เปิดใจทีม Mitsubishi Ralliart หลังผ่านเส้นทางหฤโหดในไทย คว้าอันดับ 5 ในศึก AXCR 2024
เปิดใจทีมมิตซูบิชิ แรลลี่อาร์ต หลังผ่านเส้นทางหฤโหดในไทย คว้าอันดับ 5 ในศึกเอเชีย ครอสคันทรี แรลลี่ 2024
หลังจากช่วงกลางเดือนสิงหาคมที่ทาง มิตซูบิชิ มอเตอร์ส คอร์ปอเรชั่น (มิตซูบิชิ มอเตอร์ส) ได้สนุบสนุน ส่งกองทัพนักแข่งทีม Mitsubishi Ralliart ลงสู้ศึก เอเชีย ครอสคันทรี แรลลี่ 2024 หรือ AXCR 2024 บนเส้นทางเขตภาคใต้และภาคกลางของประเทศไทย
สำหรับปีนี้เป็นปีที่สามที่ทางทีม Mitsubishi Ralliart มีโอกาสได้ร่วมแข่งในรายการ เอเชีย ครอสคันทรี แรลลี่ หรือ AXCR 2024 โดยได้ส่งรถเข้าร่วมแข่งขันทั้งหมด 4 คัน
ซึ่งทีมเองมีความตั้งใจที่จะคว้าชัยชนะ แต่ผลรวมของสนามนี้ทางทีม มิตซูบิชิ แรลลี่อาร์ต คว้าลำดับที่ 5 มาครอง ซึ่งเป็นผลที่ไม่ค่อยน่าพึงพอใจเท่าไหร่นัก ด้วยปัจจัยหลายอย่าง
ทั้งเรื่องของเส้นทางที่มีความยาก และซับซ้อนมากขึ้น สภาพแวดล้อมที่หลากหลาย และระบบนำทางที่คลาดเคลื่อน มีผลทำให้ในสนามนี้ ทีมมิตซูบิชิ แรลลี่อาร์ต ทำผลออกมาได้ไม่ดีเท่าที่วางแผนไว้ แม้ว่า legที่ 1 – 4 ผลงานออกมาค่อนข้างดี แต่เมื่อเข้าสู่ เรซที่ 5 เกิดปัญหาขึ้นกับตัวรถ ทำให้นักแข่งต้องถอนตัวออกจากการแข่งขัน
โดยในปีนี้ ฮิโรชิ มาซูโอกะ ผู้อำนวยการทีมฯ ตามด้วย ชยุส ยังพิชิต เจ้าของทีมฯ ได้นำทัพนักแข่งมาร่วมพูดคุยถึงอุปสรรค และปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรายการนี้ พร้อมยอมรับถึงผลที่ไม่ค่อยน่าพึงพอใจ แต่มั่นใจว่าปีหน้า ทีมมิตซูบิชิ แรลลี่อาร์ต ต้องกลับมาสู้ใหม่ ภายใต้ความร่วมแรงร่วมใจจากทีมทุกคน ที่พร้อมจะผนึกกำลังเพื่อคว้าชัยชนะในปีหน้ามาให้ได้
ความสมบูรณ์ของทีม รวมถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในการแข่งขันปีนี้?
Mitsubishi Ralliart: ถ้าพูดถึงความสมูรณ์ของทีมแข่งในปีนี้ ผมในฐานะเจ้าของทีมคิดว่าทีมของผมสมบูรณ์ตั้งแต่ปีแรกกระทั่งปีนี้ ถือว่าทีมงานทุกๆ คน ทุกๆ ฝ่ายคือทีมที่สมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่สำหรับปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างการแข่งขัน ด้วยระบบครั้งแรกเราคิดว่าเกิดจากเครื่องยนต์ที่มีปัญหา เราจึงได้ค้นหาต้นตอของปัญหากันจนดึก แต่เราคิดว่าน่าจะเกิดขึ้นจากระบบไฟ เพราะเราได้มีการเปลี่ยนชุดระบบไฟ แต่เราพบว่าไม่ได้มีปัญหาใดเกิดขึ้นกดับตัวเครื่องยนต์ ซึ่งตอนนี้หลังจากการแข่งขันจบลงเราต้องกลับมาพิสูจน์กัน
ได้นำผลการทำสอบ 800 กิโลเมตร ก่อนลงรายการนี้ กลับมาพัฒนาแก้ไขอย่างไร?
Mitsubishi Ralliart: การทดสอบที่เขาใหญ่รถของ Mitsubishi Ralliart วิ่งเกิน 800 กิโลเมตร เราใช้วิ่งจริงไปประมาณ 1,000 กว่ากิโลเมตรด้วยซ้ำ เรามีการเทสสองครั้งติดกัน แต่สเป็กรถอาจจะไม่เหมือนกันร้อยเปอร์เซ็นต์ ซึ่งเราก็นำผลทดสอบกลับมาแก้ไขทุกครั้ง เราเรียนรู้จากข้อผิดพลาด แต่สำหรับรถเบอร์ 103 ทางเราไม่ได้เปลี่ยนอะไร เรียกว่า 103 เป็นรถใหม่ ร้อยเปอร์เซ็นต์ก็ว่าได้ มีการทดสอบแค่ที่เขาใหญ่เท่านั้น และทุกครั้งที่ทดสอบเสร็จกลับมา เรามีการรื้อเช็กทุกครั้ง
ปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างการแข่งขัน?
Mitsubishi Ralliart: มันมีทั้งสองส่วน ส่วนแรกคือผู้วางเส้นทาง ระยะทางที่วางไว้ไม่ตรง อีกส่วนคือผู้นำทางของเราจับเส้นทางยาก ระยะไม่ได้ เสียเวลาไปเยอะมาก บาง leg ก็ยากมาก เช่น leg ที่ห้าของการแข่งขัน เป็นลานกว้างๆ ที่แยกเยอะมาก วนไปวนมาหลายคัน พอจังหวะที่ใครจับระยะได้ออกได้ก่อนก็ดีไปครับ ใครจับระยะได้ช้าหน่อยก็อยู่หลัง เพราะเส้นทางค่อนข้างยากมากจริงๆ จึงไม่สามารถทำเวลาได้อย่างที่ตั้งใจไว้ได้
ตัวรถที่ใช้ลงแข่งมีอุปกรณ์ชุดใดบ้างที่เปลี่ยนไปจากชุด Standard?
Mitsubishi Ralliart: ระบบที่เปลี่ยนแปลงไป ที่เห็นได้ชัดที่สุดคือ ระบบส่งกำลังจากช่วงล่างด้านหลัง เรามีการเปลี่ยนไปจากปีก่อน ปีก่อนยังเป็นระบบแหนบอยู่ แต่ปีนี้เป็นสปริง แต่ช่วงล่างด้านหน้าหลักการทำงานยังคงเหมือนเดิม ส่วนการแข่งขันในปีหน้าสิ่งที่ทางทีมคิดว่าจะพัฒนาก็คือ ทำให้รถเบาลงมากกว่านี้ ส่วนเรื่อง Performance ตอนนี้สำหรับระบบช่วงล่าง เราค่อนข้างพอใจแล้ว ปีหน้าทีมเราขอแค่เน้นพัฒนาให้ได้แรงกว่านี้ถือว่าพอใจแล้วครับ
ภูมิประเทศที่เปลี่ยนไปในปีนี้ สร้างปัญหาให้กับนักแข่ง และผู้นำทางหรือไม่ ?
Mitsubishi Ralliart: ตอนนี้ รายการ เอเชีย ครอสคันทรี แรลลี่ ในประเทศไทยเหลืออยู่แค่งานเดียว เมื่อต้นปีเราวิ่งที่สระแก้วไป แต่ยังเป็นรถปี 2023 เพราะรถ 2024 ยังไม่เสร็จ เราก็ทำกันเอง ทำให้วิ่งได้ดี และสำหรับ โคอิเดะ ก็ถือเป็นสนามแรกของเขา เป็นการเพิ่มประสบการณ์ของเขามากกว่า ถือเป็นการทำความคุ้นเคย ส่วนอีกสนามที่ลพบุรี เราได้ร่วมกัน เราวิ่งสามครั้ง โดยที่ใช้รถปี 2024 วิ่ง ซึ่ง โอม ชยพล เป็นคนขับ ดังนั้นจากประสบการณ์ของทีม ในการแข่งขันปีนี้ ที่ภูมิประเทศเปลี่ยนไปไม่ใช่ปัญหาเสียทีเดียว แต่ปัญหาที่แท้จริงคือระยะทาง และระบบนำทางที่ไม่ตรงมากกว่า ซึ่งคาดว่าเมื่อเราผ่านปีนี้ไปได้ ปีหน้าเราต้องบรรลุเป้าหมายแน่นอน
ทางทีมเจอระบบบนำทางที่ไม่ชัดเจน สะท้อนกลับไปถึงผู้จัดการแข่งขันอย่างไร เพื่อหาแนวทางปรับปรุงในฤดูกาลหน้า?
Mitsubishi Ralliart: เรื่องการนำทาง ผมคิดว่า ระยะที่ไม่พอดี อาจจะเกิดมาจากการที่เขาวิ่งช้าๆ วิ่งบ้างหยุดบ้าง ซึ่งกับการลงสนามจริงของเราที่ลงแข่งแล้ววิ่งแบบล้อฟรี ไสลด์ออกนอกระยะไปบ้าง อาจมีผลทำให้ระยะแตกต่างไปจากระบบนำทางที่เขาวางเส้นทางไว้ เรามีทั้งเดินหน้าถอยหลัง ต้นไม้อาจจะโตขึ้นในจังหวะที่เขาลงแข่ง เพราะเป็นช่วงฤดูฝน ต้นไม้จะโตไวมาก ทำให้สภาพการณ์ ณ วันที่ทำเส้นทาง กับวันที่นักแข่งต้องลงสนามจริง แตกต่างกันออกไป
โดยปกติ เส้นทางรายการนี้ จะถูกวางล่วงหน้าประมาณ 4 เดือน ไล่เป็นจังหวัดมาเรื่อยๆ ปีนี้วางเส้นทางไล่จากสุราษฎร์ฯ ลงไปมาเลเซีย แต่มีปัญหานิดหน่อย เลยเปลี่ยนเป็นไล่จากสุราษฎร์ฯ มาจบเมืองกาญจน์ แต่ด้วยความที่ภูมิประเทศแต่ละจังหวัดของบ้านเราไม่เหมือนกัน อย่างสุราษฎร์ฯ เป็นป่าปาล์ม ถนนจะลื่นมาก มีร่องข้างๆ มากมาย ไล่ขึ้นมาเรื่อยๆ จนเจอ leg ที่ยากที่สุดคือ leg ที่ 4 ต้องข้ามเขา เป็นเขาที่ได้ทดสอบสมรรถภาพรถจริงจัง ขึ้นไปไม่มีทางกลับ ขึ้นไปประมาณ 10 กิโลเมตร ทางชันมาก อย่างรถมอเตอร์ไซค์คันที่เก่งที่สุด ขึ้นไปไม่ถึงยอด จอดนอนอยู่ข้างทาง แล้วก็ยังมีเหตุการณ์รถคว่ำขวางทาง โหดมากครับ เป็นเส้นทางที่โหดมาก อย่างเมืองกาญจน์เป็นพื้นที่เฉพาะ ป่าเยอะมาก ทางแยกเยอะมาก มองแล้วไปได้หมด เพราะฉะนั้นต้องหาทางที่ถูกต้อง มันเลยเกิดความยากขึ้นทุกปี เป็นสนามทดสอบรถของทหารที่เมืองกาญจน์ ในบางส่วนเป็นเถาวัลย์ อย่างใครที่ไปคันแรกก็ต้องเป็นเปิดมุดเถาวัลย์ที่อยู่หน้ารถออกไป เราก็ต้องค่อยๆ ดันกันออกไป นี่คือสภาพแวดล้อมที่ยาก
ซึ่งเชื่อว่า feedback ทั้งหมดจากผู้ลงแข่งในรอบนี้ ที่มีต่อผู้จัดการแข่งขัน จะทำให้ปีหน้าลงตัวมากขึ้น เพียงแต่จุดประสงค์ของรายการนี้ คนวางเส้นทางเขาต้องการให้มันออกมาในรูปแบบที่ยากอยู่แล้ว เป็นสีสันของรายการนี้
ทำไม แรลลี่อาร์ต จึงเลือกร่วมงานกับทีมไทย และจะมีโอกาสร่วมงานรายการอื่นอีกหรือไม่ และหากอยากรู้ข้อมูล หรือกฏกติกาการแข่งขัน เพื่อให้ดูแล้วสนุกขึ้นสามารถหาดูได้จากที่ใด?
Mitsubishi Ralliart: แรลลี่อาร์ต เป็นแบรนด์ของมอเตอร์สปอร์ต ที่ผ่านมา เราลงในสนามแข่ง WRC และ Dakar Rally ซึ่งก่อนหน้านี้ เราก็มี ไทยแรลลี่อาร์ต, ยูโรเปี้ยนแรลลี่อาร์ต แต่เราหยุดการดำเนินกิจกรรมไปสักพัก กระทั่งเมือง 2 ปีก่อน เราได้กลับเข้ามาใหม่ และมาเข้าสู่สนามแข่ง เอเชีย ครอส คันทรี
เราเองหวังว่า ทางแบรนด์จะสามารถถ่ายทอด หรือสื่อสารแบรนด์นี้ผ่านกิจกรรมมอเตอร์สปอร์ตต่อไป ซึ่งอนาคตหวังว่าเราจะได้มีโอกาสจำหน่ายตัวพาร์ทรถยนต์ของมอเตอร์สปอร์ตนี้บ้าง
ซึ่งทุกวันนี้ แรลลี่อาร์ต ยังเป็นชุดแต่งที่เป็นการแต่งรถมากกว่า ยังไม่ได้เป็นชุดแต่งที่เป็นเรื่องของมอเตอร์สปอร์ตโดยตรง ซึ่งในอนาคตก็มีแผนที่จะทำเช่นนั้น
สำหรับรายการ เอเชีย ครอสคันทรี แรลลี่ ถือเป็นรายการที่ค่อนข้างมีประตูที่เปิดกว้าง มีทั้งผู้ลงแข่งที่เป็นมือสมัครเล่น และผู้ลงแข่งที่เป็นมืออาชีพ ถือเป็นสนามที่สนุกสนาน หลายๆ คนสามารถเข้ามาร่วมได้ ซึ่งแน่นอนว่า แม้ในปีนี้ ทีมมิตซูบิชิ แรลลี่อาร์ต จะพลาดหวังไป แต่เชื่อว่าพลังกาย พลังใจจากทุกคนภายในทีมที่มุ่งมั่น และมีเป้าหมายเดียวกัน จะทำให้ในปีหน้าทีมมิตซูบิชิ แรลลี่อาร์ต จะคว้าชัยชนะในศึกครั้งนี้ได้แน่นอน
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th