Michelin เข้าใกล้การผลิตยางรถยนต์จากขวดพลาสติกรีไซเคิล
Michelin ได้มีความร่วมมือกับ Carbios ซึ่งบริษัทไบโอเคมีร่วมชาติโดยมีเป้าหมายเพื่อศึกษาถึงการผลิตยางรถยนต์จากการรีไซเคิลผลิตภัณฑ์พลาสติก และตอนนี้ความต้องการของผู้ผลิตยางรถยนต์จากฝรั่งเศสรายนี้ก็กำลังเข้าใกล้ความเป็นจริงแล้ว
ในแถลงการของ Michelin ได้มีการเปิดเผยว่าประสบความสำเร็จในการทดสอบเทคโนโลยีรีไซเคิลพลาสติกร่วมกับ Carbios ซึ่งเป็นกระบวนการที่ใช้เอนไซม์ในการดีโพลีเมอไรซ์ Polyethylene Terephthalate หรือ PET ซึ่งเป็นสิ่งที่ใช้กันทั่วไปในขวดพลาสติกหรือผ้าโพลีเอสเตอร์ ซึ่งด้วยกระบวนการที่ซับซ้อนนี้ทั้งสองบริษัทสามารถสร้างโพลีเอสเตอร์ที่มีความเหนียวซึ่งเหมาะสำหรับการทำเป็นยางรถยนต์ได้ ด้วยคุณสมบัติทนทานต่อการเกิดรอยแตก มีความแข็งแกร่ง และทนต่ออุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลง
Nicholas Seeboth ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยโพลีเมอร์ของ Michelin บอกว่า “เรามีความภูมิใจอย่างมากที่เป็นรายแรกที่ได้ผลิตและทดสอบวัสดุจากเทคนิครีไซเคิลสำหรับยางรถยนต์ วัสดุเสริมนี้ถูกผลิตจากขวดสีต่างๆ และรีไซเคิลโดยเทคโนโลยีเอนไซม์จากผู้ร่วมมือของเรา Carbios วัสดุเสริมไฮเทคนี้ได้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของมันว่ามีประสิทธิภาพเฉพาะตัวต่างจากวัสดุจากอุตสาหกรรมน้ำมัน”
Michelin ตั้งเป้าหมายที่จะใช้วัสดุที่สามารถใช้ใหม่ได้ไม่มีวันหมดหรือวัสดุรีไซเคิลจำนวน 40 เปอร์เซ็นต์ในการผลิตภายในปี 2030 และต้องการใช้ 100 เปอร์เซ็นต์เมื่อถึงปี 2050 ซึ่งจากจำนวนยางรถยนต์ที่ถูกขาย 1,600 ล้านเส้นทั่วโลกในแต่ละปี จะทำให้มีการใช้วัสดุจาก PET ถึง 800,000 ตันต่อปี
ในขณะที่ทาง Alain Marty หัวหน้าสำนักงานวิทยาศาสตร์ของ Carbios ได้ระบุว่า “ในปี 2019 Carbios ประกาศว่าได้ผลิตขวด PET ที่เป็น Purified Terephthalic Acid (rPTA) 100 เปอร์เซ็นต์เป็นครั้งแรก ซึ่งเป็นการผลิตจากกระบวนการเอนไซม์รีไซเคิล PET ที่ใช้งานแล้ว วันนี้กับ Michelin เราได้แสดงถึงการต่อยอดกระบวนการของเราซึ่งได้มาจากขยะพลาสติกเดียวกัน เป็นการรีไซเคิล PET ที่เหมาะสำหรับเป็นวัสดุทางเทคนิคขั้นสูงอย่างที่ใช้ในยาง Michelin”
เรื่อง: กองบรรณาธิการ
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th