รู้จักเจ้ามนุษย์ยาง-Michelin Man ตำนานมัสค็อตวงการยานยนต์
ย้อนสู่จุดกำเนิด 1 ในสัญลักษณ์ของแบรนด์สินค้าที่อยู่มายาวนานกว่า 120 ปี เจ้ามนุษย์ยาง— Michelin Man มัสค็อตระดับตำนานของผู้ผลิตยางรถยนต์ชื่อดังจากประเทศฝรั่งเศส
ระหว่างเดินชมงานนิทรรศการ Universal and Colonial Exposition ที่เมืองลียง ในปี 1894 สองพี่น้องเอดูอาร์ด และอังเดร มิชิลิน ที่เพิ่งเริ่มก่อตั้งบริษัทของตัวเองได้ราว 5 ปี สังเกตเห็นยางรถยนต์ที่วางเรียงเป็นกองสูง ทำให้เอดูอาร์ด หันมาพูดกับพี่ชายของเขาว่า “ดูดีๆ ถ้ามีแขนมันก็จะคล้ายคนเลยน่ะ” ตอนนั้นทั้ง 2 คนยังไม่รู้จะสานต่ออย่างไรจนกระทั่งอีกหลายปีต่อมา
ในปี 1898 อังเดร มีโอกาสเจอมาริอัส โรสซิลลง นักเขียนการ์ตูนชาวฝรั่งเศสที่คนส่วนใหญ่รู้จักในชื่อ O’Galop เขานำผลงานที่บริษัทผลิตเบียร์ในเมืองมิวนิค ปฏิเสธออกมาให้ดู—ภาพของชายที่แต่งตัวเต็มยศเหมือนกษัตริย์ในมือถือแก้วเบียร์ใบใหญ่พร้อมประโยคภาษาละตินจากกวียุคโรมัน Horace “Nunc est Bibendum” (ได้เวลาดื่มกันแล้ว)
ทันทีที่เห็นภาพนั้น อังเดร แนะนำว่าควรจะเปลี่ยนภาพผู้ชายคนนั้นให้เป็นมนุษย์ยางรถยนต์ O’Galop ลองวาดภาพตามคำแนะนำ ก่อนจะกลายเป็นสัญลักษณ์แรกของมิชิลิน Bibendum (บีเบนดัม) หรือ Michelin Man หนึ่งในเครื่องหมายการค้าที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดของโลก เปรียบเสมือนตัวแทนของพวกเขามากกว่า 150 ประเทศทั่วโลก
“ยางมิชลินพร้อมลุยข้ามฝ่าทุกอุปสรรค!” เป็นสโลแกนที่อังเดร มิชลิน นำเสนอเพื่อให้สาธารณชนเข้าใจความสำคัญของขั้นตอนทางวิศวกรรมในการผลิตยางรถยนต์ก่อนหน้านั้น 2-3 ปี
ภาพยนตร์การ์ตูน The Birth of Bibendum เล่าเรื่องราวการกำเนิดของมัสค็อตระดับตำนานที่ถูกสร้างขึ้นในช่วงทศวรรษ 1930
เพียงไม่นาน Michelin Man เริ่มมีบทบาทสำคัญกับบริษัทมิชิลิน ทั้งการเป็นแนะนำผลิตภัณฑ์ยางรถยนต์ใหม่ ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาบรรดาผู้ใช้รถ ก่อนจะกลายเป็นตัวแทนของแบรนด์ที่อยู่ทั่วทุกมุมโลก
ในปี 1905 มิชลิน เปิดสำนักงานแห่งใหม่ที่กรุงลอนดอน Michelin Man ถูกแปลงโฉมให้มาอยู่ในชุดอัศวินด้วยฝีมือของศิลปินคนเดิม O’Galop เพื่อสร้างความเป็นกันเองกับชาวอังกฤษ พร้อมคำโฆษณายืนยันประสิทธิภาพยางรถยนต์ของพวกเขา “ความแข็งแกร่งระดับสิบจากขั้นตอนการผลิตยางบริสุทธิ์”
ก่อนที่ช่วงต้นปี 1970 Michelin Man จะข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกสู่ประเทศสหรัฐฯ หลังจากมิชลิน ก่อตั้งโรงงานผลิตยางรถยนต์ที่เมืองมิลล์ทาวน์ รัฐนิวเจอร์ซี่ย์ ภาพวาดมนุษย์ยางยักษ์ยืนบนตึกพร้อมข้อความแนะนำบรรดานักเดินทางถึงความแตกต่างของยางมิชลิน ถูกนำเสนอภาพโปสเตอร์โฆษณา
ในช่วงปี 1907-1915 Agenzia dei Italia Pneumatici Michelin ตัวแทนจำหน่ายในประเทศอิตาลี ตีพิมพ์นิตยสารรายเดือนส่งให้ลูกค้าทางไปรษณีย์ โดยนำเรื่องราวจากนิตยสาร Michelin Mondays ในประเทศฝรั่งเศสมานำเสนอมีทั้งบทความท่องเที่ยว และให้ความรู้เกี่ยวกับยางรถยนต์ แต่พวกอิตาเลี่ยนพลิกคาแร็กเตอร์ของ Michelin Man ให้มีความเป็นฮีโร่มากกว่าที่บ้านเกิด เหมือนกับในภาพด้านล่างนี้จะเห็นเจ้ามนุษย์ยางสนุกสนานกับการเต้นรำท่ามกลางสาวๆ
บรรดาศิลปินนักวาดรูปชาวอิตาเลี่ยนอาศัยการตีความเฉพาะตัวให้ Michelin Man ให้ออกมามีบุคลิกขี้เล่น ชอบสูบซิการ์ พร้อมปรากฏตัวเพื่อช่วยเหลือผู้คนที่กำลังประสบปัญหาเกี่ยวกับยางรถยนต์ ตามภาพด้านล่างที่ถูกเขียนขึ้นโดยเรเน่ วินเซนต์ เมื่อปี 1914
เช่นเดียวกับแถบตอนเหนือของแอฟริกา นักวาดการ์ตูน โรเจอร์ โบรเดอร์ส เปลี่ยนมัสค็อตชื่อดังตัวนี้ให้กลายเป็นชาวเผ่าเบดูอิน บนโปสเตอร์โฆษณาปี 1922 Michelin Man กลายเป็นที่จดจำจากการสวมชุดคลุมยาว และรองเท้าผ้าของชาวพื้นเมือง
แต่นับจากทศวรรษ 1930 มิชลิน เริ่มควบคุมการใช้สัญลักษณ์มนุษย์ยางของพวกเขาให้อยู่ภายในกลุ่มศิลปินเพียงไม่กี่คน ทำให้ Michelin Man เริ่มมีมาตรฐานที่ชัดเจนมากขึ้น แม้ว่าจะมีการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับการทำตลาดในบางประเทศอยู่บ้างก็ตาม รวมทั้งวิวัฒนาการของยางรถยนต์ที่มีขนาดใหญ่ขึ้นทำให้รูปร่างของ Michelin Man ต้องเปลี่ยนไปตามยุคสมัยจากหนุ่มใหญ่ชอบปาร์ตี้กลายเป็นมัสค็อตตัวอ้วนเป็นมิตรกับลูกค้ามากขึ้น
นับจากนั้น Michelin Man กลายเป็นสัญลักษณ์ที่ปรากฏตัวอยู่ทั่วโลก มีการเสริมออปชั่นพิเศษให้เหมาะสมกับการทำตลาดในบางประเทศอย่างการสวมชุดซูโม่ กีฬาประจำชาติของชาวญี่ปุ่น รวมทั้งร่วมโปรโมตรายการแข่งขันรถยนต์ระดับโลกมากมาย
เมื่อปี 1998 มีการฉลองครบรอบ 1 ศตวรรษ Michelin Man ทำให้ทางบริษัทมิชลิน ถือโอกาสปรับอิมเมจมัสค็อตคู่บุญของพวกเขาให้ผอมบางลงจากเดิมเล็กน้อย และเพิ่มความสดใสร่าเริงเพื่อเป็นตัวแทนส่งความมั่นใจสู่ลูกค้าของพวกเขาทั่วโลกอีกนานเท่านาน
เรื่อง: พูนทวี สุวัตถิกุล
ขอบคุณข้อมูล: logodesignlove.com
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th