นิสสัน ประเทศไทย แถลงคำชี้แจงกรณีนิสสันฟื้นฟูกิจการทั่วโลก

นิสสัน โรงงานผลิต
ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของมาตรการฟื้นฟูกิจการทั่วโลกของนิสสัน และการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจที่กำลังดำเนินการในภูมิภาคอาเซียน และประเทศไทย นิสสันจะทำการรวมกระบวนการผลิตรถยนต์บางส่วนจากโรงงานที่ 1 ไปยังโรงงานที่ 2 ในประเทศไทย และดำเนินการปรับปรุงสายการผลิต ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่ไตรมาสที่ 1 ปีงบประมาณ 2025 ภายใต้แผนงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านต้นทุนคงที่ และเตรียมความพร้อมสำหรับการผลิตรถยนต์รุ่นใหม่ในประเทศไทย
Nissan เผยความคืบหน้ามาตรการฟื้นฟูกิจการ-หลังล้มดีล Honda
โรงงานที่1 จะยุติการประกอบรถยนต์ โดยจะถูกปรับให้เป็น โรงงานประกอบตัวถัง ประกอบชิ้นส่วนพลาสติก และปั๊มขึ้นรูปชิ้นส่วน รวมถึงงานโลจิสติกส์ภายในโรงงาน
ทั้งนี้ ประเทศไทยจะยังคงเป็นตลาดสำคัญของนิสสันในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และบริษัทฯ ยังคงมุ่งมั่นที่จะเติบโต และพัฒนาแบรนด์ และธุรกิจ ในตลาดอาเซียน และประเทศไทยต่อไป
เรื่อง : พุทธิ ผาสุข
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th
นิสสัน โรงงานผลิต กำลังดำเนินการตามมาตรการเพื่อฟื้นฟูประสิทธิภาพการทำงาน เพื่อสร้างธุรกิจที่คล่องตัว และยืดหยุ่นมากขึ้นโดยทันที ซึ่งสามารถปรับตัวได้อย่างรวดเร็วตามการเปลี่ยนแปลงของสภาวะตลาด โดยนิสสันได้เปิดเผยรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการดำเนินการเหล่านี้ โดยระบุเป้าหมายสำหรับปีงบประมาณ 2026 และแผนริเริ่มที่สำคัญต่างๆ
มาโกโตะ อูชิดะ ประธาน และซีอีโอของนิสสัน (Makoto Uchida – President and CEO) กล่าวว่า “นิสสัน มีความมุ่งมั่นอย่างเต็มที่ในการดำเนินการพลิกฟื้นธุรกิจ โดยมีเป้าหมายที่จะลดต้นทุนลงประมาณ 400,000 ล้านเยน เราทุ่มเทเพื่อให้บรรลุโครงสร้างต้นทุนที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ในขณะที่ขับเคลื่อนการเติบโตของรายได้รวมผ่านผลิตภัณฑ์ที่มี สามารถแข่งขันได้ดียิ่งขึ้น สามารถตอบสนองต่อความต้องการที่หลากหลายของลูกค้าของเรา เรากำลังดำเนินการพลิกฟื้นธุรกิจโดยเน้นที่ประสิทธิภาพ และการเติบโตด้วยความเร็วมุ่งสู่จุดหมายของบริษัทฯ”
เป้าหมายสำหรับปีงบประมาณ 2026
นิสสัน วางแผนที่จะปรับโครงสร้างต้นทุนให้เหมาะสม ลดต้นทุนคงที่ และต้นทุนผันแปรลง รวมประมาณ 400,000 ล้านเยน ในปีงบประมาณ 2026 ซึ่งจะสามารถลดจุดคุ้มทุนในธุรกิจในปีงบประมาณ 2026 จาก 3.1 ล้านหน่วย เหลือ 2.5 ล้านหน่วย ซึ่งจะทำให้มีกำไรจากการดำเนินงานที่มั่นคงอยู่ที่ 4%
ในด้านของต้นทุนคงที่นั้น มีเป้าหมายที่จะประหยัดได้กว่า 200,000 ล้านเยน จากค่าใช้จ่ายในการขาย และการบริหารทั่วไป (SG&A) ประมาณ 100,000 ล้านเยน จากการปรับโครงสร้างฐานการผลิต และประมาณ 30,000 ล้านเยน จากการพัฒนาประสิทธิภาพด้านต่างๆ
นิสสัน วางแผนที่จะลดพนักงานประจำสำนักงาน (indirect employees) ทั่วโลก 2,500 คนโดยการปรับกระบวนการทำงาน ลดการจ้างงาน และเร่งรัดโปรแกรมออกจากงานโดยสมัครใจ นิสสันจะลดต้นทุนแรงงานต่อหน่วยด้วยมาตรการเพิ่มเติม ซึ่งรวมถึงการขยายการทำงานที่สามารถใช้พนักงานร่วมกันระหว่างแผนกกว่า 1,000 ตำแหน่ง และให้ความสำคัญกับค่าใช้จ่ายด้านการตลาดคงที่
นิสสัน ตั้งเป้าที่จะลดค่าใช้จ่ายประมาณ 100,000 ล้านเยน ด้วยการรวมสายการผลิต ปรับรูปแบบการทำงานแบบกะ และการโอนงาน โดยเริ่มจากโรงงานสามแห่งในไตรมาสที่ 1 ของปีงบประมาณ 2025 ได้แก่ โรงงานที่เมือง Smyrna และ เมือง Canton ในสหรัฐอเมริกา รวมถึงโรงงานในประเทศไทย การปรับขนาดให้เหมาะสมนี้ จะช่วยลดจำนวนพนักงานในโรงงานผลิตยานยนต์ และผลิตเครื่องยนต์ลงถึง 5,300 คนในปีงบประมาณ 2025 และ 1,200 คนในปีงบประมาณ 2026 ส่งผลให้มีพนักงานลดลงทั้งหมด 6,500 คน การประหยัดการผลิตเหล่านี้จะเสริมด้วยประสิทธิภาพด้านวิศวกรรม และการดำเนินงานใหม่ รวมถึงการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ และการลดค่าใช้จ่ายในการลงทุน (Capital expenditures – CAPEX) และต้นทุนในการเปิดตัวผลิตภัณฑ์
ด้านของการปรับโครงสร้างฐานการผลิต นิสสันมีแผนที่จะลดกำลังการผลิตทั่วโลกลง 20% และปรับปรุงกำลังคนด้านการผลิตให้เหมาะสมภายในปีงบประมาณ 2026 ซึ่งรวมถึงการลดกำลังการผลิตที่ดำเนินการแล้วในจีนจาก 1.5 ล้านหน่วย เหลือ 1 ล้านหน่วย โดยจะผสานความพยายามอย่างต่อเนื่องที่จะลดกำลังการผลิตจาก 3.5 ล้านหน่วย เหลือ 3 ล้านหน่วยสำหรับโรงงานที่อยู่นอกประเทศจีน และเพิ่มอัตราการใช้กำลังการผลิตของโรงงานจาก 70% ในปีงบประมาณ 2024 เป็น 85% ในปีงบประมาณ 2026 ทั้งนี้เมื่อรวมโรงงานผลิตในประเทศจีน นิสสันตั้งเป้าที่จะลดกำลังการผลิตทั่วโลกจาก 5 ล้านหน่วย ในปัจจุบัน เหลือ 4 ล้านหน่วย ภายในปีงบประมาณ 2026
นิสสัน ตั้งเป้าลดต้นทุนประมาณ 30,000 ล้านเยนผ่านการพัฒนาประสิทธิภาพที่ดีขึ้น แนวคิดการพัฒนาแบบครอบคลุมทั้งกระบวนการจะช่วยลดระยะเวลาในการนำเสนอสินค้าออกสู่ตลาด และลดต้นทุนการพัฒนา ทำให้ประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น และลดต้นทุนได้ประมาณ 20,000 ล้านเยน แนวทางแบบบูรณาการนี้จะนำไปใช้กับโครงการที่กำลังดำเนินอยู่ โดยจะได้รับประโยชน์ตั้งแต่ปี 2025 เป็นต้นไป รถยนต์รุ่นแรกที่ใช้กระบวนการนี้จะเปิดตัวในปีงบประมาณ 2026
นิสสัน ตั้งเป้าที่จะลดต้นทุนที่เกิดจากการออกแบบลง 60,000 ล้านเยน โดยเริ่มจากการลดความซับซ้อนของการออกแบบ (ปรับประสิทธิภาพ และเนื้อหาของรถยนต์) ในผลิตภัณฑ์หลัก 6 รายการ ทั่วโลก เพื่อลดต้นทุนการดำเนินการด้านการผลิต ได้แก่ การลดความซับซ้อนของชิ้นส่วนลงมากถึง 70% การปรับปรุงการวางแผนการผลิตเพื่อขจัดความไม่มีประสิทธิภาพของห่วงโซ่อุปทาน และลดต้นทุนในคลังสินค้า และการเพิ่มประสิทธิภาพในขณะที่ลดต้นทุนในการจัดเก็บชิ้นส่วนอะไหล่ด้านการบริการหลังการขาย ด้วยความพยายามร่วมกันต่างๆ เหล่านี้ นิสสันตั้งเป้าที่จะลดต้นทุนโดยรวมลงประมาณ 100,000 ล้านเยน