PORSCHE 911 GT3 [992] with Motorsport Expertise!!!
เมื่อพิจารณาแนวทางการพัฒนารถสปอร์ตของ Porsche จะพบว่า ผู้ผลิตรายนี้ไม่ได้มุ่งแข่งขันความเร็วสูงสุดกับใคร ทว่า หัวใจในการพัฒนาเป็นเรื่องการตอบสนองจากเครื่องยนต์ เกียร์ รวมถึงระบบขับเคลื่อน และช่วงล่าง อารมณ์การขับขี่ที่ถูกส่งต่อมาจากรถ Porsche มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และไม่อาจสัมผัสได้จากรถสปอร์ตค่ายใดในโลก โดยเฉพาะกับ GT3 โมเดลล่าสุด ‘992’ ที่ยังคงความคลาสสิกด้วยเครื่องยนต์หายใจเอง แรงในแบบที่ไม่ต้องพึ่งพาระบบอัดอากาศ และขับเคลื่อนผ่านล้อหลัง พร้อมให้ฟีลลิ่งและแฮนด์ลิ่งสุดอมตะ จากรถสปอร์ตตระกูล 911 ไม่เปลี่ยนแปลง
ในโลกของความเร็ว ไม่มีใครไม่รู้จัก Porsche แห่งเมืองสตุ๊ตการ์ต ประเทศเยอรมนี ผู้ผลิตที่สร้างเฉพาะรถสมรรถนะสูง ประเภทรถบ้าน 200-300 แรงม้า ค่ายนี้ทำไม่เป็น และดาวเด่นประจำค่ายที่กลายเป็นตำนานไปแล้ว คือ ‘911 Series’ ซึ่งเจเนอเรชันล่าสุด รหัส ‘992’ นับเป็นบทพิสูจน์อันท้าทายมันสมองของทีมวิศวกร Porsche อย่างแท้จริง เพราะเปิดตัวท่ามกลางรถสมรรถนะสูงหลายค่าย ทั้งจากเครือ Volkswagen Group ด้วยกัน สายแข็งจากเกาะอังกฤษ, อิตาลี, สหรัฐอเมริกา และสวีเดน รวมทั้งรถสปอร์ตสัญชาติญี่ปุ่นที่ทรงพลังขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งรถกลุ่มนี้จะวัดฝีเท้ากัน ผ่านสถิติเวลาต่อรอบในสนามแข่ง Nürburgring Nordschleife ในประเทศเยอรมนี
สำหรับ 911 GT3 เป็นเวอร์ชันแรงของตระกูล 911 ที่ใช้ DNA ในการต่อยอดของทุกองค์ประกอบ ส่งตรงมาจากสนามแข่ง และที่แตกต่างจากพี่น้อง 911 รุ่นย่อยอื่นๆ คือ GT3 ใช้เครื่องยนต์ NA ที่ปราศจากระบบอัดอากาศ จึงให้ทั้งการตอบสนองของรอบเครื่อง และสุ้มเสียง ใกล้เคียงกับตัวแข่งมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะ 911 GT3 โมเดลล่าสุด ‘992’ ที่นักแข่งนาม Lars Kern ฝากเวลาต่อรอบ Nürburgring ไว้เร็วสุดๆ ที่เพียง 6:59.927 นาที สำหรับรอบยาว 20.8 กิโลเมตร ส่วนรอบสั้นระยะ 20.6 กิโลเมตร ทำเวลาไว้ที่ 6:55.2 นาที เท่านั้น
- ‘First 911 GT3’ [996, 1999] VS ‘Lastest 911 GT3’ [992, 2021]
History & Body:
Porsche ตระกูล 911 หากไล่เรียงย้อนกลับไปยังจุดกำเนิด จะประกอบด้วย ‘Original 911’ (1963-1973) เป็นทายาทต่อจาก Porsche 356 และเป็นจุดเริ่มต้นของตำนาน 911 ยอดขายรวม 111,995 คัน, 911 G-Series นับรวม ‘930’ ที่เป็น 911 Turbo โมเดลแรก (1973-1989) ยอดขายรวม 198,469 คัน, ‘964’ (1989-1994) เป็นครั้งแรกกับการใช้เกียร์อัตโนมัติ Tiptronic และระบบขับเคลื่อน AWD ที่ได้รับเทคโนโลยีตรงมาจาก 959 ยอดขายรวม 63,762 คัน, ‘993’ (1993-1998) เริ่มใช้ช่วงล่างอะลูมิเนียม และปล่อยรถต้นแบบ Targa ออกมาโชว์ตัว ยอดขายรวม 68,881 คัน, ‘996’ (1997-2005) เครื่องยนต์ติดตั้งระบบ VarioCam Plus และมีระบบเบรก PCCB มาเป็นออปชันให้เลือกเป็นครั้งแรก เก็บยอดยอดขายรวม 175,262 คัน
ถัดมา ‘997’ (2004-2012) เริ่มต้นใช้เกียร์คลัตช์คู่ PDK, VTG turbocharger, PASM และระบบฉีดน้ำมันเชื้อเพลิง DFI (Direct Fuel Injection) ยอดขายรวม 213,004 คัน และ ‘991’ (2011-2018) ติดตั้งระบบ Rear-axle Steering เป็นครั้งแรก และใน 911.2 เริ่มต้นนโยบาย Engine Downsizing ลดขนาดความจุเครื่องยนต์เหลือ 3.0 ลิตร ทำยอดขายรวม 217,930 คัน
- ตัวถังของ 992 GT3 ให้ความสำคัญกับแอโรไดนามิกเป็นที่สุด ทีมวิศวกรใช้เวลา fine-tuning ในอุโมงค์ลม คิดเป็นชั่วโมงการทำงานกว่า 160 ชั่วโมง
โดยไฮไลต์ของตำนาน 911 มีอยู่ 2 หัวข้อ ข้อแรก เป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ จากการใช้เครื่องยนต์ระบายความร้อนอากาศ (993 เป็นโมเดลสุดท้าย) เปลี่ยนมาเป็นเครื่องยนต์ระบายความร้อนน้ำ (996 เป็นโมเดลแรก) ข้อที่สอง รถสปอร์ตที่ได้รับฉายาว่า ‘เจ้าชายกบ’ มียอดจำหน่ายสะสมครบ 1 ล้านคัน ในปี 2017
Porsche 911 ก้าวเข้าสู่รหัสโมเดล ‘992’ ตัวรถได้รับการพัฒนาใหม่ในเกือบทุกระบบ เพื่อรับมือกับคู่แข่งสายแข็งทั้งจากยุโรป และญี่ปุ่น รวมทั้งแข่งกับมาตรฐานอันเข้มข้นของ Porsche เอง ดังนั้น 911 จึงได้รับความสนใจเป็นอันดับต้นๆ จากผู้ผลิตรถแรงด้วยกัน และทุกรอบที่ 911 มีความเปลี่ยนแปลง ก็มักจะสร้างสีสันให้กับวงการได้เสมอ นั่นเพราะ Porsche ไม่ได้ทำเป็นเฉพาะรถที่อัดแน่นด้วยสมรรถนะ แต่รถสปอร์ตจากค่ายนี้ยังนั่งสบาย และเข้าถึงง่ายกว่า โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับสายแรงในเซ็กเมนต์เดียวกันจากฝั่งอิตาลี
- ระบบแอโรไดนามิกบนตัวถัง 992 GT3 สร้าง downforce ได้เพิ่มขึ้นถึง 4 เท่า เมื่อเทียบกับ GT3 โมเดลก่อนหน้า
911 GT3 เริ่มต้นครั้งแรกกับโมเดล ‘996’ โดย 996 GT3 (1999-2005) แตกรุ่นย่อยออกไปอีกหลายโมเดล มีแรงม้าระหว่าง 360-380 PS จากขุมพลัง flat-six ขนาด 3.6 ลิตร เป็นเครื่องยนต์ NA (Naturally Aspirated) ที่ใช้พื้นฐานมาจากรถแข่ง 962 และ 911 GT1 ทำอัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ใช้เวลา 4.4-4.8 วินาที ความเร็วสูงสุด 302-306 กม./ชม. โดย GT3 โมเดลแรก ได้ป๋า Walter Röhrl อดีตนักแข่งระดับตำนานชาวเยอรมัน และอดีตแชมป์ WRC 2 สมัย ปัจจุบันเป็น Brand Ambassador ของ Porsche ป๋าซิ่ง 996 GT3 ทำสถิติรอบ Nürburgring ไว้ด้วยเวลา 7:56.3 นาที ซึ่งนับว่าเร็วเอาเรื่อง สำหรับเมื่อกว่า 21 ปีที่ผ่านมา
911 โมเดล ‘997’ ถูกอัปเกรดไปเป็น 997 GT3 (2006-2011) ขุมพลัง flat-six NA เริ่มต้นที่ 3.6 ลิตร จากนั้นขยายความจุไปที่ 3.8 ลิตร และอัปเกรดต่อไปสุดที่ระดับ 4.0 ลิตร ให้แรงม้าส่งลงถนนผ่านล้อคู่หลัง ระหว่าง 415-500 PS อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ใช้เวลา 3.9-4.3 วินาที ท็อปสปีด 310-312 กม./ชม. และในปี 2006 ป๋า Walter Röhrl พาไปเก็บสถิติรอบ Nürburgring ไว้ด้วยเวลา 7:42 นาที
- หล่อสุดๆ ด้วยล้อต่างขนาด หน้า 20 นิ้ว พร้อมยาง 255/35 และหลัง 21 นิ้ว พร้อมยาง 315/30
ถัดมาเป็นโมเดล 991 GT3 (2013-2019) เปิดตัวพร้อมขุมพลัง flat-six บล็อกใหม่ ที่มาพร้อมระบบฉีดน้ำมันเชื้อเพลิง DFI เริ่มต้นที่ขนาดความจุ 3.8 ลิตร ก่อนที่จะถูกขยายปริมาตรกระบอกสูบไปที่ 4.0 ลิตร ในเวลาต่อมา ให้แรงม้าระหว่าง 475-520 PS ถูกจับคู่กับเกียร์ PDK 7 สปีด เป็นครั้งแรก ก่อนที่จะมีออปชันเกียร์แมนวล 6 สปีด มาให้สาวกเลือกในโฉม 991.2 ทำอัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. รอเพียง 3.2-3.9 วินาที ท็อปสปีด 310-320 กม./ชม. ฝากสถิติรอบ Nürburgring ไว้ที่เวลา 7:25 นาที
- ส่วนหน้าติดตั้ง front diffusers ทำงานร่วมกับชิ้น wide spoiler lip ที่ชายล่างของแนวกันชน
ล่าสุดกับ 911 GT3 โมเดล ‘992’ เปิดตัวช่วงต้นปี 2021 นอกจากจะถอด DNA มาจากรถแข่ง ไฮไลต์หลักจะอยู่ที่ระบบแอโรไดนามิก ซึ่งทีมออกแบบเคลมว่าสร้าง downforce ได้เพิ่มขึ้นถึง 4 เท่า เมื่อเทียบกับ GT3 โมเดลก่อนหน้า โดยแรงกดมหาศาลที่ได้มา จะไม่ส่งผลต่อประสิทธิภาพความลู่ลมของตัวถัง เริ่มต้นที่ใต้ท้องรถถูกซีลปิดมิดชิด ส่วนหน้าติดตั้ง front diffusers ทำงานร่วมกับชิ้น wide spoiler lip ที่ชายล่างของแนวกันชน นอกจากลดมวลลมที่จะผ่านเข้าไปยกตัวถัง ยังช่วยเร่งลมให้ไหลผ่านใต้ท้องรถ ไประบายผ่าน rear diffuser ได้เร็วขึ้นด้วย
- ลมที่เคลื่อนผ่านส่วนบนของตัวถัง จะเริ่มต้นจากช่องดักลมใต้กันชนหน้า ผันลมผ่านช่องระบายลม 2 ช่อง ที่ถูกเจาะเพิ่มบนฝากระโปรง
- ปีกหลังชิ้นใหญ่ ใช้การวางรูปแบบเดียวกับตัวแข่ง 911 RSR เป็นการวางขายึดในรูปแบบ ‘swan-neck mounting’ ส่งผลให้ 992 GT3 มีพื้นที่ใต้ปีกหลังให้ปรับแต่งอากาศพลศาสตร์ท้ายรถ ในส่วนของรูปแบบสปอยเลอร์บนฝากระโปรงหลังได้มากขึ้น เป็นที่มาของ downforce ที่เพิ่มขึ้นกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ เมื่อรถใช้ความเร็วสูงกว่า 200 กม./ชม.
ลมที่เคลื่อนผ่านส่วนบนของตัวถัง จะเริ่มต้นจากช่องดักลมสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดใหญ่ใต้กันชนหน้า ผันลมผ่านช่องระบายลม 2 ช่องที่ถูกเจาะเพิ่มบนฝากระโปรง จากนั้นจึงแตกไลน์การไหลของกระแสลมออกไปยังแนวด้านข้างตัวถัง และหลังคา ก่อนที่จะมาถูกดักด้วยปีกหลัง และปิดท้ายอีกรอบ!!! ด้วยสปอยเลอร์หลังบนฝากระโปรงท้าย
- ปีกหลัง ปรับองศารับลมแบบแมนวลได้ 4 ระดับ ผ่านสกรูบนขา ‘swan-neck mounting’
ปีกหลังชิ้นใหญ่จัดวางในตำแหน่งที่แตกต่าง ใช้รูปแบบเดียวกับตัวแข่ง 911 RSR แชมป์ในรายการ เลอ มังส์ เป็นการวางขายึดในรูปแบบ ‘swan-neck mounting’ มีลักษณะตามชื่อ คือ คล้าย ‘คอหงส์’ ชิ้นขายึดปีกหลังผลิตจากอะลูมิเนียม โดยตำแหน่งของขายึดทั้ง 2 จุด ถูกขยับเข้าไปจนชิดแนวกระจกบังลมหลัง (รูปแบบเดิมจะอยู่ส่วนปลายของตัวถัง) ส่งผลให้ 992 GT3 มีพื้นที่ใต้ปีกหลัง ให้วิศวกรปรับแต่งอากาศพลศาสตร์ท้ายรถ ในส่วนของรูปแบบสปอยเลอร์บนฝากระโปรงหลังได้มากขึ้น เป็นที่มาของ downforce ที่เพิ่มขึ้นได้กว่า 50 เปอร์เซ็นต์ เมื่อรถใช้ความเร็วสูงกว่า 200 กม./ชม. เป็นต้นไป
992 GT3 มาพร้อมน้ำหนักตัว 1,418 กิโลกรัม สำหรับรุ่นเกียร์แมนวล 6 สปีด และน้ำหนัก 1,435 กิโลกรัม กับรุ่นเกียร์ PDK 7 สปีด (Porsche Dual-clutch Transmission) จัดอยู่ในพิกัดตัวเบาตามมาตรฐาน GT3 ทุกประการ ชิ้นส่วนบนตัวถูกลดน้ำหนักด้วยวัสดุ CFRP (CarbonFibre Reinforce Plastic) หรือ ‘คาร์บอนไฟเบอร์’ อาทิ ฝากระโปรงหน้าและฝากระโปรงท้าย, ชิ้นปีกหลัง โดยมีหลังคาคาร์บอนไฟเบอร์มาเป็นออปชันให้ลูกค้าเลือกจ่ายเพิ่ม ขณะที่พื้นผิวตัวถังใช้อะลูมิเนียมปิดทับอยู่บนโครงสร้างเหล็กกล้า
- จอแสดงข้อมูล TFT สำหรับผู้ขับ ด้านหลังพวงมาลัยใช้ขนาด 7 นิ้ว จำนวน 2 จอ ซึ่งถูกคั่นกลางด้วยมาตรวัดรอบแบบแอนะล็อก
- Full Bucket Seats โครงเบาะคาร์บอนไฟเบอร์ ลดน้ำหนักลงได้ 12 กิโลกรัม เมื่อเทียบกับ Sport Seats Plus ซึ่งเป็นเบาะนั่งสแตนดาร์ดสำหรับ 992 GT3
Powertrain:
ช่วงซุ้มล้อหลังของ GT3 ถูกขยายออกเช่นเดียวกับ 911 Turbo S ไม่ได้มีไว้เพื่อความสวยงามน่าเกรงขามแต่เพียงอย่างเดียว ทั้งหมดออกแบบเพื่อให้ภายในบรรจุเครื่องยนต์ Boxer 6 สูบ 4 ลิตร (3,996 ซี.ซี.) พร้อมอุปกรณ์ประกอบอีกหลายรายการได้อย่างลงตัว เป็นเครื่องยนต์ NA ที่ใช้พื้นฐานจากรถแข่ง 911 GT3 R ถูกพัฒนาและทดสอบอย่างเข้มข้น เพื่อรองรับการแข่งขันในรูปแบบ endurance เน้นรอบเครื่องที่จัดจ้าน พร้อมเสียงจากปลายท่อที่โหดกว่า 911 ทุกโมเดล ระบบไอเสียมาพร้อมชุด adjustable exhaust flaps ปรับแต่งระดับความดุแปรผันไปตามรอบเครื่อง ทั้งชุดใช้เหล็กสเตนเลสที่เน้นความเบา ลดน้ำหนักได้ราว 10 กิโลกรัม เมื่อเทียบกับชุดไอเสียของ GT3 โมเดลก่อนหน้า พ่วงมาด้วย GPF (Gasoline Particulate Filters) รับหน้าที่กรองไอเสียก่อนปล่อยออกสู่บรรยากาศ ผลลัพธ์ คือ ไอเสียของ 992 GT3 ผ่านมาตรฐานระดับ Euro 6d-ISC-FCM
ระบบดูดไอดีใช้สูตรเดียวกับตัวแข่ง ปรับเปลี่ยนมุมการเคลื่อนที่เข้าห้องเผาไหม้ของไอดีเป็นระดับ 90 องศา กับแนวระนาบ หรือก็คือตัวเครื่องยนต์สูบนอน เมื่อทิศทางการดูดตั้งฉากกับผิวโลก แรงดึงดูดจะช่วยให้การไหล (ลง) เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เท่านั้นยังไม่พอ ท่อทางภายในท่อร่วมยังถูกออกแบบในลักษณะเดียวกับคอคอด ทางเข้ากว้าง ทางออกแคบ ช่วยเพิ่มความเร็วในการไหลของมวลอากาศ (หลักการเดียวกับ diffuser) ได้เช่นเดียวกัน วิศวกรเคลมว่า นอกจากเครื่องยนต์จะให้การตอบสนองที่ดีขึ้น ยังช่วยประหยัดน้ำมันเพิ่มขึ้นด้วย
วิศวกรเริ่มต้นกำหนดวัตถุประสงค์ในการสร้างเครื่องยนต์ flat-six ด้วยแนวคิด lightweight design ลดน้ำหนักส่วนเกินตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบ การเลือกใช้วัสดุ เสื้อสูบและฝาสูบผลิตจากอะลูมินัมอัลลอย และอ่างน้ำมันเครื่องอะลูมิเนียม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบหล่อลื่นแบบ Dry-sump
- Roll Bar เป็นส่วนหนึ่งของออปชัน Clubsport Package
การันตีความอึด ด้วยการนำ 992 GT3 เข้าไปวิ่งทดสอบ endurance ในแทร็กวงรี ณ สนาม Nardo ประเทศอิตาลี ด้วยความเร็วคงที่ 300 กม./ชม. แช่ยาวต่อเนื่อง กระทั่งครบระยะทางรวม ราว 5,000 กิโลเมตร โดยรถทดสอบจะหยุดเฉพาะช่วงจอดเติมน้ำมันเชื้อเพลิงเท่านั้น สุดขนาดนี้ 992 GT3 จึงรองรับทั้งการใช้งานในชีวิตประจำวัน รวมทั้งการขับเข้าไปจัดหนักในแทร็ก ช่วงสุดสัปดาห์ได้แบบเหลือๆ
- จอของระบบ PCM (Porsche Communication Management) รองรับทั้งในส่วนของ Infotainment และระบบช่วยเหลือผู้ขับ อาทิ Park Assist, Reversing Camera, Surround View ฯลฯ ใช้จอ Full-HD แบบสัมผัสขนาด 9 นิ้ว
- 992 GT3 รุ่นเกียร์ PDK 7 สปีด จะมีน้ำหนักมากกว่ารุ่นเกียร์แมนวล 6 สปีด เพียง 17 กิโลกรัม
Dry-sump เป็นการแยกอ่างน้ำมันเครื่องออกมาจากตัวเครื่องยนต์ เพื่อให้การบริหารจัดการระบบหล่อลื่นทำได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ สำหรับเครื่องยนต์ 6 สูบนอนใน 911 ตัวอ่างถูกแบ่งออกเป็น 2 เซ็กชัน สำหรับการลำเลียงน้ำมันหล่อลื่นไปยังเสื้อสูบทั้ง 2 ฝั่ง ฝั่งละ 3 สูบ ด้วยปั๊มจำนวน 2 ตัว อัดน้ำมันเครื่องไปหล่อลื่นตามซอกต่างๆ ภายในเครื่องยนต์อย่างทั่วถึง โดยไม่ต้องไปกังวลกับแรงเหวี่ยงหนีศูนย์ขณะรถเข้าโค้ง ที่จะทำให้ระบบหล่อลื่นลดประสิทธิภาพลง เหมือนระบบหล่อลื่นทั่วไป ที่ใช้อ่างน้ำมันเครื่องติดตั้งอยู่ส่วนล่างสุดของเครื่องยนต์
- ถังน้ำมันมาตรฐานมีความจุ 64 ลิตร และมีออปชันเพิ่มความจุไปที่ 90 ลิตร มาให้เลือกจ่ายเพิ่ม แต่พื้นที่เก็บสัมภาระหน้ารถก็ต้องลดลงด้วยเช่นกัน
- เครื่องยนต์ของ 992 GT3 ผ่านการทดสอบในสภาพ full throttle จำลองการวิ่งในสนามแข่ง เป็นเวลาสะสมมากกว่า 22,000 ชั่วโมง
วิศวกรใช้สูตร ‘ชักสั้น ดันเร็ว’ ในการดีไซน์กระบอกสูบและลูกสูบ ด้วยการลดระยะชัก แต่ไปเพิ่มเส้นผ่าศูนย์กลางกระบอกสูบ (Bore x Stroke = 102.0 x 81.5 mm) สูตรนี้ช่วยให้การตอบสนองในการเพิ่มรอบของเครื่องยนต์ทำได้อย่างรวดเร็ว (ออกแบบไม่ดี อาจส่งผลต่อแรงบิด) ขั้นตอนต่อมา เป็นเรื่องของการประจุอากาศเข้าห้องเผาไหม้ จะทำอย่างไรให้อากาศไหลเข้าห้องเผาไหม้ได้ทัน ด้วยปริมาณที่เพียงพอกับความต้องการของเครื่องยนต์ในสถานการณ์ที่แตกต่างกัน ในที่สุดก็มาลงเอยที่ระบบ VarioCam Plus
- ช่วงล่างด้านหน้าปรับมาเป็น ‘double-wishbone’ ที่ยกชุดมาจาก 911 RSR แชมป์ เลอ มังส์ ปี 2017
VarioCam Plus เป็นระบบวาล์วแปรผันที่เข้ามาช่วยปรับเปลี่ยนองศาการเปิด-ปิดของวาล์วไอดีและวาล์วไอเสีย ให้สัมพันธ์กับรอบเครื่อง ECU จะสั่งให้วาล์วเปิดล่วงหน้า (Advance) เมื่อเครื่องยนต์เพิ่มรอบอย่างรวดเร็ว ในทางกลับกัน เมื่อต้องการลดระยะโอเวอร์แลป ลดแรงดันไอเสียย้อนกลับ (กรณีสตาร์ตในตอนเช้า) ระบบก็จะสั่งเปิดวาล์วไอดีในตำแหน่งที่ล่าช้า (Retard) กว่าตำแหน่งการเปิดปกติ แต่ความสามารถของระบบ VarioCam Plus ไม่ได้หมดเพียงเท่านี้ ระบบยังสามารถปรับปรับเปลี่ยนระยะยก (Lifts) ของวาล์วไอดี เพื่อให้สามารถ ‘ป้อนอากาศ’ ได้มากตามความต้องการของเครื่องยนต์ โดยความละเอียดในการปรับเปลี่ยนหรือแปรผันทั้ง 2 ส่วน ECU จะทำหน้าที่ประมวลผลทั้งหมด
- ชุดเบรก ‘PCCB’ หรือจานเบรกคาร์บอนเซรามิก เป็นออปชันสำหรับ 992 GT3 ใช้คาลิเปอร์สีเหลือง คู่หน้า 410 มิลลิเมตร พร้อมคาลิเปอร์ 6 ลูกสูบ และคู่หลัง 390 พร้อมคาลิเปอร์ 4 ลูกสูบ
ระบบฉีดน้ำมันเชื้อเพลิง DFI (Direct Fuel Injection) มาพร้อมหัวฉีด Piezo ที่สามารถคอนโทรลระยะเวลา ความแรงในการฉีดได้หลายระดับ ตามโหลดที่เครื่องยนต์ได้รับ ใน 1 วัฏจักรการเผาไหม้ของเครื่องยนต์ (ดูด-อัด-ระเบิด-คาย) หัวฉีดสามารถแบ่งฉีดน้ำมันเชื้อเพลิงได้ถี่ติดต่อกัน 2-5 ครั้ง เบ็ดเสร็จขุมพลัง flat-six ขนาด 4 ลิตร ‘หายใจเอง’ ใน 992 GT3 ผลิตแรงม้าได้ 510 PS ที่ 8,400 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 470 Nm ที่ 6,100 รอบ/นาที และรอบเครื่องสูงสุด สวิงไปได้ถึง 9,000 รอบ/นาที
รุ่นเกียร์แมนวล 6 สปีด ทำอัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. เร็วเพียง 3.9 วินาที ทะลุหลัก 200 กม./ชม. ใช้เวลา 11.9 วินาที ความเร็วสูงสุด 320 กม./ชม. อัตราสิ้นเปลือง ในเมือง/เดินทาง/เฉลี่ย ทำได้ที่ 5.2/10.10/7.51 กิโลเมตร/ลิตร และค่า CO2 ระดับ 305 กรัม/กิโลเมตร
ส่วนรุ่นเกียร์ PDK 7 สปีด ทำอัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ด้วยเวลา 3.4 วินาที ผ่านความเร็ว 200 กม./ชม. เพียง 10.8 วินาที ความเร็วสูงสุด 318 กม./ชม. อัตราสิ้นเปลือง ในเมือง/เดินทาง/เฉลี่ย ทำได้ที่ 5.78/10.52/8.06 กิโลเมตร/ลิตร และตัวเลข CO2 ระดับ 283 กรัม/กิโลเมตร
- ป๋า Walter Röhrl อดีตนักแข่งระดับตำนานชาวเยอรมัน และอดีตแชมป์ WRC 2 สมัย ปัจจุบันเป็น Brand Ambassador ของ Porsche เป็นหนึ่งในทีมทดสอบ 992 GT3
- Lars Kern ซิ่ง 992 GT3 ทำเวลาต่อรอบ Nürburgring Nordschleife ไว้ที่เพียง 6:59.927 นาที สำหรับรอบยาว 8 กิโลเมตร ส่วนรอบสั้นระยะ 20.6 กิโลเมตร ทำเวลาไว้ที่ 6:55.2 นาที
Chassis & Suspension:
ใน 992 โมเดลมาตรฐาน ระบบกันสะเทือนเน้นเสถียรภาพในการทำงาน และต้องเบา วิศวกร Porsche ยังคงมุ่งลดน้ำหนักใต้สปริง (Unsprung Weight) ลงให้มากที่สุด เพื่อลดแรงเฉื่อยจากการเต้นของบรรดาแขนยึด ระบบเบรก ล้อและยาง ด้านหน้าใช้พื้นฐานของแมคเฟอร์สันสตรัท ขณะที่ด้านหลังใช้มัลติลิงก์ เพื่อความมั่นคงสูงสุด รองรับการใช้งานในทุกสภาพการขับขี่
พออัปเกรดมาเป็น 992 GT3 ช่วงล่างด้านหน้าปรับเป็น double-wishbone หรืออิสระ ปีกนกคู่ ที่ยกชุดมาจาก 911 RSR แชมป์ เลอ มังส์ ปี 2017 ส่วนด้านหลังยังใช้พื้นฐานของ five-link (มัลติลิงก์) ที่พัฒนามาจากแนวคิด ‘LSA’ (lightweight, stable, agile) ช่วงล่างของ GT3 ลดความสูงลง 20 มิลลิเมตร เมื่อเทียบกับ 911 Carrera
ไฮไลต์ของช่วงล่างใน 992 GT3 อยู่ที่ช็อคอัพไฟฟ้า (Electronically Controlled Dampers) ที่ปรับรูปแบบการทำงานอัตโนมัติ ทำงานอย่างเป็นอิสระกันทั้ง 4 ล้อ และทำงานได้ไวขึ้น ระบบจะอ้างอิงข้อมูลจาก สภาพการขับขี่, สภาพถนน, แรงโยนตัวที่เกิดขึ้น, น้ำหนักรถ รวมทั้งรูปแบบการเคลื่อนที่ของช่วงล่าง รองรับการประมวลผลข้อมูลได้หลายร้อยเงื่อนไข ภายในเวลา 1 วินาที
- รุ่นเกียร์แมนวล 6 สปีด ทำอัตราเร่ง 0-200 กม./ชม. ด้วยเวลา 9 วินาที ขณะที่รุ่นเกียร์ PDK 7 สปีด เร็วกว่าเล็กน้อยที่ 10.8 วินาที
ช็อคอัพไฟฟ้า ทำงานโดยการปรับระดับการเปิดของวาล์วที่กั้นอยู่ระหว่างห้องบรรจุของเหลวทั้ง 2 ห้องภายในช็อคอัพ ของเหลวดังกล่าวจะไหลไปมาระหว่างห้องทั้งสองผ่านวาล์วตัวนี้ (Bypass valves) ขณะช็อคอัพทำงาน ระดับการเปิดของวาล์วที่เปลี่ยนไป จะส่งผลโดยตรงต่อความสะดวกในการเคลื่อนที่ของของเหลว เมื่อของเหลวเคลื่อนที่ได้ง่าย กันสะเทือนของ 992 GT3 จะให้ความสบายในการเดินทาง ในทางกลับกัน หากของเหลวถ่ายเทได้ยากขึ้น ฟีลลิ่งที่แสดงออกจะเป็นไปในลักษณะหนึบแน่น มั่นคง ซึ่งการปรับระดับการทำงานของ Bypass valves จะเป็นหน้าที่ของระบบ PASM (Porsche Active Suspension Management)
รุ่นเกียร์ PDK 7 สปีด จะมาพร้อมระบบ PTV Plus (Porsche Torque Vectoring Plus) โดยเวอร์ชัน Plus จะเพิ่ม Limited-slip Differential ควบคุมการทำงานด้วยอิเล็กทรอนิกส์ มาที่ชุดเฟืองท้าย รับหน้าที่กระจายกำลัง สร้างความสมดุลในการขับเคลื่อนระหว่างล้อซ้ายและขวา (ล้อคู่หลัง) เพิ่มประสิทธิภาพในการถ่ายทอดกำลังลงสู่ผิวถนนเปียกลื่น รวมถึงช่วยให้การส่งถ่ายแรงขับเคลื่อนขณะรถอยู่ในโค้งเป็นไปอย่างสมบูรณ์แบบด้วย ขณะที่รุ่นเกียร์แมนวล 6 สปีด ใช้ระบบ PTV (ไม่มี Plus) ซึ่งอาศัยการคอนโทรลเบรกในล้อหลัง เพื่อช่วยควบคุมรอบการหมุนของล้อขับเคลื่อน (ล้อซ้ายและล้อขวา) ให้สัมพันธ์กับรูปแบบการเข้าโค้งเท่านั้น
- ความเร็วสูงสุด 320 กม./ชม. สำหรับรุ่นเกียร์แมนวล 6 สปีด และท็อปสปีดลดลงมาที่ 318 กม./ชม. สำหรับรุ่นเกียร์ PDK 7 สปีด
992 GT3 ยังคงใช้บริการระบบ PSM (Porsche Stability Management) ช่วยรักษาเสถียรภาพขณะเข้าโค้ง โดยระบบนี้ประมวลผลจาก เซ็นเซอร์ตรวจจับทิศทางการเคลื่อนที่ของรถ, องศาการหักเลี้ยวของพวงมาลัย, ความเร็ว, ความเร็วในการหมุนของล้อทั้งสี่ ซึ่งจะอ่านสัญญาณจาก Yaw Rate Sensor และ Wheel Sensors ข้อมูลทั้งหมด PSM จะนำมาเปรียบเทียบกับข้อมูลใน Database แล้วสั่งเลือกระดับการจ่ายแรงดันน้ำเบรกที่เหมาะสมไปยังล้อทั้งสี่อย่างอิสระ เพื่อแก้อาการของรถที่กำลังจะสูญเสียการทรงตัว ซึ่ง PSM รับมือได้ทั้งอาการโอเวอร์สเตียร์ (Oversteering: ท้ายปัด) และอันเดอร์สเตียร์ (Understeering: หน้าดื้อโค้ง) โดยใน 992 GT3 จะมีปุ่ม PSM มาให้ผู้ขับเลือกปรับระหว่าง PSM On (ระดับมาตรฐาน), PSM Sport (ระบบปล่อยให้รถออกอาการเพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อย ก่อนที่จะแทรกตัวเข้ามาช่วย) และ PSM Off (ปิดการทำงานของระบบ เพื่อให้ผู้ขับได้สัมผัสแฮนด์ลิ่งอันเป็นเอกลักษณ์รถอย่างแท้จริง)
ปิดท้ายด้วยระบบ Rear-axle Steering และ Front Axle Lift ระบบแรกใช้แขนกลบังคับเลี้ยวในล้อคู่หลัง หักเลี้ยวสูงสุดได้เพียง 2 องศา ล้อหลังจะหักเลี้ยวสวนทิศทางการเลี้ยวของล้อหน้า เมื่อความเร็วต่ำกว่า 50 กม./ชม. (ลดรัศมีวงเลี้ยว) และจะหักเลี้ยวทิศทางเดียวกับล้อหน้า เมื่อความเร็วสูงกว่า 80 กม./ชม. (รักษาอาการตั้งฉากของหน้ายางกับผิวถนน) โดยที่ความเร็วระหว่าง 50-80 กม./ชม. ระบบบังคับเลี้ยวล้อหลังจะไม่ทำงาน
ส่วน Front Axle Lift เพียงแค่ ‘กดปุ่ม’ ตัวถังด้านหน้าจะถูกยกขึ้น 46 มิลลิเมตร และเมื่อใช้ความเร็วสูงกว่า 35 หรือ 60 กม./ชม. (ขึ้นอยู่กับภูมิภาคที่จำหน่าย) ความสูงจะปรับสู่ระดับปกติโดยอัตโนมัติ ทั้งหมดเพื่ออำนวยความสะดวกสำหรับการใช้งาน 992 GT3 ในชีวิตประจำวัน
992 GT3 เป็นรถถนนขุมพลัง NA ที่เร็วและแรงที่สุดจาก Porsche เป็นสายแข็งที่เข้าถึงปรัชญาที่ว่าด้วยเรื่องของ ‘Man & Machine’ อันเป็นแนวคิดพื้นฐานในการพัฒนาตัวแข่งแนว endurance racing และแน่นอน เมื่อทีมวิศวกรทุ่มเทกันถึงระดับนี้ พวกเขาต้องนำผลงานชิ้นเอกเข้าไปพิสูจน์กันในสนาม Nürburgring Nordschleife เหมือนทุกครั้ง เพราะ ณ สถานนี่แห่งนี้ เปรียบประหนึ่ง benchmark ในการเปรียบเทียบสมรรถนะของบรรดาตัวแรงจากผู้ผลิตรถยนต์ทุกค่าย นั่นเอง!!!
เรื่อง :พิทักษ์ บุญท้วม
ที่มา GRAND PRIX MAGAZINE ISSUE 619
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th