Porsche Taycan The first all-electric sport car เจาะทุกรายละเอียด!
Mission E คือรถต้นแบบของ Taycan เป็นโปรเจกต์ลับของ Porsche ที่ถูกเปิดตัวอย่างเป็นทางการ ในงาน 2015 IAA Frankfurt Motor Show โดยก่อนหน้านี้ไม่มีข่าวหลุดใดๆ เกี่ยวกับรถไฟฟ้าโมเดลนี้ออกมาแม้แต่น้อย เพียงแค่สเป็กเบื้องต้น ก็อาจทำให้ ‘สายคลีน’ ต้องอ้าปากค้างกันเลยทีเดียว Mission E ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า 2 ตัว ที่มีความแรงรวมกันระดับ 600 hp แบตเต็มวิ่งได้ไกล 500 กิโลเมตร อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. เร็วกว่า 3.5 วินาที โครงสร้างตัวถังประกอบด้วย เหล็ก อะลูมิเนียม และวัสดุ CFRP ทั้งหมด…มันเป็นคุณสมบัติของซูเปอร์คาร์ชัดๆ
จากรถต้นแบบ Mission E ในที่สุด Porsche พร้อมเปิดตัว Taycan (อ่านว่า ไทคานน์) ช่วงก่อนงาน 2019 IAA Frankfurt Motor Show เพียงไม่กี่วัน ระยะเวลาร่วม 4 ปี จากรถต้นแบบ สู่รถโปรโตไทป์ กระทั่งเปิดไลน์การผลิต Taycan อย่างเป็นทางการ เป็นช่วงเวลาที่เข้มข้นที่สุดสำหรับรถไฟฟ้าโมเดลแรกของค่าย เพราะ Taycan เวอร์ชันพรางตัวถังถูกส่งไปวิ่งทดสอบในทุกภูมิภาคทั่วโลก ในทุกสภาพอากาศ เพื่อหาความบกพร่องที่อาจเกิดขึ้นจากการทำงานของระบบกับสภาวะการขับขี่ในระดับที่สุด ทั้งร้อนจัด เย็นสุดขั้ว ไม่เว้นแม้แต่นำ Taycan เข้าไปวิ่งในสนามแข่ง Nürburgring Nordschleife ด้วยความเร็วสูงสุดเท่าที่นักขับ (แข่ง) สามารถทำได้ โดยใช้มาตรฐานการทดสอบไม่แตกต่างจากรถสมรรถนะสูงจาก Porsche ทุกโมเดล
- ตัวถัง Taycan ถูกปรับดีไซน์ให้เป็นปัจจุบันยิ่งขึ้น เมื่อเทียบกับรถต้นแบบ Mission E ใช้สื่อสารถึงสัญลักษณ์แห่งการเริ่มต้นยุคใหม่ของ Porsche ด้วยรูปแบบ ‘Clean & Puristic Design’ ดูเรียบง่าย และพิถีพิถันในทุกรายละเอียด
“Porsche Taycan เปรียบได้กับสะพานที่เชื่อมโยงระหว่างเกียรติประวัติอันยาวนานไปสู่โลกอนาคต ยนตกรรมโมเดลนี้คือยานพาหนะที่จะนำพาเรื่องราวแห่งความสำเร็จในวันข้างหน้า มาสู่แบรนด์ Porsche ในฐานะบริษัทผู้ผลิตรถสปอร์ตที่สร้างความตื่นเต้น และเร้าอารมณ์ผู้หลงใหลความเร็วทั่วโลก มาเป็นระยะเวลากว่า 70 ปี” ข้างต้นคือคำกล่าวจาก Oliver Blume ประธานคณะกรรมการบริหารของ Porsche AG ระหว่างงานเปิดตัวในกรุง Berlin “วันนี้คือสัญญาณแห่งการเริ่มต้นก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ของเรา”
Mission E Concept Studies:
Mission E เป็นรถ 4 ประตู 4 ที่นั่ง งานออกแบบบนตัวถังผสมผสานกันระหว่างรถประหยัดพลังงาน กับรถสปอร์ตที่ใช้ DNA จาก Porsche ตัวถังดีไซน์ช่องลมทั้งด้านหน้า ด้านข้าง และส่วนท้ายรถ เพื่อหวังผลเรื่องแอโรไดนามิกโดยตรง เป็น Active Aerodynamic ที่สร้างสมดุลระหว่างแรงกดกับแรงยกบนตัวถังแปรผันไปตามความเร็ว ไฟหน้าใช้โคมขนาดเล็ก ถูกเรียกว่า 4-dot Light Design ใช้เทคโนโลยี Matrix LED ขณะที่ไฟท้ายถูกเรียกว่า Continuous Light Strip ออกแบบให้เป็นเส้นสีแดง วางในแนวยาว รวมไฟหรี่และไฟเบรกไว้ในชุดเดียวกัน แน่นอนว่า ใช้แหล่งกำเนิดแสงสีแดงจาก LED
โครงสร้างรอบห้องโดยสารขึ้นรูปจากวัสดุ CFRP (CarbonFibre Reinforced Polymer) หรือ ‘คาร์บอนไฟเบอร์’ โดยโครงสร้างคาร์บอนไฟเบอร์ถูกวางเชื่อมต่อกับโครงสร้างเหล็กและอะลูมิเนียม รูปแบบเดียวกับโครงสร้างของ 918 Spyder แบตเตอรี่ถูกออกแบบให้อยู่ในส่วนของพื้นห้องโดยสาร (Underbody Battery) กินพื้นที่ใต้เบาะนั่งด้านหน้าต่อเนื่องมาจนถึงใต้เบาะนั่งด้านหลัง นอกจากลดจุดศูนย์ถ่วง (C.G.) ยังช่วยเรื่องการกระจายน้ำหนักระหว่างเพลาหน้าและเพลาหลัง ตามสูตรการออกแบบรถสมรรถนะสูง โดยชุดแบตเตอรี่ของ Mission E จะได้รับการปกป้องจากโครงสร้างคาร์บอนไฟเบอร์ เช่นเดียวกับผู้โดยสารทั้ง 4 ตำแหน่ง นอกจากนี้ คาร์บอนไฟเบอร์ยังถูกใช้ขึ้นรูปเป็นล้อให้กับ Mission E ด้วยขนาดด้านหน้าและด้านหลังที่ 21 และ 22 นิ้ว ตามลำดับ
เบาะนั่งทั้งสี่จัดวางเป็นอิสระต่อกัน เป็น Bucket Seats ดีไซน์โมเดิร์นทั้งด้านหน้าและด้านหลัง มอนิเตอร์บริเวณคอนโซลกลางเป็นแบบ Touch Display หรือสั่งงานผ่านการสัมผัสเช่นเดียวกับการใช้งานแท็บเล็ต ใต้คอนโซลหน้าเป็นจอเสริม หรือ Holographic Addition Display ในตำแหน่งนี้จะสั่งการผ่านฟังก์ชัน Gesture Control หรือรับคำสั่งผ่านการใช้สัญญาณมือ แผงมาตรวัด 5 วง ถอดแบบมาจาก 911 บอดี้ออริจินอล แต่เป็นดิจิทัลทั้งหมด มีชื่อเรียกมาตรวัดชุดนี้ว่า Five Virtual Instruments ให้อารมณ์หลังพวงมาลัยในสไตล์ Porsche ทุกกระเบียดนิ้ว ปิดท้ายในส่วนห้องโดยสารด้วย Virtual Exterior Mirrors ใช้กล้องแทนกระจกมองข้างทั้ง 2 ฝั่ง โดยจะแสดงภาพผ่านจอขนาดเล็ก ที่มุมล่างของกระจกบังลมหน้าทั้ง 2 ฝั่ง
- Taycan Turbo เป็น ‘เวอร์ชันรอง’ ลดดีกรีความแรงลงเล็กน้อย แต่เดินทางได้ไกลถึง 450 กิโลเมตร (ตามมาตรฐาน WLTP)
Mission E เป็นรถขับเคลื่อน 4 ล้อ (All-Wheel Drive) และบังคับเลี้ยว 4 ล้อ (All-Wheel Steering) ใช้มอเตอร์ขนาดใหญ่ 2 ตัว สำหรับขับเคลื่อนเพลาหน้าและเพลาหลังโดยตรง กำลังรวมจากมอเตอร์ ต้นสังกัดเคลมมากว่า 600 hp เป็นมอเตอร์ไฟฟ้าแบบ ‘PMSM’ (Permanent Magnet Synchronous Motors) เทคโนโลยีที่ถูกส่งต่อมาจาก 919 Hybrid ซึ่งเป็นรถแข่ง เลอ มังส์ 24 ชั่วโมง การันตีทั้งเรื่องสมรรถนะและความทนทาน
เมื่อพละกำลังทั้ง 600 hp ถูกปลดปล่อยลงสู่พื้นถนนผ่านล้อทั้งสี่แบบเต็มฝีเท้า Mission E จะทะยานผ่าน 100 กม./ชม. ด้วยเวลาเร็วกว่า 3.5 วินาที กดคันเร่งแช่ต่อเนื่อง จะผ่านหลัก 200 กม./ชม. ราว 12 วินาที เรื่องความเร็วสูงสุดไม่ได้ระบุไว้ แต่จากแรงม้ามหาศาล ความเร็วระดับ 250 กม./ชม. คงเป็นเรื่องง่ายๆ สำหรับ Mission E และวิศวกร Porsche ไม่พลาดที่จะนำ Mission E ไปวิ่งทดสอบเก็บข้อมูลในสนามแข่ง Nürburgring Nordschleife เช่นเดียวกับรถสปอร์ตจากค่ายนี้ทุกโมเดล ผลลัพธ์ คือ เวลาต่อรอบ ต่ำกว่า 8 วินาที จัดว่าเร็วเอาเรื่อง สำหรับพาหนะที่ขับเคลื่อนแบบไม่ต้องใช้เชื้อเพลิง
- การตั้งชื่อรุ่นย่อยของ Taycan ยังคงอิงกับรถสปอร์ตจาก Porsche ที่ใช้เครื่องยนต์ ช่วงเริ่มต้นจึงแตกออกเป็น 2 รุ่น ได้แก่ Taycan Turbo และ Taycan Turbo S (และกำลังจะตามมาด้วย Taycan 4S)
- โครงสร้างรถต้นแบบ Mission E ใช้ส่วนประกอบหลักเป็น ‘คาร์บอนไฟเบอร์’ ซึ่งมีต้นทุนในการผลิตสูงมาก ขณะที่โครงสร้างของ Taycan ถูกประกอบขึ้นจากวัสดุต่างประเภทกัน (Multimaterial Body) โดยมีสัดส่วนของอะลูมิเนียมราว 37 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือเป็นวัสดุทั่วไปในการผลิตโครงสร้างและตัวถังรถ Porsche อาทิ Hot-formed Steel, Manganese-boron Steel ฯลฯ
800-Volt System Voltage:
เทคโนโลยีเด่นจาก Mission E ที่ถูกส่งต่อมายัง Taycan ได้แก่ ชุดขับเคลื่อน ซึ่งยกระดับไปใช้กระแสไฟ 800 โวลต์ จากที่รถไฟฟ้าและรถไฮบริดทั่วไป ใช้กันอยู่ที่ 400 โวลต์ นั่นส่งผลให้เกิดประโยชน์ 2 ประการ ประการแรก ลดระยะเวลาในการชาร์จ ในสภาพแบตหมด Mission E สามารถชาร์จจนเต็ม 80 เปอร์เซ็นต์ เร็วเพียง 15 นาที และระดับแบตเท่านี้ สามารถใช้งานได้ไกล 400 กิโลเมตร ซึ่งหากคุณมีเวลาชาร์จจนเต็ม 100 เปอร์เซ็นต์ ระยะการเดินทางระดับ 500 กิโลเมตร เป็นเรื่องที่ง่ายมาก ประการที่สอง วิศวกร Porsche กล่าวว่า การใช้ไฟฟ้าทั้งระบบที่ 800-Volt จะช่วยลดน้ำหนักและขนาดของสายเคเบิล เมื่อเทียบกับ 400 โวลต์ เทคโนโลยีนี้ถูกถ่ายทอดมาจากตัวแข่ง เลอ มังส์ 919 Hybrid ที่กวาดชัยชนะ 3 ปีซ้อน (ปี 2015, 2016 และ 2017)
สำหรับ Taycan ต้นสังกัดแจงสเป็กเรื่องการชาร์จไฟมาแบบละเอียดยิ่งขึ้น เริ่มต้นจากการชาร์จด้วยไฟบ้าน กระแสสลับ (AC: Alternating Current) แรงเคลื่อน 11 kW จะใช้เวลาราว 9 ชั่วโมง หรือการชาร์จทิ้งไว้ทั้งคืน และหากชาร์จตามสถานีชาร์จไฟสาธารณะที่ใช้ไฟกระแสตรง (DC: Direct Current) ขนาดแรงเคลื่อน 270 kW จากเทคโนโลยี 800-Volt ช่วยให้การชาร์จเพียง 5 นาที รถวิ่งใช้งานได้ถึง 100 กิโลเมตร (ตามมาตรฐาน WLTP) และการชาร์จจากความจุแบตที่เหลือเพียง 5 เปอร์เซ็นต์ จนถึง 80 เปอร์เซ็นต์ SoC (State of Charge) ใช้เวลารอเพียง 22.5 นาที ภายใต้สภาพแวดล้อมปกติ ในรถต้นแบบ Mission E มาพร้อม ‘Induction Charging’ หรือรองรับการชาร์จแบบไร้สาย ขณะที่ Taycan ไม่ได้ระบุรายละเอียดในส่วนนี้ แต่อาจจะมีมาเป็นออปชันให้ลูกค้าเลือกจ่ายเพิ่มในภายหลัง
แบตเตอรี่ถูกวางไว้ในส่วนของพื้นห้องโดยสารเป็นมาตรฐานสำหรับรถไฟฟ้า ตัวเรือนแบตเตอรี่ซีลกันน้ำ กันฝุ่น ได้รับการออกแบบให้เป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างรถ เพื่อลดความเสียหายของแบตเตอรี่ในกรณีที่รถประสบอุบัติเหตุ ชุดแบตเตอรี่มาพร้อมระบบควบคุมอุณหภูมิ สร้างความเสถียรในการจ่ายพลังงานไฟฟ้า ประกอบด้วย 33 โมดูล แต่ละโมดูลมี 12 เซลล์ รวมเป็นทั้งหมด 396 เซลล์ มีความจุรวม 93.4 kWh เมื่อแบตเต็ม ‘เวอร์ชันแรง’ Taycan Turbo S มีพิสัยเดินทางราว 412 กิโลเมตร ขณะที่ ‘เวอร์ชันรอง’ Taycan Turbo ซึ่งลดดีกรีความแรงลงเล็กน้อย ไปได้ไกลกว่าที่ 450 กิโลเมตร (ตามมาตรฐาน WLTP)
- Taycan มาพร้อม Adaptive Aerodynamics ช่องรับลม ซ้าย-ขวา ใต้กันชนหน้าติดตั้งชุด Flaps หรือบานพับ สำหรับควบคุมกระแสลมเคลื่อนที่ผ่านตัวถังท่อนหน้ารถ ขณะที่ใต้ท้องรถ ออกแบบแอโรไดนามิกได้ง่ายยิ่งขึ้น เพราะไม่ต้องมาคอยกังวลกับความร้อนจากระบบไอเสีย
Body & Aerodynamics:
งานดีไซน์บนตัวถัง Taycan ถูกปรับเปลี่ยนให้เป็นปัจจุบันยิ่งขึ้น เมื่อเทียบกับ Mission E ที่ดูล้ำอนาคตไปไกล งานออกแบบตัวรถสามารถสื่อสารถึงสัญลักษณ์แห่งการเริ่มต้นยุคใหม่ของ Porsche ได้อย่างตรงไปตรงมา โดยรักษา Porsche Design DNA ที่ว่าด้วยเรื่องของ ‘Clean & Puristic Design’ ดูเรียบง่าย และเน้นความพิถีพิถันในทุกรายละเอียด Taycan ใช้มุมมองท่อนหน้ารถที่ดูกว้าง และแบนราบ ขนาบด้วยโป่งซุ้มล้อที่สร้างความหนักแน่น ยกระดับรูปทรงโดยรวมให้ปราดเปรียว เฉียบคม ด้วยแนวหลังคาสไตล์สปอร์ตที่เทลาดลงอย่างต่อเนื่องจดท้ายรถ
แนวตัวถังด้านข้างอัดแน่นด้วยบุคลิกเฉพาะตัว สร้างมุมมองห้องโดยสารที่ดูปลอดโปร่ง แนวโค้งของเสา C-pillar วางตัวผสานกับซุ้มล้อหลังเป็นหนึ่งเดียวกับสปอยเลอร์ท้ายรถ เสริมความพิเศษด้วยนวัตกรรมล้ำสมัยรอบคัน อาทิ ตราสัญลักษณ์ Porsche ฉายสะท้อนบนกระจก หรือ glass-effect Porsche logo ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่รวมอยู่กับ light bar บริเวณท้ายรถ
Taycan โดดเด่นด้วยค่าสัมประสิทธิ์แรงเสียดทานอากาศ หรือ Cd. ที่ต่ำเพียง 0.22 รวมทั้งระบบอากาศพลศาสตร์ที่ยอดเยี่ยม จากการออกแบบรูปทรงตัวถังที่เหมาะสม และการทำงานที่ชาญฉลาดของระบบ PAA (Porsche Active Aerodynamic) ผลลัพธ์สุดท้ายที่ได้ คือ อัตราการใช้พลังงานไฟฟ้าที่ต่ำลง รวมทั้งเพิ่มพิสัยการเดินทางของรถ ทีมพัฒนา Taycan ใช้เวลากว่า 900 ชั่วโมง กับขั้นตอน ‘3D CFD Simulations’ (Computation Fluid Dynamics) เป็นการใช้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์ เพื่อคำนวณหาความลงตัวในการไหลของอากาศขณะเคลื่อนผ่านตัวถัง จากนั้นมาขัดเกลาผ่านอุโมงค์ลมกับโมเดลที่ใช้อัตราส่วน 1:3 ก่อนที่จะไปเก็บรายละเอียดกันในอุโมงค์ลม กับตัวรถในสเกล 1:1 อีกกว่า 1,500 ชั่วโมง
ใต้ท้องรถ วิศวกรสามารถออกแบบแอโรไดนามิกได้ง่ายยิ่งขึ้น เพราะไม่ต้องมาคอยกังวลกับความร้อนจากระบบไอเสีย เมื่อเทียบกับรถ Porsche ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน ขณะเดียวกัน โครงสร้างของช่วงล่างก็ได้รับการออกแบบให้ลดการสะสมของมวลลม ก่อนที่จะเร่งระบายลมที่เคลื่อนผ่านใต้ท้องรถด้วย ‘ดิฟฟิวเซอร์’ ในส่วนท้าย
- แบตเตอรี่ และชุดขับเคลื่อน มาพร้อมระบบควบคุมอุณหภูมิ สร้างความเสถียรในการจ่ายไฟ
อุปกรณ์การทำงานของ Active Aerodynamic ประกอบด้วย 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นชุด Flaps หรือบานพับ ภายในช่องรับลมทั้งฝั่งซ้ายและฝั่งขวาใต้กันชนหน้า โดยแผ่น Flaps ทำงานในลักษณะเดียวกับ ‘ชัตเตอร์’ (Shutters) จะทำหน้าที่เปิด-ปิด ช่องลมที่จะส่งผ่านอากาศไประบายความร้อนให้กับหม้อน้ำของระบบหล่อเย็น และชุดคอยล์ร้อนของระบบปรับอากาศ ซึ่งถูกติดตั้งไว้ด้านหน้าซุ้มล้อ นอกจากเรื่องระบายความร้อน การทำงานของชุดชัตเตอร์จะส่งผลกับการลดแรงต้านทานอากาศ (ชัตเตอร์ปิด-ลดแรงต้านทานอากาศ) รวมทั้งการสร้างแรงกดลงที่เพลาหน้ารถด้วยเช่นกัน (ชัตเตอร์เปิด-เพิ่ม Downforce) ส่วนที่สองเป็น Rear Spoiler ตัวสปอยเลอร์ใช้พื้นที่เท่าความกว้างของฝากระโปรงหลัง ถูกออกแบบให้เก็บตัวอยู่อย่างแนบเนียน และจะกระดกขึ้นมาทำงานด้วยองศาที่แตกต่างกันขณะรถเคลื่อนที่ ซึ่งจะทำงานสัมพันธ์กับชุดชัตเตอร์
- แบตเตอรี่ถูกวางไว้ในส่วนของพื้นห้องโดยสาร ตัวเรือนแบตเตอรี่ซีลกันน้ำ กันฝุ่น ได้รับการออกแบบให้เป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างรถ เพื่อลดความเสียหายในกรณีที่รถประสบอุบัติเหตุ ตัวแบตเตอรี่ประกอบด้วย 33 โมดูล แต่ละโมดูลมี 12 เซลล์ รวมเป็นทั้งหมด 396 เซลล์ มีความจุรวม 93.4 kWh
- Taycan ใช้มอเตอร์ไฟฟ้า 2 ตัว แยกกันขับเคลื่อนล้อหน้าและล้อหลังอย่างอิสระ
- Charge Ports สำหรับไฟ AC มีให้ทั้ง 2 ฝั่ง ส่วนไฟ DC (ชาร์จเร็ว) จะอยู่ฝั่งไหน ขึ้นอยู่กับตำแหน่งของพวงมาลัย (ซ้ายหรือขวา)
- แผงคอนโซลด้านบนและด้านล่าง วางตัวตามแนวยาวตลอดความกว้างตัวถัง โดยมีรูปทรงคล้ายปีกที่โอบล้อมผู้ขับขี่และผู้โดยสาร หน้าจอกลางคอนโซลเป็นของระบบ Infotainment ใช้ขนาด 9 นิ้ว
- แผงหน้าปัดใช้หน้าจอแสดงผลแนวโค้งขนาดใหญ่ 8 นิ้ว ออกแบบเป็นกรอบมาตรวัดทรงกลม 5 วง ได้รับอิทธิพลทางการออกแบบมาจากตำนาน 911 ออริจินอล
- หน้าจอแสดงผล สำหรับผู้โดยสารตอนหน้า (อุปกรณ์พิเศษ) ติดตั้งต่อเนื่องครอบคลุมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันด้วยแผ่นกระจก ให้สัมผัสสไตล์ black-panel สร้างความกลมกลืนลงตัวกับงานตกแต่งภายในห้องโดยสาร
- ห้องโดยสารลงตัวทั้งศาสตร์แห่งศิลป์ ด้วยพื้นผิวของวัสดุที่มีชื่อว่า ‘Race-Tex’ ผลิตจากเส้นใย microfibre คุณภาพสูง ผสมผสานกับเส้นใย polyester fibres ที่ให้ความแข็งแรงคงทน นอกจากนี้ยังสามารถลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่เกิดขึ้นในระหว่างการผลิตลงได้มากถึง 80 เปอร์เซ็นต์
Powertrain:
การตั้งชื่อรุ่นย่อยของ Taycan ยังคงอิงกับรถสปอร์ตจาก Porsche ที่ใช้เครื่องยนต์ ช่วงเริ่มต้นจึงแตกออกเป็น 2 รุ่น ได้แก่ Taycan Turbo และ Taycan Turbo S (และกำลังจะตามมาด้วย Taycan 4S) โดยทุกรุ่นใช้ ‘ฮาร์ดแวร์’ หรืออุปกรณ์พื้นฐานร่วมกันทั้งหมด ต่างกันเพียง ‘ซอฟต์แวร์’ ในการควบคุมระดับการปลดปล่อยแรงม้าจากมอเตอร์ไฟฟ้าทั้ง 2 ตัว ที่แยกกันขับเคลื่อนล้อหน้าและล้อหลังอย่างอิสระ นั่นหมายความว่า Taycan ขับเคลื่อน 4 ล้อ ในรูปแบบ All-Wheel Drive การทำงานระหว่างชุดขับเคลื่อนด้านหน้าและด้านหลัง ของ electric machine, ระบบส่งกำลัง และชุดควบคุม pulse-controlled inverter จะถูกผสานเป็นหนึ่งเดียวภายใต้ขนาดอันกะทัดรัด
อีกหนึ่งอุปกรณ์พิเศษที่อยู่ในมอเตอร์ไฟฟ้า คือ ‘hairpin’ อันเป็นส่วนประกอบสำคัญของ stator coils เทคโนโลยีดังกล่าวช่วยให้สามารถเพิ่มจำนวนขดลวดทองแดงที่บรรจุอยู่ใน stator ได้มากขึ้น ช่วยเพิ่มกำลังและแรงบิด ขณะที่ใช้ชิ้นส่วนเท่าเดิม ถัดมาเป็นระบบส่งกำลังแบบ two-speed transmission ซึ่งคิดค้นขึ้นโดยวิศวกร Porsche ได้รับการติดตั้งในชุดขับเคลื่อนด้านหลัง เกียร์แรกรับหน้าที่สร้างอัตราเร่ง ขณะออกรถ ขณะที่เกียร์ 2 ใช้อัตราทดที่ต่ำลง เพื่อลดรอบการหมุนของมอเตอร์ ลงตัวสำหรับช่วยลดการใช้พลังงาน ขณะขับขี่เดินทางไกล
- Taycan Turbo S แรงระดับ 460 kW (625 hp) และมี ‘Overboost Power’ ทำงานร่วมกับระบบช่วยออกตัว Launch Control ซึ่งแรงม้าจะขยับเพิ่มเป็น 560 kW (761 hp) พร้อมแรงบิดสูงสุด 1,050 Nm
- ในรุ่นเรือธง Taycan Turbo S มาพร้อมพละกำลัง 460 kW (625 hp) และมี ‘Overboost Power’ ทำงานร่วมกับระบบช่วยออกตัว Launch Control ซึ่งแรงม้าจะขยับเพิ่มเป็น 560 kW (761 hp) พร้อมแรงบิดสูงสุด 1,050 Nm สำหรับ Taycan Turbo มีพละกำลังเริ่มต้นเท่ากัน นั่นคือ 460 kW (625 hp) แต่ ‘Overboost Power’ ลดลงเล็กน้อยที่ 500 kW (680 hp) พร้อมแรงบิดสูงสุด 850 Nm
- Taycan Turbo S ทำอัตราเร่ง 0-100 กม./ชม., 0-160 กม./ชม. และ 0-200 กม./ชม. ได้ที่ 2.8, 6.3 และ 9.8 วินาที ตามลำดับ ขณะที่ระยะเดียวกัน Taycan Turbo ทำได้ 3.2, 6.9 และ 10.6 วินาที ตามลำดับ สำหรับท็อปสปีดทั้ง 2 รุ่น ทำได้เท่ากันที่ 260 กม./ชม.
- ระบบส่งกำลังแบบ two-speed transmission ติดตั้งในชุดขับเคลื่อนด้านหลัง เกียร์แรกรับหน้าที่สร้างอัตราเร่ง ขณะออกรถ ขณะที่เกียร์ 2 ใช้อัตราทดที่ต่ำลง เพื่อลดรอบการหมุนของมอเตอร์ ลดการใช้พลังงาน ขณะขับขี่เดินทางไกล
- อุปกรณ์พิเศษที่อยู่ในมอเตอร์ไฟฟ้า คือ ‘hairpin’ ส่วนประกอบสำคัญของ stator coils เทคโนโลยีดังกล่าว ช่วยให้สามารถเพิ่มจำนวนขดลวดทองแดงที่บรรจุอยู่ใน stator ได้มากขึ้น ช่วยเพิ่มกำลังและแรงบิด ขณะที่ใช้ชิ้นส่วนเท่าเดิม
- Taycan ยกระดับไปใช้กระแสไฟ 800 โวลต์ จากที่รถไฟฟ้าและรถไฮบริดทั่วไป ใช้กันอยู่ที่ 400 โวลต์ นั่นส่งผลให้เกิดประโยชน์ 2 ประการ ประการแรก ลดระยะเวลาในการชาร์จ ประการที่สอง วิศวกร Porsche กล่าวว่า การใช้ไฟฟ้าทั้งระบบที่ 800-Volt จะช่วยลดน้ำหนักและขนาดของสายเคเบิลลง
Chassis & Suspension:
ระบบกันสะเทือนทั้ง Taycan Turbo และ Taycan Turbo S ใช้ Adaptive Air Suspension (แอร์สปริง) หรือกันสะเทือนที่ปรับเปลี่ยนความสูง และรูปแบบในการตอบสนองได้ตามความเร็วรถ โครงสร้างของกันสะเทือนใช้อะลูมิเนียมที่ผลิตจากกรรมวิธี Forced เป็นพื้นฐาน เพื่อลดน้ำหนักใต้สปริง ด้านหน้าเป็นแบบปีกนกคู่ และด้านหลังเป็นแบบมัลติลิงก์ การทำงานของช่วงล่างถุงลม ถูกควบคุมจากซอฟต์แวร์ PASM (Porsche Active Suspension Management) หน้าที่ของระบบนี้ คือ การปรับระดับความสูงของตัวถัง และปรับระดับการตอบสนอง ทั้งนุ่มนวลและหนึบแน่นของช็อคอัพ ให้แปรผันไปตามความเร็วรถ
Adaptive Air Suspension ใน Taycan เป็นชุดที่พัฒนาขึ้นใหม่ (ใช้ครั้งแรกใน Panamera [971]) ด้านหน้าใช้แอร์สปริงแบบ Three-chamber มีความจุลมเพิ่มขึ้นถึง 60% โดยปริมาตร ชุดแอร์สปริงปรับ ‘ค่า K’ ได้ 3 ระดับ คือ Comfort (14 N/mm), Sport (23 N/mm) และ Sport Plus (36 N/mm) ขณะที่ส่วนของ Damper หรือช็อคอัพ คู่หน้าจัดเต็มด้วย Single-tube ซึ่งเป็นช็อคไฟฟ้า ที่ทำงานเชื่อมโยงกับระบบ PASM นั่นเอง
ระบบ PASM จะเข้าไปคอนโทรลระดับการหน่วงของช็อคอัพ (คู่หน้าซ่อนอยู่ภายในชุดของถุงลม) นอกจากนี้ PASM ยังสอดแทรกเข้าไปทำงานขณะรถออกตัวหรือเบรกอย่างรุนแรง และขณะรถเข้าโค้ง เพื่อรักษาสมดุลบนตัวถังให้อยู่ในสภาพปกติด้วย
ถัดมาระบบ PDCC Sport (Porsche Dynamic Chassis Control Sport) เป็นระบบเสริมการทำงานของช่วงล่างทั้งด้านหน้าและด้านหลัง วัตถุประสงค์เพื่อลดอาการโคลงของตัวถังขณะรถเข้าโค้ง รวมทั้งเปลี่ยนเลนอย่างฉับพลัน อุปกรณ์หลักของระบบ PDCC Sport คือ ‘เหล็กกันโคลง’ จากเดิมทำหน้าที่ลดอาการโคลงของตัวถัง ด้วยค่าความเป็นสปริง (ค่า K) หรือค่าความแข็งเพียงค่าใดค่าหนึ่ง
- PDCC Sport (Porsche Dynamic Chassis Control Sport) เป็นระบบเสริมการทำงานของช่วงล่างทั้งด้านหน้าและด้านหลัง วัตถุประสงค์เพื่อลดอาการโคลงของตัวถังขณะรถเข้าโค้ง รวมทั้งเปลี่ยนเลนอย่างฉับพลัน
วิศวกรออกแบบเหล็กกันโคลงทั้งแท่งของระบบนี้ ให้สามารถปรับเพิ่มหรือลดค่าความแข็งได้ จากการใช้ชุด ‘Electromechanical System’ ซึ่งเข้ามาบิดที่เส้นเหล็กกันโคลง เหล็กกันโคลงจะถูกปรับให้แข็งมากขึ้น เมื่อรถมีโอกาสเกิดอาการโคลงอย่างรุนแรง ในทางกลับกัน ถ้ารถมีโอกาสเกิดอาการโคลงเพียงเล็กน้อย เหล็กกันโคลงก็จะถูกปรับให้มีค่าความแข็งในระดับต่ำ ผู้เขียนใช้คำว่า ‘มีโอกาสเกิด’ เพราะ PDCC Sport จะพยากรณ์ (Predictive) อาการโคลงของตัวถังล่วงหน้า โดยการประมวลผลข้อมูลจากเซ็นเซอร์หลายจุด แล้วสั่งแก้อาการที่เกิดขึ้นแบบทันทีทันใด โดยการปรับความแข็งเป็นไปในลักษณะแปรผัน
ขั้นตอนการทำงานทั้งหมดของ PDCC Sport ใช้เวลาเพียง 200 milliseconds หรือ 0.2 วินาทีเท่านั้น นอกจากนี้ PDCC Sport จะถูกเสริมการทำงานเพิ่มเติมด้วยระบบ PTV Plus (Porsche Torque Vectoring Plus) ช่วยสร้างสมดุลในการกระจายกำลังของล้อขับเคลื่อน (ล้อหลัง) ตามสภาพและรูปแบบโค้งที่แตกต่างกันด้วย
ถัดมาเป็นระบบ Rear Axle Steering ใช้แขนกลบังคับเลี้ยวในล้อคู่หลัง เพื่อเสริมการเลี้ยวของล้อหน้า ล้อหลังหักเลี้ยวสูงสุดได้เพียง 2.8 องศา จะหักเลี้ยวสวนทิศทางการเลี้ยวของล้อหน้าในความเร็วต่ำกว่า 50 กม./ชม. (ลดรัศมีวงเลี้ยว) และหักเลี้ยวทิศทางเดียวกับล้อหน้าในความเร็วสูงกว่า 50 กม./ชม. (รักษาอาการตั้งฉากของหน้ายางกับผิวถนน)
ระบบควบคุมแชสซีตัวหลักใน Taycan ที่กล่าวมาทั้งหมด ได้แก่ Three-chamber Air Suspension, PASM, PDCC Sport และ Rear Axle Steering จะทำงานร่วมกัน เพื่อปรับการตอบสนองของช่วงล่างให้เกิดความลงตัว ระหว่างสมรรถนะกับความสบายสูงสุดในการเดินทาง โดย Porsche ใช้ชื่อรวมของระบบชุดนี้ว่า ‘Porsche 4D Chassis Control’
Taycan Turbo มาพร้อมน้ำหนักตัวกว่า 2.3 ตัน เมื่อขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ที่แรงมหาศาล ระบบเบรกจึงต้องใช้ชุดใหญ่ ดิสก์เบรกพร้อมครีบระบายความร้อนทั้ง 4 ล้อ เป็น ‘PSCB’ (Porsche Surface Coated Brake) ตัวจานเบรกใช้การโค้ตผิวรูปแบบใหม่ ให้ประสิทธิภาพตรงกลางระหว่างจานเบรกเหล็กหล่อแบบดั้งเดิม และจานเบรก ‘PCCB’ (Porsche Ceramic Composited Brake) ซึ่งเป็นจานเบรกเกรดเดียวกับรถแข่ง ชุดเบรก ‘PSCB’ ด้านหน้าใช้จานขนาดใหญ่โตถึง 415 x 40 มิลลิเมตร พร้อมโคตรคาลิเปอร์ระดับ 10 pot ขณะที่คู่หลังใช้ขนาด 365 x 28 มิลลิเมตร กับคาลิเปอร์ 4 pot โดยตัวคาลิเปอร์ใช้สีขาว
สำหรับ Taycan Turbo S ต้องสุดตามวิสัยเรือธง Porsche จัดเต็มด้วย ‘PCCB’ (Porsche Ceramic Composited Brake) มาให้เป็นอุปกรณ์มาตรฐาน จานคู่หน้าขนาด 420 x 40 มิลลิเมตร คู่หลังใช้ขนาด 410 x 32 มิลลิเมตร ตัวคาลิเปอร์ หน้าและหลัง ใช้แบบ 10 pot และ 4 pot ไม่แตกต่างกัน แต่ตัวคาลิเปอร์จะใช้สีเหลือง ระบบเบรกของ Taycan จะมาพร้อมโปรแกรมเพิ่มประสิทธิภาพในการเบรกหลายรายการ ทั้งยังทำงานร่วมกับระบบ PSM (Porsche Stability Management) ในการรักษาเสถียรภาพการทรงตัวของรถได้อย่างสมบูรณ์แบบ
- Taycan Turbo S ทำอัตราเร่ง 0-100 กม./ชม., 0-160 กม./ชม. และ 0-200 กม./ชม. ได้ที่ 8, 6.3 และ 9.8 วินาที ตามลำดับ พร้อมท็อปสปีด 260 กม./ชม.
- ระบบ Rear Axle Steering ใช้แขนกลบังคับเลี้ยวในล้อคู่หลัง เพื่อเสริมการเลี้ยวของล้อหน้า ล้อหลังหักเลี้ยวสูงสุดได้เพียง 8 องศา
Taycan เป็นตัวแทนของการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่โลกของยนตกรรมไร้มลพิษจาก Porsche เป้าหมายในการพัฒนาไม่ได้เน้นแค่เพียงเรื่องสมรรถนะ ที่ต้องไม่เป็นรองรถสปอร์ต Porsche ที่ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์ แต่ทีมพัฒนาให้ความสำคัญกับความง่ายสำหรับการใช้งานในชีวิตประจำวัน รถไฟฟ้าทุกรุ่นที่จะทยอยเปิดตัวออกมาในอนาคต จะไม่สร้างข้อกังวลใดๆ ให้ผู้ใช้ต้องเกิดความลังเล โดยก่อนปี 2022 ทาง Porsche จะทุ่มงบลงทุนในการพัฒนา Sport EV เซ็กเมนต์ใหม่ๆ เป็นเม็ดเงินจำนวนมากกว่า 6,000 ล้านยูโร!!! และนั่นเป็นความมุ่งมั่นจากผู้ผลิตรถสมรรถนะสูงสายแข็งแห่งเมืองเบียร์
เรื่อง : พิทักษ์ บุญท้วม
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานต์ยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th