รถยุโรปแต่ราคาญี่ปุ่น—Opel Corsa อีก 1 ขวัญใจคนยุค 90’S
ในยุค 90 ต้องยอมรับว่าบนท้องถนนเมืองไทยมีรถยนต์หลายแบบหลายสไตล์แทบจะครบทุกสัญชาติ โดยเฉพาะหลังจากรัฐบาลคุณอานันท์ ปันยารชุน เปลี่ยนแปลงนโยบายลดภาษีนำเข้ารถยนต์แบบสำเร็จรูปในปี 1992 ทำให้มีรถยนต์ดีๆ และราคาไม่แพงให้เลือกจับจองมากขึ้นกว่าในอดีต รวมถึงเจ้า Corsa รถซับคอมแพ็กต์ที่ดีไซน์โดนใจจาก Opel ค่ายรถยนต์เยอรมันที่โดนใจคนไทยจนทำยอดขายถล่มทลายในช่วงแรกที่เข้ามาเปิดตัว
Opel เข้ามาทำตลาดในประเทศไทยโดยพระนครยนตรการ กลุ่มธุรกิจรถยนต์เก่าแก่ของเมืองไทยได้สิทธิ์เป็นตัวแทนจัดจำหน่าย เริ่มต้นด้วยการนำโมเดลอย่าง Omega, Kadette และ Calibra มาทำความรู้จัก ก่อนจะถึงคิวของเจ้าซับคอมแพ็กต์ Corsa ที่เพิ่งเปลี่ยนเจเนอเรชั่นใหม่หลังจากรุ่นแรกประสบความสำเร็จกับการทำตลาดในยุโรปมายาวนานร่วม 10 ปี
ทางพระนครยนตรการ สามารถนำ Opel Corsa เข้ามาขายในเมืองไทยในช่วงปีพ.ศ. 2536 (ค.ศ.1993) ไม่กี่เดือนหลังจากเปิดตัวอย่างเป็นทางการในยุโรป โดยช่วงแรกจะมีเครื่องยนต์เบนซิน 1.4 ลิตรเท่านั้น ใช้ชื่อรุ่นย่อยว่า Swing มีให้เลือกทั้งตัวถังแฮตช์แบ็ค 3 ประตู และ 5 ประตู
ด้วยดีไซน์ที่ล้ำสมัยของ Opel ถือว่า Corsa ถูกจริตคนไทยยุคนั้นอย่างมาก และที่สำคัญคือพระนครยนตรการ สามารถทำราคาเปิดตัวรุ่น 3 ประตูมาอยู่ที่ 370,000 บาท และรุ่น 5 ประตู ตั้งไว้ที่ 400,000 บาทเศษๆ เรียกว่าจ่ายเงินไม่ถึงครึ่งล้านก็ได้ขับรถยุโรปแล้ว แถมให้ความมั่นใจด้านความปลอดภัยตามสไตล์เยอรมันด้วยคานเหล็กคู่เสริมในประตูรถทุกบานป้องกันการกระแทกด้านข้าง และให้เข็มขัดนิรภัยระบบดึงกลับอัตโนมัติมาอีกด้วย
FACTS: ฮอนด้า ประเทศไทย เปิดตัวรุ่นแฮตช์แบ็ก Civic 3 Door (EG) ในเดือนสิงหาคมปีเดียวกัน โดยรุ่นเกียร์ธรรมดาราคา 361,000 บาท และรุ่นเกียร์อัตโนมัติ 396,000 บาท
ความสำเร็จของ Corsa ในช่วงแรกทำให้ทางพระนครยนตรการ มีการนำรุ่นเครื่องยนต์เบนซิน 1.2 ลิตร เข้ามาเป็นอีกทางเลือกโดยใช้ชื่อรุ่นย่อยว่า Joy มีการใส่ออปชั่นพิเศษเพื่อดึงดูดใจลูกค้าวัยรุ่น แต่ก็เหมือนว่าคนไทยจะนิยมรุ่น 1.4 ลิตรมากกว่าอยู่ดี
แต่ความนิยมของ Corsa ยืนยาวอยู่เพียงไม่กี่ปี จากปัญหาบริการหลังการขายของพระนครยนตรการที่เกิดขึ้นกับหลายๆ แบรนด์รถยนต์ที่พวกเขาถือสิทธิ์เป็นตัวแทนจำหน่าย ทำให้หลังจาก General Motors (GM) ผู้ผลิตรถยนต์ยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ บริษัทแม่ของ Opel ตัดสินใจเข้ามาลงทุนสร้างโรงงานผลิตที่จังหวัดระยองในปีพ.ศ. 2539 การทำตลาดของ Opel ในประเทศไทยยุติลงเพื่อเปิดทางให้ Chevrolet แบรนด์หลักของพวกเขาเข้ามาแทนที่ในอีกไม่กี่ปีหลังจากนั้น
เรื่อง: พูนทวี สุวัตถิกุล
ขอบคุณข้อมูล: GPI Photobank
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th