All-New Ford Fiesta พลิกโฉมตรงไหนและอย่างไร
ในปี 2008 Ford เปิดตัว Fiesta ออกมา ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องของการเปิดตัวรถยนต์ใหม่ออกสู่ตลาด 1 รุ่นตามวัฏจักรเท่านั้น แต่มันยังคือควาเปลี่ยนแปลงในเชิงนโยบายของการผลิตและพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตัวเองตามแนวคิด One Ford ซึ่งนั่นหมายความว่า รถยนต์รุ่นหลักๆ สำหรับทำตลาด International จะต้องสามารถเข้าไปทำตลาดได้ทั่วโลกด้วยการปรับแค่รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น ประเภทภูมิภาคหนึ่งโฉมหนึ่งแบบคนละคันเลย ไม่มีอีกต่อไปแล้ว
Fiesta ทำตลาดอยู่เกือบ 10 ปีก็ถึงเวลาของการเปลี่ยนแปลงสักที และนี่คือ โมเดลเชนจ์ในรอบเกือบทศวรรษของรถยนต์ B-Car รุ่นดังของ Ford
พื้นฐานทางวิศวกรรม : ในรุ่นใหม่ซึ่งเป็นเจนเนอเรชั่นที่ 7 ของ Fiesta แม้ว่าจะยังได้รับการพัฒนาขึ้นบนพื้นตัวถังแบบ Global B-Car Platform แต่ก็มีการปรับปรุงในหลายจุด โดยเฉพาะความพยายามที่จะให้ Fiesta ใหม่ดูมีมิติตัวถังที่ใหญ่ขึ้น เช่นการขยายระยะฐานล้อจากเดิมอีก 4 มิลลิเมตรเป็น 2,493 มิลลิเมตร โดยที่ขนาดตัวถังก็มีการขยับตัวเลขตาม เช่น ความยาว 4,040 มิลลิเมตร (+90 มิลลิเมตร) กว้าง 1,734 มิลลิเมตร (+12 มิลลิเมตร) ในส่วนของแชสซีส์และระบบช่วงล่างเมื่อเปรียบเทียบกับรุ่นที่แล้ว มีการปรับปรุงใหม่ โดยเพิ่มความแข็งแกร่งอีก 15% ขณะที่ความกว้างช่วงล้อหน้าขยับอีก 30 มิลลิเมตร และความกว้างช่วงล้อหลังเพิ่มขึ้น 10 มิลลิเมตร นอกจากนั้นยังมีการเปิดตัวพร้อมกันทีเดียวถึง 4 แบบจากตัวถังแฮทช์แบ็ก คือ รุ่น 3 ประตู รุ่น 5 ประตู รุ่น Active แบบยกสูงออกแนวสไตล์ SUV และรุ่นตัวแรง Fiesta ST
ภายนอก-ภายใน : แน่นอนว่านี่คือการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในแบบโมเดลเชนจ์ ดังนั้นแนวคิดในการด้านออกแบบของ Fiesta ใหม่จึงเปลี่ยนไปหมด แม้ว่าตัวถังด้านหน้าจะมีลักษณะที่ค่อนข้างคล้ายกับรุ่นเดิมก็ตาม อันเป็นผลมาจากการคงแกนหลักของการออกแบบเอาไว้ โดยเฉพาะกระจังหน้าทรงห้าเหลี่ยมขนาดใหญ่ สำหรับด้านท้าย มีการเปลี่ยนรูปแบบการจัดวางไฟที่เป็นในแนวตั้งสูงมาสู่การวางตัวในแนวนอนเป็นแถบยาว และแบ่งไฟออกเป็น 2 ส่วนคือ ส่วนที่อยู่บนตัวถังหลัก และอีกส่วนอยู่บนฝากระโปรง
สำหรับในห้องโดยสารมีการอัพเกรดในเรื่องของวัสดุและอุปกรณ์ที่ติดตั้งอยู่ภายใน เพราะดูเหมือนว่า Ford จะวางตัวให้ Fiesta มีระดับตลาดที่เหนือขึ้นจากคู่แข่งในตลาด ดังนั้นจึงใส่ใจในเรื่องรายละเอียดภายในที่หันมาเน้นความเรียบร้อย และหรูหราขึ้น แทนที่จะเน้นความสปอร์ตเหมือนกับรุ่นที่ผ่านมา
ทางเลือกของเครื่องยนต์ : ในรุ่นปกติจะมากับเครื่องยนต์ทั้งเบนซินและเทอร์โบดีเซล โดยเริ่มจากรุ่นธรรมดา 3 สูบ 1,100 ซีซี 70 และ 85 แรงม้า ตามด้วย EcoBoost 1,000 ซีซีแบบ 3 สูบเทอร์โบที่มีให้เลือก 3 ระดับกำลังขับเคลื่อน คือ 100 แรงม้า 125 แรงม้า และ 140 แรงม้า ที่มีมลพิษต่ำด้วยค่าการปล่อย CO2 เพียง 97 กรัมต่อ 1 กิโลเมตร ส่วนเทอร์โบดีเซลเป็นบล็อก 4 สูบ 1,500 ซีซี TDCi 125 แรงม้า ส่วนรุ่น ST ใช้เครื่องยนต์ 1,500 ซีซี EcoBoost รีดกำลังออกมาได้ 200 แรงม้า และใช้เวลาเพียง 6.7 วินาทีสำหรับอัตราเร่ง 0-100 กิโลเมตร/ชั่วโมง
อัพเกรดระบบความปลอดภัย : ติดตั้งมาเพียบตามรายชื่อนี้ ระบบช่วยจอด Active Park Assist with Perpendicular Parking ระบบแจ้งเตือนเมื่อออกนอกถนน Cross Traffic Alert, ระบบปรับความเร็วอัตโนมัติ Adaptive Cruise Control, ระบบที่สามารถปรับความเร็วตามที่กฎหมายกำหนด Adjustable Speed Limiter ระบบแจ้งเตือนหากมีสิ่งกีดขวางในมุมอับสายตา Blind Spot Information System ระบบวัดระยะห่างจากรถยนต์คันหน้า Distance Indication ระบบแจ้งเตือนผู้ขับขี่ Driver Alert และระบบรักษารถให้อยู่ในช่องทาง Lane Keeping Aid
เรื่อง : กองบรรณาธิการ
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th