เสียภาษีรถง่ายๆ ด้วย แอปพลิเคชันชำระภาษีรถประจำปีและตู้รับชำระภาษีรถประจำปีอัตโนมัติ
กรมการขนส่งทางบก เปิดโครงการระบบตู้รับชำระภาษีรถประจำปีอัตโนมัติ (Kiosk) และ “DLT Vehicle Tax” แอปพลิเคชันชำระภาษีรถผ่านมือถือ “เปิดประสบการณ์ใหม่ในการเสียภาษีรถ แบบ New Normal : New Experience for DLT Vehicle Tax”
การชำระภาษีรถประจำปีแบบ New Normal ผ่านแอปพลิเคชันชำระภาษีรถประจำปี “DLT Vehicle Tax” และตู้รับชำระภาษีรถประจำปีอัตโนมัติ (Kiosk) ซึ่งจากเดิมการให้บริการรับชำระภาษีผ่านหน่วยงานภายนอก เช่น ที่ทำการไปรษณีย์ เคาน์เตอร์เซอร์วิส ธนาคารพาณิชย์ ผ่านระบบโทรศัพท์มือถือ หรือระบบอินเทอร์เน็ตที่เว็บไซต์ https://eservice.dlt.go.th/ ประชาชนจะต้องรอรับใบเสร็จและเครื่องหมายการเสียภาษีทางไปรษณีย์เพียงอย่างเดียว แต่สำหรับแอปพลิเคชันชำระภาษีรถประจำปี “DLT Vehicle Tax” และตู้รับชำระภาษีรถประจำปีอัตโนมัติ (Kiosk) ประชาชนสามารถเลือกรับเครื่องหมายการเสียภาษีทางไปรษณีย์ หรือพิมพ์เครื่องหมายการเสียภาษีที่ตู้รับชำระภาษีรถประจำปีอัตโนมัติ (Kiosk) ซึ่งสามารถดำเนินการได้ด้วยตนเองทุกขั้นตอน ไม่ต้องติดต่อผ่านเจ้าหน้าที่ของกรมการขนส่งทางบก
สำหรับช่องทางการให้บริการชำระภาษีรถประจำปีรูปแบบใหม่ผ่านแอปพลิเคชัน “DLT Vehicle Tax” สามารถเลือกให้จัดส่งเอกสารทางไปรษณีย์ หรือรับเอกสารด้วยตนเองที่ตู้รับชำระภาษีรถประจำปีอัตโนมัติ (Kiosk) โดยเมื่อมีการชำระภาษีรถประจำปีผ่านแอปพลิเคชัน “DLT Vehicle Tax” เรียบร้อยแล้ว ระบบจะแสดงหลักฐานการชำระภาษีรถประจำปีชั่วคราว เพื่อให้เจ้าของรถสามารถใช้เป็นหลักฐานแสดงการชำระภาษีจนกว่าจะได้รับเครื่องหมายการเสียภาษีประจำปีจากกรมการขนส่งทางบก
ส่วนการให้บริการผ่านตู้รับชำระภาษีรถประจำปีอัตโนมัติ (Kiosk) เมื่อมีการชำระเงินเรียบร้อยแล้วจะได้รับเครื่องหมายการเสียภาษีในทันที ซึ่งสามารถดำเนินการได้ด้วยตนเองทุกขั้นตอน โดยจะเริ่มเปิดให้บริการในวันที่ 20 สิงหาคม 2563 ช่วยให้ประชาชนที่ต้องการชำระภาษีรถประจำปีไม่ต้องเดินทางมาที่สำนักงานขนส่ง ลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ทั้งยังเป็นการลดความเสี่ยงและเพิ่มความปลอดภัยด้านสุขอนามัยในสถานการณ์โควิด-19
ทั้งนี้ ในระยะแรกตู้รับชำระภาษีรถประจำปีอัตโนมัติ (Kiosk) จะตั้งอยู่ภายในสำนักงานขนส่งกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-5 โดยมีเจ้าหน้าที่ให้คำแนะนำการใช้บริการ นอกจากนี้ยังมีติดตั้งที่กระทรวงคมนาคม และศูนย์บริการร่วมคมนาคม เชิงสะพานสมเด็จพระเจ้าตากสิน โดยกำหนดต้องเป็นรถยนต์นั่งไม่เกิน 7 คน (รถเก๋ง), รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน (รถตู้), รถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล (รถกระบะ) ที่มีอายุไม่เกิน 7 ปี และรถจักรยานยนต์มีอายุการใช้งานไม่เกิน 5 ปี นับตั้งแต่วันที่จดทะเบียนครั้งแรก ที่ไม่มีภาษีค้างชำระหรือค้างชำระไม่เกิน 1 ปี ไม่ถูกอายัดทะเบียน ไม่ใช่รถที่ใช้เชื้อเพลิงประเภทก๊าซ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญของรถให้ผิดไปจากรายการที่จดทะเบียนไว้ โดยต้องมีหลักฐานกรมธรรม์ประกันภัยตาม พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535
เรื่อง: กองบรรณาธิการ
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th