MINI Gen.2 R55 – R60 สดสบายกว่า นุ่มนวลขึ้น แต่ระวัง “กล่องพัง”
ภาคต่อกันกับ MINI Cooper ที่ยังคงมีกระแสอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่นำเสนอ R50 – R53 ไปแล้ว ครั้งนี้ก็ขอ “ขยับรุ่นใหม่ขึ้น” มาเป็น Gen.2 ในซีรีส์ R56 – R60 ออกมาในช่วงปี 2006 – 2016 ที่มีการเปลี่ยนแปลงใหม่ทั้งหมด โดยหลักก็จะเน้น “ความสบาย” มากขึ้น จากเนื้อตัวที่ใหญ่กว่า และมีตัวเลือกสไตล์ “ครอบครัว” อย่าง Countryman เข้ามาให้เลือกอีก โดยเข้าถึง “ความหลากหลาย” ในการใช้งานมากกว่าตัวก่อนที่เน้น “โฉบเฉี่ยว” เป็นหลัก ซึ่งเราจะพูดถึง จุดเด่น และ จุดที่ควรพิจารณา จริงๆ แล้วมันไม่ได้น่ากลัวไปอย่างที่คิดเสียทั้งหมดหรอกครับ บางอย่าง “อาจจะเจอ” หรือ “อาจจะไม่เจอ” ก็ได้ใน “บางคัน” เรียกว่าอย่าวิตกจริตเกินไปเพราะ “รถมันซ่อมได้ครับ” เพียงแต่แต่ให้ทราบไว้ก่อนจะได้ไม่ตกใจเวลาเจอเคสปัญหา แต่ก่อนอื่น มารู้จักกันก่อนว่า มันมีรหัสอะไรบ้าง และตัวรถมีลักษณะอย่างไร…
- Clubman R55 : เป็นรถแบบ 3 ประตู ที่ประตูท้ายเปิดแบบ “ตู้กับข้าว” กึ่งๆ จะเป็น Estate กับ Hatchback ส่วนประตูคนขับ จะมีประตูเล็กๆ พิเศษเสริมมา เรียกว่า Clubdoor เพิ่มความสะดวกสบายในการเปิดหยิบของที่เบาะหลัง…
- Cooper R56 : เป็นรถแบบ Hatchback 3 ประตู ที่ด้านหลังยัง “พอจะนั่งได้สำหรับเด็ก” มีทั้งรุ่นธรรมดา และ S คือ “เครื่องยนต์เทอร์โบ” ที่เปลี่ยนจาก 1 ที่เป็น Supercharge…
- Cooper Convertible R57 : เป็นแบบ เปิดประทุน ใช้พื้นฐานเดียวกับ R56…
- Coupe R58 : เป็นแบบ Coupe 2 ที่นั่ง เต็มระบบ ด้านหลังไม่มีที่นั่ง ช่วงล้อสั้นกว่า R56 – R57 (แต่ประตูยาวเท่ากัน) ช่วงล่างเซ็ตให้ “เฟิร์ม” เน้นสปอร์ตอย่างชัดเจนเหมือนรุ่น 1…
- Convertible R59 : พื้นฐานจาก R58 มาเป็นตัวเปิดประทุน…
- Countryman R60 : เป็นตัว 5 ประตู ตัวรถมีขนาดใหญ่โตเกินหน้าพี่น้อง เน้นความสบายในการโดยสารแบบครอบครัว ใต้ท้องสูงสไตล์ Crossover ถือเป็นรถ Section ใหม่ของ MINI ที่ “เอาใจ” ตลาดมากขึ้น และมีรุ่น ALL 4 คือ “ขับเคลื่อนสี่ล้อ” และเครื่อง “ดีเซล เทอร์โบ” ให้เลือกอีก…
- Paceman R61 : พื้นฐานจาก R60 แต่ดีไซน์แปลกประหลาด คือ ท้ายลาด 3 ประตู มันจะกึ่งๆ Sport + Crossover อย่างไรบอกไม่ถูก โดยเรียกว่า Sport Activity Coupe ก็จะมีรุ่น ALL 4 ให้เลือกเหมือนกัน…
“ภาพรวม” ที่ควรรู้ ในการเลือกซื้อรถ
- เตรียมตังค์ไว้เซอร์วิสชุดใหญ่ ประมาณ 8 หมื่น ราคานี้หมายถึงรถที่มีสภาพดีมานะครับ ยอมซ่อมชุดใหญ่ทีเดียวแล้วใช้ยาวๆ ดีกว่าซ่อมกระจ๊อกกระแจ๊กบ่อยๆ เสียเวลาและ “แพงปลายทาง” ครับ…
- เครื่องยนต์เปลี่ยนเป็นซีรีส์ “Prince” ที่พัฒนาร่วมกันระหว่าง PSA PEUGEOT กับ BMW ฝาสูบแบบ DOHC ที่พัฒนามาจากรุ่นก่อนที่เป็น SOHC มีแบบ “เบนซิน” แบบ 6 ลิตร รหัส N12 แบบไม่มีเทอร์โบ, N14 แบบมีเทอร์โบ และรุ่น “ไมเนอร์เชนจ์” ส่วนใหญ่ก็เรียก Facelift หรือศัพท์เฉพาะ คือ “LCI” หรือ Life Cycle Impulse ที่คิดค้นเรียกขึ้นมาแบบเท่ๆ ก็จะมีเครื่อง N16 ไม่มีเทอร์โบ และ N18 มีเทอร์โบ…
- เครื่อง N12 กับ N16 พื้นฐานเดียวกันหมด ปรับเปลี่ยนแค่ Sensor บางอย่าง ท่อนตรงใช้กันได้เลย แต่ N14 กับ N18 “ต่างกันโดยสิ้นเชิง” ดูจะคล้ายแต่ก็ไม่ใช่ ส่วนใหญ่แล้วอะไหล่แทนกันไม่ได้ N18 พัฒนาใหม่หมดตั้งแต่ฝาสูบ เพิ่มความทนทาน เทอร์โบใหญ่กว่า แรงม้ามากกว่า ปั๊ม High Pressure ที่ขับ “หัวฉีดตรง” สำหรับเครื่องเทอร์โบ ทนทานมากกว่า N14…
- สิ่งที่เป็นปัญหา คือ “กล่อง ECU เสีย” และมันไม่ได้มีแค่ใบเดียว ทำงานร่วมกับกล่อง CAS ที่ควบคุมระบบกุญแจ กล่อง FRM คุมระบบไฟ ไปยันกล่องฟิวส์ พอรถมีอายุก็มักจะ “หลับ” ไปดื้อๆ ก็ “ไล่ตามอายุ” มาตั้งแต่ N14 และตอนนี้ N16 ก็เริ่มเจอปัญหานี้กันเยอะแล้วจนกล่องขาดตลาด (แต่ N12 รุ่นแรกไม่ค่อยพัง ก็แปลกดี) ส่วน N18 ยังไม่ถึงวัย เรียกว่าต้อง “ระวัง” และ “ทำใจ” มันไปตามอายุที่เหมือน Countdown โดยไม่ต้องไปหาเหตุอะไรทั้งนั้น สำหรับราคากล่อง ECU + CAS (มันเป็นชุดไปด้วยกัน) อยู่ราวๆ “12,000 บาท” บวกลบ ส่วนกล่องยิบย่อยอื่นๆ ก็ “2,500 บาท” บวกลบ ซึ่งตอนนี้ราคาก็ถูกลงกว่าช่วงแรกๆ เยอะแล้ว แต่ “ต้องรอของ” กันหน่อย ตรงนี้เจ้าของรถส่วนใหญ่ก็มักจะ (ต้อง) รอกันได้ เพราะเจ้าของรถก็มักจะมีรถอื่นๆ ใช้งานจริงอยู่แล้ว…
- ปั๊ม High Pressure สามารถเปลี่ยนของ Used หรือของใหม่ที่เป็น After Market ก็มี ไม่ต้อง OEM แท้ก็ได้…
- แร็คพวงมาลัยไฟฟ้า ทนทานดี มีน้อยมากที่พัง “หลวม” ขับแล้วมีเสียงก๊อกแก๊ก รถไม่ค่อยนิ่ง สามารถซ่อมได้ ไม่ต้องเปลี่ยนทั้งหมด…
- เทอร์โบเสื่อม “แกนรุน” มีเสียงดังเวลาบูสต์ เปลี่ยนของ Used สภาพดี คุ้มกว่าซ่อม…
- สำหรับรถหลังคาแก้ว มักจะเจอ “เฟืองพลาสติกขับหลังคาแตก” ตามอายุ บางคนก็กัดเฟืองทองเหลืองใส่ แต่จะเกิดเสียงดังหน่อยเวลาทำงาน ซึ่งก็ไม่น่าซีเรียสอะไร…
- แนะนำถ้าจะเลือกซื้อรถ Used เป็นตัว “LCI” จะดีกว่า เพราะแก้ปัญหาต่างๆ มาแล้ว อย่างตัว Cooper S R56 อยู่ราวๆ “5 – 7 แสน” ถ้าตัว LCI จะอยู่ราวๆ “8 – 8.5 แสน” ได้รถสดกว่า แรงกว่า แต่ภาวนาอย่าเจอ “เครื่องพังเน่าใน” มาละครับ เพราะเครื่องท่อนตรง Used Part ก็อยู่แถวๆ 3.5 หมื่น อาจจะมีเพิ่มกว่านี้ตามสภาพ…
- ต้องระวัง สำหรับอุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ “เปลี่ยนเองไม่ได้” เพราะการเปลี่ยนจะต้องมีการ Key Code ใหม่ ให้มันเข้ากับของที่เราเปลี่ยน ควรเป็นหน้าที่ของอู่ดีกว่า…
- สำหรับรุ่น ALL 4 ระวังเรื่องชุดเกียร์ Transfer พัง ในเสื้อลูกปืนจะมีน้ำมันหล่อเลี้ยง ถ้าเกิดน้ำมันเริ่มแห้งหรือเสื่อมสภาพ จากการ “ไม่บำรุงรักษา” ลูกปืนที่ลอยน้ำมันอยู่จะ “เบียดกับเสื้อ” ทำให้พัง ถ้าลองขับแล้ว “มีเสียงหอน” ควรหลีกเลี่ยงเพราะอะไหล่แพง ถ้าไม่ใช่สายลุย เอาตัว “ขับสองล้อ” ก็พอ ปัญหาน้อย ซ่อมไม่แพง และประหยัดน้ำมันกว่า…
- เครื่องดีเซล ปกติขับดี แรงบิดดี ประหยัดน้ำมัน ทนทาน แต่ต้องระวังถ้า “ดวงกุด” ไปเจอรถเครื่องเน่าในละก็ “งานหยาบ” ราคาเครื่องแค่ท่อนตรง “หลักแสน” เนื่องจากต่างประเทศ อย่างใน “ฮ่องกง” ที่เป็นแหล่งอะไหล่ Used จะไม่นิยมเครื่องดีเซลเลย ทำให้มีเครื่องเข้ามาน้อยมากๆ เลยหายากและแพงมาก…
เรื่อง : อินทรภูมิ์ แสงดี
ข้อมูล : SSC Autopart
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th