PHEV มีจุดเด่นอะไรตรงไหน
การเปิดตัว MG HS และ Mitsubishi Outlander PHEV ออกสู่ตลาดนั้นทำให้คนไทยเริ่มตื่นตัวและตั้งคำถามว่า PHEV คือ อะไร ? และแตกต่างจาก Hybrid ที่อยู่ในตลาดเมืองไทยมามากกว่า 15 ปีแล้วอย่างไร ? แน่นอนว่านี่คือ สิ่งที่กลายเป็นประเด็นและหลายคนสนใจที่จะต้องการคำตอบเพื่อให้ได้ความรู้ขั้นพื้นฐานก่อนที่พวกเขาจะตัดสินใจเลือกรถยนต์ PHEV เข้ามาอยู่ในครอบครอง
PHEV เป็นตัวย่อของคำว่า Plug-in Hubrid Electric Vehicle หรือถ้าแปลตรงตัวคือรถยนต์ไฮบริดที่สามารถเสียบปลั๊กชาร์จกระแสไฟฟ้าได้ ซึ่งข้อสงสัยต่อมาคือ แล้วมันต่างจากรถยนต์ไฮบริดที่มีขายอยู่ในท้องตลาดอย่างไร ?
ถ้าเรานับการวิวัฒนาการของขุมพลังที่ไล่ขึ้นไปเรื่อยๆ แล้ว มนุษย์เราเริ่มเดินทางด้วยรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายในหรือ ICE เป็นอย่างแรก แล้วในปี 1997 Toyota ได้เปิดตัวรถยนต์ไฮบริดเพื่อใช้งานในเชิงพาณิชย์รุ่นแรกออกมา นั่นก็คือ Prius เพื่อเป็นทางเลือกในการขับเคลื่อนในยุคที่น้ำมันเริ่มลดลงอย่างต่อเนื่อง และปัญหาในด้านมลพิษทางอากาศกลายเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึง
อย่างก็ตามหลังจากนั้นไม่นานในปี 2003 ก็มีการเปิดตัวรถยนต์ที่เรียกว่า Plug-in Hybrid ออกมาเพื่อเป็นทางเลือกที่เหนือกว่ารถยนต์ไฮบริด เพราะรถยนต์ประเภทนี้จะมี EV โหมดที่สามารถแล่นด้วยกระแสไฟฟ้าเพียงอย่างเดียวด้วยระยะทางประมาณ 30-50 กิโลเมตรได้ ซึ่งเมื่อแบตเตอรี่หมดระบบก็ตัดให้เครื่องยนต์ทำงานแทน และในปี 2009 Nissan ก็เปิดตัว LEAF ที่เป็นรถยนต์ไฟฟ้าในเชิงพาณิชย์คันแรกออกมา
ดังนั้น PHEV จึงคือสะพานเชื่อมที่ช่วยปรับพฤติกรรมการใช้งานของคนให้สามารถก้าวข้ามจากยุคเครื่องยนต์สันดาปภายในและไฮบริดมาสู่ยุค BEV ได้อย่างเต็มตัว
ในแง่ของส่วนประกอบและฟังก์ชั่นการทำงานนั้นจะเรียกว่าแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงเลยก็คงเรียกได้ไม่เต็มปากเท่าไรนัก แต่น่าจะบอกว่า PHEV คือ ร่างที่ 2 ของระบบไฮบริดก่อนที่จะก้าวขึ้นไปสู่ยุคของรถยนต์ไฟฟ้าแบบเต็มตัว หรือ BEV-Battery Electric Vehicle
กล่าวคือ ส่วนประกอบพื้นฐานของตัวระบบมีเหมือนกับรถยนต์ไฮบริด คือ ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายในเป็นตัวขับเคลื่อน และมีมอเตอร์ไฟฟ้าทั้งแบบทำหน้าที่เป็นเจนเนอเรเตอร์ และตัวช่วยในการขับเคลื่อน มีแบตเตอรี่ แต่ที่แตกต่างคือ แบตเตอรี่ส่วนใหญ่ในรถยนต์ PHEV จะมีขนาดในแง่ของกำลังไฟสูงกว่า และประเภทก็มักจะเป็น Lithium-Ion มากกว่าเป็น Nickle Metal Hydride และที่สำคัญคือ สามารถชาร์จกระแสไฟฟ้าได้
ดังนั้น PHEV จึงสามารถแล่นในโหมดไฟฟ้าเดี่ยวๆ ได้เหมือนกับรถยนต์ไฟฟ้า โดยที่เครื่องยนต์ไม่ต้องถูกสตาร์ทขึ้นมาได้ในระยะทางราวๆ 30-50 กิโลเมตรขึ้นอยู่กับขนาดของแบตเตอรี่ ซึ่งจริงๆ แล้วในรถยนต์ไฮบริดอย่าง THS-II ของ Toyota ก็มีโหมดนี้เช่นกันเพียงแต่แล่นในระยะทางใกล้ๆ แค่ 1-2 กิโลเมตร กระแสไฟฟ้าในแบตเตอรี่ก็หมด
ตรงนี้ถือว่าเป็นจุดเด่นที่สำคัญของรถยนต์แบบ PHEV เพราะว่านั่นเท่ากับว่าคุณสามารถใช้งานมันได้ไม่ต่างจากรถยนต์ไฟฟ้าเลย ยกตัวอย่างเช่น รถยนต์ PHEV รุ่นหนึ่งสามารถแล่นด้วย EV Mode ด้วยระยะทาง 40 กิโลเมตร ถ้าวันหนึ่งๆ คุณใช้รถยนต์ไม่เกินนี้ต่อการสตาร์ท 1 ครั้ง เท่ากับว่าเครื่องยนต์แทบไม่ได้ถูกสตาร์ทขึ้นมาทำงานเลย เพราะการขับเคลื่อนจะอาศัยเฉพาะกระแสไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ในการเดินทางเพียงอย่างเดียว และเมื่อถึงที่หมาย คุณก็แค่เสียบปลั๊กชาร์จไฟกลับเข้าไปสู่ระบบใหม่อีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม ในแง่ของการใช้งานจริงเราอาจจะไม่สามารถกะเกณฑ์ได้ว่าระยะทางที่จะต้องใช้งานต่อการสตาร์ท 1 ครั้งนั้นมีมากน้อยแค่ไหน ซึ่งเราก็คงต้องบอกว่า ถ้าขับเกินระยะทางที่ EV Mode ใน PHEV คันนั้นจะรับได้ เครื่องยนต์ก็จะถูกสตาร์ทขึ้นมาทำงานแทนเอง ไม่ต้องกังวลว่าจะตายกลางทางเหมือนกับรถยนต์ไฟฟ้าแบบ BEV
มาถึงตรงนี้หลายคนอาจจะสงสัยว่า แล้วถ้าใช้งานในลักษณะที่อธิบายข้างต้นแล้วจะมีปัญหาในเรื่องของเครื่องยนต์หรือชิ้นส่วนพังหรือไม่ เพราะเท่ากับว่าเครื่องยนต์ไม่ได้ถูกสตาร์ทขึ้นมาทำงานเลย คำแนะนำที่เราได้รับกลับมาอยู่เสมอคือ ควรหมั่นสตาร์ทเครื่องยนต์สัก 2 วันครั้งและด้วยเครื่องยนต์บ้าง เพื่อให้ชิ้นส่วนภายในได้มีการขับเคลื่อน จะได้ไม่เกิดการเสื่อมสภาพ
เท่านี้ก็จะสามารถช่วยยืดอายุการใช้งาน และตัวคุณเองก็สามารถใช้ระบบ PHEV ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพอีกด้วย
เรื่อง : กองบรรณาธิการ
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRAND PRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th