NISSAN LEAF ขับเที่ยวในกรุงเทพฯ เช้าจรดเย็นยังเหลือๆ
อุตสาหกรรมยานยนต์โลกมีทิศทางที่ชัดเจนมากขึ้น เรากำลังก้าวสู่ยุคที่คนเดินทางโดยยานยนต์ไฟฟ้าเป็นพาหนะหลัก แม้หลายส่วนจะร่วมกันผลักดันให้ไทยเห็นความสำคัญในเรื่องสิ่งแวดล้อม แต่ความจริงที่ว่า ยานยนต์ไฟฟ้าเหล่านี้ยังมีราคาขายสูงเกินที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่จับต้องได้ หลายคนพูดว่า ในอนาคตมันจะถูกลง แต่คงไม่ใช่ภายใน 2-3 ปีนี้ ถามว่าไทยพร้อมหรือยัง ณ ปัจจุบันจากที่ได้สัมผัส พูดได้ว่าเมืองใหญ่ๆ มีความพร้อมรองรับในระดับหนึ่ง ทั้งจุดชาร์จไฟตามบ้าน คอนโด คอมมูนิตี้มอลล์ต่างๆ ทั้งของการไฟฟ้าฯ หรือของเอกชน เมืองใหญ่ที่ว่า คือ กรุงเทพฯ พัทยา หัวหิน เชียงใหม่ เป็นต้น กรังด์ปรีซ์ออนไลน์พบว่า คนไทยส่วนใหญ่กระหายข้อมูลของยานยนต์ไฟฟ้าไม่ใช่น้อย เมื่อรู้ว่าจะมีการเปิดตัว หรือการลงทุนด้านนี้ ทั้งจากผู้ผลิต และเอกชน ส่วนคนหาเช้ากินค่ำที่ต้องพึ่งรถยนต์เป็นมากกว่าพาหนะ เพราะมันคือเครื่องมือทำมาหากิน จะมองข้ามเรื่องนี้ไปเลย ด้วยเหตุผลที่ว่า เงินในกระเป๋าถ้าสามารถซื้อรถหนึ่งคันจะซื้อรถยนต์แบบไหน? แน่นอนคำตอบง่ายมาก รถกระบะ รถยนต์นั่ง ที่พาไปได้ทุกที่ ไม่ต้องกังวล หรือต้องวางแผนการเดินทางจากแหล่งพลังงานที่ใช้ แถมถ้าเป็นรถกระบะ ยังสามารถบรรทุกของหรือใช้เป็นพาหนะทำมาหากินได้อีก เมื่อเงินไม่ถึง 1 ล้าน ตอบโจทย์ความคุ้มค่าได้ดีกว่า ส่วนยานยนต์ไฟฟ้าดูเหมือนว่าจะกลายเป็นของเล่นคนมีเงิน หรือคนที่มีรถหลายคันมากกว่า ด้วยราคาค่าตัวเป็นล้านบาท
แน่นอนว่า นักวิชาการหรือคนในแวดวง ยานยนต์จะออกมาบอกว่า เทรนด์ของรถไฟฟ้ามันจะค่อยๆ กลืนกินเครื่องยนต์สันดาปที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยออกมา เรื่องนี้คนไทยนึกภาพตามไม่ยาก หาดูได้จากบนท้องถนนที่รถยนต์สามารถใช้ได้ไม่มีขอบเขตอายุ ถ้าเป็นต่างประเทศเมื่อพูดถึงกฎเกณฑ์ด้านสิ่งแวดล้อม เป็นที่เข้าใจได้ว่าเลิกอ้างร้อยแปดเหตุผลเพื่อให้เราสามารถใช้รถคันนั้นได้ คนไทยซื้อรถยนต์แพงครับ มันเป็นเช่นนั้น แม้เราจะออกมาภูมิใจกับการเป็นฐานการผลิตยานยนต์ชั้นนำในภูมิภาค…แล้วไง! ไม่ต่างจากรถไฟฟ้าที่เทรนด์โลกกำลังเดินหน้าไป แต่ถ้าแพงเป็นล้าน ไม่ตอบโจทย์
ครั้งนี้มีโอกาสได้ลอง “นิสสัน ลีฟ” เจนฯสอง เห็นว่าขายดีเป็นอันดับหนึ่งของโลก ด้วยเหตุผลเดียวที่จะทำให้ซื้อหามาใช้ติดบ้าน เพราะว่าไฟฟ้าตกกิโลเมตรละ 50 สตางค์ นั่นเท่ากับว่า ไป-กลับ พัทยา ร้อยกว่าบาท ค่าเดินทางจะหายออกไปเยอะมากเมื่อเปรียบเทียบกับค่าน้ำมันที่เคยใช้ แต่อย่าเอาไปบวกลบว่าจะเหลือเป็นค่าผ่อนรถได้ไหม ตอบเลยไม่! ท่องไว้เพื่อสิ่งแวดล้อม (ในอนาคตมันน่าจะใช้ลดหย่อนอะไรได้มากกว่านี้ ยิ่งจูงใจผู้บริโภค เฮ้ย…ผมนี่รักษ์โลกนะ) แต่สำหรับคนมีเงิน มันจะเป็นไอเทมชิค โครตประหยัด เพราะค่าบำรุงรักษาต่ำมาก ไม่มีเครื่องยนต์ ไม่มีค่าของเหลว หัวเทียน ไส้กรอง สายพาน สารพัด ตรวจเช็กแต่ระบบมอเตอร์ไฟฟ้า แบตเตอรี่ ช่วงล่างว่ากันไป สบายๆ แบตฯรับประกันถึง 8 ปี ซึ่งเอาจริงพฤติกรรมคนกลุ่มนี้ใช้รถแค่ 5 ปีก็เปลี่ยนแล้ว ไม่ว่าจะซื้อในนามบริษัท หรือเช่าใช่ มีคันใหม่มาก็ขายออก ต้องเป็นรุ่นล่าสุด เข้าพึงพูดได้ว่าประหยัดจริงๆ กับค่าใช้จ่ายเมื่อเปรียบเทียบกับรถเครื่องยนต์สันดาปในราคาใกล้เคียงกัน ส่วนตัวมองว่าเป็นแบรนด์ใหญ่ อย่าง นิสสัน ด้วยแล้ว สบายใจมาก ศูนย์ฯบริการมีอยู่บานเบอะ 182 แห่ง ครอบคลุมทั่วประเทศ แม้ช่วงแรกศูนย์ที่เป็นผู้แทนจำหน่ายจะมีอยู่เพียง 32 แห่ง ซึ่งแต่ละแห่งจะมีทั้งเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าทั้งแบบเร็วกระแสตรงและแบบธรรมดากระแสสลับ ไว้สำหรับรองรับบริการ และมีช่างที่ผ่านการอบรมโดยเฉพาะกับ “นิสสัน ลีฟ” ส่วนสาขาอื่นก็น่าจะช่วยประสานงานต่อเพื่อเหตุฉุกเฉินต่างจังหวัดได้บ้าง (ชีวิตคิดบวก) กรังด์ปรีซ์ออนไลน์ได้มีโอกาสพบเจอลูกค้าที่โชว์รูมอยู่บ้าง ส่วนใหญ่มาพร้อมคำถามท็อปฮิต “น้ำท่วม ไฟจะดูดไหม” บางครั้งนิสสันน่าจะจัด “นิสสัน ลีฟ” ลุยน้ำโชว์บ้าง น่าจะดีนะ! หรือรวม 10 คำถามที่เจอบ่อยไว้ในเอกสารการขายจะง่ายขึ้น
เข้าเรื่องกันดีกว่า โจทย์วันนี้ได้ขับ “นิสสัน ลีฟ” อยากรู้ว่าใช้ในเมืองจะเป็นอย่างไร? ด้วยความที่ทีมงานได้รับรถมาตอนแปดโมงเช้าวันศุกร์ และต้องนำส่งคืนก่อนหกโมงเย็น ทำให้เราชาร์จไฟเต็มได้เดียงวิธีเดียวแบบควิกชาร์จกระแสตรง (DC) เพราะถ้าแบบปกติ (AC) ต้องใช้เวลาถึง 12 ชั่วโมง การทดสอบจะไม่สามารถทำได้ จึงรีบไปหาโชว์รูมใกล้บ้านที่มีแท่นชาร์จ “นิสสัน ออโต้แกลลอรี่” อยู่เลยหมู่บ้านแถวสุขาภิบาล 3 จำได้ว่าเป็นตัวแทนขายอยู่ เข้าไปติดต่อไม่นาน เจ้าหน้าที่มาทำการชาร์จให้ พร้อมกับแจ้งว่า “ชาร์จฟรี” ครับ ใช้เวลาเพียงครึ่งชั่วโมงเท่านั้นเอง ด้วยความที่มีแบตติดรถอยู่ 50% แถมเจ้าแท่นชาร์จเดลต้ามันไฟแรงมาเต็มซะด้วย ยืนคุยกับทีมงาน เผลอแป๊บเดียวพร้อมสำหรับทำภารกิจ ส่วนใครที่มีนิสสัน ลีฟ และอยากแวะเข้าไปชาร์จ แนะนำว่ามาช่วง 08.30-17.00 ตามเวลาเปิด-ปิด โชว์รูม จะมีเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกให้ ไม่สามารถทำเองได้เพราะต้องใช้บัตรสแตมป์กับเครื่องซึ่งอยู่กับคนที่ดูแล ซึ่งบางที่ก็มาดึกๆ ได้นะ ลองสอบถามดู
ส่วนรถชาร์จไฟเต็ม 80% ไม่สามารถเต็ม 100% ได้ เป็นข้อกำหนดของแท่นจ่ายไฟแบบควิกชาร์จตามหลักสากล ระยะทางที่ขึ้นแสดงบนหน้าปัดวิ่งได้ 223 กม. ในรถนั่ง 2 คน น้ำหนักรวมเกือบ 200 กก. ตำแหน่งระบบปรับอากาศปรับความแรงไว้เบอร์ 5 เนื่องจากปกติชอบเย็นฉ่ำ อุณหภูมิ 22 องศา (ขนาดรถมีฟิล์มมาให้) ขับออกมาได้ 10 นาที ไม่กี่กิโลเมตรในโหมด Eco สภาพการจราจรรถหนาแน่นช่วงสายๆ ระยะทางหายไป 20 กม. เฉยเลย สงสัยตัวรถคำนวณจากนิสัยคนขับในการกดคันเร่ง และเบรก (ผู้ขับขี่วันนี้สายเรซซิ่งซะด้วย) เรามุ่งหน้าไปตามถนนปกติเพื่อเผชิญรถติด ขับไปสยามแหล่งวัยรุ่นเพื่อแวะจิบชานม ผ่านไป 3 ชม.กว่า มาถึงจนได้ ระยะทางมาแค่ 32 กม. ความเร็วในเมือง 20-40 กม./ชม. จึงหันหน้ามาประชุมกันว่าถ้าขับแบบนี้ เวลาจะไม่ทันส่งมอบรถตอนเย็น เลยขับขึ้นทางด่วนบ้างตอนรถติด เพื่อหนีสักนิดก็ยังดี บางช่วงทำความเร็วได้เป็นร้อย วนไปแจ้งวัฒนะบ้าง ดอนเมือง กลับมาพระราม9 เข้ามอเตอร์เวย์นิดๆ จนแบตเตอรี่แจ้งต่ำกว่า 10% ให้รีบหาที่ชาร์จ ตอนวิ่งไปแล้ว 157 กม. แบตเหลือวิ่งได้อีก 27 กม. มาจบที่ศูนย์นิสสันกรุงไทยรามอินทรา มีแท่นพอดี พระอาทิตย์เกือบลับขอบฟ้า เกือบส่งรถต่อไม่ทัน นั่นเท่ากับว่าบททดสอบครั้งนี้ชาร์จเต็มแบบควิกที่ 80% วิ่งได้รวม 157+27 = 184 กม. ด้วยแบตเตอรี่ความจุขนาด 40 kWh
ระดับแบตเตอรี่ ระยะทางวิ่งไปแล้ว (กม.) ระยะทางที่สามารถขับได้ (กม.)
80% | 0 | 223 |
50% | 56 | 126 |
30% | 102 | 81 |
10% | 157 | 27 |
- ขากลับชาร์จไฟกระแสตรงเหมือนเดิม DC เพื่อเวลาที่รวดเร็ว หน้าจอตู้ของเดลต้าแจ้งว่าใช้เวลาทั้งหมด 1.30 ชม. จากแบตที่เหลือ 9% พอเอาเข้าจริง 40 นาทีก็เสร็จแล้วเวลาหน้าจอยังเหลือ? สรุปแล้วมันหลอกเราใช่ไหม แต่ดีกว่าต้องรอตามที่ตู้แจ้ง แถมในโชว์รูมนิสสันยังมีห้องรับรองนั่งรอสบายๆ
สรุปได้ว่า “นิสสัน ลีฟ” หน้าปัดเชื่อถือได้ ระยะการวิ่ง 200 กม./การชาร์จแบบควิกจนเต็ม สบายๆ ขับในเมืองรถติดตั้งแต่เช้าถึงเย็น ตัวอย่างที่เห็น ผู้ขับขี่ลองเล่นในหลายโหมด จึงทำตัวเลขได้ไม่ดี เพียง 184 กม. รวมทั้งโหมด E Pedal เสียดายที่ไม่ได้ลองเต็มๆ ว่าที่โฆษณาวิ่งได้ 311 กม. เมื่อชาร์จเต็ม 100% จะทำได้ดีแค่ไหน (การขับครั้งนี้ไม่ได้ขับแบบประหยัด มีเร่งแซง กดคันเร่งตามจังหวะ ลองความเร็วสูงสุดได้ 160 ! ถนนหมด หน้าจอมีแค่ 180) ส่วนที่สังเกตเพิ่มเติม คือการเปิดความแรงของแอร์ไม่ส่งผลในทันทีกับระยะทางที่แสดงบนหน้าจอเหมือนรถไฟฟ้ารุ่นอื่น ตัวเลขไม่เปลี่ยน (เก็บคำถามนี้ไว้ถามวิศวกรในวันพาสื่อทดสอบ) ชอบที่สุด คือ ความนั่งสบายของเบาะอ้วนๆ นุ่มๆ เบาะหลังพับได้อีก ส่วนข้อติ คือ เกียร์แบบนี้ไม่เหมาะกับเด็กนั่งหน้าไปด้วย เพราะสามารถพลาดไปโดนได้ง่ายๆ ใครสนใจ ราคาขาย 1.99 ล้าน
เรื่อง: ภาพ ณัฐพล จีระมงคลกุล
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRAND PRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th