ตลาดรถโค้งสุดท้าย 2024 ค่ายรถเห็นพ้องไม่เกิน 600,000 คัน เร่งภาครัฐอัดมาตรการกระตุ้น
เข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายของอุตสาหกรรมยานยนต์ในปีนี้ บรรดาค่ายผู้ผลิตเดินหน้าเสริมทัพ เติมความสดใหม่กระตุ้นตลาดด้วยรถรุ่นใหม่ๆ รวมถึงโปรโมชั่นและแคมเปญพิเศษกระตุ้นการตัดสินใจ สร้างโอกาสเก็บเดี่ยวยอดขายในช่วงเวลาที่ภาพรวมของตลาดยังอยู่ในช่วงต่ำสุดในรอบกว่า 20 ปี
ทว่าด้วยตัวเลขยอดขายบวกกับทิศทางของตลาด ส่งผลให้หลากหลายค่ายคาดการณ์ว่าในปีนี้ภาพรวมของอุตสาหกรรมยานยนต์จะมียอดขายสะสมไม่เกิน 600,000 คัน สะท้อนภาพรวมเศรษฐกิจที่ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลโดยตรงต่อความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศ
นายใหญ่โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย วิเคราะห์ภาพรวมของตลาดจะไปในทิศทางเดียวกัน และมองว่าบทสรุปในปีนี้จะอยู่ที่ไม่เกิน 600,000 คันเช่นกัน รวมถึงมองว่าตลาดรถกระบะจะปิดตัวเลขที่ 160,000 คัน สอดคล้องกับมุมมองของอีกหนึ่งผู้นำตลาดรถกระบะอย่าง อีซูซุ คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้
โดยมองว่านโยบายจากภาครัฐจะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ สร้างการเติบโตให้กับตลาดในช่วงโค้งสุดท้ายของปี ที่จะส่งผลต่อทิศทางของตลาดในปีหน้าด้วยเช่นกัน ซึ่ง โตโยต้า พร้อมเดินเครื่องผลิตและทำตลาดรถกระบะพลังงานไฟฟ้าในช่วงปลายปี 2025
ส่วนในเรื่องสงครามราคา โตโยต้า ยืนยันว่าจะไม่กระโดดลงไปร่วมด้วยอย่างแน่นอน และจากการศึกษาในช่วงที่ผ่านมาก็ไม่เห็นว่าการลดราคา 200,000-300,000 บาทจ ะช่วยให้ยอดขายกระเตื้องขึ้น และมองว่าการลดราคาถึง 200,000 บาท แล้วยังมีกำไร นับว่ามีความสามารถในการสร้างกำไรได้สูง
ฟาก ฟอร์ด ประเทศไทย ท็อปทรีในตลาดรถกระบะและพีพีวี มองว่าตลาดในปีนี้จะปิดยอดรวมราว 567,000 คัน ลดลงจากปีก่อนหน้าราว 26% โดยเฉพาะตลาดรถกระบะและพีพีวี ที่ลดลงถึง 40% ซึ่ง ค่ายสัญชาติอเมริกัน คาดว่าจะสามารถเก็บเกี่ยวตัวเลขได้ราว 21,000 คัน
ทั้งยังได้แสดงความคิดเห็นถึงมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐ ที่เตรียมกระตุ้นตลาดด้วย มาตรการรถเก่าแลกรถใหม่ ซึ่งเห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าวทว่ายังต้องรอความชัดเจนในเรื่องรายละเอียดสำหรับมาตรการเก่าแลกใหม่ รวมถึงการลดหย่อนภาษีและยืดหยุ่นการชำระหนี้
ขยับมาดู ค่ายวอลโว่ มองว่างานมอเตอร์ เอ็กซ์โป จะเป็นปัจจัยสำคัญในการกระตุ้นตลาดในช่วงโค้งสุดท้ายของปี และผลักดันให้ยอดขายมีตัวเลขราว 5 แสนกว่าคัน ซึ่งเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดตลาดในปีหน้าด้วยเช่นกัน อีกปัจจัยสำคัญอยู่ที่นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐ ซึ่งจะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญให้ตลาดยังคงทำยอดขายประคองอยู่ในระดับนี้
ปิดท้ายด้วย ซูซูกิ วิเคราะห์ว่าภายรวมของตลาดในปีนี้จะมียอดขายราว 560,000 คัน อย่างไรก็ดียังคงต้องพึ่งมาตรการจากภาครัฐที่จะผลักดันให้เศรษฐกิจขับเคลื่อน โดยมีการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินเป็นอีกปัจจัยสำคัญ ที่จะกระตุ้นตลาดให้กระเตื้องขึ้น รวมถึงแนวทางการทำตลาดของแต่ละค่ายที่ต้องปรับตัวด้วยเช่นกัน
จากมุมมองต่างๆชี้ให้เห็นว่าการสนับสนุนจากภาครัฐบาล เป็นปัจจัยสำคัญที่บรรค่ายยานยนต์มองว่าจะเป็นแรงกระตุ้นที่สำคัญ ส่งผลให้เศรษฐกิจในประเทศขับเคลื่อน และสร้างกำลังซื้อกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยให้กับผู้บริโภค ซึ่งยังต้องรอการขยับตัวและความชัดเจนจากภาครัฐบาล