Mitsubishi Xpander น้องเล็ก ปาเจโร สปอร์ต
แผนกลยุทธ์ในการสร้างแบรนด์ใหม่ของ MMC ที่มุ่งเน้นพัฒนารถแนว SUV รถ EV และสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ จากแนวคิดดังกล่าว จึงเป็นที่มาของ Mitsubishi Xpander ยานยนต์คุณภาพสำหรับตลาดเกิดใหม่ ที่เปิดตัวครั้งแรกในโลกที่อินโดนีเซีย เมื่อช่วงเดือนสิงหาคม ในงาน Gaikindo Indonesia International Auto Show นอกจากเน้นตลาดในอินโดนีเซียแล้ว ก็จะทยอยส่งออกจำหน่ายทั่วอาเซียน รวมทั้งประเทศไทยด้วย
มิตซูบิชิ เอ็กซ์แพนเดอร์ รุ่นนี้ผลิตขึ้นที่โรงงานแห่งใหม่ของ MMC ที่เบกาซี (Bekasi) ตั้งอยู่ทางภาคตะวันตกของเกาะชวา มีปริมาณการผลิตปีละประมาณ 80,000 คัน เหตุที่ไปปักหลักฐานการผลิตที่ประเทศอินโดนีเซีย ก็เพราะว่าเป็นตลาดรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดของอาเซียน แถมรถประเภท MPV เป็นที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย มียอดการจำหน่ายถึง 1 ใน 4 ของยอดการจำหน่ายปีละเกือบล้านคันในอินโดนีเซีย
การเข้ามาในตลาดนี้ของมิตซูบิชิก็ต้องเจอกับการแข่งขันในตลาดที่ไม่ธรรมดา มีทั้ง Toyota Avanza, Daihatsu Xenia, Suzuki Ertiga และ Honda Mobilio ดังนั้น มิตซูบิชิจึงต้องนำเอาสิ่งดีที่สุดของรถ SUV และ MPV มาไว้ในรถรุ่นนี้ เพื่อเข้าถึงคนอินโดนีเซียให้ได้มากที่สุด
การทดสอบรถของเราเริ่มต้นที่ Mitsubishi Proving Ground และเป็นครั้งแรกที่ได้เห็นรถรุ่นนี้ตัวเป็นๆ พอจะประมาณได้ว่า ค่ายมิตซูบิชิพยายามที่จะนำความโดดเด่นของรูปลักษณ์ และขนาดของรถมาเป็นจุดขาย เพื่อชิงความได้เปรียบในฐานะผู้มาใหม่ที่มีจุดแข็งในเรื่องของเทคโนโลยี ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ และความชำนาญในการผลิตรถ SUV ด้วยการปรับเปลี่ยนมาเป็นรถ 7 ที่นั่ง ที่เรียกว่า “Small crossover MPV” รถอเนกประสงค์ เฉกเช่นเดียวกับค่ายฮอนด้าที่พัฒนา BR-V มาในแนว SUV ซึ่งจะเป็นคู่แข่งในตลาดโดยตรงของมิตซูบิชิ แต่การมาทีหลังก็ย่อมได้เปรียบในการเติมแต่ง จึงทำให้ Xpander ที่มาในรูปแบบรถ 3 แถว 7 ที่นั่ง มีความยาวของตัวรถ 4,475 มม. กว้างถึง 1,750 มม. มีฐานล้อที่ยาวถึง 2,775 มม.เมื่อเทียบกับคู่แข่งอย่าง BR-V ก็จะยาวกว่า 22 มม. กว้างกว่า 15 มม. แถมด้วยฐานล้อที่ยาวกว่า 113 มม. ขณะเดียวกัน จุดต่ำสุดใต้ท้องรถก็สูงถึง 205 มม. ซึ่งสูงกว่า 4 มม. Xpander จึงสูงที่สุดในรถกลุ่มนี้ที่ขายอยู่ในตลาดอินโดนีเซีย
จุดได้เปรียบต่อมา คือ เรื่องการออกแบบที่ทันสมัยกว่า ด้วยรูปแบบการใช้งานในแบบ MPV แต่มีรูปแบบของรถในสไตล์ SUV โดยนำเอกลักษณ์ Dynamic Shield แบบกระจังหน้าโฉมใหม่ที่ใช้อยู่ในรถมิตซูบิชิรุ่นหลักมาเป็นแบบ ทำให้รถคันนี้มีความเด่นเป็นพิเศษ การออกแบบโคมไฟจัดเรียงไว้ถึง 3 ระดับ ไฟ LED อยู่เหนือสุด ติดกับฝากระโปรงหน้า ไฟหน้าลดระดับลงมา และล่างสุดเป็นไฟตัดหมอกติดตั้งบนกันชนหน้า มองแล้วมีส่วนละม้ายคล้ายกับ ปาเจโร สปอร์ต ภายในกว้างขวาง ตกแต่งอย่างเป็นระเบียบ มีช่องใส่ของมากมาย พื้นที่เก็บสัมภาระก็กว้างขวาง ภายในเล่นโทนสีเบจ เพื่อให้ห้องโดยสารสว่างและดูกว้าง เบาะนั่งหุ้มด้วยผ้าสีเบจ มอบสิ่งอำนวยความสะดวกด้วย Keyless Operation System ไม่ต้องใช้กุญแจเปิด-ปิด ประตู รวมถึงการสตาร์ตเครื่องยนต์ด้วย แถมไฟหน้าก็มีหน่วงเวลาประมาณ 30 วินาที เมื่อออกจากรถในเวลากลางคืน
เครื่องยนต์รุ่น 4A91 ความจุ 1.5 ลิตร 4 สูบ 16 วาล์ว MIVEC ที่ใช้ระบบวาล์วแบบ Valve Timing Electronic Control ทำให้ได้กำลังสูงขึ้นแต่การบริโภคเชื้อเพลิงต่ำลง กำลังสูงถึง 104 แรงม้า ที่ 6,000 รอบ/นาที มีแรงบิดสูงสุด 141 นิวตันเมตร ที่ 4,000 รอบ/นาที ขับเคลื่อนล้อหน้า มีเกียร์ธรรมดา 5 สปีด และเกียร์ออโต้ 4 จังหวะให้เลือก และมีถึง 5 รุ่นในตลาดอินโดนีเซีย ระดับราคาประมาณ 470,000-650,000 บาท
ช่วงลองขับในสนามทดสอบแห่งนี้ มีการจำลองสภาพถนนในทุกรูปแบบ ไปจนถึงตัวสนามใหญ่ที่เป็นรูปทรงไข่ ที่สามารถไต่ระดับความเร็วได้อย่างเต็มที่ เริ่มต้นให้ขับสลาลอมก่อน 2 รอบ เพื่อให้รับรู้ถึงการควบคุมทิศทางและความแม่นยำของพวงมาลัยในการหักเลี้ยวผ่านกรวยที่ทิ้งระยะห่างเท่าๆ กัน โดยใช้ความเร็วประมาณ 40-50 กม./ชม. ให้รับรู้ถึงความสมดุลในการเลี้ยวของรถ ความเร็วระดับนี้ไม่ออกอาการเหวี่ยงมากนัก จากนั้นเป็นการขับแบบเลนเชนจ์ หรือการเปลี่ยนเลนกะทันหันแบบพอหอมปากหอมคอ จากนั้นให้ไปลองถนนที่ขรุขระและเป็นคลื่นในรูปแบบต่างๆ อันนี้สัมผัสได้ว่าเป็นรถมินิ เอ็มพีวี ที่เก็บเสียงได้ดีพอควรเลยทีเดียว เพราะเคยลองรถในสไตล์นี้ขนาดเดียวกันของอินโดนีเซีย เสียงสะท้อนจากถนนเข้ามาภายในดังกว่านี้เยอะ ช่วงสุดท้ายให้ลองทั้งอัตราเร่งและความเร็วในสนามรูปไข่โดยไม่ต้องลดความเร็วเมื่อถึงทางโค้ง ขอแค่ 140 กม./ชม. เกาะโค้งเนินเอียงราวกับทางตรง ไต่ความเร็วคงที่ได้อย่างสม่ำเสมอทั้ง 2 รอบ
บอกได้เลยว่ารถรุ่นนี้จะเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวในกลุ่มเดียวกันที่จำหน่ายอยู่ในไทย สิ่งหนึ่งที่เห็นชัดคือ ความได้เปรียบในเรื่องความใหม่ของรูปลักษณ์ ที่มีสไตล์คล้ายคลึงกับ มิตซูบิชิ ปาเจโร สปอร์ต ในแบบย่อขนาดลงมา พร้อมทั้งระดับราคาที่น่าจะรับได้ แถวๆ ใกล้เคียงกับคู่แข่ง การออกแบบภายในก็ใช้ได้ เพียงแต่ว่าเบาะนั่งแถวที่ 3 ยังไงก็แคบ นั่งไม่สบาย ไม่เหมาะกับผู้ใหญ่นั่งยาวๆ นานๆ แต่ถ้านั่งช่วงสั้นๆ ก็พอไหว ไว้รอการทดสอบอย่างเต็มรูปแบบสำหรับรุ่นที่นำเข้ามาจำหน่ายในไทยช่วงต้นปีหน้า
ข้อมูลทางเทคนิค
แบบเครื่องยนต์ 4 สูบ แถวเรียง DOHC 16 วาล์ว MIVEC
ปริมาตรความจุ (ซี.ซี.) 1,499
กำลังสูงสุด (แรงม้า/รอบ/นาที) 104/6,000
แรงบิดสูงสุด (นิวตันเมตร/รอบ/นาที) 141/4,000
ระบบขับเคลื่อน เครื่องวางหน้า ขับล้อหน้า
ระบบเกียร์ ธรรมดา 5 สปีด และอัตโนมัติ 4 จังหวะ
ระบบกันสะเทือนหน้า แม็คเฟอร์สันสตรัท
ระบบกันสะเทือนหลัง ทอร์ชันบีม
มิติ (กว้าง x ยาว x สูง) มม. 1,750 x 4,475 x 1,700
ใต้ท้องสูง (มม.) 205
นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ยังสาธิตระบบ AYC หรือ Active Yaw Control ที่ติดตั้งอยู่ในรถรุ่น Eclipse Cross รถ SUV คันล่าสุดที่เพิ่งแนะนำในงานโตเกียว มอเตอร์โชว์ ครั้งนี้ โดยให้นั่งไปกับครูฝึก โดยการขับในสนามจำลองแบบสลาลอม ใช้ความเร็วประมาณ 60 กม./ชม.เปรียบเทียบระหว่างการมีระบบ AYC และไม่มีระบบให้สัมผัสถึงการทำงาน ว่าระบบนี้ดีอย่างไร ช่วงที่ไม่มีระบบด้านท้ายจะมีอาการโยนตัว หรือมีอาการเบี่ยงเบนเหวี่ยงตัว พอมีระบบ AYC เข้ามาช่วยในการเข้าสลาลอม อาการด้านท้ายที่โยนตัวจะลดลงอย่างชัดเจน
ต่อจากนี้ก็สาธิตระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ ที่ติดตั้งอยู่ในรถ Mitsubishi Outlander PHEV รถ SUV โฉมล่าสุดซึ่งเป็นรถปลั๊ก-อิน ไฮบริด ที่มีมอเตอร์ไฟฟ้าถึง 3 ตัว ในการขับเคลื่อน โดยล้อหน้าติดตั้งไว้ 1 ลูก ส่วนอีก 2 ลูกเป็นแบบ Dual Motor หรือมอเตอร์ไฟฟ้าคู่ ติดตั้งไว้ที่ล้อคู่หลัง ทำหน้าที่ในการขับเคลื่อนล้อหลังแล้ว ยังทำหน้าที่ในการกระจายแรงบิดด้วย รวมๆ เรียกว่า Super All-Wheel Control (S-AWC) เป็นระบบขับเคลื่อน 4 ล้อที่ต่อยอดให้มีประสิทธิภาพเหนือกว่าเดิมอีกขั้น เจ้าหน้าที่พาไปวาดลวดลายในสนาม Skid Pad ที่ผิวพื้นถนนหล่อด้วยน้ำ เวลาขับจะมีอาการลื่นไถล ไม่สามารถควบคุมรถให้อยู่ในเส้นทางที่ต้องการได้ ดังนั้น เมื่อมีระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ แบบ S-AWC ทุกการควบคุมก็ง่ายขึ้น รถไม่มีอาการลื่นไถลสไลด์ไปมาเหมือนตอนที่ไม่มีระบบนี้
เรื่อง : กองบรรณธิการ
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานต์ยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th