Omoda C5 EV ครั้งแรกการขับทดสอบเอสยูวีไฟฟ้าน้องใหม่-ก่อนเริ่มต้นขายจริงในประเทศไทยกลางปีนี้
ครั้งแรกกับการขับ ทดสอบ C5 EV เอสยูวีพลังไฟฟ้าจาก Omoda อีกหนึ่งแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าน้องใหม่สัญชาติจีนที่เตรียมเข้ามาเปิดตัวขายในประเทศไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 โดยมาพร้อมระบบขับเคลื่อนไฟฟ้าที่มีระยะการขับไกลถึง 460 กิโลเมตรต่อการชาร์จ (มาตรฐานทดสอบ NEDC) ติดตั้งเทคโนโลยีช่วยเหลือการขับขี่ที่ล้ำสมัย และระบบความปลอดภัยที่มากกว่ารถยนต์ไฟฟ้า BEV ในเซกเมนต์เดียวกัน
เป็นที่รู้กันมาพักใหญ่ว่า Chery Group ผู้ผลิตรถยนต์ชั้นนำของประเทศจีนจะเข้ามาบุกตลาดประเทศไทยอีกครั้ง หลังจากเมื่อ 10 กว่าปีก่อนเคยมีกลุ่มธุรกิจรถยนต์ชื่อดังของบ้านเรานำเข้ามาขายอยู่ช่วงหนึ่ง และในที่สุดบริษัทรถยนต์จากมณฑลอานฮุย ตัดสินใจปรับอิมเมจตามเทรนด์ด้วยการส่ง Omoda แบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าในเครือเข้ามาบุกตลาดบ้านเราเป็นทัพแรกเพื่อลบภาพจำในอดีต ก่อนจะเปิดตัว Jaecoo แบรนด์เอสยูวีพรีเมียมตามชื่อบริษัทที่พวกเขาจดทะเบียนไว้ว่า Omoda & Jaecoo (Thailand) (โอโมดา แอนด์ เจคู (ประเทศไทย))
แต่อย่างที่จั่วหัวไว้ข้างบนว่ากว่าที่ Omoda จะพร้อมทำตลาดมีรถยนต์คันจริงมาส่งมอบให้ลูกค้าชาวไทยต้องรอถึงครึ่งหลังของปี 2567 ไปแล้ว ซึ่งอาจจะช้าไปที่จะเกาะกระแสรถยนต์ไฟฟ้าของคนไทยที่มีตัวเลือกเพิ่มขึ้นอีกหลายแบรนด์ตามมาตรการส่งเสริม EV 3.5 ของรัฐบาล ทำให้พวกเขาเลือกที่จะนำ Omoda C5 EV มาให้กลุ่มสื่อมวลชนได้ทดสอบเป็นครั้งแรกที่สนามปทุมธานี สปีดเวย์ เมื่อช่วงกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อช่วยกระจายข้อมูลออกไปให้กับคนที่กำลังพิจารณาว่าจะซื้อรถยนต์ไฟฟ้าว่ายังมี Omoda เป็นอีกหนึ่งตัวเลือก
ก่อนอื่นต้องขอบอกก่อนว่า Omoda C5 EV คันที่นำมาทดสอบเป็นเวอร์ชั่นพวงมาลัยขวาพรี-โปรดักชั่น เรียกว่าสเปคระบบขับเคลื่อนไฟฟ้าทั้งแบตเตอรี่, มอเตอร์ไฟฟ้า, สมรรถนะ, ระบบช่วยเหลือการขับขี่ และระบบความปลอดภัยเกือบใกล้เคียงคันที่จะผลิตขายจริงในอนาคตอันใกล้ จะมียกเว้นแค่ออปชั่นเล็กๆน้อยๆ ที่อาจจะเปลี่ยนแปลงในขั้นตอนสุดท้ายก่อนเข้าสู่ไลน์การผลิตจริง (โดยช่วงแรกจะเป็นการนำเข้าทั้งคัน (CBU) จากประเทศจีน)
รายละเอียดพื้นฐานของของ Omoda C5 EV ได้รับการพัฒนาภายใต้นิยาม Futuristic Overall Look โดยกระจังหน้าจะมีความคล้ายตัวอักษร X เพื่อสื่อถึงอนาคต ผสมผสานการออกแบบที่ใช้แสง และเงาบนตัวถังภายใต้คอนเซปต์ Light of Movement
การเป็นรถอเนกประสงค์สไตล์ Crossover SUV ที่เลือกใช้ตัวถังแบบ Fastback ทีมวิศวกรของ Omoda พยายามพัฒนาจนมีค่าสัมประสิทธิ์แรงต้านอากาศ (Drag Coefficient) ที่ต่ำมากเพียง 0.28 เรียกว่าอยู่ในระดับเดียวกับแบรนด์ลักชัวรี่อย่าง Audi e-tron 50 quattro, Volvo EX30 และ Mercedes EQ หลายๆ รุ่น
ในส่วนของระบบขับเคลื่อนไฟฟ้า Omoda C5 EV ติดตั้งแบตเตอรี่ Lithium Iron Phosphate (LFP) ขนาด 61 กิโลวัตต์ชั่วโมง ติดตั้งมอเตอร์ไฟฟ้าเพื่อขับเคลื่อนล้อหน้าด้วยกำลังสูงสุด 150 กิโลวัตต์/204 แรงม้า สร้างแรงบิดได้สูงสุด 340 นิวตันเมตร ใช้เวลา 7.8 วินาที สร้างอัตราเร่งจาก 0-100 กม./ชม. ระยะการขับ 460 กิโลเมตร/ชาร์จ
ข้อมูลการชาร์จของ C5 EV รองรับไฟฟ้ากระแสตรง DC Charging 110 กิโลวัตต์ ทำให้หากแบตเตอรี่อยู่ระดับ 30 เปอร์เซ็นต์จะใช้เวลาเพียง 30 นาที เติมกำลังไฟฟ้ากลับมาเป็น 80 เปอร์เซ็นต์ และชาร์จไฟฟ้ากระแสสลับ AC Charging รองรับสูงสุด 11 กิโลวัตต์ ใช้เวลา 6-7 ชั่วโมงเพื่อชาร์จให้เต็ม 100 เปอร์เซ็นต์ รวมทั้งมีระบบจ่ายไฟให้กับอุปกรณ์ไฟฟ้าภายนอก (V2L) ขนาด 3.3 กิโลวัตต์ เหมือนกับรถยนต์ไฟฟ้าแบรนด์อื่นๆ
สำหรับออปชั่นภายในห้องโดยสารที่จะอยู่ใน Omoda C5 EV รุ่นที่จะนำเข้ามาขายในประเทศไทย เบาะนั่งคู่หน้าจะมีฟังก์ชันระบายอากาศเพื่อไล่ไอความร้อนแต่ตัดระบบฮีตเตอร์ทำความร้อนที่คงไม่จำเป็นในบ้านเราออกไป ระบบปรับอากาศจะเป็น Dual-zon Air Con ปรับเลือกอุณหภูมิได้อย่างอิสระแยกซ้าย-ขวา และระบบเครื่องเสียงน่าจะเป็น Sony พร้อมลำโพง 8 ตำแหน่งเหมือนที่ติดตั้งมาในรถทดสอบ โดยระบบเชื่อมต่อสมาร์ทโฟนรองรับทั้ง Apple CarPlay และ Android Auto ตามมาตรฐานปกติ
ในส่วนของระบบช่วยเหลือการขับขี่ และระบบความปลอดภัยที่ทีมงาน Omoda ระบุว่า C5 EV มีมาให้มากกว่ารถยนต์ไฟฟ้าในเซกเมนต์เดียวกัน ประกอบด้วย
•ระบบช่วยเหลือเพื่อเปลี่ยนเลน (LCA)
• ระบบควบคุมรถเพื่อหลีกเลี่ยงอุบัติเหตุ (IES)
•ระบบช่วยเบรกอัตโนมัติหลังการเกิดอุบัติเหตุ (MCB)
• ระบบช่วยควบคุมรถให้อยู่ในเลน (ELK)
• ระบบแจ้งเตือนการออกตัว
•ระบบตัวจับความเหนื่อยล้าของผู้ขับขี่ (DMS)
• ระบบรักษารถให้อยู่กลางเลน (ICA)
•ระบบช่วยเหลือการขับขี่ในสภาพความเร็วต่ำ (TJA)
อีกหนึ่งออปชั่นที่น่าสนใจคงเป็นกล้องแสดงภาพพาโนรามิก 540 องศาที่จะแสดงข้อมูลบหน้าจอกลางที่จะช่วยให้ผู้ขับขี่มั่นใจมากขึ้นจากการจำลองภาพใต้ท้องรถเพื่อความปลอดภัยว่าจะไม่มีสุนัขหรือแมวอยู่ใกล้ตัวรถระหว่างออกตัว โดยจะทำงานในความเร็วไม่เกิน 20 กม./ชม.
เทสต์ไดร์ฟ Omoda C5 EV Test Drive
รูปแบบการขับในครั้งนี้ทีมอินสตรักเตอร์ให้สื่อมวลชนมีเวลาอยู่กับ Omoda C5 EV อย่างเต็มที่ 30 นาที (แต่พอเอาเข้าจริงๆ เวลาก็หมดเร็วเหลือเกิน) โดยแบ่งพื้นที่เป็น 2 โซนเพื่อให้ทดสอบสมรรถนะทั้งอัตราเร่ง, ระบบเบรก, ระบบช่วงล่าง, การควบคุมรถ และเทคโนโลยีสนับสนุนการขับขี่ต่างๆ
อย่างไรก็ตามต้องบอกก่อนว่าตัวแปรหนึ่งของการทดสอบครั้งนี้คือมีการเปลี่ยนยางชุดใหม่เป็น Yokohama BluEarth-XT AE61 แทนของเดิม Kumho Ecsta PS71 ที่ติดรถมาจากประเทศจีน เนื่องจาก Omoda มีการจัดงานทดสอบรอบดีลเลอร์ไม่กี่วันก่อนหน้าทำให้สภาพยางเริ่มสึกหรอเลยมีการตัดสินใจเปลี่ยนยางใหม่เพื่อให้สื่อมวลชนได้ทดสอบสมรรถนะอย่างเต็มที่
พอได้เข้ามาอยู่ใน Omoda C5 EV คันสีขาวที่เป็นรถทดสอบของ Grand Prix Online ต้องยอมรับว่าพื้นที่ห้องโดยสารด้านหน้าค่อนข้างสะดวกสบายสำหรับคนรูปร่างสูงระดับ 180 เซนติเมตร หน้าจอแสดงข้อมูลการขับขี่ที่ออกแบบให้เป็นเหมือนแท็บเล็ตขนาดใหญ่ต่อเนื่องกับหน้าจออินโฟเทนเมนต์จนมีขนาดรวมกัน 24.6 นิ้ว กดเลือกใช้งานไม่ยากนักหากปรับตัวให้คุ้นเคยกับหน้าตาแอปพลิเคชั่น แต่น่าเสียดายที่การปรับตำแหน่งพวงมาลัยเป็นแบบปลดสลักปรับขึ้น-ลง และดึงเข้า-ออก น่าจะให้ระบบปรับไฟฟ้ามาเลย
เข้าสู่ช่วงของการขับทดสอบทีมงาน Grand Prix Online เริ่มต้นด้วยการลองออกตัวบนสภาพพื้นถนนที่มีน้ำขัง (โดยการจำลองสถานการณ์ด้วยการฉีดน้ำลงสู่พื้นสนาม) เพื่อให้สัมผัสถึงระบบการช่วยเหลือขับขี่ของ Omoda ที่ถึงจะเป็นรถยนต์ไฟฟ้าขับเคลื่อนล้อหน้า แต่มีประสิทธิภาพในการเกาะถนนที่ดี อาการลื่นไถลมีบ้างตามปกติ โดยตรงนี้มีการวางกรวยยางเพื่อให้ลองหักเลี้ยวอีกด้วย ก่อนจะได้ลองกดคันเร่งเพื่อทดสอบการเปลี่ยนเลนด้วยความเร็วสูงที่ผ่านไปได้อย่างสบายๆ
เรียกว่าตรงสเตชั่นนี้ C5 EV ไม่มีเสียอาการจากการมีระบบช่วยเหลือทั้งระบบควบคุมเสถียรภาพการทรงตัว (RSC), ระบบควบคุมเสถียรภาพการทรงตัว (ESP), ระบบป้องกันล้อหมุนฟรี TCS และระบบลดกำลังขับเคลื่อนเพื่อช่วยเบรก (BOS)
นอกจากนี้จะมีเป็นพื้นฐานในรถยนต์ปัจจุบันทั้งระบบเบรกป้องกันล้อล็อก (ABS), ระบบกระจายแรงเบรก (EBD), ระบบช่วยเบรก (BAS), ระบบช่วยเบรกฉุกเฉิน (EBA), ระบบป้องกันรถไหลเมื่อขึ้นทางลาดชัน (HAC), ระบบควบคุมความเร็วขณะลงทางลาดชัน (HDC) และระบบตรวจสอบแรงดันลมยาง (TPMS)
หลังจากขับวนอยู่สเตชั่นนี้ 2-3 รอบ โดยเพิ่มความเร็วมากขึ้นตามความคุ้นเคยกับรูปแบบการทดสอบต้องยอมรับว่าทีมวิศวกร และบรรดาผู้เกี่ยวข้องในการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าแบรนด์ Omoda สร้างครอสส์โอเวอร์เอสยูวีที่มีประสิทธิภาพการเกาะถนนที่น่าพอใจ รวมทั้งระบบช่วยเหลือที่ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพเหมาะสมกับการต้องอยู่บนท้องถนนของประเทศไทยที่ผู้ขับขี่ต้องมีทักษะการขับสูงเป็นพิเศษเพื่อรับมือสถานการณ์ที่ไม่คาดคิด
เข้าสู่ช่วงทดสอบอัตราเร่ง และการขับแบบสลาลมเพื่อทดสอบการควบคุมรถ (Handling) โดยจะเริ่มต้นจากการให้ขับโหมด Normal ผ่านลูกระนาดด้วยความเร็วไม่เกิน 20 กม./ชั่วโมง ให้สัมผัสอาการของช่วงล่าง และมีโอกาสลองฟังการเก็บเสียงของห้องโดยสารที่พวกเขาพยายามนำเสนอการเลือกติดตั้งกระจกหน้ารถ และห้องโดยสารด้านหน้าแบบ Acoustic Glass ที่ช่วยลดเสียงรบกวนเข้าสู่ห้องโดยสารประมาณ 3-5 เดซิเบล
จากนั้นอินสตรักเตอร์ปล่อยให้ทีมงาน Grand Prix ลองเร่งความเร็วของ C5 EV เพิ่มขึ้นมาได้ประมาณ 80-90 กม./ชม. ก่อนจะเจอกรวยยางที่ให้ลองหักพวงมาลัยหลบอยู่ 2-3 ครั้งติดต่อกัน และตามด้วยการลองเข้าโค้งด้วยความเร็วประมาณ 60 กม./ชม. ก่อนจะมาเบรกสนิทเพื่อลองอัตราเร่งจากจุดหยุดนิ่งที่กำหนดระยะให้ทำได้ถึง 100 กม./ชม.
ในช่วงลองอัตราเร่งต้องบอกก่อนว่าในโหมด Normal เท่าที่จับเวลาคร่าวๆ จะใช้เวลามากกว่า 7.8 วินาที แต่ตรงนี้มีปัจจัยอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องโดยเฉพาะระดับกำลังไฟของแบตเตอรี่ แต่พอลองปรับเข้าสู่โหมด Sport เรียกว่า C5 EV พุ่งทะยานอย่างปราดเปรียวมากขึ้น และควบคุมไม่ยากถึงจะเข้าโค้งด้วยความเร็วที่สูงกว่าที่กำหนดมาเล็กน้อยก็ตาม โดยส่วนหนึ่งคิดว่ามาจากการใช้ชิปประมวลผลคุณภาพสูงของ Qualcomm ถึงตามข้อมูลที่ทีมงานพวกเขาบอกกับเราว่าซอฟต์แวร์ของรุ่นพวงมาลัยขวากำลังอยู่ในขั้นตอนพัฒนาไม่ได้สมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ก็ตาม
อีกข้อหนึ่งที่สังเกตเห็นความแตกต่างของ Omoda กับแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าจีนอีกเจ้าหนึ่งที่เพิ่งเปิดตัวเมื่อไม่นานนี้ คงเป็นการออกตัวที่ค่อยเป็นค่อยไปใกล้เคียงเครื่องยนต์สันดาป ไม่ได้ส่งแรง G กดเข้าสู่ผู้ขับขี่ (รวมทั้งผู้โดยสาร) จนเกิดอาการมึนหัว
พอรอบการทดสอบใกล้จะหมดเวลาทีมงาน Grand Prix Online ขอให้ทางอินสตรักเตอร์กลับมาเป็นคนขับเพื่อจะได้ลองสัมผัสบรรยากาศเบาะนั่งด้านหลังที่ถือว่ากว้างขวางเดินทางไกลน่าจะสบาย แต่คนที่สูงเกิน 180 เซนติเมตร ก็อาจมีหัวติดได้จากการที่ด้านท้ายลาดลงมาสไตล์ Fastback
หลังจบครึ่งชั่วโมงที่ได้อยู่กับ Omoda C5 EV เท่าที่ได้ลองขับในสนามถือว่าเป็นเอสยูวีไฟฟ้าที่ขับขี่สนุก, ติดตั้งออปชั่นมาตรฐานมาครบ และหน้าตาตัวรถก็ถือว่าสู้กับแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าร่วมชาติได้ เหลือเพียงอย่างเดียวที่จะตัดสินใจคงจะเป็นราคาจำหน่ายที่ทีมผู้บริหารชาวไทยยอมรับว่ากำลังพยายามอย่างเต็มที่เพื่อให้อยู่ในระดับล้านต้นๆ เพื่อให้สามารถแข่งขันกับคู่แข่งในเซกเมนต์เดียวกันได้ แต่ใครที่สนใจต้องรอหน่อยเพราะแผนการเปิดตัวต้องรอถึงกลางปีนี้เป็นอย่างน้อย
เรื่อง: พูนทวี สุวัตถิกุล
ขอบคุณข้อมูล: Omoda & Jaecoo (Thailand)
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th
Omoda C5 EV ทดสอบ