่ายโทรศัพท์ไร้สาย ที่ให้ความสะดวกในการตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับรถ การจราจร เส้นทาง ระบบนำทางที่สามารถกำหนดเพิ่มเติมสถานที่ที่สนใจของผู้ขับได้ด้วยตัวเอง เพียงสั่งการได้ผ่านทางสมาร์ทโฟนและหน้าจอคอมพิวเตอร์
โดยเจ้าระบบอินคาเน็ต inkaNet มีการติดตั้งกล่องควบคุมที่เรียกว่า T-Box และเป็นตัวกลางที่ใช้ในการติดต่อสื่อสารระหว่างรถยนต์กับผู้ขับขี่ โดยผู้ใช้สามารถใช้งานระบบอินคาเน็ต ผ่าน 3 ช่องทางหลัก คือ แอพพลิเคชั่น inkaNet บนสมาร์ทโฟนที่ใช้ระบบปฏิบัติการ iOS และ Android, เว็บไซต์ www.mgcars.com ผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์ และ MG Call Centre 1-800-999-988, 1-401-999-988 กด 3
ระบบอินคาเน็ต มีฟังก์ชั่นเด่นที่ให้บริการข้อมูลรถยนต์และความปลอดภัยของรถยนต์ คือ ระบบนำทางรถยนต์ ให้ข้อมูลระบบนำทางผ่าน Google Maps และผู้ใช้สามารถเช็คตำแหน่งรถยนต์ได้ด้วยตัวเอง, สามารถติดตามตำแหน่งรถยนต์ผ่าน Call Centre ได้แบบ Real time, แจ้งอัตราสิ้นเปลืองน้ำมันในการขับรถ, ระบบเลขาฯ ส่วนตัว ติดต่อ MG Call Centre เพื่อสอบถามข้อมูลและขอรับคำแนะนำการช่วยเหลือเบื้องต้นต่างๆ รวมไปถึงการอำนวยความสะดวก โดยการส่งเส้นทางการเดินทาง (Point of Interest) มายังหน้าจอภายในรถโดยไม่ต้องค้นหาเอง, ระบบขอบเขตอิเล็กทรอนิกส์ ช่วยกำหนดขอบเขตรัศมีการขับรถยนต์ สามารถกำหนดไว้ตั้งแต่ 500 เมตร ไปถึง 10 กิโลเมตร จากศูนย์กลาง ในกรณีรถออกนอกรัศมีขอบเขตอิเล็กทรอนิกส์ที่กำหนด ระบบจะแจ้งเตือนผ่าน Push notification และส่ง SMS, วางแผนการเดินทาง ด้วยการส่งแผนการเดินทางจากคอมพิวเตอร์ไปยังหน้าจอ, การตรวจวิเคราะห์รถยนต์ เตือนความผิดปกติของรถยนต์ต่างๆ ทาง Push Notification, การตรวจสอบสถานะรถยนต์ โดยแจ้งให้ผู้ขับขี่ทราบสถานะปัจจุบันของรถยนต์ว่าปิดอยู่หรือไม่ แจ้งระดับแบตเตอรี่ ระดับน้ำมันเชื้อเพลิงและอุณหภูมิอากาศภายนอก, การควบคุมการทำงานของรถยนต์ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ขับขี่ ด้วยการสั่งล็อค/ปลดล็อครถระยะไกลผ่านแอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟน หรือ MG Call Centre หรือจะเป็นการค้นหารถยนต์ด้วยฟังชั่น Find My Car ระบบจะสั่งให้รถเปิดไฟหน้า ช่วยให้ผู้ใช้สามารถหารถในที่มืดได้ง่ายขึ้น, การเตือนความผิดปกติของรถยนต์
โดยระบบจะแจ้งเตือนความผิดปกติผ่านทาง Push notification บนแอพพลิเคชั่นในสมาร์ทโฟน เมื่อรถมีการเคลื่อนที่ผิดปกติ หรือรถมีการสตาร์ทเครื่องยนต์, การโทรออกและรับสายผ่านหน้าจอวิทยุรถยนต์ โดยสามารถรับสายและโทรออก จากหน้าจอวิทยุรถยนต์ไปยังโทรศัพท์เครื่องอื่นได้ แม้มีไม่โทรศัพท์มือถืออยู่บนรถ หรือลืมพกโทรศัพท์มือถือ, การรับและส่งข้อความผ่านหน้าจอวิทยุรถยนต์ แม้ไม่มีโทรศัพท์มือถืออยู่บนรถ และยังสามารถแชร์สัญญาณอินเทอร์เน็ตไร้สายผ่านหน้าจอวิทยุรถยนต์ โดยสามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตในโทรศัพท์มือถือหรืออุปกรณ์อื่นๆ ผ่านสัญญาณ WI-FI จากหน้าจอวิทยุรถยนต์ โดยวิทยุรถยนต์จะทำหน้าที่เสมือน WI-FI Router ให้เชื่อมต่อได้ตลอดเวลา
เท่านั้นยังไม่พอ ยังมีจุดที่พูดได้ว่า “พี่ให้น้องได้ทุกอย่าง” ไม่ว่าจะเป็น โครงสร้างตัวถังนิรภัย FSF (Full Space Frame) พร้อมถุงลม 4 จุด คู่หน้าและด้านข้าง (ยกเว้นรุ่น 1.5 D) รวมถึงระบบความปลอดภัยแบบ SYNCHRONIZE PROTECTION SYSTEM 13 ฟังก์ชั่น ได้แก่
- ABS – Anti-lock Braking System ระบบป้องกันล้อล็อกขณะเบรกฉุกเฉิน
- EBD – Electronic Brake Force Distribution System ระบบช่วยกระจายแรงเบรก
- TCS – Traction Control System ระบบป้องกันล้อหมุนฟรี และควบคุมการลื่นไถล
- CBC – Curve Brake Control ระบบควบคุมการเบรกขณะเข้าโค้ง
- SCS – Stability Control System ระบบควบคุมการทรงตัว
- AVH – Auto Vehicle Hold ระบบป้องกันการไหลของรถโดยไม่ต้องเหยียบเบรกค้าง
- BDC – Intelligent Brake Disc Cleaning ระบบทำความสะอาดจานเบรกอัจฉริยะ
- OHBV – Optimized Hydraulic Brake Servo ระบบเพิ่มแรงดันไฮดรอลิคเบรกให้เหมาะสม
- MSR – Motor Control Slide Retainer ระบบป้องกันการลื่นไถล เมื่อเกียร์ลดต่ำอย่างฉับพลัน
- EBA – Electronic Brake Assist ระบบเสริมแรงเบรกด้วยอิเล็กทรอนิกส์
- HAS – Hill-Start Assist System ระบบช่วยการออกตัวบนทางลาดชัน
- TPMS – Tire Pressure Monitor System ระบบตรวจสอบความผิดปกติของลมยาง (เฉพาะรุ่น 2.0)
- EPB – Electronic Parking Brake ระบบเบรกมือไฟฟ้า
…ให้ขนาดนี้ เยอะพอมั้ย…
มาที่การทดลองขับกันบ้าง แน่นอนว่าโดยรูปโฉมอาจจะดูไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงสักเท่าไหร่ แต่สิ่งที่เป็นจุดเด่นจริงๆ ก็คือ ขุมพลัง 1.5 ลิตร เทอร์โบ ที่ให้อารมณ์การขับที่แตกต่างจากรุ่น 2.0 ลิตร เทอร์โบ อย่างสิ้นเชิง แม้เครื่องยนต์จะมีขนาดที่เล็กกว่า แรงม้าและแรงบิดน้อยกว่า แต่การขับสนุก ปลอดภัย และมีช่วงล่างที่โดดเด่นกว่ามาก สิ่งที่รองรับการตัดสินใจของผู้เขียนก็คือ จากเดิมหลังจากที่เข้าเกียร์ ถอนเบรค รถแทบจะไม่ขยับเลย และเมื่อกดคันเร่งลงไปเบาๆ รถจะค่อยๆ เคลื่อนตัว แต่ถ้ากดคันเร่งหนักไปหน่อย รถจะพุ่งไปข้างหน้าแบบน่าตกใจ ส่วนความเร็วระหว่างออกตัวไปแล้วจะค่อยๆ ไต่ไปเรื่อยๆ ถือว่าทำความเร็วได้ดี ซึ่งจังหวะในการออกตัวนี่ล่ะที่ทำให้รู้สึกว่ามันเป็นจุดอ่อนสำคัญ
แต่สำหรับเครื่อง 1.5 เทอร์โบ แตกต่างตั้งแต่เริ่มต้น รถเคลื่อนตัวได้เร็วขึ้น การกดคันเร่งลงไปในระดับเดียวกัน รถเริ่มออกตัวได้อย่างทันใจมากขึ้น ความเร็วปลายทำได้พอๆ กัน และมีสิ่งที่ต่างออกไปคือระบบช่วงล่าง ที่ยึดเกาะถนนได้ดีกว่าเดิม ในขณะที่เร่งแซงด้วยการคิกดาวน์อยู่บ่อยครั้ง สัมผัสได้ว่าน้ำหนักของพวงมาลัยผ่อนแรงไฟฟ้า ที่มาพร้อมกับแพดเดิล ชิฟ (Paddle Shift) ให้ความคมและน้ำหนักที่น่าประทับใจ ส่วนช่วงล่างด้านหน้าแบบอิสระแม็คเฟอร์สันสตรัท พร้อมเหล็กกันโคลง และด้านหลังแบบอิสระมัลติลองค์ พร้อมเหล็กกันโคลง รวมถึงค่าความแข็งของช๊อคอัพและสปริงมีการปรับใหม่ทั้งหมด มีความแข็งของช่วงล่างในระดับที่ต่างจากรถเอสยูวีอื่นๆ ที่ส่วนใหญ่จะเน้นความนุ่มนวลมากกว่า แต่ เอ็มจี จีเอส หนึบ แน่น อย่างชัดเจน
สิ่งที่ต้องแลกมาด้วยช่วงล่างที่เกาะถนนมากขึ้นนั่นคือ มีความสะเทือนที่มากกว่า อารมณ์เหมือนขับรถสปอร์ตช่วงล่างแข็งๆ เวลาขับเข้าโค้งคนที่นั่งด้านหลังจะไม่โดนเหวี่ยงมากเท่ากับรถที่มีช่วงล่างนุ่มนวล ซึ่งช่วยให้ไม่เมารถได้ และช่วยให้ควบคุมได้ดีกว่า โดยรวมแล้วระบบช่วงล่างถึงจะแข็งขึ้นแต่รับได้หากแลกมาด้วยการควบคุมที่ดีกว่า แต่ถ้ามีผู้สูงอายุนั่งด้านหลังอาจจะได้ยินเสียงบ่นออกมาได้ด้วยเช่นกัน กับอีกจุดที่ต้องชมคือ ระบบเบรกที่ทำงานได้อย่างนิ่มนวล ด้วยดิสก์เบรก 4 ล้อ ที่เป็นแบบ Ceramic Compound Brake Pads รวมถึงเบาะนั่งผู้โดยสารที่ออกแบบให้เอนระดับ 14 องศา ซึ่งช่วงให้นั่งเอนหลังได้สบาย หลังไม่ชัน ทำให้นั่งทางไกลได้โดยที่ไม่รู้สึกเมื่อยหลัง เบาะนั่งกระชับ และมีพื้นที่วางขาที่กว้างขวาง
ส่วนเรื่องอัตราสิ้นเปลืองที่ลองเล่นกับแบบมินิเกมส์ ผลออกมาว่ารถคันที่ทำอัตราสิ้นเปลืองได้ประหยัดที่สุดอยู่ที่ 18 กิโลเมตรต่อลิตร นั่ง 3 คน ทำความเร็วเฉลี่ยอยู่ที่ 80-100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่ถ้าจะให้คะเนอัตราสิ้นเปลืองในการใช้งานจริงจะอยู่ที่ราวๆ 16 กิโลเมตรต่อลิตร ซึ่งถือว่าเป็นอัตราสิ้นเปลืองที่ประหยัดและรับได้มากกว่ารุ่น 2.0 เทอร์โบ อยู่มากทีเดียว เพราะในรุ่นนั้นเฉลี่ยอยู่ที่ 10 กิโลเมตรต่อลิตร
โดยสรุปแล้ว เอ็มจี จีเอส 1.5 เทอร์โบ (MG GS 1.5 Turbo) กลับมาใหม่ด้วยความรู้สึกที่แตกต่าง เป็นรถเอสยูวีที่มีรูปโฉมสะดุดตา โดดเด่นแปลกใหม่ ห้องโดยสารกว้างขวาง มีซันลูฟให้สัมผัสสายลมและแสงแดด ระบบความปลอดภัยและความสะดวกสบายแบบจัดเต็มมากกว่าใครๆ ขุมพลังที่ขับสนุกมากขึ้น ช่วงล่างที่ยึดเกาะถนนไว้ใจได้ มีอัตราสิ้นเปลืองที่ประหยัดใช้ได้ แม้ว่าจะมีข้อติบ้างอย่างเช่น วัสดุที่ใช้ภายในห้องโดยสารบางชิ้นดูธรรมดา โดยเฉพาะแผงประตูที่ลวดลายดูเป็นพลาสติกมากไปหน่อย จุดเชื่อมต่อ USB น้อยเกินไป แต่ถ้าดูจากสิ่งที่ให้มาและราคาจำหน่ายในรุ่น 1.5D ที่ 890,000 บาท และรุ่น 1.5X ที่ 990,000 บาท ถือว่ากลบจุดด้อยต่างๆ ลงไปได้เหมือนกัน…เอาเป็นว่า หากใครกำลังมองหาเอสยูวีสักคัน ลองไปทดลองขับดู ลองเปิดใจแล้วจะสัมผัสได้ถึงความแตกต่างที่ เอ็มจี จีเอส 1.5 เทอร์โบ ให้ได้มากกว่าที่เคยมี
เรื่อง: พุทธิ ผาสุข
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th