On This Day-30th Aug: ชัยชนะครั้งแรกของ มิชาเอล ชูมัคเกอร์ ในศึกฟอร์มูล่า วัน–ย้อนความหลัง 29 ปี เยือนเมืองไทย
On This Day-30th Aug: ชัยชนะครั้งแรกของ มิชาเอล ชูมัคเกอร์ ในศึกฟอร์มูล่า วัน – ย้อนความหลัง 29 ปี เยือนเมืองไทย ร่วมงาน Formula 1 Festival Michael Schumacher
32 ปีหลังจากชัยชนะครั้งแรกในศึกฟอร์มูล่า วัน, 29 ปีของการเดินทางมาประเทศไทย และ 11 ปีหลังจากประสบอุบัติเหตุระหว่างการเล่นสกี… ชื่อของมิชาเอล ชูมัคเกอร์ (Michael Schumacher) ยอดนักแข่งฟอร์มูล่า วัน สายเลือดเยอรมัน ยังคงอยู่ในความทรงจำของแฟนความเร็วทั่วโลก และนี่คือเรื่องราวในช่วงปีแรกๆ ของเขาในการแข่งขันฟอร์มูล่า วัน ก่อนจะสร้างประวัติศาสตร์เป็นคนแรกที่คว้าแชมป์โลก 7 สมัย
มิชาเอล ชูมัคเกอร์ เกิดเมื่อวันที่ 3 มกราคม 1969 ในครอบครัวชนชั้นแรงงานช่วงยุคสมัยเยอรมันตะวันตก โดยเจ้าหนู “ชูมี่” เริ่มฉายแววพรสวรรค์ของการเป็นนักแข่งรถตั้งแต่ยังเด็ก ด้วยวัยเพียง 6 ขวบ เขาคว้าแชมป์โกคาร์ทด้วยรถแข่งที่โรล์ฟ ชูมัคเกอร์ พ่อของเขาสร้างขึ้นจากชิ้นส่วน และอะไหล่เหลือทิ้ง
จากนั้น ชูมัคเกอร์ จะก้าวไปคว้าแชมป์ยูโรเปี้ยน คาร์ทติ้ง แชมเปี้ยนชิพ 1987 และสั่งสมประสบการณ์ในการลงแข่งรถประเภทที่นั่งเดี่ยว (Single-seater) รายการต่างๆ ในช่วงเวลานั้น จนได้รับโอกาสประเดิมศึกฟอร์มูล่า วัน รายการเบลเยี่ยม กรังปรีซ์ ในกลางซีซั่น 1991 กับทีม Jordan หลังจากเบอร์ทรานด์ กาโช่ต์ นักขับตัวจริงของพวกเขาก่อคดีทะเลาะวิวาทจนถูกตัดสินจำคุกที่ประเทศอังกฤษ
10 สุดยอดรถแข่ง F1 ยุคหลัง 1980
ถึงจะเป็นการลงแข่งเพียงสนามเดียว และขับไม่จบรอบแรกหลังจากระบบคลัตช์ขัดข้อง แต่ฟอร์มอันร้อนแรงของชูมัคเกอร์ ที่ทำเวลารอบควอลิฟายด์เป็นอันดับ 7 ในสปา-ฟรองโกร์ชองส์ สนามที่เขาไม่เคยลงขับมาก่อน
ท่ามกลางกริดสตาร์ทที่เต็มไปด้วยยอดนักแข่งที่กลายเป็นตำนานในเวลาต่อมาอย่าง ไอร์ตัน เซนน่า, อแล็ง พรอสต์, ไนเจล แมนเซลล์, เนลสัน ปิเก้ต์, แกร์ฮาร์ด แบร์เกอร์ และมิก้า ฮัคคิเน่น คู่แข่งตลอดกาลของเขา
จนทำให้ Benetton-Ford ทีมแข่งภายใต้การบริหารของแบรนด์แฟชั่นชั้นนำของโลก รีบดึงตัว ชูมัคเกอร์ ที่มีสถานะเป็นนักแข่งดาวรุ่งภายใต้โปรแกรมของ Mercedes-Benz เข้ามาแทนที่โรเบอร์โต้ โมเรโน่ ในการแข่งขัน 5 สนามสุดท้ายของปี 1991 แม้ว่าจะทำให้เกิดคดีฟ้องร้องกับทีม Jordan ที่พยายามอ้างสิทธิ์ในตัวนักขับดาวรุ่งชาวเยอรมันเช่นกัน แต่ถูกตัดสินให้แพ้คดีจากการที่ทั้ง 2 ฝ่ายยังไม่มีการเซ็นสัญญาอย่างเป็นทางการ
ชูมัคเกอร์ ไม่ทำให้ความเชื่อใจของพวก Benetton ผิดหวัง หลังจากเข้าเส้นชัยเป็นอันดับ 5 เก็บคะแนนแรกในฐานะนักแข่งฟอร์มูล่า วัน ได้อย่างรวดเร็วในรายการอิตาเลี่ยน กรังด์ปรีซ์ และจบฤดูกาล 1991 ด้วยการมีทั้งหมด 4 คะแนน รวมทั้งทำผลงานควอลิฟายด์เหนือกว่ารุ่นพี่ร่วมสังกัด ปิเก้ต์ 4 ใน 5 สนาม รวมทั้งเก็บคะแนนน้อยกว่าเจ้าของดีกรีแชมป์โลก 3 สมัยเพียงครึ่งเดียวในช่วงเวลาที่พวกเขา 2 คนร่วมงานกัน
ในฤดูกาล 1992 อาจเป็นช่วงเวลาความสำเร็จของทีม Williams-Renault แต่ชูมัคเกอร์ สามารถนำรถแข่ง Benetton B192 ที่มีประสิทธิภาพด้อยกว่าพาตัวเองขึ้นสู่โพเดี้ยมเป็นครั้งแรก หลังจบอันดับ 3 รายการเม็กซิกัน กรังด์ปรีซ์ และทำได้อีกครั้งในสนามถัดมาที่บราซิล ก่อนปฏิทินการแข่งขันจะวนกลับมาสู่สปา-ฟรองโกร์ชองส์ สนามแรกที่เขาเปิดตัวในระดับฟอร์มูล่า วัน
ท่ามกลางสายฝนที่โปรยปรายลงมา “ชูมี่” สามารถนำรถแข่ง Benetton คว้าธงตราหมากรุก ด้วยการทำเวลาทิ้งห่างอันดับ 2 แมนเซลล์ เจ้าของตำแหน่งแชมป์โลกซีซั่น 1992 เกือบ 5 วินาที “ไม่ว่าจะผ่านไปนานแค่ไหนที่นี่คือสนามโปรดของผมเสมอ” ยอดนักแข่งชาวเยอรมัน เคยให้สัมภาษณ์ถึงสนามสปา-ฟรองโกร์ชองส์ เมื่อปี 2003 หลังจากเขายังครองสถิติคว้าแชมป์เบลเยียม กรังด์ปรีซ์ สูงสุด 6 สมัยจนถึงปัจจุบัน
ในปี 1992 ชูมัคเกอร์ สร้างผลงานขึ้นโพเดี้ยม 8 ครั้ง ทำให้รั้งอันดับ 3 ในตารางคะแนนสะสมนักแข่งเป็นรองเพียงแค่แมนเซลล์ และริคคาร์โด้ ปาเตรเซ่ 2 นักแข่งของทีม Williams-Renault เท่านั้น ก่อนจะรักษาฟอร์มร้อนแรงจบอันดับ 4 ในซีซั่น 1993 ด้วยการคว้าแชมป์ 1 สนามในรายการโปรตุกีส กรังด์ปรีซ์ รวมทั้งขึ้นโพเดี้ยมอีก 8 ครั้ง
ความเปลี่ยนแปลงสำคัญเกิดขึ้นกับ Benetton ในซีซั่น 1994 ทั้งการเปลี่ยนไตเติ้ลสปอนเซอร์จาก Camel มาเป็นฝั่งญี่ปุ่น Mild Seven พร้อมทั้งเลือกเจเจ เลห์โต้ นักขับชาวฟินแลนด์จากทีม Sauber เข้ามาจับคู่กับชูมัคเกอร์
แม้ว่าจะเผชิญอุปสรรคทั้งอาการบาดเจ็บของเลห์โต้ ระหว่างการขับทดสอบในช่วงก่อนเปิดฤดูกาล ทำให้ต้องเลื่อน โจส เวอร์สเตปเพ่น (พ่อของแม็กซ์ เวอร์สเตปเพ่น) นักขับสำรองขึ้นมารับหน้าที่ชั่วคราว รวมทั้งการปรับดิสควอลิฟายด์ ชูมัคเกอร์ ในรายการบริติช กรังด์ปรีซ์ และเบลเยี่ยม กรังด์ปรีซ์ พร้อมลงโทษแบนห้ามลงแข่ง 2 สนามอีกด้วย
แต่ศักยภาพของรถแข่ง B194 ภายใต้การควบคุมของชูมัคเกอร์ ทำผลงานขึ้นมาครองความยิ่งใหญ่ด้วยการคว้าแชมป์ 6 ใน 7 สนามแรก รวมถึงโศกนาฎกรรมที่ซาน มาริโน่ กรังด์ปรีซ์ (เซนน่า และโรลันด์ รัตเซนแบร์เกอร์ ประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตระหว่างการแข่งขัน) รวมทั้งคว้าตำแหน่งโพลโพสซิชั่นให้ Benetton เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 1986
หลังจากพ้นโทษแบนกลับมาคว้าแชมป์สแปนิช กรังด์ปรีซ์ และอันดับ 2 ในรายการเจแปนนีส กรังด์ปรีซ์ ชูมัคเกอร์ ต้องตัดสินแชมป์กับเดม่อน ฮิลล์ นักขับชาวอังกฤษในสนามสุดท้าย ที่ออสเตรเลีย ด้วยการมีผลต่างกันเพียง 1 คะแนน แต่หลังจากผ่านไป 36 รอบ ทั้งคู่ประสบอุบัติเหตุชนกันเองจนทำให้ต้องออกจากการแข่งขัน
ทำให้ชูมัคเกอร์ ครองแชมป์โลกฟอร์มูล่า วัน สมัยแรก ท่ามกลางเสียงวิพากษณ์วิจารณ์ของบรรดาสื่อมวลชน แต่ต้องยอมรับว่าหลังจากปลดล็อกความสำเร็จแรกได้แล้ว the Rest is History …ที่เหลือก็คือประวัติศาสตร์
หลังจากแชมป์โลก 2 สมัยแรกกับ Benetton “ชูมี่” ย้ายไปสร้างความยิ่งใหญ่กับ “ม้าลำพอง” Scuderia Ferrari สร้างสถิติคว้าแชมป์โลก 5 สมัยติดต่อกัน (ลูอิส แฮมิลตัน ครองสถิติร่วม 7 สมัยในปี 2020), คว้าชัยชนะ 91 รายการ, ทำผลงานขึ้นโพเดี้ยม 155 ครั้ง, 68 โพลโพสซิชั่น และครองสถิติอีกมากมายในวงการฟอร์มูล่า วัน ก่อนจะรีไทร์อย่างเป็นทางการกับ Mercedes AMG Petronas F1 Team เมื่อปี 2012
เยือนเมืองไทยครั้งแรกร่วมงาน Formula 1 Festival 1995 ที่กรุงเทพ
ไม่นานมานี้ทีมงาน Grand Prix Online ค้นพบภาพเหตุการณ์สำคัญระหว่างที่เจ้าของฉายา “ไส้กรอกบิน” ชูมัคเกอร์ เดินทางมาเยือนกรุงเทพมหานคร เพื่อร่วมเทศกาลรถแข่งฟอร์มูล่า วัน ‘95 Formula 1 Festival ที่ห้างสรรพสินค้าอิเซตัน (เซ็นทรัลเวิลด์ ในปัจจุบัน) เมื่อช่วงประมาณปีพ.ศ. 2538 (คศ.1995) หรือหลังจากเขาคว้าแชมป์โลกฟอร์มูล่า วัน สมัยแรก
น่าเสียดายที่ไม่อาจค้นข้อมูลรายละเอียดของการจัดงานครั้งนี้ว่าบริษัทใดเจ้าภาพในการเชิญ ชูมัคเกอร์ เยือนประเทศไทยครั้งนั้น รวมทั้งวันจัดงานอย่างเป็นทางการ แต่หากดูจากปฏิทินการแข่งขันฤดูกาล 1995 เชื่อว่างานนี้น่าจะจัดขึ้นในช่วงต้นเดือนตุลาคมที่มีการแข่งขัน 2 รายการในประเทศญี่ปุ่น (แปซิฟิก กรังด์ปรีซ์ และเจแปนนีส กรังด์ปรีซ์)
หรืออาจเป็นเดือนพฤศจิกายน ก่อนหรือหลังสนามสุดท้ายที่ออสเตรเลีย โดยตอนนั้นถ้าจะพูดให้ถูก ชูมัคเกอร์ คือแชมป์โลก 2 สมัยเป็นที่เรียบร้อยจากการทำคะแนนทิ้งขาด เดม่อน ฮิลล์ ตั้งแต่จบรายการแปซิฟิก กรังด์ปรีซ์
ในภาพงาน Formula 1 Festival จะเห็นว่าชูมัคเกอร์ เดินทางมากับ ฟลาวิโอ บริอาตอเร่ หัวหน้าทีม Benetton ชาวอิตาเลี่ยน พร้อมนำรถแข่งจำลอง B195 มาจัดแสดงโชว์ให้ชาวไทยได้เห็นอย่างใกล้ชิด โดยปีนั้นเป็นฤดูกาลแรกที่พวกเขาเปลี่ยนผู้สนับสนุนเครื่องยนต์จาก Ford มาเป็น Renault อีกด้วย
สนามแข่งสุดท้ายของ ‘ชูมี่’
แต่เป็นที่น่าเศร้าสำหรับแฟนเอฟ วัน ทั่วโลกที่ไม่ได้เห็นหรือรับทราบข่าวคราวใดๆ ของชูมัคเกอร์ นับตั้งแต่เขาประสบอุบัติเหตุรุนแรงจากการเล่นสกีในแถบเฟร้นช์แอลป์ เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2013 จนต้องเข้ารับการผ่าตัดสมองฉุกเฉิน 2 ครั้ง และถูกควบคุมให้อยู่ในสภาวะโคม่านานถึง 4 เดือน ก่อนจะแสดงให้เห็นสัญญาณที่ทำให้แพทย์ฟื้นคืนสติของเขากลับมาในช่วงเดือนเมษายน 2014
อย่างไรก็ตามจนกระทั่งปัจจุบันเป็นเวลาเกือบ 12 ปีที่ไม่เคยมีภาพของชูมัคเกอร์ ปรากฏสู่สาธารณชน ข้อมูลอย่างเป็นทางการที่ทุกคนรับรู้คือเขายังคงต้องทำกายภาพบำบัด และรักษาด้วยการแพทย์สมัยใหม่ โดยพักอยู่ที่คฤหาสน์ของครอบครัวในเมืองเกล็นด์ติดกับทะเลสาบเจนีวา ท่ามกลางความหวัง และคำอธิษฐานของบรรดาแฟนฟอร์มูล่า วัน ให้การแข่งขันครั้งนี้ มิชาเอล ชูมัคเกอร์ จะต่อสู้ไปจนถึงรอบสุดท้ายพร้อมกับคว้าธงตราหมากรุกแห่งชีวิตมาได้สำเร็จ
เรื่อง: พูนทวี สุวัตถิกุล
ขอบคุณข้อมูล: media.mercedes-benz.com/Ferrari Media Centre
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th