ทำไมรถยนต์ที่ผลิตและขายในไทยแพงกว่ารถยนต์ที่ผลิตและขายในต่างประเทศ
หลายคนที่ติดตามข่าวรถยนต์ในต่างประเทศเมื่อเห็นราคารถยนต์ซึ่งไม่ใช่แบรนด์ในท้องถิ่นแต่เป็นแบรนด์นอกประเทศที่เข้าไปตั้งโรงงานผลิตและขายในประเทศอย่างสหรัฐอเมริกาหรือในยุโรปแล้วอาจสงสัยว่าทำไม่รถยนต์ในประเทศเหล่านั้นจึงมีราคาถูกกว่าในไทยทั้งที่เป็นบริษัทรถยนต์ต่างชาติเข้าไปตั้งโรงงานประกอบขายเหมือนกัน อย่าง Toyota Camry Hybrid รุ่นท็อปสุดในสหรัฐอเมริกามีราคาที่ผู้ผลิตตั้งไว้ที่ 32,730 ดอลล่าร์หรือประมาณ 1,020,000 บาท ขณะที่ Camry Hybrid รุ่นท็อปสุดในไทยมีราคา 1,809,000 บาท หรือ Honda Civic Turbo เกรดเริ่มต้นในสหรัฐอเมริกามีราคา 23,950 ดอลล่าร์หรือประมาณ 750,000 ดอลล่าร์ในขณะที่ของไทยเริ่มต้นที่ 1,104,000 บาท ลองมาดูว่ารถยนต์ที่ผลิตและขายในไทยมีต้นทุนในเรื่องใดกันบ้าง ที่ส่งผลต่อราคารถ
ภาษี
สิ่งหนึ่งที่หลายๆ คนอาจคิดไม่ถึงก็คือรถยนต์ที่ผลิตในประเทศจะต้องเสียภาษีในลักษณะต่างๆ แทบไม่ต่างกับรถยนต์นำเข้า จะมีก็แต่อากรขาเข้าเท่านั้นที่ไม่เสียสำหรับรถยนต์ที่ใช้ชิ้นส่วนในประเทศทั้งหมด แต่หากมีชิ้นส่วนที่นำเข้าจากต่างประเทศในการประกอบรถยนต์อยู่ด้วยก็จะมีอากรขาเข้าเพิ่มเข้ามา ทีนี้ลองมาดูว่ามีภาษีอะไรบ้างที่รถยนต์ผลิตในประเทศจะต้องเสีย
1 ภาษีสรรพสามิต รถยนต์ในประเทศจะถูกเก็บภาษีสรรพสามิตในอัตราเดียวกับรถยนต์นำเข้าโดยคำนวณจากราคาหน้าโรงงาน และกรมสรรพสามิตจะพิจารณาราคาหน้าโรงงานนี้ไม่ต่ำกว่า 76 เปอร์เซ็นต์ของราคาขายปลีกให้ผู้ซื้อ ส่วนโครงสร้างภาษีสรรพสามิตสำหรับรถยนต์นั่งที่ผลิตในประเทศซึ่งใช้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 จะใช้เรื่องการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ในการกำหนดภาษี เช่น รถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ความจุต่ำกว่า 3,000 ซีซี ปล่อยคาร์บอนได้ออกไซด์น้อยกว่า 150 กรัม/กม. เสียภาษีสรรพสามิต 30 เปอร์เซ็นต์ ระหว่าง 150-200 กรัม/กม. เสีย 35 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่รถไฮบริดความจุต่ำกว่า 3,000 ซีซีจะเสียภาษีสรรพสามิตระหว่าง 10-30 เปอร์เซ็นต์ขึ้นอยู่กับการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ต่อกิโลเมตร ส่วนรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ความจุมากกว่า 3,000 ซีซีไม่ว่าจะใช้เครื่องยนต์ปกติหรือไฮบริดจะเสียภาษีสรรพสามิต 50 เปอร์เซ็นต์ไม่ว่าจะปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เท่าใด
2 ภาษีมหาดไทย มีอัตรา 10 เปอร์เซ็นต์ของภาษีสรรพสามิต สำหรับส่งให้กระทรงมหาดไทย
3 ภาษีมูลค่าเพิ่ม 7 เปอร์เซ็นต์ของราคารถที่รวมภาษีสรรพาสามิต และภาษีมหาดไทยแล้ว
ต้นทุนการผลิตต่อคัน
แม้ว่ารถยนต์ที่ผลิตในประเทศจะมีการเสียภาษีหลายรูปแบบจนทำให้มีราคาสูง จนทำให้หลายคนมองว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้รถยนต์ที่ผลิตในประเทศไทยแพงกว่ารถยนต์ที่ผลิตในต่างประเทศ แต่อีกสิ่งที่ไม่ควรมองข้ามก็คือเรื่องต้นทุนการผลิตต่อคันโดยในส่วนต้นทุนทั้งค่าวัสดุ ค่าแรง และค่าเครื่องจักร ซึ่งเคยมีคนวิเคราะห์ไว้ในเวบบอร์ดพูดคุยเกี่ยวกับรถยนต์ว่า แม้ว่าจะมีความแตกต่างกันในส่วนค่าแรง แต่ก็ไม่น่าจะส่งผลมากต่อราคารถที่ผลิตในแต่ละภูมิภาค และจริงๆ แล้วค่าแรงในไทยก็ถูกกว่าค่าแรงในสหรัฐอเมริกาด้วย ในขณะที่ค่าวัสดุไม่ว่าจะเป็นเหล็ก หนัง หรือพลาสติก รวมทั้งค่าเครื่องจักรที่ใช้ในการประกอบรถยนต์ในแต่ละภูมิภาคของโลกไม่น่าจะแตกต่างกัน
อย่างไรก็ตามสิ่งหนึ่งที่ส่งผลต่อราคาขายรถคือ Mold หรือแม่พิมพ์สำหรับรถยนต์และอะไหล่ต่างๆ และการวางแผนการผลิตที่ไม่เท่ากันในแต่ละประเทศหรือภูมิภาค ซึ่งจะส่งผลต่อการหารต้นทุนการผลิตของ Mold ที่ใช้ โดยยิ่งมีแผนการผลิตมากก็จะทำให้ต้นทุนที่ใช้ในการผลิตต่อชิ้นของ Mold ชิ้นส่วนต่างๆ ถูกลง แม้ว่า Mold ที่ใช้จะมีต้นทุนเท่ากันก็ตาม เช่น Mold สำหรับใช้ผลิตประตูรถมีต้นทุน 1,000,000 บาท และสามารถทำประตูได้ 200,000 ชิ้นเหมือนกันในทุกประเทศ แต่ในขณะที่โรงงานผลิตรถยนต์ในไทยต้องการผลิตประตู 50,000 ชิ้น เมื่อเทียบกับสหรัฐอเมริกาที่ใช้ Mold เดียวกันสำหรับผลิตประตู 150,000 ชิ้น ย่อมหมายความว่าเมื่อหารเป็นต้นทุนต่อชิ้นแล้วโรงงานผลิตรถยนต์ในไทยจะมีต้นทุนสำหรับ Mold ต่อรถหนึ่งคันที่สูงกว่า ซึ่งส่งผลต่อราคาของรถยนต์แต่ละคันที่ออกมา และในรถยนต์หนึ่งค้นก็มีการใช้หลาย Mold สำหรับชิ้นส่วนต่างๆ ของรถ
เรื่อง: กองบรรณาธิการ
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th