All New Toyota Sienta ไม่เร้าใจวัยรุ่น-แต่ตอบโจทย์ครอบครัวยุคใหม่
อย่างที่รู้กันว่าโครงการรถยนต์คันแรกเข้าสู่ช่วงที่ผู้ซื้อสามารถโอนกรรมสิทธิ์ได้ตั้งแต่กลางเดือนกันยายนที่ผ่านมา ทำให้ค่ายรถเริ่มขยับตัวส่งโมเดลใหม่ออกมาเป็นตัวเลือกให้ลูกค้ากลุ่มนี้ที่กำลังตัดสินใจเปลี่ยนหรือต้องการรถคันที่ 2 เพื่อครอบคลุมไลฟ์สไตล์การใช้งานที่มีความหลากหลายมากขึ้น
Toyota ในฐานะผู้นำตลาดรถยนต์เมืองไทยไม่ยอมเสียเวลา จัดการส่ง All New Sienta ออกมาแทรกกลางระหว่าง Avenza กับ Innova รถในเซกเม้นต์ MPV (Multi-purpose Vehicle) ของพวกเขา เพื่อจับกลุ่มคนหนุ่มสาวที่กำลังเริ่มต้นสร้างครอบครัว (Young Family) หลังจากเสียท่าให้บรรดารถเอสยูวี-ครอสส์โอเวอร์มาพักใหญ่
หากเจาะลึกลงไปนิยาม Young Family ของ Toyota มีการกำหนดกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้หญิงอายุระหว่าง 30-35 ปี ซึ่งหากย้อนกลับไปเมื่อ 5 ปีที่แล้ว น่าจะมีจำนวนเยอะพอสมควรที่ใช้สิทธิ์โครงการรถยนต์คันแรก และพอมาถึงตอนนี้ชีวิตเริ่มเข้าสู่การมีครอบครัว ทำให้ต้องการรถยนต์ที่สามารถขับไปทำงาน และรับส่งลูกแบบคันเดียวจบ รวมทั้งให้คุณพ่อบ้านใช้ขับพาครอบครัวไปเที่ยวทำกิจกรรมช่วงสุดสัปดาห์
หลายคนอาจจะพอรู้มาบ้างว่า Sienta มีการผลิตขายในญี่ปุ่น แต่ความจริงทีมงานของ Toyota เก็บข้อมูลจากการสำรวจความเห็นลูกค้ากลุ่มเป้าหมายในประเทศแถบเอเชียแปซิฟิก เพื่อใช้พัฒนารถยนต์รุ่นนี้โดยเฉพาะ ไล่ตั้งแต่ความต้องการได้รถ MPV ที่มีประตูสไลด์ไฟฟ้าเหมือนกับรถตู้วีไอพี Toyota Alphard โดยรุ่น 1.5V ประตูทั้ง 2 ฝั่งจะเปิด-ปิดด้วยระบบไฟฟ้า (รุ่น 1.5 G เฉพาะประตูซ้าย)
ข้อมูลจากลูกค้าทำให้การออกแบบมีความใส่ใจในรายละเอียดเพื่อให้ผู้โดยสารแถวหลังขึ้นลงสะดวกด้วยประตูที่มีความกว้าง 66.5 เซนติเมตรใกล้เคียงกับขนาดมาตรฐานของประตูบ้าน และความสูง 1.14 เมตร เป็นขนาดพอดีกับเด็กอายุ 6-7 ขวบ รวมทั้งไม่สร้างความลำบากให้ผู้สูงอายุก้าวขึ้นลงจากความสูง 17 เซนติเมตรระหว่างพื้นรถถึงพื้นถนน มากกว่ารถยนต์ 4 ประตูขนาดกลางราว 10 เซนติเมตรเท่านั้น
เข้ามาสู่ภายในห้องโดยสารถูกออกแบบให้มีความกว้างขวางเพื่อให้ความสบายตลอดการเดินทาง มีช่องแอร์ติดเพดานส่งความเย็นสู่แถวหลัง และเพื่อไม่ให้ลูกๆ กระจองงอแงระหว่างอยู่บนถนน ในรุ่น V จะติดตั้งจอ LED ขนาด 8 นิ้วรองรับทั้งดีวีดี, แฟลชไดร์ฟ และระบบ Miracast เพื่อดึงภาพจากสมาร์ทโฟนขึ้นจอ แต่หากครอบครัวไหนมีลูกมากกว่า 1 คน ที่อาจทำให้เกิดสงครามแย่งชิงจอเพื่อดูการ์ตูนเรื่องโปรด แนะนำว่าควรยอมเสียเงินซื้อชุดยึดแท็บเล็ตเป็นออปชั่นเสริมมาติดบริเวณพนักพิงเบาะนั่งด้านหน้า
อีกหนึ่งความต้องการของผู้ใช้รถ MPV คือช่องเก็บของกระจุกกระจิกที่ดูเหมือน Toyota จะรู้ใจสาวๆ มากขึ้นด้วยการสร้างช่องใส่ของที่สามารถวางขวดน้ำได้ตั้งแต่หน้าสุดไปจนถึงเบาะนั่งแถว 3 รวมทั้งระบบรักษาความเย็นบริเวณคอนโซลหน้าฝั่งคนนั่งที่ถูกเพิ่มเข้ามา
มาถึงไฮไลท์สำคัญของ Sienta คือการบรรทุกสัมภาระที่เป็นเหตุผลหลักของหลายคนในการตัดสินใจซื้อ ก่อนการขับทดสอบทีมงาน Toyota แสดงวิธีการพับเบาะแถวหลังเพื่อใส่จักรยาน 2 คัน ที่หากทำบ่อยๆ น่าจะใช้เวลาปลดล็อกพับเบาะไม่ถึงนาทีทุกอย่างก็เสร็จ แต่ถ้าเป็นกระเป๋าเดินทางเลือกพับแค่แถวสุดท้ายก็น่าจะพอหรือพับแบบราบเฉพาะฝั่งใดฝั่งหนึ่งก็ได้
แต่การพับเบาะทั้ง 2 แถวเพื่อใส่ของขนาดใหญ่อย่างจักรยานขนาด 26 นิ้ว พร้อมกัน 2 คัน หากคนขับมีรูปร่างสูงเกิน 180 เซนติเมตร อาจรู้สึกอึดอัด จากการพับเบาะแถว 2 พิงกับเบาะหน้า ทำให้ต้องใช้แรงดันกลับไปเพื่อปรับเบาะให้ขับถนัด
ในส่วนของเครื่องยนต์ ก่อนจะได้มาลองขับเข้าไปสำรวจความเห็นในหน้าแฟนเพจ Sienta Club มีทั้งคนที่ได้รถ และไปทดลองขับที่โชว์รูมหลายคนบ่นถึงจังหวะการออกตัวที่อืดไปหน่อย ไม่คล่องตัวเหมือน Vios ทั้งที่ใช้เครื่องยนต์ 2NR-FE 1.5 ลิตร ที่มีสเป็คเหมือนกันทุกอย่าง
ความจริงหลังจากได้ขับเป็นระยะทางร่วมๆ 80 กิโลเมตร ตั้งแต่เริ่มออกสตาร์ทจากกลางเมืองแถวแยกราชประสงค์วิ่งฝ่าการจราจรที่ติดขัดพอสมควรในช่วงสายของวันศุกร์ จังหวะออกตัวเปลี่ยนเลนไม่ต้องกดคันเร่งลึกเท่าไร แถมรู้สึกว่าพวงมาลัยไฟฟ้ามีความคล่องตัวไม่แตกต่างจากการขับรถซีดาน
พอเข้าสู่ช่วงทางด่วนบางนา และเส้นวงแหวนรอบนอก พอจะทำความเร็วได้มากขึ้น ทำให้รู้ถึงความแตกต่างที่ Sienta อาจจะตอบสนองไม่ทันใจเวลากดคันเร่ง แต่เราต้องไม่ลืมว่านี่คือรถ MPV ที่มีน้ำหนักมากกว่า Vios 270 กิโลกรัม (ข้อมูลเทียบจาก Eco Sticker) หากมีเวลาทำความคุ้นเคยกับอัตราเร่งการขับก็น่าจะสนุกขึ้น
และความเป็นรถครอบครัวที่ไม่จำเป็นต้องมีการออกตัวที่เร้าใจ เป็นอีกเหตุผลที่ Toyota ใส่ระบบความปลอดภัย Drive Start Control (DSC) เข้ามาเป็นครั้งแรกในรถกลุ่มนี้ เพื่อช่วยลดรอบของเครื่องยนต์ในกรณีที่มีการออกตัวผิดปกติจากการเปลี่ยนเกียร์แบบกะทันหัน ส่วนระบบอื่นๆ ก็มาเป็นมาตรฐานไม่ว่าจะเป็น ระบบควบคุมการทรงตัว VSC (Vehicle Stability Control), ระบบเบรก ABS (Anti-lock Braking System), ระบบเสริมแรงเบรก BA (Brake Assist) และระบบช่วยการออกตัวขณะอยู่บนทางลาดชัน HAC (Hill-start Assist Control)
อีกเรื่องที่หลายคนอยากรู้คงเป็นอัตราประหยัดน้ำมัน จากเส้นทางช่วงแรกที่กำหนดให้วิ่งจากราชประสงค์- Peppermint Park สนามปั่นจักรยานแถวเลียบทางด่วนรามอินทรา ระยะทาง 51 กิโลเมตร มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 13.3 กิโลเมตรต่อลิตร ถือว่าใกล้เคียงกับผลการทดสอบบน Eco Sticker ที่ระบุการวิ่งแบบสภาวะรวมไว้ที่ 16.1 กิโลเมตรต่อลิตร ก่อนจะลดลงมาเหลือ 10.7 กิโลเมตร/ลิตร ในการขับช่วงบ่ายที่การจราจรเริ่มติดขัด
ในส่วนของราคาอาจจะถือว่าสูงหากเป็นคนที่ขยับขึ้นมาจากอีโคคาร์ แต่เท่าที่ลองคำนวณคร่าวๆ ในเว็บไซต์ Toyota Leasing Thailand หากเป็นรุ่น 1.5 G (ราคา 750,000 บาท) เลือกดาวน์ 15% (112,500 บาท) และระยะเวลาผ่อนชำระ 48 เดือน จะต้องเสียค่างวด 14,929 บาท ส่วนรุ่น 1.5 V (865,000 บาท) เลือกดาวน์ 15% (129,750 บาท) ต้องเสียค่างวด 17,218 บาท (48 เดือน)
เมื่อลองประเมินข้อดี-ข้อเสียที่ได้สัมผัสมาตลอดการขับ 1 วัน ทำให้เห็นมุมมองที่เปลี่ยนไปของผู้ผลิตรถยนต์ โดย Toyota Sienta อาจจะไม่มีสมรรถนะการขับที่โดดเด่น แต่หากเป็นแง่ของการใช้งานแบบครอบครัวเรียกว่ามีทุกอย่างรองรับครบถ้วน ตอนนี้ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของลูกค้าแล้วว่าจะเลือกความสนุกแบบวัยรุ่นหรือโตเป็นผู้ใหญ่รับผิดชอบครอบครัวสักที
เรื่อง: พูนทวี สุวัตถิกุล
ขอบคุณข้อมูล: Toyota Motor Thailand
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th